posttoday

เปิดกล่องความรักความผูกพัน ทญ.ปฏิมารังสรรค์ มาลากุล ณ อยุธยา

17 พฤศจิกายน 2556

คุณหมอหญิงทญ.ปฏิมารังสรรค์ มาลากุล ณ อยุธยา เจ้าของคลินิกทำฟัน ท่าเรือการแพทย์

โดย...วราภรณ์ ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

คุณหมอหญิงทญ.ปฏิมารังสรรค์ มาลากุล ณ อยุธยา เจ้าของคลินิกทำฟัน ท่าเรือการแพทย์ และยังรั้งตำแหน่งผู้บริหารและผู้ประสานงานโครงการในบริษัท โบ๊ทเฮ้าส์ หัวหิน กับโครงการล่าสุด คอนโดมิเนียม เดอะแฮปปี้เนส กิ่งแก้ว 25/1 หรือกาญจนาภิเษก 39 อีกทั้งคุณหมอหญิงยังเป็นหุ้นส่วนบริษัท ปฏิมา พร็อพเพอร์ตี้ ยอมเปิดกล่องความรักและความผูกพันระหว่างคุณหมอหญิงกับคุณแม่ และคุณยาย

ถึงแม้ไม่ได้มีค่ามาก แต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจ เพราะเป็นของรักของหวงเก็บรักษาอย่างดี หยิบขึ้นมาชื่นชมครั้งใดก็ทำให้ย้อนนึกไปถึงช่วงเวลาที่ได้อยู่กับทั้งคุณแม่และคุณยาย (สะอิ้ง ณ ระนอง สมรสกับเทียม ลิมปิสวัสดิ์) อันเป็นความทรงจำดีๆ ที่หล่อหลอมให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขดังเช่นทุกวันนี้ ประกอบไปด้วย จี้ กำไล ต่างหู และแหวน บางชิ้นมีอายุตั้งแต่รัชกาลที่ 7 หรือมากกว่า 60 ปีล่วงมาแล้ว

คุณหมอหญิงเริ่มเล่าย้อนไปถึงรุ่นคุณพ่อของคุณยายเป็นถึงเจ้าเมืองชุมพร หลวงสโมสรราชกิจ คุณยายจึงเป็นคนเจ้าระเบียบ มักสอนให้หลานๆ เวลาถูกพื้นต้องคลานเข่า และคำสอนที่จำได้แม่นยำคือ เราจะใช้คนรับใช้ได้ เราก็ต้องทำให้เป็นก่อน

เปิดกล่องความรักความผูกพัน ทญ.ปฏิมารังสรรค์ มาลากุล ณ อยุธยา

 

“คุณยายเจ้าระเบียบมาก จานของใครก็ของคนนั้น ห้ามสลับกันใช้ ช้อนทำความสะอาดแล้วก็ต้องเช็ด จะมาปล่อยให้มีคราบน้ำไม่ได้ คุณยายสมัยก่อนยังรับประทานด้วยมือ ท่านจะสอนว่าต้องจับข้าวแบบนี้ รับประทานอาหารเสร็จก็ต้องไหว้พระแม่โพสพ ดิฉันสนิทกับคุณยายมาก ขนาดไปรับราชการที่ จ.อยุธยา คุณยายยังตามไปอยู่กับดิฉันด้วย และท่านเสียตอนอายุ 84 ปี

จำได้ว่าท่านรสมือดี ทำกับข้าวอร่อยมากๆ เช่น เต้าเจี้ยวหลน ดิฉันจะมีหน้าที่ขูดมะพร้าวให้คุณยายด้วยกระต่าย เราจึงทราบวิธีคั้นเอาหัวกะทิ และหางกะทิ ด้วยความรักและความผูกพัน เมื่อคุณยายไม่สบายก็ดูแลคุณยายอย่างใกล้ชิด เพราะดิฉันเป็นหลานสาวคนโตที่รู้เรื่องมากกว่าน้องๆ คุณยายจึงรักหลานๆ มาก”

เมื่อคุณหมอหญิงเริ่มโตเป็นสาว คุณยายได้มอบเครื่องประดับที่ท่านเก็บมาตั้งแต่สมัยสาวๆ เช่น จี้เพชรโบราณน้ำใสบริสุทธิ์ ตัวเรือนทำจากทองคำขาว ตามด้วยสร้อยข้อมูลเพชรโบราณ และเข็มกลัดรูปดอกไม้ประดับด้วยอัญมณีหลากชิ้น “คุณยายเวลาทำความสะอาดเครื่องประดับ ก็นำขึ้นมาดูมาทำความสะอาด ลูกๆ หลานๆ ก็จะไปนั่งล้อมโต๊ะนั่งดูคุณยายทำอะไร

จำได้ครั้งหนึ่งคุณยายหยิบจี้เพชรขึ้นมาดูและบอกว่า จำไว้นะ อันนี้เป็นของคุณหญิง ตอนเด็กๆ ดิฉันจะเรียกคุณยายว่าแม่ ท่านบอกว่าอย่าให้ใครนะ ซึ่งประวัติความเป็นมาดิฉันไม่ค่อยได้จดจำ สักพักคุณยายก็ให้ชิ้นที่สองและสามตามมา ได้แก่ สร้อยข้อมูลเพชรเก่าโบราณที่คุณยายซื้อไว้เมื่อสมัยสาวๆ ราคาไม่กี่ร้อยบาท ชิ้นสามเป็นเข็มกลัดอัญมณี รวมอัญมณีที่หลากหลาย เช่น ทับทิม บุษราคัม ไพลิน ประดับบนตัวเรือนทำเป็นรูปดอกไม้

ความงดงามของเพชรโบราณจะมีความใสที่บริสุทธิ์มากๆ อย่างเข็มกลัดรวมอัญมณีรูปดอกไม้ล้วนประดับด้วยอัญมณีที่เป็นสิริมงคล ชิ้นต่อๆ มาที่คุณยายมอบให้คือ เป็นเข็มกลัดรูปเจ้านายประดับเพชร 2 ชิ้น คุณยายมีพี่สาวคือ คุณยายกระจ่าง ณ ระนอง ซึ่งท่านทำงานถวายเจ้านายในวังสมัยรัชกาลที่ 7 คุณยายกระจ่างเสียปี พ.ศ. 2456 ก็ได้มอบเข็มกลัดให้น้องสาว คือคุณยายสะอิ้ง ซึ่งพี่ๆ ของคุณยายสะอิ้งมีหลายคน เช่น คุณยายอรุณ คุณยายองุ่น คุณยายจีรัง และได้ถวายงานเจ้านายในวังหลายพระองค์ คุณยายสะอิ้งจึงมีรูปเข็มกลัดล้อมเพชรของเจ้านายหลายๆ พระองค์

เปิดกล่องความรักความผูกพัน ทญ.ปฏิมารังสรรค์ มาลากุล ณ อยุธยา

 

ด้วยคุณยายสะอิ้งเป็นน้องเล็กสุด พอพี่ๆ เสียก็มอบเครื่องประดับเพชรเป็นรูปเจ้านายให้น้องสาว พอดิฉันโตขึ้นแม้จะย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ช่วงปิดเทอมก็จะไปเยี่ยมคุณยายที่ชุมพรทุกๆ เทศกาลสำคัญๆ จึงค่อนข้างรักและผูกพันกับคุณยาย พอคุณยายสะอิ้งเริ่มอายุมากก็มอบเครื่องประดับที่ท่านรักและผูกพัน บางชิ้นท่านมอบให้คุณแม่ บางชิ้นมอบให้หลาน เพื่อแสดงถึงความรักและเอ็นดู”

มาถึงรุ่นคุณแม่ สันทนา มาลากุล ณ อยุธยา ก็มอบเครื่องประดับให้ลูกสาวชิ้นแรก คือแหวน ให้คุณหมอหญิงตอนอายุ 10 ขวบ เป็นแหวนทอง หัวแหวนเป็นรูปงูประดับทับทิมสีแดง เพื่อให้เข้ากับปีเกิดของลูกคือปีมะโรง ใส่มาตั้งแต่เด็กๆ รูปทรงแหวนที่เก็บไว้ในปัจจุบันจึงบิดเบี้ยว เพราะต้องดัดให้เข้ากับรูปนิ้วที่มีขนาดเล็ก

“แหวนทองที่คุณแม่ให้วงแรกหัวทำจากทับทิมเมืองจันท์ เป็นทับทิมสยาม ซึ่งนิยมมากในปัจจุบัน เพราะทับทิมสยามหายาก แล้วที่มีความงดงามคือมีสีแดงสด ตอนหมอเด็กๆ ใส่วงนี้ตลอด รักมาก”

กำไลอีกชิ้นที่ได้มรดกตกทอดมาจากคุณแม่ คือกำไลที่คุณหมอหญิงซื้อในราคา 3,000 บาท เนื่องในวันที่คุณหมอทำงานได้เงินเดือนเดือนแรก และเธอซื้อกำไลทองให้คุณแม่ไว้ใส่ติดข้อมือ ที่คุณแม่ใส่มานานกว่า 10 ปี โดยไม่เคยถอดออก ชิ้นที่สามคือแหวนทับทิมล้อมเพชร

ชิ้นที่สี่คือ สร้อยที่คุณพ่อซื้อให้คุณแม่ตอนไปเที่ยวที่อเมริกา เครื่องประดับชิ้นที่ 5 ที่คุณแม่มอบให้คุณหมอหญิงคือ ต่างหูเพชรฉลุฝีมือช่างโบราณ คุณแม่ท่านซื้อตอนที่เธอยังเด็ก แม้เครื่องประดับแต่ละชิ้นไม่ได้มีมูลค่ามากนัก แต่ก็มีคุณค่าต่อจิตใจของ ทญ.ปฏิมารังสรรค์ มากๆ

เปิดกล่องความรักความผูกพัน ทญ.ปฏิมารังสรรค์ มาลากุล ณ อยุธยา

 

“ปัจจุบันดิฉันเก็บเครื่องประดับอย่างดี เอามาชื่นชมและใส่บ้าง แต่เห็นแล้วก็รู้สึกเศร้า แม้คุณยายจะจากดิฉันไป 16 ปี ส่วนคุณแม่จากไป 4 ปีแล้ว แต่ก็ยังคิดถึงมากๆ เวลาหยิบเครื่องประดับขึ้นมาทำความสะอาด ก็ย้อนให้นึกถึงวันที่ขับรถพาคุณแม่ไปนั่งวิปัสสนาที่ปทุมธานี นั่งคุยกันไปในรถกันสองคน มีครั้งหลังที่นั่งรถกันไปสองคนคุณแม่บอกว่าอยากได้ผ้าห่มที่นิ่มๆ ดิฉันก็ซื้อให้ คุณแม่ก็กอดผ้าห่มแล้วบอกว่า มีความสุขจัง ภาพนั้นยังนึกถึงอยู่เสมอ

คุณแม่จากไปตอนท่านอายุ 72 ปี ส่วนความทรงจำเกี่ยวกับคุณยายคือท่านชอบให้เรานวด โดยเฉพาะคุณยายชอบให้เรากดนวดท้องที่คุณยายรู้สึกว่าท้องอืด นอกจากดิฉันจะรู้สึกผูกพันกับคุณยายแล้ว ลูกสาวก็ชอบเอาหมอนของคุณยายมากอด แล้วบอกว่าเป็นหมอนยายชวด คิดถึงคุณยายชวดนะคะคุณแม่”

ค่าที่คุณหมอหญิงรู้สึกผูกพันกับเครื่องประดับเพชรทองโบราณมาตลอด ทำให้คุณหมอหญิงชื่นชอบและเสาะแสวงหาเครื่องประดับโบราณ เพราะคุณหมอหญิงรู้สึกว่า เครื่องเงิน เครื่องทองดูมีเสน่ห์ แม้เนื้อทองโบราณจะไม่สุกปลั่งเหมือนทองสมัยใหม่ แต่ก็มีลวดลายที่ประณีตที่ช่างทองโบราณประณีตบรรจงในการสอนหรือฉลุลวดลายลงไปในเนื้อทอง

“ดิฉันชอบเครื่องประดับมากๆ ชอบบรรยากาศที่คุณยายเอาเครื่องประดับมาล้างแล้วก็นั่งคุยกัน โดยเฉพาะทองโบราณ เครื่องประดับโบราณหากเจ้าของขัดสนเงินทองก็เอามาขาย ส่วนใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป เช่น ทองถักโบราณ ช่างจะนำทองมาถักเป็นเส้นๆ อย่างต่างหูทองโบราณบางคู่ มีขนาดรูที่ใหญ่ไม่เหมาะใส่ในยุคปัจจุบัน ก็ปรับเปลี่ยนนำตะขอมาเกี่ยว สถานที่ที่ดิฉันเสาะหาเครื่องประดับทองโบราณ คือตามร้านทองที่ จ.อยุธยา ซึ่งเป็นร้านทองที่เรารู้สึกไว้วางใจ หรือซื้อตามร้านขายเครื่องประดับทองโบราณที่บองมาร์เช่ เคยได้เพชรซีกโบราณ กำไลทับทิม ซึ่งความรู้เกี่ยวกับเครื่องเพชรเครื่องทองโบราณ เราต้องศึกษา

เสน่ห์ของของเก่ามักมีตำหนิ ซึ่งตำหนินี่แหละทำให้เครื่องประดับโบราณมีเสน่ห์ เพราะไม่ได้ปั๊มๆ จากโรงงาน แต่ใช้ช่างที่มีฝีมือในการเจียระไน ซึ่งการเจียระไนเพชรด้วยฝีมือช่างทำเพชรทองโบราณ เม็ดก็ไม่ได้มีขนาดเท่ากันทุกเม็ด อีกทั้งเสน่ห์ของของโบราณ คือ ฝีมือของช่างและความไม่เหมือนใคร ของแต่ละชิ้นผลิตน้อย อีกแหล่งที่ไปชื่นชมเครื่องประดับโบราณคือ เพนนินซูล่า ถ้ามีเครื่องประดับโบราณในแบบที่ชอบ เราซื้อหมด โดยเฉพาะต่างหูตุ้งติ้ง กำไลทองถัก เพชรซีก จะตัดสินใจซื้อง่ายๆ หากชอบ”

วิธีดูแลเครื่องประดับเพชรทองโบราณ

การเก็บรักษาเครื่องเพชร เครื่องทองโบราณ คือ นำออกมาขัดเช็ดถูเสียบ้าง “วิธีทำความสะอาดเครื่องเพชรทองโบราณ เคยเห็นคุณยายใช้แป้งลักษณะคล้ายครีมมาขัดร่วมกับแปรงสีฟัน ซึ่งเป็นการทำความสะอาดด้วยวิธีโบราณ แต่วิธีทำความสะอาดเครื่องเพชรวิธีสมัยใหม่คือ การใส่เพชรลงไปแช่ในน้ำยาล้างเครื่องประดับอย่างอ่อนๆ อาจจะเขย่าเบาๆ สักครู่ หรือทิ้งเอาไว้ให้คราบไขมันอ่อนตัวและหลุดออก

เมื่อทำความสะอาดด้วยครีมขัดหรือน้ำยาเสร็จแล้ว ถึงขั้นตอนการเช็ดให้ขึ้นมันเงา ด้วยผ้าสักหลาดมาเช็ดทำความสะอาดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในกล่อง

เนื่องจากเพชรเป็นอัญมณีที่มีความแข็งที่สุด ดังนั้น ควรเก็บเครื่องประดับใส่แยกไว้เป็นถุง เพื่อไม่ให้เสียดสีกันจนเกิดรอย

การดูแลทองโบราณกับทองสมัยใหม่ไม่เหมือนกัน เช่น ทองโบราณที่ประดับเพชรมีโอกาสหลุดจากตัวเรือนได้ง่าย หากอัญมณีหลุดต้องส่งร้านซ่อม และต้องเป็นร้านที่เราไว้ใจได้ เพื่อไม่ให้มีการสลับเปลี่ยนอัญมณีเกิดขึ้น ทองโบราณสีจะไม่สุกปลั่ง เพราะมีส่วนผสมที่ไม่บริสุทธิ์เท่าทองสมัยใหม่ แต่เราคิดว่าทองเก่ามีความเก๋ของลวดลาย”