posttoday

นักแข่งรถดาวรุ่ง สาชัย ณัฐกุญชร 

03 ตุลาคม 2556

ด้วยความฝันของหนุ่มน้อยวัย 20 ปี นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากเป็นนักแข่งรถ

โดย...วราภรณ์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

ด้วยความฝันของหนุ่มน้อยวัย 20 ปี นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากเป็นนักแข่งรถ และความสามารถในการแข่งรถของเขาพิสูจน์จากการชนะเลิศแข่งขันเกมรถแข่งในระดับนานาชาติมาแล้วตอนอายุ 18 ปี แล้วความฝันของเขาก็เป็นจริงเมื่อเขาได้รับคัดเลือกให้อยู่ทีมโตโยต้า เรซซิ่ง สคูล 2013 ที่ทำคะแนนสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้ดี จนได้รับคัดเลือกให้เป็นทีมนักแข่งรถรุ่นใหม่ สิ่งที่ได้จากการเข้าโรงเรียนนักแข่งรถอย่าง Toyota Racing School 2013 ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจมาเรียนรู้เทคนิคการขับรถแบบมืออาชีพ เพิ่มทักษะการขับรถ รวมถึงการขับรถอย่างถูกวิธีและปลอดภัย

กว่าจะได้รับการยอมรับให้ร่วมทีมแข่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านหลักสูตรขั้นพื้นฐาน เช่น ความรู้พื้นฐานของการขับขี่รถยนต์ เทคนิคการขับขี่รถยนต์อย่างปลอดภัย สำหรับหลักสูตรขั้นสูง ความรู้ขั้นสูงสุดของการขับรถยนต์ เทคนิคการขับขี่รถแข่งในสนามจริง สิ่งที่ทำให้กิกสนใจอยากเป็นนักแข่งรถ เริ่มจากสมัยเด็กๆ เขาชื่นชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์แข่งรถมากๆ ระยะหลังๆ พัฒนามาแข่งแบบซิมูเลเตอร์ สิ่งประดิษฐ์ทางคอมพิวเตอร์ที่ผู้ขับขี่สามารถสัมผัสกับสถานการณ์ในการขับรถที่คล้ายของจริง เช่น มีภาพถนน สภาพการจราจรและยวดยานบนท้องถนนคันอื่นๆ เสมือนของจริงมากๆ สาชัยยิ่งได้ความสุข สนุก ตื่นเต้นและได้อรรถรสในการเล่นมากขึ้น จนได้แชมป์ของประเทศไทย และไปแข่งเกมแข่งรถซิมูเลเตอร์ที่ญี่ปุ่น ปี 2012 ในรายการ “แกรนด์ คอสโม ออล เอเชียน ชิป” มาแล้ว

“ผมค่อนข้างมีพื้นฐานการขับรถแข่งจริงๆ มาแล้ว เพราะตัวเกมมีเทคนิคการสอนแข่งรถ เช่น เทคนิคการเข้าโค้ง หากเกิดอาการรถสะบัด ต้องแก้ไขอย่างไร ทำให้ผมรู้ลิมิตของการขับรถ และรู้อาการของรถเพราะผมลองมาหมดแล้ว อีกทั้งเล่นในเกมก็ไม่ต้องกลัวรถพัง เราแค่สนุกไปกับมัน พอเล่นไปเรื่อยๆ ได้มาเจอโตโยต้า เพราะผมเล่นเกมรถแข่ง ก็อยากเป็นนักแข่งรถจริงๆ ซึ่งเป็นความฝันของผม ซึ่งโครงการนี้ก็มีหลายปีแล้ว การจะเป็นนักแข่งรถหากมีสังกัด มีผู้สนับสนุนก็ดี เพราะแข่งรถแต่ละครั้งใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก พอมาเจอโครงการนี้เขาสนับสนุนทุกอย่าง ผมเลยสนใจ ก็ไปเรียน สอบคัดเลือก สมัครปีแรกสอบไม่ได้เพราะผมไม่เคยขับรถเกียร์กระปุกเลย เลยไปซ้อมมา มาสอบติดปีที่สอง”

หลักของการขับรถแข่งคือ ต้องขับให้นุ่มนวลที่สุด ทั้งการเหยียบคันเร่ง เบรก บังคับพวงมาลัย หลายคนคิดว่ายิ่งเหยียบคันเร่งมากๆ รถจะเร็ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ ต้องขับรถให้นุ่มนวล ซึ่งหลักการขับรถที่ถูกต้องเขาได้เรียนรู้มาจากต้นสังกัดในการแข่งรถ

“จริงๆ ใครจะเรียนแค่ขับขั้นพื้นฐานก็ได้ แต่ผมอยากเป็นนักแข่งจึงสอบเพราะคุณสมบัติก็ได้ อยากแข่งเป็นทีม อยากร่วมทีม สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือรู้พื้นฐานและได้ประสบการณ์ ฝีมือการขับรถที่เพิ่มขึ้น รู้เทคนิคในสนามแข่ง มารยาท การเบรก การเร่ง เข้าโค้งแต่ละแบบซึ่งต้องเรียนในสนามแข่ง เวลาครูสอนต้องรับคำ เพราะเข้ามาในทีมผู้สอนหลายท่านที่ผลัดกันสอน เราก็ต้องฟัง เพราะเราทำงานกันเป็นทีม”

สนามแรกที่กิกได้ประลองฝีมือ คือ แข่งรุ่นวีออส วัน เมค เรซ ที่ภูเก็ต ได้ที่ 2 แต่ก็พอใจ ต่อไปนี้ก็ต้องเก็บคะแนนสะสมไปเรื่อย ๆ ทั้งหมด 6 สนาม “ เมื่ออยู่ในสนามแข่งนักแข่งต้องนิ่ง มีสติอยู่ตลอดเวลา เพราะการตัดสินใจในการขับขี่เพียงเสี้ยววินาที ดังนั้นเราต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ผมลงสนามแข่งมาประมาณ 3 เดือนแล้ว แต่ความตั้งใจของผมคือปีแรกจะเก็บประสบการณ์ไปก่อน ถ้าแข่ง 6 สนาม เราทำคะแนนดีติดหนึ่งในห้าไปเรื่อยๆ เราก็จะได้ถ้วยรางวัล และก็ได้รับความภาคภูมิใจครับ”

ขณะที่อยู่ในสนามแข่ง กิกบอกว่า ความท้าทายอยู่ตรงนักแข่งรถจะต้องชนะความกดดันให้ได้ เพราะอยู่ทีมใหญ่ๆ แบบนี้ ผู้คนมักตั้งความหวัง เราจึงต้องชนะความกดดันให้ได้

“การเตรียมพร้อมก่อนแข่งทุกครั้งก็คือ ทำใจให้สงบ สบาย ขับให้เต็มที่ ต้องขยันฝึกซ้อม ที่สำคัญคือต้องรู้จักแบ่งเวลาระหว่างการแข่งกับเรียนให้ได้ ตอนนี้ผมอยู่ปี 3 ผมแบ่งเวลาคือ ซ้อมเสาร์และอาทิตย์ จึงไม่กระทบ การแข่งรถผมถือว่าเป็นงานอดิเรก ข้อดีคือหัดใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีระเบียบวินัย เพราะต้องมาฝึกซ้อมตามตารางที่กำหนดไว้ แต่ผมคิดว่าการเป็นนักแข่งช่วยผมเรื่องสมาธิ เพราะเวลาแข่งต้องมีสมาธิ”

อย่างไรก็ดี หนุ่มกิกบอกถึงเสน่ห์เมื่อยามอยู่หลังพวงมาลัย คือ ความตื่นเต้นที่มาพร้อมกับความเร็ว เวลาขับรถก็ได้มองวิวทิวทัศน์ที่ผ่านไปด้วยความเร็ว “จริงๆ ขับรถแข่งปลอดภัยนะครับ” หนุ่มกิกเน้นย้ำ เพราะเวลาอยู่ในสนามแข่งมีอุปกรณ์เซฟคนขับรถ ได้แก่ ชุดกันไฟ หมวกกันน็อกที่จะช่วยปกป้องกระดูกสันหลังไม่ให้โดนกระแทกหรือเคลื่อน อีกทั้งตัวรถแข่งยังเสริมวัสดุพิเศษ เบาะปลอดภัย มีอุปกรณ์ตัดไฟเผื่อเหตุฉุกเฉิน

หนุ่มกิกถือเป็นนักแข่งรถที่มีพรสวรรค์แม้เพิ่งเริ่มแข่งแต่ก็ทำเวลาได้ดี อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีที่ใช้ในการแข่งรถเอื้อประโยชน์กับเขาได้มาก เทคโนโลยีที่หนุ่มกิกใช้ในการแข่งรถ อาทิ สมาร์ทโฟน โดยใช้ฟังก์ชันกล้องถ่ายภาพในโทรศัพท์มือถือ กล้องติดรถซึ่งมีเพอร์ฟอร์แมนซ์บอกซ์ ที่จะช่วยวิเคราะห์การขับในแต่ละครั้ง ช่วยเก็บข้อมูล ช่วยหาข้อบกพร่องทำไมพลาด พลาดตรงจุดไหน นอกจากนี้ยังมีกล้องคอนทัวร์ จะเป็นกล้องที่ติดไว้กับรถ ช่วยถ่ายทอดการผจญภัยขณะขับรถแข่งได้

“กล้องที่ติดอยู่ในรถแข่ง จะตามรถไปทุกที่ ช่วยถ่ายภาพมุมกว้าง ให้เห็นหน้ากระจก เห็นข้างๆ เอาไว้ช่วยดูการขับ ดูเพื่อนคันข้างๆ อีกทั้งใช้ดูวิเคราะห์หลังการขับ ดูเวลาเกิดอุบัติเหตุเกิดอะไรขึ้น เหมือนกล่องดำในเครื่องบิน ชุดกันไฟ หมวก สมาร์ทโฟน ช่วยทำให้เราพัฒนาได้เร็วขึ้น พัฒนาข้อผิดพลาดได้ดีขึ้น”

สำหรับเทคโนโลยีที่หนุ่มกิกใช้ในชีวิตประจำวัน แอนดรอยด์ โซนี่ เอส Xperia SP สมาร์ทโฟนระดับกลางที่เน้นดีไซน์ทันสมัย ซึ่งก่อนซื้อหนุ่มกิกพัฒนาอย่างถ้วนถี่ เลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่สุด อีกทั้งมีราคาย่อมเยากว่าโทรศัพท์มือถือค่ายฮิตมากกว่า 1 เท่าทีเดียว

“เราหาข้อมูลเวลาใช้งานแอพพลิเคชันต่างๆ เครื่องนี้ก็ทำได้ หลักๆ ของการใช้โทรศัพท์มือถือของผมคือ อยากได้สมาร์ทโฟนที่คุยกับเพื่อน อัพเดตโซเชียล และปฏิบัติการแอนดรอยด์ก็คุ้มค่าต่อสเปกที่ได้ ดูกล้องที่ใช้ ระบบเสียงตอบสนองได้หมดราคารับได้ ผมใช้มาปีกว่าๆ แล้วครับ”

กิก-สาชัย ณัฐกุญชร วัย 20 ปี

เข้าร่วมToyota Racing School Team รุ่นปี 2013 : อยากเข้าร่วมทีมเพราะเป็นโครงการที่เปิดให้นักศึกษาสอบคัดเลือกเข้ามาเพื่อเป็นนักแข่งในสังกัด โดยที่โตโยต้าซัพพอร์ตทุกอย่างให้ทำให้รู้สึกประทับใจ

นักแข่งรถต้นแบบ : นักแข่งรถเอฟวัน ที่รู้สึกชอบมากๆ คือ ลูอิส แฮมิลตัน ชาวอังกฤษ ที่ชอบเพราะสไตล์การขับของเขานิ่งมาก บางครั้งอาจใจร้อนบ้าง เขาเป็นนักแข่งขับได้เร็ว สามารถพุชรถ หรือบราวน์ได้ตามสถานการณ์ มีช่วงที่อยากแซงหรือช้าก็ทำได้ดี เขารู้จังหวะ ทำความเร็วต่อรอบได้เร็ว เขาอายุเพียง 30 ปี แต่เขาเริ่มแข่งรถตั้งแต่ 10 ขวบ โดเริ่มอาชีพนักแข่งรถโกคาร์ท แล้วก็อัพเกรดตัวเองไปได้ สำหรับผมนักแข่งรถตอนอายุ 20 ปี ถือว่าช้าไปในต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยโอเคอยู่