posttoday

กลยุทธ์ HRM สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (จบ)

30 กันยายน 2556

สัปดาห์นี้ผู้เขียนจะขอสรุปกลยุทธ์ในการบริหาร HR ที่รวบรวมจากธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จในการบริหารงานและบริหาร

โดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

สัปดาห์นี้ผู้เขียนจะขอสรุปกลยุทธ์ในการบริหาร HR ที่รวบรวมจากธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จในการบริหารงานและบริหารคนมาเป็นแนวทางช่วยจุดประกายความคิดให้แก่เจ้าของกิจการขนาดย่อมในบ้านเราได้เรียนรู้กันนะคะ ดูตัวอย่างจากคนอื่นแล้วเราก็ลองนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของเรา หายากค่ะที่จะสามารถนำแบบจำลอง (Model) การบริหารงานจากบริษัทอื่นที่ประสบความสำเร็จแล้วนำมาใช้กับธุรกิจของเราได้เลยโดยไม่ต้องมีการดัดแปลง อีกทั้งผู้เขียนเองก็ไม่สนับสนุนให้ผู้บริหารมีทัศนคติอย่างที่ว่านี้ด้วย เพราะทัศนคติที่นิยม “ก๊อบปี้” แนวทางบริหารจัดการของคนอื่นที่เห็นว่าดี โดยไม่พยายามวิเคราะห์หาแนวทางของตนเองหรือพยายามดัดแปลงให้ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจเรานั้นเป็นการปิดกั้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเราในระยะยาว

“จิ๋วแต่แจ๋ว” ถึงเล็กก็เล็กแบบครบวงจร HRM

กลยุทธ์แรกก็คือ อย่านึกว่าการมีระบบ HR ที่ครบวงจรเป็นเรื่องที่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่สมควรมี จากกรณีศึกษาของหลายบริษัทที่เติบโตขึ้นเป็นบริษัทที่แข็งแรงยั่งยืนพบว่าต้องเริ่มจากสร้างระบบ HR ที่มีมาตรฐานก่อนในเรื่องหลัก 3 ประการ คือ มีการสรรหาคัดเลือก การพัฒนา และการจูงใจรักษาคนผ่านการประเมินผล การให้รางวัลและสวัสดิการที่มีหลักการเหตุผล เพราะสาเหตุที่หลายคนไม่อยากทำงานกับบริษัทเล็กๆ เป็นเพราะไม่ชอบการบริหารแบบตามใจเจ้าของ เล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างโจ๋งครึ่มนั่นเอง และที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจขนาดย่อมคือ การที่ผู้นำที่เป็นเจ้าของกิจการตระหนักถึงความสำคัญของ HRM และใส่ใจสนับสนุนการบริหารคนอย่างจริงจัง ถ้าขาดคีย์แมนคนนี้แล้วขอบอกว่ายากที่จะหา HR มือโปรมาช่วยสร้างระบบ HRM ที่จะดึงดูดคนเก่งๆ มาทำงานให้ท่านได้อย่างยั่งยืน ถ้าได้มือโปรจริงๆ บริษัทเล็กๆ ก็สามารถมีระบบ HRM แบบครบวงจรในราคาย่อมเยาได้ค่ะ

สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นค่านิยมของครอบครัว

บริษัทขนาดย่อมมักเป็นบริษัทครอบครัวที่เกิดจากความเชื่อ หรือค่านิยมของครอบครัวมาก่อน แต่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นบริษัทครอบครัว แต่เป็นบริษัทที่เกิดใหม่จากการรวมหุ้นของหุ้นส่วนที่มีความเชื่อและค่านิยมในการทำงานร่วมกัน ก็สามารถใช้ค่านิยมนั้นเป็นพื้นฐานในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ เสน่ห์อีกประการหนึ่งของบริษัทเล็กๆ และบริษัทครอบครัวคือวัฒนธรรมในการทำงานที่เน้นความง่ายๆ ยืดหยุ่นได้ (แต่ไม่ใช่ยืดหย่อนจนขาดมาตรฐานนะคะ) ความเป็นกันเอง มีมิตรภาพมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อกันแบบเครือญาติ คุณสมบัติข้อนี้เป็นค่านิยมที่ควรรักษาไว้ แม้ว่าธุรกิจจะเติบโตขึ้นจนเป็นบริษัทใหญ่ก็ตามที HR ที่ฉลาดต้องรู้จักสร้างสมดุลระหว่างการรักษามาตรฐานและคุณภาพในการทำงานกับการเป็นกันเองยืดหยุ่นแบบสมาชิกในครอบครัวเอาไว้ Julie Shoufler อดีตผู้บริหาร HR ที่มีประสบการณ์มากมายในการทำงานกับธุรกิจขนาดเล็กอย่าง Lone Rock Timber Management เล่าว่าแม้ในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ระหว่างปี ค.ศ. 20082009 หลายบริษัทลอยแพพนักงาน แต่ทางบริษัทพยายามหาช่องทางต่างๆ เพื่อรักษาพนักงานไว้ เธอกล่าวว่า “การพึ่งพาพนักงานของเราเป็นหลักมากกว่าหันไปพึ่งพวกบริษัทรับทำงานภายนอก (Subcontractors) เป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการฝึกปรือพนักงานให้มีความรู้และทักษะสูงขึ้น ยังเป็นการสร้างสำนึกของการเป็นเจ้าของบริษัทและความภาคภูมิใจให้แก่พนักงานอีกด้วย

ปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม (Practice Eudaemonism)

นานๆ จะเห็นคนใช้ศัพท์คำว่า “Eudaemonism” เสียที คำนี้ลึกกว่าคำว่า “Ethics” เพราะหมายถึงหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่เชื่อว่าความสุขย่อมเกิดจากการปฏิบัติงาน ปฏิบัติตัวอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม ที่บริษัท Winden Enterprise Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลบริหารสินทรัพย์ในระบบออนไลน์และมีพนักงานเพียง 85 คน ในรัฐวิสคอนซิน ได้เน้นหลักการ Eudaemonism อย่างเคร่งครัด ผู้บริหารได้สื่อให้พนักงานเข้าใจแนวคิดนี้อย่างเห็นได้ชัดเจนโดยที่พนักงานสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการบริหารชีวิตส่วนตัวและชีวิตในที่ทำงานได้อย่างลงตัว Amy Esry ผู้เป็น HR ของบริษัทนี้ได้ออกแบบโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพนักงาน (Employee Wellness Program) ซึ่งมีพนักงานกว่าครึ่งสนใจเข้าร่วม ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าหากบริษัทมีความโอบอ้อมอารีดูแลพนักงานอย่างดี พนักงานก็จะสำนึกในน้ำใจและเต็มใจทุ่มเททำงานให้เป็นการตอบแทน นอกจากนี้ก็ยังภาคภูมิใจที่ทำงานกับบริษัทที่มีจริยธรรมอย่างแท้จริงด้วย

สร้างโครงข่ายความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

Debbie Horne HR มือโปรของบริษัทเล็กๆ เช่น CMC Rescue Inc.ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ให้ข้อแนะนำที่ดีกับ HR มือใหม่ของธุรกิจขนาดย่อมว่า “ในบริษัทเล็กที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งกิจการ คุณก็ต้องเป็นทุกอย่าง (ทำทั่วไปแบบ Generalist) เพราะมันไม่มีที่ว่างสำหรับการเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) หรอก ต่อจากนั้นคุณถึงค่อยกลายเป็นนักวางกลยุทธ์และเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ (Strategist and Business Partner) ได้” Horne ยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า HR ต้องรู้จักสร้างสมดุล (รู้ว่าต้องวางน้ำหนักในการทำงานในเรื่องอะไร มากน้อยแค่ไหน) นี่แหละคือความสามารถที่แท้จริงของ HR จุดเด่นของ Horne คือสามารถสร้างโปรแกรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่ให้เรียนรู้งานและพร้อมสร้างผลงานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรประหยัดต้นทุนด้านเวลาและทรัพยากรอื่นๆ ในการสร้างความพร้อมให้พนักงานใหม่ได้อย่างเห็นผล

เนื้อที่คอลัมน์มีจำกัด แต่จากตัวอย่างเหล่านี้ที่ผู้เขียนสรรหามานำเสนอก็คงจะเพียงพอที่จะจุดประกายความคิดให้เจ้าของกิจการและชาว HR ของธุรกิจขนาดย่อมได้มากพอสมควรนะคะ ถึงธุรกิจเราจะเล็กแต่ก็เล็กพริกขี้หนูค่ะ!