posttoday

กระดูกพรุน มฤตยูเงียบในกายเรา

05 กันยายน 2556

ภาวะโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกผุ กำลังส่อเค้ารุนแรง กลายเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก

โดย...ชมดาว / ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ภาวะโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกผุ กำลังส่อเค้ารุนแรง กลายเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก เนื่องจากมีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคกระดูกพรุนจากสถิติทั่วโลก ทุกๆ 3 วินาที จะมีคนกระดูกหัก 1 คน และในทุกๆ 22 วินาที จะมีคนกระดูกสันหลังหักเพิ่มอีก 1 คน

โอ้ว!! นี่คือปัญหาระดับโลกที่ไม่ควรมองข้ามได้เลย แม้เป็นโรคที่ดูเหมือนไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็สร้างความเจ็บปวดทุกข์ทนกับการดำรงชีวิตประจำวันได้เช่นกัน จนแพทย์ต้องแนะนำให้ป้องกันตั้งแต่อายุ 30 ปี ด้วยการกินแคลเซียม และวิตามินดี

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนฯ ออกโรงเตือนสถานการณ์โรคกระดูกพรุนในประเทศไทยว่า เป็นภัยเงียบที่พร้อมจะคุกคามชีวิตผู้ป่วย โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อคนสูงถึง 3 แสนบาทต่อปี จึงให้ป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่อายุย่างเข้า 30 ปี เพราะเป็นช่วงที่เนื้อกระดูกเริ่มเสื่อม

รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า สถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด โดยโรคนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิง 1 ใน 3 ที่มีช่วงอายุระหว่าง 60-70 ปี และ 2 ใน 3 ของผู้มีอายุมากกว่า 80 ปี

ที่สำคัญ อายุเฉลี่ยของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ประมาณการว่า มีผู้หญิงมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ต้องทุกข์ทรมานจากโรคนี้ โดยผู้หญิงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า และหากยิ่งเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน อัตราการเกิดโรคจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4 เท่า รวมทั้งผู้ที่ต้องกินยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นประจำ

สถานการณ์โรคกระดูกพรุนในเมืองไทย เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานานแล้ว แต่น้อยคนที่จะทราบว่าโรคนี้เป็นภัยเงียบที่อาจส่งผลเสียและอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดีขึ้นก่อน

โรคกระดูกพรุนคืออะไร

ข้อมูลจากหน่วยการศูนย์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย และมูลนิธิโรคกระดูกพรุน บอกไว้ว่า โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่เกิดกับกระดูก โดยที่มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง เพราะมีการสูญเสียหรือการตายของกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก ทำให้เนื้อกระดูกมีความบาง โปร่ง จนถึงพรุน และแตกหักได้ง่าย

กระบวนการสูญเสียมวลกระดูกจะค่อยๆ เกิดขึ้น โดยผู้ป่วยไม่มีโอกาสรู้ตัวมาก่อน และจะทราบว่าได้เป็นโรคนี้ ก็ต่อเมื่อกระดูกเกิดการแตกหัก

คนไทยจะมีการสูญเสียของเนื้อกระดูกในอัตราเร็วเท่ากับชาวตะวันตก แต่เนื่องจากเรามีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยกว่า ทำให้ความเสื่อมไปได้ไวกว่า โดยขณะที่คนไทยจะมีเนื้อกระดูกหนาแน่นเต็มที่ตอนอายุ 30 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ โดยผู้หญิงจะเสื่อมเร็วกว่าผู้ชายที่ราว 0.97 ก./ตร.ซม. ฉะนั้นคนไทยจึงสูญเสียเนื้อกระดูกถึงจุดหักเองได้เร็วกว่าชาวตะวันตก โดยเมื่อกระดูกบางเหลือ 70% ซึ่ง ณ จุดนี้ ชาวตะวันตกจะมีอายุ 70 ปีขึ้นไป แต่ของคนไทยจะอยู่ที่อายุประมาณ 64-65 ปีเท่านั้น แต่ถ้าเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะเริ่มตอนอายุ 48 ปีขึ้นไป หรือในคนสุขภาพไม่ดี เช่น เป็นภูมิแพ้ ไทรอยด์ รูมาตอยด์ ตัดมดลูก ตัดรังไข่ อาจจะเริ่มเสื่อมตั้งแต่วัย 30 ต้นๆ

โรคกระดูกพรุนมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น กระดูกผุ กระดูกโปร่งบาง เป็นโรคที่กระดูกมีมวล หรือเนื้อน้อยลง ทำให้กระดูกเปราะบาง และแตกหักง่าย โดยโรคนี้จะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใดๆ กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีการแตกหักของกระดูก แม้ได้รับการกระทบกระแทกเพียงเบาๆ โดยจุดที่มีการแตกหักบ่อยๆ ได้แก่ กระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ ดังนั้นหากหกล้มอย่าเอาข้อมือลงรับน้ำหนัก

อาการทั่วไปมักจะเป็นอาการปวดในกระดูก โดยเฉพาะปวดกระดูกสันหลัง ต่อมาเมื่อกระดูกสันหลังเริ่มทรุด จะพบความผิดปกติของกระดูกสันหลังร่วมด้วย เช่น กระดูกสันหลังคด โค้งงอมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับตัวเตี้ยลงทุกๆ ปี ถ้าผู้สูงอายุตัวเตี้ยลงปีละ 1 นิ้ว เกิดจากกระดูกสันหลังทรุด และอาการที่มักพบได้บ่อยๆ คือ กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะที่ข้อมือ และสะโพกที่หักได้ง่าย บางรายถึงขั้นทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เนื่องจากอาการแทรกซ้อนจากกระดูก

เลี่ยงมฤตยูเงียบ

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า การจะหลีกเลี่ยงไม่ให้กระดูกพรุนเมื่อสูงอายุ จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตั้งแต่เกิดจนล่วงเข้าสู่วัยชรา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง

ช่วงแรกแรกเกิดจนอายุ 30 ปี

ช่วงนี้จะต้องส่งเสริมให้คนมีเนื้อกระดูกหนาแน่นมากที่สุด โดยให้ดื่มนม รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

ช่วงหลังอายุ 30 ปี

จะต้องป้องกันไม่ให้สูญเสียเนื้อกระดูกอย่างเต็มที่ โดยการดื่มนมวันละ 500 ซีซี และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายกลางแดด วันละ 30 นาที ช่วง 6 โมงเช้า9 โมงเช้า หรือ 3 โมงเย็น–6 โมงเย็น อาหารที่มีแคลเซียมสูง คือ ปลาร้าสุก กะปิ ปลาป่น กุ้งแห้งป่น พวกผัก และงาดำมีแคลเซียมสูง

ระยะสุดท้าย‘วัยทอง’

เป็นช่วงที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ คอยยับยั้งการสลายกระดูก ฉะนั้นเมื่อขาดฮอร์โมนเพศ การสลายกระดูกจึงเพิ่มขึ้นมาก จนทำให้สูญเสียเนื้อกระดูกปีละ 35% ช่วงนี้จึงต้องทำการรักษาเต็มที่ คือ ต้องหาทางยับยั้งการสลายกระดูก ด้วยยาชนิดต่างๆ และยังต้องดื่มนมวันละ 500 ซีซี ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายกลางแดดช่วงเช้าเย็น วันละ 30 นาที ถ้าไม่สามารถตากแดดได้ ต้องรับประทานวิตามินดีเสริมด้วย นอกจากนี้ยังมีวิตามินซี บี6 และเค2 หรือกินแคลเซียมวันละ 600 มิลลิกรัม ที่จะช่วยในการสร้างกระดูกด้วย

ปัจจัยที่ทำให้กระดูกบาง

นอกจากการเตรียมร่างกายตั้งแต่อายุก่อน 30 ปี เพื่อเลี่ยงลดความเสี่ยงการเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ยังควรเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้กระดูกเสื่อมคุณภาพด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

เพศ เพศหญิงกระดูกบางได้เร็วและมากกว่าเพศชายถึง 5 เท่า เพราะเพศหญิงมีโครงสร้างกระดูกที่บางและเบากว่า นอกจากนี้ เมื่อผู้หญิงขาดฮอร์โมนเพศในช่วงระยะเวลาหมดประจำเดือน จะยิ่งทำให้ร่างกายสูญเสียเนื้อกระดูกได้เร็วมากขึ้น

ขนาดตัว ผู้หญิงที่มีรูปร่างบอบบาง กระดูกเล็ก จะเสี่ยงต่อการมีกระดูกบางมาก และบางเร็วกว่าผู้หญิงที่รูปร่างใหญ่ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก จะไม่เสี่ยงต่อการมีกระดูกบาง แต่คนผอมจะกระดูกบางกว่า

กรรมพันธุ์ ผู้หญิงที่พ่อแม่มีประวัติกระดูกสันหลังพรุน และทรุดทั้ง 2 ฝ่าย มีแนวโน้มที่จะมีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ

อายุ ยิ่งอายุยืน กระดูกจะบางมากขึ้น แต่อัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป โดยเพศหญิงอายุ 50-80 ปี อัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกจะเพิ่มขึ้นจาก 15% ไปจนถึง 50% ได้

เชื้อชาติ ชาวเอเชียเป็นเชื้อชาติที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกบางมากกว่าชนชาติแอฟริกัน โดยพบอัตรากระดูกสะโพกหักมากกว่าถึง 2 เท่า

ปัจจัยที่ควบคุมได้

ระดับฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจน และเทสโทสเทอโรน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูก หากระดับฮอร์โมนทั้ง 2 ต่ำ จะเกิดโรคกระดูกบางได้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน

อาหาร หากรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีต่ำ จะเป็นอันตรายต่อคุณภาพของกระดูก ในขณะเดียวกัน ถ้าหากรับประทานอาหารประเภทโปรตีน ใยกากอาหารจากผัก และเกลือโซเดียมมากเกินไป จะทำให้ปริมาณการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้ลดลง เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกบางได้