posttoday

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

20 ตุลาคม 2556

หากพูดถึงพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน นักเลงพระยกให้ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท เทเลโทรล วัน

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช

หากพูดถึงพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน นักเลงพระยกให้ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท เทเลโทรล วัน เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยีและสารสนเทศ ผู้ติดตั้งระบบซอฟต์แวร์โครงการภาครัฐขนาดใหญ่ วันนี้ให้สัมภาษณ์ในฐานะนักสะสม โดยเฉพาะพระเครื่องพระบูชาสมัยเชียงแสนที่มีกว่า 800 องค์ ได้ชื่อเป็นเซียนพระเชียงแสนที่ครอบครองพระยอดนิยมล้ำมูลค่าเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

เทเลโทรล วัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 21 ปีก่อน เชี่ยวชาญด้านการวางระบบงานคอมพิวเตอร์ภาครัฐ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง เป็นบริษัทที่ปรึกษาประเภท A ด้าน System Integrator ผลงานที่ผ่านมา เช่น โครงการพัฒนาระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มกรมสรรพากร ล่าสุดแตกสายผลิตภัณฑ์เก็บกู้วัตถุระเบิด EOD Friends (Explosive Ordnance Disposal)

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

 

ด้านหนึ่งเป็นผู้นำด้าน SI (System Integrator) ภาครัฐ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นผู้นิยมในของเก่าวัตถุโบราณ หนึ่งในนั้นคือพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ชาญยุทธ เล่าว่า สะสมของเก่ามากมายเพราะใจนิยม การเก็บสะสมใช้เวลายาวนานจนปัจจุบันมีของเก่าหลายประเภทหลายรายการ ตั้งแต่พระเครื่อง พระบูชา พระพุทธรูป เหรียญโบราณ เปลือกหอย พดด้วง และภาพเขียน ฯลฯ

“การสะสมของเก่า ผมถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เมื่อได้มามีความสุขจากการมี และเมื่อยกให้คนอื่น ก็มีความสุขจากการให้” ชาญยุทธ เล่า

นักเลงของเก่ากล่าวต่อไปว่า เนื่องจากอาชีพที่ทำให้ต้องเดินทางในหลายประเทศ จึงอาศัยโอกาสในการมองหาของเก่าที่ชื่นชอบ นอกจากนี้ก็คือโอกาสในการแบ่งปันและสร้างคอนเนกชั่นหรือเครือข่ายทางธุรกิจ ล่าสุดคือแบงก์โน้ตธนบัตรเก่ารุ่นแรกๆ ของกัมพูชา ที่เพิ่งมอบให้แก่พันธมิตรธุรกิจใหม่ที่เขาเพิ่งเข้าไปร่วมทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

“อยู่ที่เรามองว่าประโยชน์ของของเก่าอยู่ที่ไหน นอกจากจะชื่นชมในความงามหรือคุณค่าแก่นแท้ในตัวของของเก่าเองแล้ว ก็สามารถแบ่งปันและเอื้ออำนวยต่อธุรกิจที่ลงทุนได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้รับมีใจนิยมในของเก่าเหมือนกัน” ชาญยุทธ เล่า

 

สำหรับพระเครื่อง พระบูชาสมัยเชียงแสน ชาญยุทธ เล่าว่า เมืองเชียงแสนเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยศิลปวัฒนธรรมล้านนานั้น ได้ชื่อถึงความเข้มแข็งและสืบทอดมาอย่างยาวนาน มีความโดดเด่นด้านเอกลักษณ์และความงามเฉพาะตัว ได้แก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยเฉพาะพระเชียงแสนที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปะชั้นสูง

“นอกจากจะเป็นศิลปะชั้นสูงที่ได้รับการยอมรับ พระเครื่องสมัยเชียงแสนยังถือเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของการประกาศศาสนจักร เผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้อีกด้วย” ชาญยุทธ เล่า

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

สำหรับศิลปวัตถุของเมืองเชียงแสนที่มีชื่อเสียง คือ พระพุทธรูป ซึ่งต้นกำเนิดมาจากภาคเหนือ ที่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรเชียงแสนมาก่อน อาณาจักรแห่งนี้ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาลัทธิหินยาน ที่เผยแผ่เข้ามาจากอินเดียตอนเหนือ ด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปจึงมีอิทธิพลของสกุลช่างปาละจากอินเดียอย่างชัดเจน

พระพุทธรูปเชียงแสน มีพุทธลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ พระรัศมีทำเป็นแบบดอกบัวตูม หรือลูกแก้ว ขมวดพระเกศาทำเป็นก้นหอยใหญ่ พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุ (คาง) เป็นปม ลำพระองค์อวบอูมสมบูรณ์ พระอุระนูน ชายสังฆาฏิเหนือพระอังสาซ้ายสั้น และปลายแตกเป็นปากตะขาบ นิยมสร้างเป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร และปรากฏพระบาททั้งสองข้าง

 

“พระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปมีความงดงามมาก ส่วนใหญ่จะพบที่เมืองเชียงแสน และโดยที่เมืองเชียงแสนในสมัยก่อนเป็นเมืองสำคัญ จึงได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปศิลปะแบบนี้ว่า พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ของไทย” ชาญยุทธ เล่า

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

นอกจากนี้ พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนยังได้รับแบบอย่างจากพุทธศิลปะประเทศลังกา คือจากพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างเถรวาทจากประเทศอินเดียฝ่ายใต้ ซึ่งเผยแผ่เข้ามาทางภาคใต้ของไทย เกิดเป็นพุทธศิลปะของพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนลังกาวงศ์” ที่ต่อมาพัฒนาไปในหลายสกุลช่าง

สำหรับการพิจารณาพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนในแบบต่างๆ กล่าวโดยสรุป หากพระเกศทำเป็นพระเกศบัวตูม พระศกทำเป็นขมวดก้นหอย เม็ดพระศกค่อนข้างเขื่อง พระพักตร์สมบูรณ์ มีรอยยิ้มเล็กน้อย พระหนุเป็นรอยหยิก มีชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวนมและแตกเป็นปากตะขาบ เรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1”

แต่ถ้าชายสังฆาฏิยาวเลยราวนมลงมาเรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 2” และถ้ายาวลงมาจรดพระหัตถ์ จะเรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 3” โดยคำว่า “สิงห์” น่าจะมาจากคำว่า “สิงหล” ซึ่งเป็นเจ้าตำรับและเป็นแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปคติลังกา อันเป็นต้นแบบพระพุทธรูปในสยามอาณาจักรนั่นก็คือ “พระพุทธสิหิงค์”

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

 

นอกเหนือจากการสะสมพระเครื่องพระบูชาสมัยเชียงแสนที่ได้รับการยอมรับในวงการ ชาญยุทธ ยังทำหนังสือเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมามีจำนวนมากมายหลายเล่ม หลายเล่มได้ชื่อว่าเป็นหลักของพระสกุลเชียงแสน เช่น “พระสกุลเชียงแสน” “สุดยอดพระเชียงแสน” “พระสกุลเชียงแสน” “สุดยอดพระเครื่องเหนือแผ่นดินสยาม”และ “พระยอดนิยมเชียงแสน” เป็นต้น

“ผมมีมฤตยูเป็นกดุมภะในชะตากำเนิด อธิบายตามหลักโหราศาสตร์ว่า ทำไมจึงสนใจในของเก่า หรือถ้าอธิบายตามหลักจิตเวชก็ต้องบอกว่า เป็นเพราะตอนเด็กขัดสน ซึ่งเป็นความจริง” ชาญยุทธ เล่า

นอกเหนือจากพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนแล้ว ชาญยุทธ ยังสะสมพระเครื่องพระบูชาอีกมากมาย พระพุทธรูปที่เขาให้ความเคารพนับถือมากและมักพกติดตัวเสมอ ได้แก่ พระพุทธชินราช ซึ่งบิดาได้มอบให้นานมาแล้ว นอกจากนี้ก็มีพระผงสุพรรณ ที่คนทำมาค้าขายนิยม ซึ่ง “แขวนองค์เดียว” หมายถึงแขวนติดตัวเพียงองค์เดียวและแขวนตลอดเวลา โดยพระองค์นี้เขาเชื่อว่า เคยทำให้เขารอดพ้นจากเหตุร้ายทางรถยนต์มาแล้ว

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

สุดท้าย ชาญยุทธ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้จากการเก็บสะสมนั้นมีมากมาย อันดับแรกคือ พุทธคุณ ที่นำมาแต่ความสุขความเจริญ นอกจากนี้ก็ช่วยเติมเต็มความรู้สึกทางใจ มีความสุข มีความอิ่มใจที่ได้เก็บสะสมของเก่ามีคุณค่า รวมทั้งที่ลึกลงไปคือ ความภาคภูมิใจที่ได้ครอบครองของโบราณอายุหลักพันปี สำคัญคือได้ทำหน้าที่ในการเก็บรักษามิให้สูญหาย อนุรักษ์ของเก่า พระเก่า ฝีมือช่างเก่าไว้ให้ลูกหลานคนไทยรุ่นต่อไป

คุณสมบัติของนักสะสมของเก่าและวัตถุโบราณที่ดี

1.ต้องมองโลกแง่ดี

นักสะสมต้องไม่เป็นนักตำหนิ อย่าตำหนิ หรืออย่ามองที่ตำหนิของผู้อื่น

2.ต้องหาความรู้

นักสะสมต้องมีความรู้ ต้องหาครูบาอาจารย์ รวมทั้งต้องไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว หากมีโอกาสก็ต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

3.ต้องมีโอกาสเห็น หรือสัมผัสของแท้

พระแต่ละรุ่นแต่ละแบบจะมี “จุดตาย” หรือจุดที่ต้องสังเกต แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ต้องมีโอกาสเห็นหรือได้สัมผัสกับของแท้ จึงจะเชื่อมั่นได้ว่าเป็นของจริง เป็นพระจริง ถ้าไม่มีโอกาสได้สัมผัสของแท้ ก็ต้อง “เชื่อ” ในเพื่อนหรือครูบาอาจารย์ที่เคยได้สัมผัสของแท้มาก่อน

4.ต้องมีทุนทรัพย์

การเก็บสะสมของเก่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้เงิน เพราะฉะนั้นต้องมีการบริหารจัดการเงินสดเพื่อการลงทุนหรือเพื่อการช่วงชิงที่ฉับไว

5.ต้องทำใจให้สบาย

ใจที่เปิดกว้างนำมาซึ่งใจที่สบาย สะอาด สงบ ยิ่งใจเปิดกว้างเพียงไร ก็ยิ่งทำให้สงบนิ่งพอที่จะเห็นความเคลื่อนไหวที่นักสะสมต้องเห็น

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์

 

ตามไปดูกรุพระเชียงแสน ของ ชาญยุทธ เจนธัญญารักษ์