posttoday

‘หลังฉันตาย...ไทยจะมีศิลปินแนวหน้ามากมาย’ ศิลป์ พีระศรี

14 กันยายน 2556

วันที่ 15 ก.ย. ของทุกปี คือ วันศิลป์ พีระศรี วันแห่งการรำลึกถึงบิดาแห่งวงการศิลปะไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

โดย...โจ เกียรติอาจิณ / ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

วันที่ 15 ก.ย. ของทุกปี คือ วันศิลป์ พีระศรี วันแห่งการรำลึกถึงบิดาแห่งวงการศิลปะไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ศิลป์ พีระศรี หรือ คอร์ราโด เฟโรชี ชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2435 จบการศึกษาศิลปะจากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ ก่อนเดินทางมารับราชการตำแหน่งช่างปั้นของกรมศิลปากรในประเทศไทย ช่วงรัชกาลที่ 6

คอร์ราโด เฟโรชี ได้สร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะงานปั้นชิ้นใหญ่อย่างอนุสาวรีย์ ระหว่างนั้นได้ฝึกฝนคนไทยให้เรียนรู้วิชาการปั้นและการหล่อโลหะ จนกลายเป็นโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โรงเรียนศิลปากร และมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งศิลป์ พีระศรี ได้รับตำแหน่งคณบดีคนแรก เขายังมีผลงานทางด้านเอกสารทางวิชาการ ตำรา และบทความเพื่อให้ความรู้และชี้ให้เห็นคุณค่าของศิลปะมากมาย

ในปี พ.ศ. 2485 อาจารย์ศิลป์ได้โอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย ใช้ชีวิตในเมืองไทยจนถึงแก่กรรมในวันที่ 14 พ.ค. 2505 ขณะอายุ 70 ปี ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย” และถือเอาวันที่ 15 ก.ย. ของทุกปีเป็นวันศิลป์ พีระศรี

แม้ตัวของ ศ.ศิลป์ พีระศรี จะจากไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ชายคนนี้ยังมีบทบาทสำคัญในแวดวงศิลปะของไทย ยิ่งโดยเฉพาะในจิตใจและความรู้สึกของคนเป็นศิษย์

ได้ดีเพราะครู ... อินสนธิ์ วงศ์สาม

หนึ่งในลูกศิษย์ที่มีโอกาสฝึกวิชากับศิลป์ พีระศรี จนเก่งกาจสามารถคือ “อินสนธิ์ วงศ์สาม” ชาวลำพูน เจ้าของรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม ปี 2542) ผู้ผ่านประสบการณ์แสดงผลงานศิลปะ ณ ต่างแดนมาอย่างโชกโชน ทุกวันนี้ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเฉพาะงานประติมากรรมที่เขารักและถนัด เพราะยึดสอนที่ครูบอกไว้ “นาย ถ้านายคิดถึงฉัน นายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน”

“อาจารย์ศิลป์สอนทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่ท่านยังสอนเรื่องการใช้ชีวิต ท่านมักพูดเสมอว่าศิลปะเป็นเรื่องของชีวิต ดังนั้นทั้งสองอย่างมันจึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ต้องเดินคู่ขนานกันไป” ศิลปินวัย 80 ปี ย้อนความหลัง

การเรียนในห้องของอาจารย์ศิลป์เต็มไปด้วยความสนุก บรรยากาศไม่เครียด ด้วยว่าครูใจดี ทั้งเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้ลูกศิษย์ได้โลดแล่นไปในจินตนาการแห่งสุนทรียศิลป์ ทำให้อินสนธิ์มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเจริญรอยตามครู

“รุ่นผมที่ได้เข้าเรียนศิลปากรมีประมาณ 10 คน อาจารย์ศิลป์สอนให้รู้จักศิลปะทุกแขนง ปั้น เพนต์ ภาพพิมพ์ แม้แต่ดนตรี ปรัชญา ศาสนา ท่านก็สอน เลยเป็นโชคดีของผมที่ทำให้ได้ค้นหาว่าตัวเองถนัดและรักศิลปะแขนงใด มันทำให้ผมได้รู้จักมากกว่าคำว่าศิลปะ ซึ่งในการทำงานศิลปะ จริงๆ ผมก็ทำได้หมดนะ สุดท้าย อาจารย์ศิลป์จะเป็นไกด์ว่าแต่ละคนเหมาะจะทำอะไร บางคน อาจารย์ศิลป์จะบอกว่าคุณไม่เหมาะจะเป็นศิลปิน แต่เหมาะที่จะเป็นครูศิลปะ บางคน อาจารย์ศิลป์จะบอกว่าคุณเหมาะจะเป็นศิลปิน ทำงานศิลปะเพราะแววมันออก”

แน่นอน เขาคือหนึ่งคนที่ครูชาวอิตาเลียนมองเห็นแววความเป็นศิลปินเด่นชัด และก้าวสู่การทำงานเป็นนักสร้างสรรค์ศิลปะอย่างเต็มตัว หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยศิลปะ นับจากนั้นจวบปัจจุบัน

“สิ่งที่ อาจารย์ศิลป์ย้ำเตือนลูกศิษย์ คือการหาตัวตนให้เจอ เป็นเรื่องสำคัญมาก ตัวตนที่ศิลปินแต่ละคนจำต้องมี และถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานของตัวเอง อีกหนึ่งอย่างที่ท่านสอนคนทำงานศิลปะ เพื่อจะได้ก้าวไปเป็นศิลปินโดยสมบูรณ์ นั่นก็คือ ท่านสอนให้เป็นคนดี เมื่อเป็นศิลปินแล้ว ก็อย่าลืม หรือละเลยที่เป็นคนดีด้วย เพราะถ้าทำแต่ผลงานศิลปะดีๆ แต่ตัวศิลปินไม่ดี ก็ไม่น่ายกย่องเท่าไหร่เลย”

“หลังฉันตาย 50 ปี ประเทศไทยจะมีศิลปินชั้นแนวหน้าเกิดขึ้นมากมาย” คำพูดนี้ ศิลป์ พีระศรี เคยเอ่ยกับลูกศิษย์ และอินสนธิ์ยังจำได้แม่น ซึ่งมันก็เป็นจริงดั่งครูว่า ถึงวันนี้อาจารย์ศิลป์ก็ได้จากไป 51 ปีแล้ว และประเทศไทยแจ้งเกิดศิลปินฝีมือระดับพระกาฬให้เป็นที่โจษขาน ในฐานะลูกศิษย์ของครูชาวอิตาเลียน

‘หลังฉันตาย...ไทยจะมีศิลปินแนวหน้ามากมาย’ ศิลป์ พีระศรี

 

คิดถึงอาจารย์ศิลป์

“นาย ถ้านายคิดถึงฉัน นายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน” นั่นคือ คำที่อาจารย์ศิลป์บอกกับลูกศิษย์ลูกหา แต่ถ้าวันนี้มีเด็กรุ่นใหม่สักคนคิดถึงและอยากทำความรู้จักกับผู้ชายคนที่มีความสำคัญกับวงการศิลปะไทยผู้นี้ต้องแวะไปเยือน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณกรมศิลปากร รั้วติดกันกับมหาวิทยาลัยศิลปากร

อาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ซึ่งอาจารย์ศิลป์เคยใช้ทำงาน หน้าต่างกระจกบานใหญ่รับแสงและลมธรรมชาติ ผนังห้องสีเหลือง เพดานเป็นสีเขียว ภายในจัดแสดงผลงานของอาจารย์ศิลป์และลูกศิษย์ ทั้งยังมีพื้นที่จำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานเมื่อครั้งอาจารย์ศิลป์ยังมีชีวิตอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ รวมทั้งแบบร่างอนุสาวรีย์และประติมากรรมชิ้นสำคัญ

ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์เป็นหอประติมากรรมต้นแบบ ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงปั้นหล่อและหลอมโลหะของกรมศิลปากรภายหลังย้ายไปศาลายาจึงได้นำมาทำเป็นหอประติมากรรมต้นแบบ เพื่อจัดนิทรรศการ รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้สนใจเข้าชม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์ และหอประติมากรรมต้นแบบ ตั้งอยู่ที่กรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามโทร. 02-223-6162

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น

ผลงานโดดเด่นของอาจารย์ศิลป์ส่วนใหญ่เป็นงานประติมากรรมซึ่งเป็นสะท้อนความคิดและจินตนาการผ่านชิ้นงานที่น่าจดจำ

ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา รูปปั้นหล่อประกอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพินี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.สุพรรณบุรี รูปปั้นประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล จ.นครปฐม ฯลฯ

“งานปั้นของ อาจารย์ศิลป์ จะเด่นตรงที่มีความเป็นคลาสสิกสูง ท่านแทบจะไม่ดึงเอาความเป็นร่วมสมัยมาใช้เลย ทำให้ขาดความจุดร่วมตรงนี้ไป แต่ก็อีกนั่นแหละ งานส่วนใหญ่ที่ท่านปั้นก็มักจะเป็นงานข้าราชการ ก็เลยต้องทำตามโจทย์ที่ถูกวางไว้แล้ว แหกขนบไม่ได้มาก

จุดแข็งงานของท่าน คือการปั้น ปั้นดีครับ ยุคนั้นผมว่าไม่มีใครเทียบท่านได้ รูปทรง มิติ ดีมาก แสดงถึงความยิ่งใหญ่และบารมีของบุคคลที่ถูกปั้น งดงามตามแบบฉบับศิลปะคลาสสิก” อินสนธิ์ วงศ์สาม ศิษย์อาจารย์ศิลป์ กล่าว

วันนี้ผลงานของ ศิลป์ พีระศรี ยังตั้งตระหง่านเด่นหราเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศไทย