posttoday

ผู้กำกับแอนิเมชันระดับอินเตอร์ คมภิญญ์ เข็มกำเนิด

13 ตุลาคม 2556

ไม่เพียงผู้กำกับที่เคยผ่านงานระดับอินเตอร์เท่านั้น คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ผู้สร้างสรรค์การ์ตูนแอนิเมชันให้มีชีวิต

โดย...วราภรณ์ ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ไม่เพียงผู้กำกับที่เคยผ่านงานระดับอินเตอร์เท่านั้น คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ผู้สร้างสรรค์การ์ตูนแอนิเมชันให้มีชีวิต ยังสร้างตัวละคร “ก้านกล้วย” ให้ดูน่ารักและมีชีวิตเป็นขวัญใจของเด็กๆ หลายๆ คน อีกทั้งก้านกล้วยยังประสบความสำเร็จและทำรายได้กับการฉายการ์ตูนแอนิเมชันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 100 ล้านบาท ปัจจุบันคมภิญญ์เป็นทั้งอาจารย์สอนด้านแอนิเมชัน สตอรี คาแรกเตอร์ และดรออิ้ง ที่สถาบันกันตนา อีกทั้งมีความฝันอยากทำสตูดิโอแอนิเมชันร่วมกับเพื่อน

แรงบันดาลใจเป็นนักสร้างการ์ตูนแอนิเมชัน

ตลอด 20 ปี สิ่งดึงดูดที่ทำให้ คมภิญญ์ อยากเป็นนักเล่าเรื่องสร้างสรรค์การ์ตูนแอนิเมชัน เพราะความทรงจำวัยเด็กที่คุณแม่คุณยายมักเล่านิทานให้เขาฟัง ประกอบกับตัวเขาเองก็ชอบอ่านการ์ตูน และนิทานจึงมีนิสัยชอบสร้างสรรค์และจินตนาการอยู่เต็มเปี่ยม เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็เลือกเรียนด้านการออกแบบมัณฑนศิลป์ ศิลปากร พอเรียนจบทำงานก็ได้มีโอกาสทำการ์ตูนแอนิเมชันให้กับโฆษณาสั้นๆ แม้ไม่ได้จบด้านแอนิเมชันโดยตรง แต่เป็นเพราะชื่นชอบเขาจึงตัดสินใจไปเรียนด้านออกแบบแอนิเมชันที่ได้รับการยอมรับในวงการแอนิเมชัน ณ สหรัฐอเมริกา

“ผมชอบเล่าเรื่องและชอบวาดรูปรู้สึกว่าเราเล่าเรื่องเป็นภาพได้ดีกว่าเขียนหนังสือ แอนิเมชันคือ การรวมศิลปะทั้งการประพันธ์เพลง ดนตรี วาดรูป เข้าไว้ด้วยกัน แอนิเมชันคือการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ผมจึงเลือกทำงานด้านนี้ พอได้ไปเรียนและได้ทำงานด้านแอนิเมชันที่สหรัฐอเมริกาตลอด 7 ปี ผมได้ประสบการณ์เยอะมาก ผมได้ซึมซับวิธีคิด วิธีการทำงานสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการ์ตูนแอนิเมชัน ทำให้ผมได้รู้จักคนเก่ง ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินเก่งๆ และรู้ว่าทำงานระดับโลกเขาทำงานกันอย่างไร เขาตั้งเป้าแบบไหน”

กลับมาเมืองไทยเขาได้โชว์ฝีมือ สร้างซีรีส์การ์ตูนแอนิเมชันสั้นๆ “ซน 100%” ฉายทางช่อง 7 จนผลงานเข้าตาได้สร้าง “ก้านกล้วย” เป็นการลองผิดลองถูกที่ประสบความสำเร็จมากๆ เรื่องหนึ่งของการ์ตูนแอนิเมชันเมืองไทยต่อจากสุดสาครเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ผู้กำกับแอนิเมชันระดับอินเตอร์ คมภิญญ์ เข็มกำเนิด

 

“สิ่งที่ทำให้ก้านกล้วยประสบความสำเร็จอาจเป็นเพราะคนไทยชินกับการเสพแอนิเมชันต่างชาติ ในขณะที่คนไทยก็โหยหาความเป็นไทย ก้านกล้วยมีคอนเทนต์เป็นไทยมากๆ คนไทยดูก็อินเพราะตอบโจทย์ความอยากดูของคนไทย โชคดีที่เราได้ฉายพร้อมๆ กับสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งโด่งดังมากและมีความเป็นไทยเหมือนๆ กัน จนเกิดกระแสปากต่อปาก จนยอดรายได้มากกว่านีโม่ที่ทำเงินได้ 42 ล้านบาท แต่ก้านกล้วยทำเงินได้ 100 ล้านบาท เกินความคาดหมาย “นอกจากนี้ ก้านกล้วยยังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชัน 2 รางวัล จากบราซิล และยังได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันเมืองคานส์ ฝรั่งเศสอีกด้วย

กว่าจะได้การ์ตูนแอนิเมชันแต่ละเรื่องไม่ง่าย

การ์ตูนแอนิเมชันแต่ละเรื่องใช้เวลาสร้างนานประมาณ 23 ปี ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เริ่มเขียนสคริปต์แตกเป็นสตอรีบอร์ด พากย์เสียงและตัดต่อโดยที่ยังเป็นภาพนิ่ง ส่งต่อให้ฝ่ายศิลป์ออกแบบคาแรกเตอร์ ออกแบบแบ็กกราวด์ของอยุธยาหรือหงสาวดี จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของทีมแอนิเมเตอร์ที่ทำให้ตัวละครมีชีวิต และเพิ่มเติมในส่วนของสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่างๆ เช่น พายุ ลมหรือฝน ในฐานะผู้กำกับจะเป็นผู้คุมภาพร่วมของการ์ตูนแอนิเมชัน

ในวงการแอนิเมชันเมืองไทยมีผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะน้องๆ รุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงผลงาน ประกอบกับขั้นตอนในการผลิตการ์ตูนแอนิเมชันมีระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น

“แอนิเมชัน คือ การทำสิ่งไม่มีชีวิตให้เหมือนมีชีวิต ดังนั้น เราต้องเข้าใจชีวิต เราต้องเรียนรู้ภายตัวละคร เขาคิดอย่างไร เราต้องรู้อนาโตมีการเคลื่อนไหวของตัวละครของเรา 20 ปีที่แล้วกว่าจะสร้างการ์ตูนเรื่องหนึ่งต้องผ่านขั้นตอนเยอะมาก เช่น 1 วินาที เราต้องวาดภาพให้ได้ทั้งหมด 24 ภาพ มาประกอบกันเพื่อให้ภาพเคลื่อนไหว แต่เมื่อสร้างการ์ตูนแอนิเมชันได้ง่ายวงการนี้จึงฉาบฉวย ด้วยคอมพ์ช่วยเยอะ การทำงานของคนรุ่นใหม่อาจไม่ลึกซึ้งและไม่ให้รายละเอียดกับงานมากพอ”

นักแอนิเมชันที่ดีต้องช่างสังเกต

การที่จะเป็นนักสร้างสรรค์การ์ตูนแอนิเมชันที่ดี คมภิญญ์ บอกว่า ควรมีคุณสมบัติต้องเป็นคนช่างสังเกต เพราะต้องสร้างสิ่งไม่มีชีวิตให้มีชีวิต ดังนั้น ผู้สร้างต้องรู้จักชีวิตให้ลึกซึ้ง ด้วยการสังเกตธรรมชาติรอบข้างว่าเป็นอย่างไร ทุกคนมีความเป็นศิลปินในตัวเพียงแค่ถ่ายทอดออกมาในมุมของเรา

“หากเราเป็นคนช่างสังเกตและวิเคราะห์เราก็จะสามารถเข้าใจ ถ่ายทอดออกมาอย่างรู้สึก ทั้งคนสร้างและคนดู แอนิเมชันไม่ใช่แค่การมูฟ แต่ทำอย่างไรให้คนดูรู้สึกถึงสิ่งที่เราสร้างดูมีชีวิตจิตใจ คนดูก็จะรู้สึกร่วมไปกับผู้สร้าง เพราะการ์ตูนเป็นสิ่งที่เราสมมติขึ้น สร้างสรรค์ตัวการ์ตูนดูเป็นธรรมชาติที่สุด ความยากในอาชีพนี้คือ เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอๆ เราพยายามพัฒนาชีวิตตัวการ์ตูนได้เหมือนมีชีวิตจริงๆ”

แนะนำคนรุ่นใหม่

ตอนนี้คนรุ่นใหม่อยากเก่งด้านแอนิเมชันเรียนรู้ง่ายมาก เพราะมีสื่อการเรียนการสอนมากมาย เช่น ในอินเทอร์เน็ตมีคนทำงานด้านแอนิเมชันมากขึ้น แต่ยังไม่ดีพอ เรายังต้องพัฒนาไปอีกมาก น้องๆ ที่สนใจแอนิเมชันก็ต้องฝึกฝนเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ทำแล้วจะได้รู้ความผิดพลาด เพื่อรู้ขีดจำกัดของตัวเอง ค้นคว้าวิจัย วิเคราะห์ถึงปัญหา เพื่อก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น อีกทั้งอยากพัฒนาฝีมือยังต้องยอมรับกับคำวิจารณ์ให้ได้และรู้ว่าอะไรคือดี และไม่ดีในงานของเรา เพื่อการพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดีขึ้นอีก

ความฝันของคมภิญญ์คือ เขาอยากสร้างตัวละครให้มีคาแรกเตอร์ที่เป็นอมตะ เช่น ตัวการ์ตูนก้องโลกอย่างโดราเอมอน หรือมิกกี้เมาส์ เป็นต้น “ผมอยากพัฒนาการ์ตูนที่มีคาแรกเตอร์ที่ยั่งยืนและมีชื่อเสียง แม้คนทำอาจเปลี่ยนไปแล้วแต่ตัวละครคาแรกเตอร์ของเขาก็ยังคงอยู่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากๆ”

คมภิญญ์ เข็มกำเนิด

การศึกษา : เขาศึกษาจบปริญญาตรีสองใบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาจบโดยตรงทางด้านแอนิเมชันจากสถาบัน California Institute of Art หรือ CAL Arts สถาบันแอนิเมชันที่ได้รับการรับรองว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ผลงาน : เคยทำงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์แอนิเมชันระดับอินเตอร์ร่วมกับวอลท์ ดิสนีย์ และฟ็อกซ์ ได้แก่

ปี 19981999 Inbetween Animator, Walt Disney Feature Animation, Feature animated film “Atlantis” and

“Tarzan”

ปี 20002002 Character Animator, Blue Sky Studios, Feature animated film “Ice Age”

คนทำแอนิเมชันค่าตอบแทนสูง : นักสร้างสรรค์แอนิเมชันเป็นอาชีพที่ให้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูงหากมีประสบการณ์มากๆ ยิ่งดีมากขึ้นหากสามารถทำงานในระดับอินเตอร์ได้ รายได้ก็ยิ่งทวีมาก