posttoday

พรรณศักดิ์ สุขี กับการเป็นผู้เขียนบทและผู้กำกับละครเวที

10 พฤศจิกายน 2556

ใครคิดฝันอยากเป็นผู้เขียนบทหรือผู้กำกับละครเวทีบ้างไหม หากใครคิดฝันอยากก้าวสู่เส้นทางนี้

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร

มีใครคิดฝันอยากเป็นผู้เขียนบทหรือผู้กำกับละครเวทีบ้างไหม หากใครคิดฝันอยากก้าวสู่เส้นทางนี้ เรามี ดิ ไอดอล ที่ให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี ท่านผู้นี้คือ ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศิลป์ คณะละครมหาวิทยาลัยกรุงเทพ บียู เธียเตอร์ คอมพานี ผู้มีผลงานละครเวที ทั้งในด้านการเขียนบทและการกำกับการแสดงที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโตขึ้นผมจะขี่รุ้ง ระบำนิพพาน เยิรพระยม คาฟคาและผม กับความขื่นขมในประเทศประชาธิปไตยนิยมที่สังคมใกล้ล่มสลาย มหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ “พระมหาชนก” ไกลกังวล มิวสิคัล ออน เดอะ บีช และผลงานล่าสุด เดอะ ร็อกกี้ เฮอร์เรอร์ โชว์ ที่กำลังเปิดทำการแสดงอยู่ในขณะนี้

“ก่อนอื่นผมคงต้องบอกก่อนว่า คนเขียนบทที่ดีและคนที่สมัครใจจะเขียนบทในประเทศเราค่อนข้างมีน้อย อีกทั้งเรายังให้ความสำคัญกับตรงนี้น้อยมาก เลยทำให้ละครเวที โทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ค่อนข้างอ่อนด้อยเรื่องบท”

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะไม่มีจุดเริ่มต้น หากใครสนใจศาสตร์และศิลป์ในด้านนี้ พรรณศักดิ์ เผยว่า หากสนใจสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่อาจจะลำบากไปสักหน่อย

“ที่ลำบากอาจเป็นเพราะตำราด้านการเขียนบทละครเวทีค่อนข้างมีน้อย นอกจากจะเป็นตำราภาษาอังกฤษ แต่ถ้าสนใจเรียนเป็นหลักสูตรปริญญาตรี ก็มีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่นี่ที่เดียวที่เปิดสอนอย่างจริงจัง ซึ่งต้องบอกก่อนว่ามาเรียนแล้วจะเรียนจบหรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเรียนเขียนบทละครเวทีได้ดี ต้องอาศัยพรสวรรค์ อาศัยใจรักในการเขียนที่ต้องมีอยู่ในตัวเอง และมีวินัยที่จะกำหนดเวลาการทำงานของตัวเอง บางคนไม่ได้เป็นนายของภาษาและไม่ได้ชอบการกำหนดวินัยให้กับตัวเอง ก็ค่อนข้างทำได้ยาก”

พรรณศักดิ์ สุขี กับการเป็นผู้เขียนบทและผู้กำกับละครเวที

 

สำหรับเส้นทางการก้าวไปสู่การเป็นผู้กำกับละครเวที เส้นทางนี้อาจแตกต่างจากเส้นทางอื่นๆ ไปบ้าง ตรงที่เราต้องล้างอะไรออกไปจากที่เราคุ้นชิน เช่น คุ้นชินกับขนบละครแบบเดิมๆ เช่น นางร้ายต้องกรี๊ดกร๊าดถลึงตา

“แต่หากมองในแง่ของความเป็นจริง ผมคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างความคุ้นชินของใครได้หมด เพราะคนไทยมักดูละครเพื่อความบันเทิง เมื่อชีวิตที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ มันทุกข์ยากขึ้นทุกวัน เมื่อเขาดูละครก็ย่อมต้องการปลดปล่อยความรู้สึกหนักหน่วง เพื่อหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงไปสักพัก นั่นก็ถือว่าดีแล้ว แต่คนที่สนใจอยากเป็นผู้กำกับละครเวที อาจต้องล้างความคุ้นชินเหล่านี้ เพื่อเปิดรับในการเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ที่ถูกต้อง”

การจะเป็นผู้กำกับละครเวทีที่ดี เบื้องต้นอาจต้องเรียนรู้ให้ได้เสียก่อนว่าการแสดงที่ดีคืออะไร “วิธีการที่เรียนรู้ได้ง่ายดายที่สุดคือ เวลาเราได้ดูละครโทรทัศน์ หรือละครเวทีสักเรื่อง ลองถามตัวเองดูว่าเราเชื่อในสิ่งที่เราได้ดูหรือเปล่า เชื่อว่าที่เราดูคือชีวิตจริงหรือเปล่า และลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า ที่เห็นนางร้ายกรี๊ดกร๊าด โกรธใครแล้วต้องถลึงตา ในชีวิตจริงมีใครทำอย่างนั้นหรือเปล่า แม้แต่เราเอง เราทำแบบนั้นหรือเปล่า ถ้าถามตัวเองได้ เราก็จะหาคำตอบให้กับตัวเองได้ แล้วเราจะค้นพบว่า การแสดง คือการไม่แสดง ซึ่งนั่นก็จะนำไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า การแสดงที่ดีคืออะไร”

ซึ่งหากละครเวทีเรื่องไหนที่นักแสดงแสดงออกมาไม่จริง พรรณศักดิ์ เผยว่า สิ่งนี้สามารถย้อนกลับไปดูที่ผู้กำกับได้ว่ากำกับนักแสดงยังไงให้นักแสดงแสดงออกมาอย่างนั้น

“หากคนที่อยากจะเรียนหรือประกอบอาชีพเป็นผู้เขียนบท สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นคนที่อ่านหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้าไม่อ่านก็คงจะเขียนไม่ได้ และต้องมีวินัยในการเขียน และรักจริงหากอยากเป็นผู้กำกับ บอกเลยว่าเส้นทางนี้มันไม่ง่าย ผู้กำกับคือนักสื่อสารความคิดให้กับผู้ชม และสื่อสารกับนักแสดงและทีมงานจะมองเป็นศิลปินก็ได้ เพราะศิลปินคือผู้สร้างงานศิลปะที่มีความงดงาม และส่งผลกระทบและแรงสะเทือนใจสู่ผู้ชม จะมองเป็นนักปรัชญาก็ได้ ในฐานะสร้างแนวความคิดที่ส่องสะท้อนออกมาจากละครที่ตัวเองทำ และอาจไปเปลี่ยนแง่มุมคนดูในการนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้”

พรรณศักดิ์ ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า การกำกับไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นก็เป็นได้เลย การกำกับต้องเรียนรู้ศาสตร์ของการแสดง ฉาก ดีไซน์ บท เรื่องของวรรณกรรม หากผู้กำกับตีความบทละครไม่ได้ การถ่ายทอดออกมาก็ตื้นเขิน

“คนที่จะทำงานในด้านนี้ต้องเป็น 3 นัก เป็นนักมนุษยศาสตร์ ที่เข้าใจจิตใจมนุษย์ ละเอียดอ่อน และเข้าใจภาษา เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องหมั่นทดลอง และเป็นนักสังคมศาสตร์ เพราะงานที่เราถ่ายทอดออกไปต้องมีผลกระทบต่อสังคม”

อะไรคือศิลปะการแสดง

ในฐานะครูที่สอนศิลปะการละคร พรรณศักดิ์ เผยว่า เมื่อก่อนเราจะพูดกันเป็นนามธรรมมากว่าศิลปะการละครเป็นสิ่งที่ปลอบประโลมจิตใจ กล่อมเกลาจิตใจของเราให้ยกระดับอารมณ์และสติปัญญา แต่ทุกวันนี้สามารถพูดเป็นรูปธรรม โดยการยกตัวอย่างการทำละครหรือภาพยนตร์จากเกาหลีได้ทันที

“ผมว่ารัฐบาลเกาหลีเขามีวิสัยทัศน์และฉลาดในการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมา เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เกาหลีกับไทยไม่ต่างกันเท่าไร แต่ตอนนี้เราไม่ทันเขาแล้วล่ะ วัฒนธรรมของเขามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างชื่อเสียง พัฒนาประเทศชาติ และนำเงินเข้าประเทศอย่างมากมาย แม้แต่คนไทยก็ไปเที่ยวเกาหลีไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร ไปใส่ชุดเกาหลี ไปทำกิมจิ ไปดูพระราชวังที่เคยอยู่ในหนัง เคยอยู่ในละคร สิ่งนี้ก็บอกได้ว่า ศิลปะการละครนอกจากความหมายในเชิงสติปัญญาและจิตใจ มันยังสามารถเป็นสินค้าในเชิงวัฒนธรรมได้อีกด้วย”

เกี่ยวกับ พรรณศักดิ์ สุขี

การศึกษา : อักษรศาสตรบัณฑิต (ศิลปะการละคร) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/Master of Arts in Theatre (Drama and Theatrical Production) The University of Pittsburgh, USA

ละครเวทีเรื่องโปรด : ละครเล็กๆ สักเรื่องที่แสดง off off Broadway และนักแสดงอุทิศตัวเพื่อบทบาท

บทละครในดวงใจ : Waiting for godot, A Streetear Named Desire

นักเขียนในดวงใจ : Samuel Beckett, Tennessee Williams

ผู้กำกับในดวงใจ : Bas Lurmann, Sam Mendes

ความมุ่งหวังต่อศิลปะละครในเมืองไทย : อยากเป็น รมต.ว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้ศิลปะการละครเจริญมากกว่านี้