posttoday

จาก HR สู่ HR Leader (ตอน1)

21 ตุลาคม 2556

เร็วๆ นี้มีชาว HR แวะมาเยี่ยมเยียนพูดคุยกับผู้เขียนถึงออฟฟิศที่ศศินทร์ เรื่องที่เราให้ความสนใจกัน

โดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / ภาพ รอยเตอร์ส

เร็วๆ นี้มีชาว HR แวะมาเยี่ยมเยียนพูดคุยกับผู้เขียนถึงออฟฟิศที่ศศินทร์ เรื่องที่เราให้ความสนใจกันก็คือ “ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถสร้างหรือพัฒนา HR ให้ก้าวไปสู่การเป็น HR Leader หรือผู้นำ HR ได้?”

โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่กูรูด้าน HR ชาวอเมริกันอย่าง Professor Dave Ulrich เคยวิเคราะห์ไว้มาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่าในเวลานี้ยังมีชาว HR จำนวนมากมายทั่วโลกที่ยังก้าวไม่ถึงการเป็นผู้นำ HR เพราะโดยส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับบทบาทการทำงานเชิงรับ ติดกับอยู่กับงานด้านเอกสาร (จำพวกงาน Admin) ทั้งหลายที่มันดูดเอาเวลาทำงานเกือบทั้งหมดไป ทำให้ HR ไม่มีเวลาที่จะประเมินตัวเองเพื่อพัฒนายกระดับความรู้ความสามารถในการทำงานไปสู่จุดหมายที่พร้อมจะเรียกตัวเองว่าเป็น “HR Leader” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

สำหรับการที่ HR คนหนึ่งจะก้าวสู่การเป็นผู้นำ HR ได้ย่อมอาศัยปัจจัยหลักอยู่ 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยส่วนของตัวเองและปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมภายนอก

ปัจจัยส่วนของตัวเอง (Personal or Individual Factor)

ปัจจัยตัวนี้น่าจะเป็นปัจจัยที่เจ้าตัว HR เช่น เราสามารถบริหารจัดการและควบคุมมันได้มากกว่าปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพใดก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าคนเราสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่มากก็น้อย หากเรามีคุณสมบัติต่อไปนี้ คือ

มีฉันทะ (Passion) หรือความรัก ความสนใจที่ลึกซึ้งในสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเป็นพิเศษ อยากทำงานนั้นๆ อยากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยไม่รู้สึกเบื่อ คนที่จะทำงาน HR ได้ดีอย่างยั่งยืนก็ควรที่จะรักในงานนี้ มิฉะนั้นก็จะฝืนทำมันได้ไม่ค่อยนาน แต่บางคนเลือกงานไม่ได้ จำใจต้องทำงาน HR แบบนี้ก็ต้องพยายามคิดในแง่บวกว่า ไหนๆ ก็ต้องทำงานนี้ก็ขอทำให้มันดี ให้ตัวเราและทีมพนักงานขององค์กรก้าวหน้าให้จงได้ มองให้เห็นว่างานนี้มีความสำคัญต่อชีวิตพนักงาน ต่อความสำเร็จของพนักงานและองค์กรได้มากขนาดไหนหาก HR ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายคนเคยไม่ชอบงาน HR มาก่อน แต่พอทำไปนานๆ เข้าก็เริ่มรู้สึกถึงคุณค่าและเห็นถึงความหมายของงาน แล้วก็เลย “อิน” กับงาน ตั้งใจทำงานจนเจริญก้าวหน้าทั้งตัว HR และพนักงานขององค์กรโดยรวมก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

มีความรู้และทักษะในงาน HR สำหรับปัจจัยข้อนี้เรียนรู้ฝึกฝนกันได้ไม่ยาก ไม่เหมือนกับเรื่องของฉันทะที่ปลูกฝังกันยาก สำหรับปัจจัยข้อนี้ก็คือ ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้จากผู้รู้ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษาและองค์กร รู้แต่ทฤษฎีไม่พอ ต้องฝึกฝนการปฏิบัติในงานจริงจากผู้มีประสบการณ์จากนั้นก็ต้องรู้จักเปรียบเทียบวิเคราะห์ (Analyze) หลักการ (Principles) แบบจำลอง (Models) ต่างๆ ว่า มีจุดเด่น จุดด้อยอะไรบ้าง สามารถนำแนวทางเหล่านั้นมาปฏิบัติในสถานการณ์หรือบริบทแบบไหน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนประยุกต์อะไรบ้าง ไม่ใช่จำของเขามาก๊อบปี้แบบไม่ลืมหูลืมตา แบบนี้เขาเรียกว่าการขาดการคิดวิเคราะห์ จากนั้นก็ต้องรู้จักสังเคราะห์ (Synthesize) โดยสรุปแนวคิดต่างๆ เพื่อสร้างเป็นสูตรการทำงานที่เป็นแบบฉบับของตนเองหรือขององค์กรของเรา ต้องทำได้ทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงจะครบเครื่อง

มีทักษะในการสื่อสาร คือ อ่าน ฟัง พูด และเขียนได้มากกว่าหนึ่งภาษา การสื่อสารมิได้หมายความถึงการพูดหรือการนำเสนอ (Presentation) เท่านั้น ก่อนจะพูดหรือเขียนเพื่อสื่อสารได้ถูกต้อง ท่านต้องมีทักษะในการอ่านและฟังเพื่อจับใจความให้ถูกต้องสมบูรณ์ก่อน บางคนถนัดแต่พูด...พูด...พูด แต่ไม่ชอบฟัง การไม่ฟังหรือฟังไม่เป็นทำให้ตัดโอกาสที่ HR จะได้รับรู้ความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทำให้ขาดข้อมูลที่จำเป็นยิ่งเพื่อจะทำงานให้ได้ผลดี และในส่วนของภาษานั้นก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ยิ่งมีทักษะหลายๆ ภาษา ก็ยิ่งส่งเสริมขอบเขตการทำงานของ HR ให้ขยายออกไปได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น จะเป็นผู้นำ HR ทั้งทีก็ควรเป็นได้ทั้งในประเทศและในระดับสากล

มีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดี ข้อนี้ไม่ต้องอธิบายให้มากความ เป็น HR แต่ไม่มีเพื่อน ไม่มีคนชอบคุยด้วย อย่างนี้คงไปไม่เป็นแน่

มีความคิดสร้างสรรค์และยืดหยุ่นปรับตัวเก่ง (Creativity and Flexibility) หนึ่งในคุณสมบัติที่ทำให้ผู้นำในทุกวงการประสบความสำเร็จก็คือเป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว คิดนอกกรอบ คิดพลิกแพลงเก่ง ไม่ใช่พอมีเรื่องขัดข้องก็ตื้อจนมุมไปต่อไม่ได้

มีความมั่นใจ ในระดับที่พอดีๆ คนเราถ้าไม่มีความมั่นใจในตัวเองเอาเสียเลย คงยากที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามั่นใจเกินไปก็จะกลายเป็นคนดื้อ ไม่ฟังความเห็นคนอื่น ต้องมั่นใจในระดับพอดีๆ ถ้าอยากจะรู้ว่าตัวเองมั่นใจมากไปน้อยไปอย่างไร ให้ลองถามคนรอบข้างดู

สัปดาห์นี้ขอจบแค่นี้ก่อน คราวหน้ามาจับเข่าคุยกันเรื่องปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ HR ธรรมดาๆ กลายเป็น HR Leader กันต่อนะคะ