posttoday

ความเป็นไทยในแบบ ‘คงเดช จาตุรันต์รัศมี’

21 กันยายน 2556

ชื่อเรื่องเรียบๆ นักแสดงนำโนเนมไร้คนรู้จัก พล็อตเรื่องชวนยี้ว่าด้วยความเป็นไทย จนถึงโปสเตอร์เฉิ่มๆ เลียนแบบขบวนการยอดมนุษย์

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

ชื่อเรื่องเรียบๆ นักแสดงนำโนเนมไร้คนรู้จัก พล็อตเรื่องชวนยี้ว่าด้วยความเป็นไทย จนถึงโปสเตอร์เฉิ่มๆ เลียนแบบขบวนการยอดมนุษย์

ทั้งหมดแทบไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจให้คนตีตั๋วเข้าชมเลยแม้แต่น้อย

แต่วันนี้ ภาพยนตร์เรื่อง “ตั้งวง” ของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี อำนวยการสร้างโดยบริษัท นอร์ธ สตาร์ โปรดักชั่น กลับสร้างปรากฏการณ์ปากต่อปาก ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างหนาหูในฐานะภาพยนตร์ที่คนไทยยุคนี้ควรดูอย่างยิ่ง ถึงขั้นฟันธงว่านี่คือ ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งปีเลยทีเดียว

“ตั้งวงนี่มันพิเศษตรงเริ่มมาจากสำนักงานศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมต้องการ Recruit บทที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย พอกลับมานั่งคิดว่าจะเขียนอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย คิดไม่ออก เลยโทรไปสืบว่าคนนั้นคนนี้เขาทำอะไรกัน มีทั้งผ้าทอ ปลูกข้าว เวรี่ไทยมากๆ รู้สึกว่าฉิบหายแล้ว จะให้ทำหนังเกี่ยวกับรำไทย มวยไทย ก็ทำไม่ได้แน่ๆ เราแม่งไม่รู้จักเลยว่าวัฒนธรรมไทยคืออะไร แล้วกูไม่แคร์ด้วย

ทุกคนที่พอได้รับโจทย์ว่าให้ทำหนังวัฒนธรรมไทย ก็เห็นภาพชุดที่ถูกปลูกฝังมาให้ มันต้องใส่ชฎา เต็มยศอยู่บนเวที มีบรรเลงเสียงระนาด ฆ้องวงมากันเต็ม ภาพเหล่านี้เราไม่ได้จินตนาการขึ้นมาเอง แต่มันถูกปลูกฝังอยู่ในเมโมรี คนทั่วไปอาจดิ้นไม่หลุดกับคำว่าวัฒนธรรมไทยแบบนั้น ซึ่งตรงนี้มันน่ากลัวนะ”

ความเป็นไทยในแบบ ‘คงเดช จาตุรันต์รัศมี’

 

คงเดช หัวเราะเบาๆ เล่าต่อว่าเมื่อคนรุ่นผู้ใหญ่อย่างเขายังไม่แคร์ว่าวัฒนธรรมไทยคืออะไร เด็กวัยรุ่นมันจะแคร์เหรอ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียในการทำหนังวัยรุ่นเรื่องแรกในชีวิต

ตั้งมั่นแต่ตอนนั้นว่าเราจะทำหนังวัยรุ่น เพราะมันเป็นตัวละครที่แม่งไม่แคร์ที่สุด เมื่อมองเข้าไปในเด็กวัยรุ่น พบว่าเดี๋ยวนี้มันทันสมัยฉิบหายเลย มีไอโฟนไอแพดใช้ แม่งไลน์กันตลอดเวลา แต่เฮ้ย ทำไมเวลามันมีปัญหา หรือมันจะต้องเอนท์ แม้แต่เด็กที่เข้าแคมป์จีเนียสอะไรทั้งหลายแหล่ ทำไมมึงต้องไปบนวะ มันเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก

เราเริ่มสนใจรีเสิร์ชข้อมูลเรื่องรำแก้บน จนไปเจอคลิปรำแก้บนทั้งหลาย มันไปรำแก้บนส่งๆ รำไปหัวเราะไป เพื่อนที่ไปด้วยก็ถ่ายรูปขำๆ บางคนก็ทำจริงจัง แต่คนก็ยังขำ แล้วเราอ่านคอมเมนต์มันมีแต่ด่า มึงเห่ยมากเลย มึงไม่ได้เรื่อง เราตกใจมาก เอ้าก็นี่วัยรุ่นมารำไทยรำแก้บนแล้วนี่ไง แต่แม่งโดนด่าเว้ย นี่เป็นคำถามชุดใหญ่ๆ ที่แม่งกลายเป็นเบสของหนังทั้งเรื่อง”

ท่ารำตั้งวงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์เด่นของหนังเรื่องนี้ มีที่มาที่ไป และความหมายลึกซึ้งแยบยล

“เหมือนการตั้งหลัก ถ้าเปรียบเป็นชีวิตคน เปรียบเป็นประเทศ เหมือนการตั้งไข่ คำว่าตั้งวงมีนัยที่ดี ประมาณว่าไอ้ประตูบานแรกมึงปลดล็อกได้รึยัง ถ้ายัง มึงจะหวังให้มันไปไกลกว่านั้นได้ยังไง เราเลยเขียนบทส่งไปโดยใช้ชื่อนี้ตั้งแต่แรก แล้วตกใจมากเพราะเราไม่ได้เขียนบทที่อยู่ในกรอบ มันไม่เรียบร้อย แต่ปรากฏเขาชอบกันว่ะ (หัวเราะ) มันท้าทายความคิดความเชื่อ โยนคำถามให้คนดูเยอะมาก แต่กระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่มีปัญหาอะไร” เขายิ้มแฉ่งอย่างชอบใจ

ตั้งวงเป็นหนังตลกร้ายสไตล์คงเดช จาตุรันต์รัศมี เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มสุดเกรียนทั้งสี่ ยองและเจเป็นเด็กเนิร์ดประจำโรงเรียนที่กำลังจะเข้าแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ เบสผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักปิงปองตัวแทนโรงเรียน และเอ็มหนุ่มน้อยผู้รักการเต้นคัฟเวอร์เกาหลีเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งหมดกำลังเผชิญกับสถานการณ์ท้าท้ายความเชื่อ นั่นคือการตัดสินใจไปหัดเรียนรำแก้บน พึ่งพาไสยศาสตร์ในวันที่สังคมเจริญรุดหน้าไปไกลแสนไกล ช่างเป็นความย้อนแย้งพิลึกพิลั่นที่สะท้อนภาพสังคมไทยออกมาได้อย่างเจ็บแสบและตรงไปตรงมา

คงเดชบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เขียนบทและกำกับได้สนุกที่สุดเท่าที่เคยทำมา

“เอาเข้าจริงๆ โคตรเพลินเลย ทุกอย่างที่เราใช้ในหนังมันอยู่รอบตัวเราหมด หยิบจับมาใช้ได้ง่ายมาก เขียนบทเร็วมาก ไม่ติดขัด มีไอเดียใหม่ก็เติมๆ มันเข้าไป เขียนเสร็จเร็วมาก เราคิดแค่ว่ากำลังทำหนังวัยรุ่นที่เรียลลิสติกมากๆ แล้วก็ไม่คิดว่ามันเป็นหนังซีเรียสด้วย มันยังอยู่ในฟอร์มของหนังตลกวัยรุ่น แต่มันเป็นตลกร้าย

ไฮไลต์โดดเด่นที่ได้รับเสียงชื่นชมท่วมท้นล้นหลามก็คือการแคสติ้งนักแสดงนำ ซึ่งไม่เลือกดาราวัยรุ่นชื่อดัง หากแต่เลือกเด็กธรรมดาๆ หน้าตาบ้านๆ แต่ผลออกมาประสบความสำเร็จเกินคาด เนื่องจากความจริงใจ ไหลลื่นเป็นธรรมชาติ

“เราต้องการเด็กเนิร์ด เราไม่เคยเห็นเด็กเนิร์ดเป็นตัวละครเอกในโลกภาพยนตร์ไทยเลยนะ อยากให้มันโลดแล่นมานานแล้ว อย่างเด็กที่ตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ก็ต้องไปดูว่ามันมีมายด์เซตยังไง เด็กที่เต้นคัฟเวอร์เกาหลี นัยของมันสำคัญมากเลย เด็กมันไม่ต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเอง เป็นเงาของคนๆ นั้น เต้นต้องเหมือนที่สุด หน้าต้องเป๊ะที่สุด ส่วนเด็กปิงปอง เราคิดแค่ว่าอยากให้เป็นนักกีฬา อนาคตแขวนอยู่กับสิ่งนี้ มุ่งมั่น ไขว่คว้า ดิ้นรน

เราใช้เวลาแคสติ้งกับหนังเรื่องนี้เยอะมาก เรียกเด็กมาให้เราดูเป็นร้อยๆ คน เพราะว่ายังไม่เจอตัวที่ใช่ เช่น ไอ้เด็กที่เต้นคัฟเวอร์ มันต้องมีพื้นฐานการเต้น ไอ้เด็กนักกีฬามันต้องเล่นได้ คล่องแคล่ว หรือคู่เนิร์ด ก็ต้องมาเล่นคู่กัน เวลามึงอยู่ด้วยกัน มึงคุยกันดูเป็นเพื่อนกันรึเปล่า ในที่สุดไอ้คู่ที่ได้มามันเป็นเพื่อนกันจริงๆ คุยกันออกรส อยู่ด้วยกันมันจะคุยกัน สบถคำเล็กคำน้อยกันตลอด เราชอบมาก

ไอ้ความเกรียนของพวกมัน มันทำให้เรามีเอนเนอร์จี ต้องตบกบาลมัน เตะตูดมัน มันไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพอ่ะ อย่างพรุ่งนี้มีถ่าย มันกลัวจะตื่นไม่ทันมากอง มันเลยรวมตัวกันไปค้างบ้านเพื่อน แล้วรวมกันค้างบ้านเพื่อนมันจะได้นอนไหมล่ะ ก็จั่วไพ่ กินเหล้ากันยันเช้า พออีกวัน กล้องสั่งแอ็กชั่น มันหลับไปแล้ว (หัวเราะ) มันตลกดี ทำให้เรามีชีวิตชีวา” คงเดช หัวเราะอย่างอารมณ์ดี

หนังเรื่องนี้ยังได้รับเกียรติจากคณะกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival) ครั้งที่ 63 ระหว่างวันที่ 717 ก.พ. ที่ประเทศเยอรมนี พิจารณาคัดเลือกให้เข้าฉายและร่วมประกวดชิงรางวัลหมีแก้ว สาย Generation Kplus ขณะที่เมืองไทย ผู้ชมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น แม้รายได้จะไม่ถล่มทลาย แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ล้วนไปในทางบวกทั้งสิ้น

“ฉายที่ต่างประเทศก่อนเมืองไทยอีก ตอนทำเรื่องนี้เราไม่ได้คิดว่าจะเป็นหนังเทศกาล หรือทำหนังเรื่องนี้เพื่อคนไทยเท่านั้น แต่ในที่สุด มีฝรั่งมาดูแล้วชอบ มันเกตว่ะ และปรากฏอีกว่าไอ้ภาวะแบบว่าเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นไทย มันเป็นภาวะสากลเว้ย เพราะว่าฝรั่งมันก็ยังไม่รู้อยู่ว่าอะไรคือเยอรมัน อะไรคือสเปน อะไรคือฝรั่งเศส อะไรคืออิตาลี เราคิดว่าภาวะที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก มันมาพร้อมคำว่าโลกาภิวัฒน์ที่เราเคยเห่อมาหลายปีที่แล้ว ทุกอย่างมันแทรกซึมถึงกัน จนทำให้ทุกวันนี้ฮ่องกงก็ตอบได้ยากแล้วว่าฮ่องกงคืออะไร เยอรมนีก็มีเด็กอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ไทยเราก็เหมือนกัน เราอยู่ในยุคที่เส้นเขตแดนประเทศทางความคิดมันเบลอไปแล้ว เราเลยรู้สึกว่านี่คืออิชชู่สากลว่ะ

หนังวัฒนธรรมไทยเป็นยาขมนะ ตอนนี้คนไปดูกันเยอะก็จริง แต่มันยังไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจสักเท่าไหร่ เรายังอยากให้มันยืนนาน อาศัยบอกปากต่อปากเหมือนกัน หนังเรื่องนี้ดูง่าย ทำเสร็จทุกคนที่ได้ดูบอกว่าสนุก เราก็อยากให้คนดูได้ดู ทำยังไงก็ได้ให้คนดูเข้ามาดูเยอะที่สุด เป็นปณิธานเราเลยนะ”

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับหนังอินดี้ตลกร้าย แค่คงเดชไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย

“เมียเราที่บอกว่าเราปากร้ายนะ แต่เราไม่คิดว่าเรากวนตีนมากมายขนาดนั้น ไอ้เรื่องมองโลกในแง่ร้าย เราไม่คิดงั้นนะ เรายังเอนจอยกับชีวิตอยู่นะ ถ้ามองโลกในแง่ร้ายมันต้องไม่หัวเราะ เราชอบที่มีเรื่องเหี้ยๆ เกิดขึ้นเยอะ ชอบที่ประเทศเรามีแต่เรื่องไม่เข้าท่า และหาคำตอบไม่ได้ เพราะมันทำให้เรามีวัตถุดิบทำเรื่องต่างๆ

เราเคยไปแคนาดา บ้านเมืองแม่งแสนสุข ไปอาทิตย์เดียวแม่งเบื่อสัสๆ พวกมึงแม่งมีความสุขกันแล้วอ่ะ ไม่มีอะไรต้องพูดถึงแล้ว แต่ไอ้พวกที่มันยังหาไม่เจอว่าความสุขคืออะไร เราสนใจคนพวกนี้มากกว่า”

ถามถึงเรื่องความเป็นไทยในสายตาของผู้กำกับปากร้าย ขี้แดกดันอย่างคงเดช เขายิ้มเหนื่อยหน่าย ก่อนตอบแบบชัดถ้อยชัดคำว่า

“ประเทศไทยเรามีคาแรกเตอร์พิเศษ มันอยู่บนความกลัว มีนัยของการถูกโปรแกรมให้กลัว ไอ้การเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมันเป็นอาวุธที่เรานำมาใช้ปราบสิ่งที่กลัว เราทันสมัยมาก แต่เวลาเรามีปัญหา เราต้องไปหาสิ่งที่ไม่มีเหตุผลมายึดเหนี่ยว วิธีนี้เหมือนเป็นไม้ตายที่เราต่อกรกับความกลัว เราถูกปลูกฝังความกลัวมาตั้งแต่เด็ก อย่าร้องไห้นะเดี๋ยวตำรวจจับ อย่าเกเรนะเดี๋ยวตุ๊กแกมากินตับ คนไทยมันมีความกลัว ถูกปลูกฝังไม่ให้มั่นใจในตัวเอง บางทีเราก็มีปัญหากับคุณครู บางทีเราก็มีปัญหากับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แต่เราไม่กล้าที่จะพูดถึงมันได้อย่างเต็มปาก มันเลยลามปามทำให้เราไม่มั่นใจในตัวเองด้วย

ประเทศเรามีมนุษย์จิตสัมผัสและญาณทิพย์เพ่นพ่านเต็มไปหมด หมอดูรวยเป็นเศรษฐี สติกเกอร์วัดต่างๆ ติดเต็มหลังรถ มันบอกสภาพชาวไทยได้ดี มันเป็นความย้อนแย้งที่เราหาวิธีอยู่กับมันได้ หนึ่งในวิธียอดนิยมก็คือการเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะปลอบใจเราว่ามันมีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ อยู่เหนือเหตุผลต่างๆ

หนังเรื่องตั้งวง ไปดูดีๆ เราไม่ได้ด่าใครเลยนะ เราแค่เอามาทำให้เห็นชัดๆ สังคมมันเสียดสีตัวเองอยู่แล้ว มันน่าหัวเราะด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เรามองมัน เอามันมาปรากฏอยู่ในหนัง เราไม่รู้สึกว่ามันกำลังแดกดัน แต่ถ้าคนดูหัวเราะ ก็จะรู้สึกว่าเออยังดีนะที่เรายังมีอารมณ์ขันกับเรื่องพวกนี้ได้ ในสังคมที่มันเลอะเทอะแบบนี้”

เป็นไงล่ะ จิกกัดแบบเจ็บๆ แสบๆ สไตล์คงเดช จาตุรันต์รัศมี เขาล่ะ