posttoday

จำเอาไว้ สเต็มเซลล์ ยังรักษาได้แค่ 5 โรค

14 กันยายน 2556

กำลังแพร่หลาย สำหรับแนวทางการใช้ “สเต็มเซลล์” เพื่อรักษาโรค วันนี้แนะนำให้รู้จักกับ ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสเต็มเซลล์

โดย...ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า

กำลังแพร่หลาย สำหรับแนวทางการใช้ “สเต็มเซลล์” เพื่อรักษาโรค วันนี้แนะนำให้รู้จักกับ ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสเต็มเซลล์

คุณหมอเกรียง บอกว่า แม้จะมีกระแสการใช้สเต็มเซลล์ เพื่อรักษาโรคหลายๆ อย่าง แต่อันที่จริงแล้วโรคที่องค์กรวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางต่างๆ ทั่วโลกกำหนดให้รักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้นั้น มีเพียงโรคทางระบบโลหิตวิทยา 5 โรคเท่านั้น ได้แก่ 1.โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 2.โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 3.โรคไขกระดูกฝ่อ 4.มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple Myeloma) และ 5.โรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซีเมีย

ส่วนโรคอื่นๆ ยังไม่มีผลการศึกษาชัดเจนได้ รวมถึงการใช้สเต็มเซลล์เพื่อยืดชีวิต ชะลอความเสื่อมอวัยวะภายใน ก็เช่นกัน

“อันตรายมาก เพราะหากผู้ป่วยอาจเกิดอาการอุดตันของหลอด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมี สารโปรตีนแปลกปลอม หรือเซลล์แปลกปลอมมีสารเคมีแปลกปลอมเข้าไป อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดร้ายแรงและอาจถึงแก่ชีวิต โดยการนำสเต็มเซลล์มาใช้ขณะนี้เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะผู้ป่วยตั้งความหวังกับสเต็มเซลล์มากขึ้น และคิดว่าเป็นทางออกของโรคร้ายทุกอย่าง จึงเกิดช่องว่างระหว่างผู้รู้กับผู้ไม่รู้ และระหว่างความหวังของผู้ป่วยที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับความเป็นจริงขององค์ความรู้ในปัจจุบัน ซึ่งอาจเกิดผลเสียร้ายแรงตามมา”

ด้วยเหตุนี้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพด้านอายุรศาสตร์ ประกอบด้วย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนร่วมกันว่า ไม่ควรนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ นอกเหนือโรคทางระบบโลหิตวิทยาจำนวน 5 กลุ่มโรค

หากจะนำมาใช้ในมนุษย์ก็ควรเป็นไป เพื่อการวิจัยที่มีโครงการวิจัยทดลองในมนุษย์ที่รองรับอย่างชัดเจน โดยโครงการวิจัยดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์อย่างถูกต้อง และต้องไม่มีการเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดทั้งสิ้นจากผู้ป่วยที่ยินยอมเข้าร่วมโครงการวิจัย