posttoday

ตัวจริงไอซีที ‘ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์’

28 กันยายน 2556

“อย่ากลัวความล้มเหลว เพราะมันคืออุปสรรคของความสำเร็จ”

โดย...ณัฐวรรณ ฉลองขวัญ

“อย่ากลัวความล้มเหลว เพราะมันคืออุปสรรคของความสำเร็จ”

นี่คือแนวคิดของ “ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์”

เขา...คือผู้เริ่มต้น www.siampage.com เว็บไซต์เจ้าแรกที่สามารถส่งข้อความเข้าหาเพจเจอร์ได้ทุกยี่ห้อ ในยุคที่เพจเจอร์ได้รับความนิยมอย่างมาก

เขา..คือผู้ก่อตั้ง www.catcha.com เสิร์ชเอนจินสุดฮิตของไทยเมื่อ 13 ปีก่อน ในยุคที่ดอตคอมเบ่งบานถึงขีดสุด

เขา...กล้าการันตีว่า เป็นคนแรกที่ทำให้โทรศัพท์ไอโฟนรุ่นแรกสามารถใช้เป็นโทรศัพท์หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชันเกมต่างๆ ได้ในเมืองไทย ในยุคที่ไอโฟนถูกจำกัดไว้เฉพาะการใช้งานเฉพาะเครือข่ายเอทีแอนด์ทีของอเมริกาเท่านั้น

ตัวจริงไอซีที ‘ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์’

 

และเขา...เกือบจะได้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้ทำงานกับยักษ์ใหญ่ชื่อดังอย่างกูเกิล ในวันที่กูเกิลยังไม่เป็นที่รู้จักทั่วโลก

แต่...วันนี้ เขาเลือกที่จะมีความสุขในอาชีพรับราชการ กับสถานะล่าสุด รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) หนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และแอบมีความหวัง (เล็กๆ) ว่า สักวันหนึ่งจะได้เห็น ซิลิคอน วัลเลย์ เมืองไทย เกิดขึ้นจริงๆ

ฉัตรชัย ผู้มีดีกรีปริญญาเอก วิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เล่าย้อนถึงโมเมนต์ที่ได้ตัดสินใจหันหลังให้กับธุรกิจเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง แคชช่า แล้วเลือกมาสมัครเข้ารับราชการที่กระทรวงไอซีทีว่า

“เป็นความคิดแบบเด็กไฟแรง โลกสวย อยากเห็นหลายๆ อย่างของประเทศไทยจะพัฒนาไปได้ดีกว่านี้ จากประสบการณ์การทำงานที่แคชช่า ซึ่งเป็นเสิร์ชเอนจินระดับภูมิภาคเอเชีย ทำให้ต้องประสานงานกับคนวัยเดียวกันในหลายๆ ประเทศอาเซียน ซึ่งมีมาตรฐานการทำงานไม่แพ้ที่อเมริกา แต่ของไทยยังแตกต่างและค่อนข้างห่างชั้นอยู่มาก จึงอยากนำประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมามาช่วยสร้างสรรค์และผลักดันอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่กระทรวงไอซีทีเกิดขึ้นพอดี” ฉัตรชัยกล่าว

แม้จะเป็นข้าราชการซีเล็กๆ แต่ฉัตรชัยก็ได้รับความไว้วางใจจาก คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ (ปลัดไอซีทีในขณะนั้น) ให้ร่วมเป็นหนึ่งในสามทหารเสือเพื่อเขียนแผนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อีกอฟเวิร์นเมนต์) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในตอนนั้น (ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงมากขึ้น ผู้บริหารต้องมีอีเมลทุกคน และมีตัวช่วยสำหรับคนที่ไม่ถนัดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ (Government Contact Center : GCC 1111) ศูนย์ให้บริการข้อมูลของทุกหน่วยงานรัฐผ่านหมายเลขเดียวแบบ วัน สต็อป เซอร์วิส ที่ยังคงเปิดให้บริการจนถึงทุกวันนี้

ตัวจริงไอซีที ‘ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์’

 

หลังคลุกคลีกับกระทรวงไอซีทีมามากกว่าครึ่งทศวรรษ ในช่วงที่ สุวิทย์ คุณกิตติ เป็น รมว.อุตสาหกรรม ฉัตรชัยโดนดึงตัวไปช่วยงานที่นั่นอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนหวนคืนมาที่ไอซีทีอีกหน และเริ่มมีความคิดอยากหยุดชีวิตราชการแล้วกลับเข้าสู่การทำงานในโลกของบริษัทเอกชนอีกครั้ง ซึ่งเขาได้รับการทาบทามจาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจ “ไปต่อ” กับชีวิตราชการเหมือนเดิม

“จากโหมดวิ่ง 100 ม. เมื่อก่อน ก็ปรับสู่โหมดวิ่งมาราธอน ไม่ใช่ว่าเบื่องานหรือระบบข้าราชการ แต่ทุกอย่างคือการเรียนรู้และเข้าใจที่จะอยู่กับระบบให้ได้ จากที่ในตอนแรกเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เมื่อเข้ามาเราก็ได้รู้ว่าความคล่องตัวมันมีน้อยมาก และทำให้เข้าใจมากขึ้น”

ฉัตรชัย กล่าวว่า การเข้าใจและเลือกที่จะยอมรับกับระบบราชการ ถือเป็นอีกก้าวของการเรียนรู้ในชีวิต โดยเปลี่ยนมุมมองจากคนข้างนอกมาเป็นคนในและอยู่กับระบบข้าราชการไทยที่รู้กันดีว่ามีปัญหาเรื่องระบบการทำงานที่ค่อนข้างช้าและต้องผ่านการอนุมัติหลายขั้นตอน ซึ่งสวนทางกับโลกของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างสิ้นเชิง โดยในมุมของคนที่ทำงานอยู่กับเทคโนโลยี เขาสะท้อนระบบราชการไทยว่า

“ราชการมีข้อจำกัดว่าทำอะไรห้ามพลาด ห้ามล้มเหลว ทำให้นวัตกรรมที่ออกมาไม่สร้างสรรค์มากนัก เพราะทุกอย่างคือต้องใช่ จะมาผิดไม่ได้ ไม่มีว่าไม่ใช่แล้วมาเริ่มใหม่ ทำให้เหมือนถูกตีกรอบว่าห้ามผิด ซึ่งในโลกของนวัตกรรมมันตรงกันข้าม เพราะนวัตกรรมต้องล้มเหลวก่อน ต้องลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ดีที่สุด”

หลังจากเลือกที่จะไปต่ออีกครั้งกับชีวิตในระบบหน่วยงานรัฐ ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่เก้าอี้รองผู้อำนวยการซิป้าเปิดรับพอดี เขาจึงตัดสินใจยื่นใบสมัคร แม้ว่าในตอนนั้นซิป้าจะเป็นหน่วยงานที่มีแต่สารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะเรื่องการเมืองภายในและโครงสร้างหน่วยงานที่กลายเป็นตัวฉุดรั้งให้ซิป้ากลายเป็นหน่วยงานที่ถูก “ยี้” ของกระทรวงไอซีทีมากที่สุด รวมไปถึงเอกชนและสมาคมด้านไอซีทีที่ต่างไม่ปลื้มซิป้าอย่างมาก หากเทียบกับซิป้าของไอซีทียุคแรกๆ แต่ฉัตรชัยกลับคิดในอีกมุมว่า

“ถ้าเข้ามาแล้วช่วยแก้อะไรไม่ได้ ก็เท่ากับเรามาเรียนรู้งานใหม่ๆ แต่ถ้าองค์กรมันดีขึ้นก็เท่ากับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในช่วงแก้ปัญหาอันวุ่นวายและได้เห็นองค์กรเติบโตไปด้วยกัน”

ฉัตรชัย กล่าวว่า ความท้าทายของซิป้าอยู่ตรงทำงานในด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่จับต้องได้ยาก ซึ่งหากเปรียบภาพให้เห็นชัดเจน ซิป้าก็ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากกว่า หากเทียบกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ที่เห็นชัดเจนว่าจะเข้ามาตั้งโรงงาน มูลค่าการลงทุนและเม็ดเงินระดับหมื่นล้านบาท ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมว่าจะมีโรงงาน สร้างเงินหมุนเวียนให้ประเทศ แต่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไม่ใช่แบบนั้น

“ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากบริษัทผู้พัฒนาเกมแองกรี เบิร์ด สนใจเข้ามาเปิดบริษัทในไทย แต่มีคนทำงานอยู่ 12 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับการตั้งโรงงานใหญ่ๆ อาจถูกมองว่าเล็กมากๆ ทั้งที่ในความจริงมูลค่าที่ได้กลับมานั้นมันยิ่งใหญ่ เพราะคือซอฟต์แวร์ คือ แอพพลิเคชั่น ระดับโลก ซึ่งมูลค่าเหล่านี้สำคัญกว่าเม็ดเงินหรือขนาดของบริษัท และซิป้าต้องทำให้ทุกคนยอมรับในจุดนี้ให้ได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้ายทายค่อนข้างสูง” ฉัตรชัยกล่าว

ไม่เพียงแต่การทำงานที่ซิป้าจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในชีวิตแล้ว ฉัตรชัย ยังแอบมีความหวังว่า จะเห็นการเกิดขึ้นของซิลิคอน วัลเลย์ ในเมืองไทย นั่นคือ ศูนย์กลางนวัตกรรมและการพัฒนาด้านนวัตกรรม ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์ของไทย ได้รับการยอมรับและสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะในความเป็นจริง ผู้ประกอบการไทยต่างมีฝีมือและความสามารถไม่แพ้ต่างประเทศ แต่ยังขาดการพัฒนาและปิดจุดอ่อนในบางข้อเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ฉัตรชัยพร้อมสานต่อนโยบายของผู้อำนวยการซิป้า ที่มีทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (ครีเอฟที อีโคโนมี) 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ การแพทย์ อาหารและการเกษตร และ อัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะเน้นไปที่การสร้างแรงจูงใจ และพัฒนาบุคลากร คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความสามารถไปเปิดตลาดในต่างประเทศ สร้างเครือข่ายซอฟต์แวร์ไทยไปเวทีโลก สร้างสมาคมซอฟต์แวร์ไทยในประเทศต่างๆ เพื่อติดสปริงบอร์ดให้ซอฟต์แวร์ไทย และซิป้าจะพยายามสร้างให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์มากที่สุด

และแม้ทุกวันนี้ ฉัตรชัยจะเข้าใจและรับมือกับระบบราชการได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่เขาก็อาจถึง “จุดเปลี่ยน” อีกครั้ง เพียงแต่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดให้ตัวเองในตอนนี้ว่าจะไปในสายงานไหน หรือทำธุรกิจส่วนตัว แต่ฉัตรชัยบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การได้ “กล้า” ที่จะเปลี่ยนมุมและเลือกที่จะเดินในเส้นทางสายใหม่อย่างต่อเนื่อง

“ระหว่างประสบความสำเร็จกับไม่อยากล้มเหลวอาจดูเหมือนกัน หลายคนอยากเลือกทั้งสองอย่าง คือ ประสบความสำเร็จและไม่อยากล้มเหลว แต่ในความเป็นจริง คือ ถ้าจะประสบความสำเร็จ ต้องล้มเหลวก่อน แต่หากคุณไม่อยากล้มเหลว นั่นคือการอยู่เฉยๆ เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ก็จะไม่ล้มเหลว ซึ่งถ้าคิดแบบนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปข้างหน้ามาก”