posttoday

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

13 ตุลาคม 2556

หนุ่มนักบริหาร อรรถดา คอมันตร์ กรรมการบริหารบริษัทในเครือ Thai Star Group ดำเนินธุรกิจด้านการขนส่ง การเดินเรือระหว่างประเทศ

โดย...วราภรณ์ ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช

หนุ่มนักบริหาร อรรถดา คอมันตร์ กรรมการบริหารบริษัทในเครือ Thai Star Group ดำเนินธุรกิจด้านการขนส่ง การเดินเรือระหว่างประเทศ ตัวแทนสายการบิน ทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท เทรดดิ้ง และรีสอร์ท ที่มีใจรักในการเก็บสะสมของโบราณและจัดเป็นนักสะสมตัวยง โดยเฉพาะของโบราณ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะ ศัสตราวุธ เป็นต้น

เมื่อราว 15 ปีที่แล้ว อรรถดา เริ่มหันมาเก็บสะสมภาพถ่ายโบราณอายุนับ 100 ปี ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 ภาพ ซึ่งล้วนเป็นภาพประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่หาชมได้ยาก ด้วยความรักในภาพถ่ายนี่เอง ทำให้เขาอยากเผยแพร่ภาพที่สะท้อนถึงประวัติทั้งบุคคลและสถานที่ เขาจึงตั้งสำนักพิมพ์เพื่อผลิตผลงานศิลปวัฒนธรรม “สยาม เรเนซองส์” ขึ้นเพื่อเผยแพร่ภาพถ่ายที่เขามีให้ชนรุ่นหลังได้เห็นถึงภาพถ่ายอันทรงคุณค่า

ผลงานหนังสือเล่มแรกที่ออกมาคือ “สมุดภาพความทรงจำเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” และล่าสุดเขาโชคดีได้ลิขสิทธิ์ “Le Siam a Fontainebleau” หนังสือที่จัดทำโดยพิพิธภัณฑ์พระราชวังของฝรั่งเศส เพื่อเฉลิมฉลองวาระที่สยามได้ส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ครบ 150 ปี ซึ่งมีภาพประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีมาช้านานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เตรียมจัดพิมพ์เร็วๆ นี้

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

 

งานอดิเรก สะสมของโบราณประเมินค่ามิได้

อรรถดา เล่าว่า เขาหวังว่าการสะสมของเขาจะเป็นประโยชน์กับคนที่ชื่นชอบภาพถ่ายโบราณ ซึ่งหนังสือประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักมีแต่เนื้อหา แต่ไม่ค่อยมีรูปภาพให้เห็น หรือมักเป็นภาพที่ตีพิมพ์ซ้ำ ในฐานะที่เขาเก็บสะสมภาพ เขาเชื่อว่าภาพโบราณภาพหนึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง การชมภาพก็เหมือนได้ย้อนเวลาไปในเหตุการณ์ดังกล่าว แม้เป็นภาพบุคคล แต่ผู้ชมจะได้เห็นฉากหลังว่ามีอะไร เกิดขึ้นในช่วงเวลาใด สมัยใด สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของชาติ รวมทั้งสถานที่โบราณที่มีการเปลี่ยนแปลงในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปถึงชีวิตเริ่มต้นของการเป็นนักสะสมของ อรรถดา ที่เริ่มสะสมของโบราณมาตั้งแต่เด็ก เช่น แสตมป์และเหรียญโบราณ รถคลาสสิก เฟอร์นิเจอร์โบราณทั้งไทย จีน เวียดนาม อินเดีย และยุโรป สะสมตลอดมาไม่เคยหยุด แต่รูปถ่ายเริ่มราว 15 ปีที่แล้ว ซึ่งภาพถ่ายโบราณมีเสน่ห์ตรงที่ยิ่งศึกษาที่มาของแต่ละภาพก็ยิ่งทำให้เห็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอดีต

การถ่ายภาพโบราณเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ อรรถดา ให้ความรู้ว่า กล้องถ่ายภาพเข้ามายังเมืองไทยตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 3 แต่เวลานั้นไม่ค่อยมีใครกล้าถ่ายภาพ เพราะมีความเชื่อว่าการถูกถ่ายภาพจะทำให้อายุสั้น อีกทั้งสมัยโบราณการถ่ายภาพเป็นเรื่องยาก ต้องผสมสารเคมี ต้องจัดฉาก ใช้เวลานานในการเปิดหน้ากล้อง แต่ด้วยรัชกาลที่ 4 ทรงมีความคิดสมัยใหม่ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงยอมถ่ายภาพ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางต่างๆ จึงถ่ายตาม อีกทั้งยังมีพระราชดำริที่จะส่งภาพถ่ายของพระองค์ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ พระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศส และพระสันตะปาปาแห่งอิตาลี เพื่อแสดงว่าประเทศสยามไม่ได้ล้าหลัง

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

 

ประวัติการถ่ายภาพในเมืองไทย

อรรถดา ยังเล่าอีกว่า การถ่ายภาพเข้ามายังสยามราวปี พ.ศ. 2388 เริ่มต้นจากระบบดาแกร์โรไทพ์ ซึ่งในเมืองไทยยังหาหลักฐานไม่ได้ แต่มีหลักฐานจากเมืองนอกที่เป็นภาพถ่ายรัชกาลที่ 4 ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน ระบบถ่ายภาพแบบนี้จะถ่ายหนึ่งครั้งต่อหนึ่งภาพ แต่ไม่กี่ปีให้หลังจึงถูกพัฒนาเป็นระบบฟิล์มกระจกแบบ Wet Plate หรือกระจกเปียกและกระจกแห้ง Dry Plate ที่มาแทนระบบแรกในที่สุด การถ่ายภาพระบบฟิล์มกระจกจะอัดภาพลงกระดาษอัลบูมิน ซึ่งมีส่วนผสมสารจากธรรมชาติ จึงทำให้กระบวนการเก็บเป็นเรื่องยาก หากเก็บไม่ดีภาพจะขึ้นรา ห้ามโดนแสงแดดและความร้อน ห้ามโดนความชื้น ภาพถ่ายโบราณจริงๆ จึงเหลือน้อยด้วยเหตุที่ว่าการเก็บรักษาค่อนข้างลำบาก ภาพถ่ายที่เก็บไว้ในเมืองไทยจึงไม่ค่อยสมบูรณ์ การถ่ายภาพเป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย” จนถึงยุคต่อมาจึงเริ่มมีระบบเซลลูลอยด์ คือเป็นกล้องโกดักที่สามารถพกพาได้ ถ่ายได้เร็วและอัดได้จำนวนมากขึ้น ภาพถ่ายในช่วงรัชกาลที่ 45 จึงเป็นสิ่งปรารถนาของนักสะสม เพราะหายากมากที่สุด

สมัยรัชกาลที่ 4 คนไทยที่ถ่ายภาพได้มีน้อยมาก เช่น พระยากระสาปน์กิจโกศล หรือนายโหมด อมาตยกุล อีกท่านคือ หลวงอัคนีนฤมิตร หรือฟรานซิส จิตร ช่างถ่ายภาพมืออาชีพคนแรกของไทย ซึ่งในสมัยนั้นช่างภาพฝรั่งได้เข้ามาถ่ายภาพในเมืองไทยบ้าง โดยเฉพาะภาพถ่ายภูมิประเทศ และจะนำกลับไปประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมของประเทศอีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเข้ามาล่าอาณานิคมในสมัยนั้น

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

 

ภาพในดวงใจ

ภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 45 ในคอลเลกชันส่วนตัวของ อรรถดา ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่ส่วนใหญ่เขาได้มาจากนักสะสมต่างชาติที่เห็นว่าเขาเป็นคนที่สนใจอย่างจริงจัง ซึ่งภาพต้นฉบับที่ อรรถดา มีไว้ชื่นชมและเก็บไว้เป็นซีรีส์ และอัลบั้มภาพที่เขารู้สึกประทับใจที่สุด คือภาพที่รัชกาลที่ 5 ทรงถ่ายในงานวัดเบญจมบพิตร ราวปี พ.ศ. 2447 โดยนำเงินที่ทรงจำหน่ายภาพได้ไปสร้างพระอุโบสถของวัดในสมัยนั้น

“ปัจจุบันรูปที่ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นที่ต้องการของนักสะสม แต่ไม่มากเท่าภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพโบราณที่ผมมีบางภาพผมได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หลายภาพประมูลมาจากต่างประเทศ และหลายภาพได้มาจากร้านขายของโบราณในเมืองไทย บางทีก็ได้มาจากนักสะสมด้วยกันเอง บางคนเก็บมานาน พออายุมากเขาเห็นว่าลูกหลานไม่สนใจ เขาจึงอยากขายต่อให้คนที่รักจริงๆ แต่ก็มีภาพหลายภาพที่อยู่ต่างประเทศ ก็ต้องอาศัยเพื่อนนักสะสมชาวต่างชาติในการร่วมประมูล” ภาพถ่ายอื่นๆ ที่เขารู้สึกประทับใจ ได้แก่ ภาพพระบรมวงศานุวงศ์แต่งกายในชุดโสกันต์ ที่ถ่ายเพื่อแสดงถึงการผ่านวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เด็กผู้หญิงจะเข้าพิธีโสกันต์ตอนอายุ 11 ปี เด็กผู้ชายอายุ 13 ปี เจ้าฟ้าจะใส่เครื่องทรงเต็มยศ ซึ่งน่าภูมิใจที่เครื่องทรงเหล่านี้มีความอลังการสวยงามมาก และบ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยได้เป็นอย่างดี

ภาพโบราณที่ อรรถดา เก็บสะสมมีมากกว่า 1,000 ภาพ ได้แก่ ภาพพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ภาพบรรพบุรุษที่เคยรับราชการ ภาพวิวทิวทัศน์ เป็นต้น

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

 

อยากสะสมของเก่าควรศึกษาอย่างรอบคอบ

จากการที่คร่ำหวอดในวงการนักสะสมมานาน อรรถดา มีข้อแนะนำสำหรับนักสะสมรุ่นใหม่ๆ ว่า คนเล่นของเก่าต้องศึกษาให้รอบคอบ อีกทั้งควรเป็นคนช่างสังเกต และพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มีใครเก่งไปเสียทุกอย่าง ต้องอาศัยประสบการณ์และเคยเห็นของจริงมาก่อน การหาความรู้ด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนจะตัดสินใจซื้อของโบราณก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ดังนั้นจึงควรเริ่มศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และผู้ขายที่จริงใจ

“ผมคิดว่าหากเราอยากสะสมอะไรก็ควรเป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ อย่าสะสมเพราะแฟชั่น เห็นเพื่อนเก็บสะสมจึงอยากมีบ้าง ถ้าเป็นแบบนั้นสักพักจะรู้สึกเบื่อ และไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่เราเก็บไว้” ด้วยเก็บรักษาภาพถ่ายโบราณไว้มากมาย อรรถดา มีความตั้งใจอยากนำภาพเหล่านี้ไปจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายโบราณ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ชมถึงประวัติศาสตร์ไทยผ่านทางภาพถ่ายโบราณอันทรงคุณค่านี้

สุดท้าย อรรถดา ฝากบอกถึงภาพโบราณแต่ละภาพกว่านักสะสมจะได้มาครอบครองนั้นค่อนข้างลำบาก ดังนั้นขอให้ผู้ต้องการจะใช้คำนึงเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพด้วย “ภาพถ่ายที่ถูกตีพิมพ์จะมีลิขสิทธิ์เป็นของผู้เผยแพร่ ดังนั้นไม่ควรละเมิดลิขสิทธิ์ของเขา ถ้าต้องการใช้ก็ควรจะต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน”

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

 

วิธีเก็บรักษาภาพถ่ายโบราณ

การเก็บรักษาภาพถ่ายโบราณต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนแสงแดดและอากาศชื้น ถ้าเป็นเมืองนอกเขาจะมีตู้ควบคุมอุณหภูมิ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 20 องศาเซลเซียส ถ้าใส่กรอบก็ไม่ควรให้ภาพสัมผัสกระจก ไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาพเสียหาย หากเก็บรูปในอัลบั้มควรมีกระดาษบางที่เป็นกระดาษแอซิด ฟรี เพื่อไม่ให้รูปสัมผัสพื้นผิวอย่างอื่น อุณหภูมิไม่ควรร้อนหรือเย็นเกินไป อย่างเช่นเอกสารโบราณส่วนใหญ่ใช้ปากกาคอแร้งเขียน หากเก็บไม่ดีหมึกจะซึมหรืออาจเลือนหายไปหมด

“การเก็บภาพโบราณของผมจะเก็บใส่ซองก่อนบรรจุลงกล่องเพื่อป้องกันฝุ่น และเพื่อความเป็นระเบียบ แต่ถ้านำภาพเข้ากรอบรูปจะทำให้เก็บรักษาง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงเรื่องความเสียหายได้บ้าง แต่เมื่อแขวนโชว์แล้วควรป้องกันเรื่องแสงสว่าง ความชื้น ไม่ควรเอาผ้าเปียกเช็ดกระจก เพราะจะเกิดความชื้น เก็บให้พ้นแมลง เช่น มอด ปลวก ยิ่งภูมิอากาศแบบบ้านเราต้องป้องกันดีๆ เพราะเป็นประเทศร้อนชื้น รูปถ่ายไม่เหมือนเฟอร์นิเจอร์ เพราะภาพถ่ายเสียแล้วซ่อมไม่ได้ เสียแล้วเสียเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก”

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์

ภาพถ่ายโบราณทรงคุณค่า ของ อรรถดา คอมันตร์