posttoday

เกษียณสดใส เคล็ด(ไม่)ลับจาก 60+ ยังแจ๋ว

01 ตุลาคม 2556

ชีวิตคือการสำรวจตรวจหยั่ง ซึ่งวันใดก็คงไม่เหมาะเท่าวันนี้ เพราะเป็นวันผู้สูงอายุสากล (1 ต.ค.) เรื่องราวของผู้สูงวัยที่เปลี่ยนผ่านประสบการณ์

โดย....วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข/ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ชีวิตคือการสำรวจตรวจหยั่ง ซึ่งวันใดก็คงไม่เหมาะเท่าวันนี้ เพราะเป็นวันผู้สูงอายุสากล (1 ต.ค.) เรื่องราวของผู้สูงวัยที่เปลี่ยนผ่านประสบการณ์ความรู้ความสามารถ ขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข กล้าหาญ และมีชีวิตชีวาอย่างน่าทึ่ง เรื่องราวของบรรดาผู้สูงวัยทั้งห้าต่อไปนี้ ขอเล่าสู่แด่ผู้สูงวัยและไม่สูงวัยทั้งหลาย เคล็ด(ไม่)ลับที่นำมาใช้ได้กับทุกวัยและทุกคน

ครูเพลงผู้ทรงพลัง

ในวัย 71 ปี สุรินทร์ ภาคศิริ ผู้แต่งเพลงหนาวลมที่เรณู รวมทั้งเพลงดังในภาพยนตร์ไทยอีกมากมาย (มนต์รักลูกทุ่ง ฯลฯ) ปัจจุบันยังแข็งแรงและทำงานเพลงที่รักอย่างต่อเนื่อง โดยยังแต่งเพลง รวมทั้งจัดรายการวิทยุที่คลื่น 95 อสมท และคลื่นดาวเทียมอีกหลายช่อง

ล่าสุด 12 ต.ค.นี้ ก็จะลุกขึ้นจัดคอนเสิร์ตใหญ่ “คอนเสิร์ตเพลงดังหนังไทยครูสุรินทร์ ภาคศิริ” ซึ่งสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับมูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และนิตยสารทางอีศาน จัดขึ้น บรรเลงโดยวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตรา จากกรมศิลปากร

เกษียณสดใส เคล็ด(ไม่)ลับจาก 60+ ยังแจ๋ว

 

แม้หลายคนจะมองว่าสูงวัยแล้วไม่ควรรับผิดชอบงานหลายด้าน แต่เมื่ออายุมากขึ้น งานกลับสบายขึ้น เพราะทำอย่างใจสบาย ไม่เคร่งเครียด อันที่จริงงานเบากว่าสมัยหนุ่ม ที่เคยทำถึง 3 งานพร้อมกัน คือ รับราชการ (ข้าราชการราชทัณฑ์ 4 กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย) จัดรายการวิทยุ และจัดวงดนตรีตั้งค่ายเพลง จนเมื่ออายุ 55 ปีจึงลาออกจากราชการ

“ชีวิตผมเป็นชีวิตที่สนุกกับงาน โชคของเราที่สมัยวัยรุ่นได้ชกมวย ได้ยกน้ำหนัก เล่นกีฬาหลายชนิด ยังอานิสงส์ให้สุขภาพดี สมองดี ความจำแม่น แก่ตัวลงจึงทำงานได้ต่อเนื่องไม่สะดุด การแต่งเพลงและการจัดรายการวิทยุเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข เพราะฉะนี้ก็ไม่มีเหตุผลให้ต้องเลิก”

อาจารย์บอกว่า เมื่อเฒ่าแก่ลง นอกจากงานเพลงแล้ว ยังเป็นวิทยากรในโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม ให้ความรู้เรื่องเพลงพื้นบ้านและเพลงในอาเซียนแก่เยาวชนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ สมกับความตั้งใจที่ว่า จะทำประโยชน์ และถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นใหม่

จากยามสู่ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น

อำนวย สุขพันธ์ ปัจจุบันอายุ 80 ปี ปัจจุบันครูเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูประจำชมรมดนตรีไทย วิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพธุรกิจ บางกอกใหญ่ เรื่องของครูเหมือนละคร เพราะก่อนจะมาเป็นครู ครูซึ่งขณะนั้นอายุกว่า 70 ปีแล้วมาสมัครเป็นยาม ทำหน้าที่เฝ้ายามวิทยาลัยช่วงกลางคืน

เรื่องของเรื่องคือ ครูมีปัญหานอนไม่หลับในผู้สูงวัย และแก้ปัญหาด้วยการหางานที่ทำได้ในเวลากลางคืน จะไม่ได้รู้สึกแปลกแยกกับคนในบ้าน ทุกอย่างลงตัวเมื่อได้งาน รปภ.ใกล้บ้าน ต่อมาวิทยาลัยเปิดชมรมดนตรีไทย ซึ่งก่อตั้งโดยอาจารย์บุญรัตน เพชรฉาย ครูอำนวยได้ยินเข้าจึงหาเวลาตอนคนไม่อยู่ แอบมาเล่นเครื่องสาย เครื่องดนตรีที่ครูเคยเล่นมาก่อน

อาจารย์บุญรัตนได้ยินเข้า จึงรู้ว่าครูมีฝีมือ ไล่เรียงประวัติดูจึงรู้ว่าตายามคนนี้เคยศึกษาดนตรีไทยมาตั้งแต่ครั้งเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดตาลเอน จ.พระนครศรีอยุธยา ใช้ทางดนตรีของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ต่อมายังศึกษาเพิ่มเติมจากผลงานของครูมนตรี (บุญธรรม) ตราโมช กรมศิลปากร

เกษียณสดใส เคล็ด(ไม่)ลับจาก 60+ ยังแจ๋ว

 

ครูอำนวย ในวัยหนุ่มได้เข้ารับราชการทหารบก ที่กองดุริยางค์ไทย กองพล ปตอ.เกียกกาย ก่อนจะย้ายไปเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ 5 เกษียณแล้วซึมเศร้ารวมทั้งนอนไม่หลับ จนได้ค้นพบสิ่งที่เคยรักนั่นคือดนตรีไทยที่ชมรมดนตรีไทย วิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพฯ ที่มาสมัครเป็นยามนั่นเอง

ทุกวันนี้เป็นอันว่า ครูเลิกเป็นยาม โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ใหม่ นั่นคือสั่งสอนอบรมดนตรีไทยสัปดาห์ละ 2 วัน วันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ วันละ 23 ชั่วโมง เงินทองครูไม่ขอรับ สิ่งที่ทำให้มีความสุขที่สุดคือ การรอคอยวันสอน เพื่อจะได้ถีบจักรยานออกจากบ้าน มาต่อเพลงให้เด็กๆ และที่เคยป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ก็ได้กำลังใจจากนักเรียนรุ่นหลานๆ ทำให้เลิกบุหรี่ได้ในวัยเกือบแปดสิบ

“ถ้าไม่ได้เจ้าพวกทโมนพวกนี้ ผมคงเบื่อตาย หรือไม่ก็สูบบุหรี่จนตายไปแล้ว” ครูอำนวย เล่า

คุณภาพความคิด คุณภาพความแก่

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ อดีตผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลจักษุรัตนิน หรือ “ป้าศรี” ในวัย 73 ปี เล่าว่า ไม่เห็นว่าอะไรเป็นปัญหา ถึงวัยนี้สุขภาพและเรี่ยวแรงลดถอย ก็เป็นธรรมดา เรื่องสังคมเพื่อนฝูงก็สบายๆ ชอบจะคบใครก็คบ จะทำอะไรก็ทำ ไม่กังวลกับสายตาคนอื่นนัก ไม่เอาตัวตนไปเทียบเคียงกับใครหรืออะไร เพราะเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว

เกษียณสดใส เคล็ด(ไม่)ลับจาก 60+ ยังแจ๋ว

 

แต่งงานครั้งที่ 2 (กับ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์) ตอนอายุ 57 ปี ก็เป็นย่าเป็นยายแล้ว คนดีใจด้วยก็เยอะ วิจารณ์เชิงลบก็มี แต่มันเป็นช่วงชีวิตที่มีความชัดเจนว่า วิจารณญาณเป็นของเรา ได้เรียนผิดเรียนถูกมาเยอะแล้ว ถ้าจะทำเรื่องดีๆ ให้ตัวเอง ให้คนอื่น หรือให้โลก ก็ทำๆ เสียไม่ดีหรือ คุณภาพสมองและร่างกายเหลืออีกแค่ไหนก็ไม่รู้

“วัย 70 กว่านี้ สนุกง่ายนะ ชอบหลายอย่าง ทำงานที่อยากทำมานาน แล้วก็ทำสวน ทำกับข้าว อ่านหนังสือ ดูหนัง ค้นคว้าสิ่งต่างๆ ที่อยากรู้ทางอินเทอร์เน็ต เดินทางกับสามี อยู่บ้านสบายๆ พบลูกพบหลาน อยู่กับเพื่อนฝูงก็สนุกนะ แต่ก็ขอเวลาอยู่เงียบๆ กับตัวเองด้วย ชอบอยู่ป่าอยู่เขา ทะเลก็ชอบ ไม่กลัวเลยที่จะไปอยู่คนเดียว”

ที่สำคัญคือขอเวลาปลีกตัวไปอยู่วิเวกเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นระยะ เพราะได้ไปสัมผัสธรรมชาติของกายกับใจตัวเอง

ปัจจุบันยกภาระการงานให้ลูกๆ ไปแล้ว หันมาลุยเรื่องที่สนใจมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คือ ความต้องการให้คนได้ตายอย่างสงบและทุกข์ทรมานน้อยที่สุดทั้งกายใจ โดยได้ร่วมงานกับหลายองค์กร ผลักดันและทำงานอย่างใกล้ชิดกับโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มหาวิทยาลัยมหิดล

ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังร่างนโยบายแห่งชาติ เรื่องการ “ตายดี” ป้าศรีก็ช่วยตามกำลังและความถนัด ทำเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ชื่อ “Chamnongsriawareness” ใช้ทั้งความรู้ ความสนุก ศิลปะ ดนตรี หนังสั้นและอีกสารพัด สร้าง “คุณภาพความคิด คุณภาพความแก่ คุณภาพความตาย” ให้มีชีวิตชีวาน่าติดตาม

73 ปีที่ผ่านมา ชีวิตได้แตะทั้งก้นเหวและยอดเขา มารู้สึกว่ามนุษย์นี้หนอ มีช่วงชีวิตที่จำกัด พอสะสมการเรียนรู้มามากมาย ก็...อ้าว...ถึงเวลาตายซะแล้ว ก็เลยนึกว่าตัวเองมีเวลาเหลือเท่าไรก็จะถ่ายทอดสิ่งที่เรียนรู้ไว้ให้คนรุ่นใหม่ ถึงตัวเราเองก็ยังเรียนรู้ไม่จบ ไปบรรยายทีไร ความคิด ความรู้มันงอก จากทั้งตัวเองและคนฟังที่แลกเปลี่ยนกัน ใครจะเชื่อล่ะว่า มหัศจรรย์ของการเรียนรู้ ก็เกิดขึ้นในวัยชรานะ

“วัยไหนจะมีบทเรียนชีวิตมาให้เล่าได้สนุกเท่าวัยนี้ล่ะ โชคดีนะที่ไม่ตายไปเสียก่อน”

เกษียณสดใส เคล็ด(ไม่)ลับจาก 60+ ยังแจ๋ว

 

ชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน

จิตรามณฑน์ เตชะไพบูลย์ เจ้าของและประธานกรรมการ บริษัท เพรส แอพพีล ออร์แกไนเซอร์แห่งแรกของไทย ผู้เขียนหนังสือ “หยกและเครื่องลายครามของไทย” ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศหลายแห่งทั่วโลก ประธานอาสาสมัครกิตติมศักดิ์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้บริหารและฝ่ายอำนวยการกองส่งเสริมธุรกิจธนาคารศรีนคร วันนี้ในวัยหลัก 70 กับหลายบทบาท จิตรามณฑน์ กล่าวว่า ในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ คิดแบบนี้ได้แล้วจะสบายใจ และทำใจได้กับทุกเรื่องที่ไหลผ่านเข้ามา

“พอมีอาวุโสแล้ว สังเกตว่าเราทำใจกับเรื่องไม่พึงประสงค์ได้ดีขึ้น เพราะมีทุกข์ก็มีสุข มีเกิดมีดับ วนเวียนไปตามหลักธรรม เมื่อรู้สึกตัวก็ปล่อยให้ผ่านไป”

สำหรับหลักการใช้ชีวิต คือการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมดุล สำหรับร่างกาย ดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่วนจิตใจใช้เวลาในช่วงกลางคืน สวดมนต์และปฏิบัติวิปัสสนา เนื่องจากเงียบ ไม่มีโทรศัพท์รบกวน

“สวดมนต์เวลา 24.00-01.00 น. เสร็จแล้วต่อด้วยออกกำลังกายอีก 12 ชั่วโมง เพราะนั่งนานๆ ก็จะเท้าชาใช่ไหม ออกกำลังกายต่อไปเลย จะคอมพลีททั้งร่างกายและจิตใจ แถมไม่เป็นเหน็บหรือชาด้วย นอนตี 3 ตื่น 7 โมงเช้า” จิตรามณฑน์ กล่าว

ส่วนปัญหาหลงลืมมีบ้าง ก็ใครจะไม่มี ทั้งวัยเด็กวัยสาวก็หลงกันมาคนละกี่มากน้อย จะไปยึดถือทำไม ทุกวันนี้เล่นกีฬาบริดจ์เพื่อออกกำลังสมอง โดยมีกำหนดเล่นกับพรรคพวกเพื่อนฝูงทุกวันอังคาร พุธ ศุกร์และอาทิตย์ ที่สปอร์ตคลับและโปโลคลับ ส่วนวันจันทร์เป็นวันหยุดพัก ไม่ค่อยรับนัดใคร ตลอดวันกินผลไม้รสไม่หวานจัด เพื่อพักระบบย่อยและควบคุมน้ำหนัก

สำหรับการแต่งกาย ที่ต้องถือว่าเป็นสไตล์เฉพาะตัวอย่างแท้จริง โดยทุกชุดที่ใส่สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้ทุกครั้ง จิตรามณฑน์ เล่าว่า ชีวิตมีความสุขกับการมิกซ์แอนด์แมตช์ ส่วนหนึ่งเพราะเรียนมาทางด้านศิลปะ จึงมีทักษะเรื่องสีและสนุกกับสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะการตีโจทย์หรือธีมของปาร์ตี้ที่ไป เมื่อแต่งตัวได้ตามโจทย์ที่ตั้งไว้ ก็เหมือนสอบผ่าน ถือว่าท้าทายกันเป็นงานๆ

“เราอาจไม่ได้ทำประโยชน์อะไรมากมาย แต่เวลาคนเห็นเราแต่งตัว เขาก็อาจจะนึกครีเอทีฟขึ้นมา บันดาลใจให้ลุกขึ้นมาแต่งตัว ทำอะไรสนุกๆ อย่างวงบริดจ์นี่ เดี๋ยวนี้เพื่อนๆ ในวงลุกขึ้นมาแต่งตัวกันเป็นแถว”

สำหรับเรื่องชื่อที่เปลี่ยนเมื่อสูงวัย จากจิตรา เป็นจิตรามณฑน์ แปลว่า ผู้มีศิลปะที่สวยงาม แปลกแต่จริงที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิต เพราะจากที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบ ก็สามารถปล่อยวางได้มากขึ้น แต่ก็อาจเพราะวัยที่มากขึ้นด้วย ทุกอย่างทุกเรื่องผ่านเลยไปง่ายๆ ชีวิตตอนแก่สบายกว่ากันเยอะเลย