posttoday

เครื่องใช้โบราณของผูกพันทางใจ กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง...

01 กันยายน 2556

สาวสวยหน้าหวานคนนี้เธอชื่อ ต้อยกัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสื่อสารองค์กรและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี)

โดย...กันย์ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

สาวสวยหน้าหวานคนนี้เธอชื่อ ต้อยกัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสื่อสารองค์กรและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) เห็นเป็นสาวสวยซ่อนเปรี้ยวแบบนี้ แต่เธอก็หลงเสน่ห์ในงานเครื่องโถโอชามของโบราณอย่างพวกเครื่องเบญจรงค์ เครื่องเงิน เครื่องถมลงยา เครื่องบุษย์น้ำทอง กระเบื้องลายคราม ชุดเชี่ยนหมากเงิน หีบหมาก ขันน้ำพานรอง ถ้วยลายผักชีแบบโบราณ ชุดกระเบื้องเคลือบ รวมทั้งชุดตุ๊กตาโบราณขนาดจิ๋วอายุกว่า 50 ปี ที่เธอได้รับมรดกตกทอดมาจากคุณอา (สินีพรรณ เจิมจิตรผ่อง)

เธอเล่าว่า คุณอาของเธอเป็นบุตรบุญธรรมของหม่อมเจ้าหญิงประดับศักดิ์ ไชยันต์ ซึ่งเป็นต้นตระกูลของทางสายคุณย่า ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าจอมมารดาห่วง ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งท่านเป็นผู้หญิงที่เก่งเรื่องการละครและร้องรำสืบเชื้อสายจากนครสวรรค์ ที่ไปแต่งงานกับเจ้าในวัง

ดังนั้น ทำให้สายคุณอาและคุณป้าของเธอทางสายคุณพ่อ ได้รับมรดกตกทอดพวกเครื่องโถโอชามและเครื่องประดับกันมาบ้าง “คือคุณอาท่านก็มีหลานหลายคน ก็แบ่งๆ กันไป เราได้มาก็เก็บรักษาไว้อย่างดี เพราะเห็นในคุณค่าของสิ่งของที่สืบทอดมายาวนาน และความรักที่คุณอามีต่อหลานๆ ที่ท่านมอบสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายกับท่านมาให้พวกหลานๆ ซึ่งเราก็มีหน้าที่รักษาเอาไว้อย่างดีที่สุด เพราะของบางชิ้นแม้มีเงินก็ไม่สามารถจะซื้อหามาครอบครองได้แล้ว ถือว่าเป็นคุณค่าทางใจจริงๆ มันเป็นประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาหลายรุ่นหลายชั่วอายุคนแล้ว ท่านมักมีเรื่องเล่าเก่าๆ สนุกๆ เล่าให้เราฟังเสมอสมัยท่านอยู่ในวัง” เธอกล่าวอย่างผูกพันรักใคร่

ของชิ้นที่เธอโปรดมากๆ จะเป็นพวกกลุ่มเครื่องประดับที่เป็นกำไลทองหัวสิงห์หรือหัวมังกรเธอไม่แน่ใจ เป็นกำไลวงใหญ่กลมๆ ดุนลายตลอดทั้งวง หนักหลายบาทอยู่ละมั้ง นานๆ เธอจะเอามาใส่สักครั้ง มีพลอยแดงเป็นลูกนัยน์ตา นอกจากนี้ก็มีสร้อยข้อมือเพชรลงยา แล้วก็ต่างหูเพชรเล็กๆ กับเข็มขัดเงินที่เธอมักจะใส่อยู่บ่อยๆ กับจี้เหรียญล้อมเพชรเล็กๆ เป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 พร้อมลายเซ็นพระปรมาภิไธยของพระองค์ด้านหลังด้วย คุณอาของเธอเล่าว่า ร.5 พระองค์ท่านทำแจกเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ ในวังในโอกาสพิเศษต่างๆ

“โดยส่วนตัวแล้วชอบของเก่าๆ ชอบงานแนววินเทจอยู่แล้ว ก็เลยมาปรับใช้กับเสื้อผ้าของเราได้ คุณอามักจะให้เครื่องประดับในโอกาสพิเศษต่างๆ ท่านไม่มีลูก ท่านก็รักเราเหมือนลูก เราก็นับถือท่านเปรียบเสมือนแม่คนที่สอง เพราะท่านก็ส่งเราไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย”

เธอเล่าต่อไปว่า ของทุกอย่างนี้ใช้จริง บางชิ้นเก่าแก่สมัย ร.4 บางชิ้นก็สมัย ร.5 ไม่ได้ทำไว้โชว์ อย่างกล่องเก็บของจุกจิกที่เป็นหินโมรา หรือกล่องเชี่ยนหมากใบเล็กนั้น เป็นของเจ้านายฝ่ายหญิงที่ใช้ใส่หมากพลูม้วนเป็นคำๆ สำเร็จไว้ไปเสวยข้างนอกบ้านเวลาไปออกงาน ของที่ญาติผู้ใหญ่ให้นั้นมันผูกพันกับเธอมาก เปรียบเสมือนเครื่องรางคุ้มครองเป็นพันธสัญญาทางใจได้เป็นอย่างดี แต่ละชิ้นมีลวดลายสวยงามอ่อนช้อย ซึ่งงานสมัยนี้ไม่มีแบบนั้นแล้ว ซึ่งเธอก็จะเก็บเผื่อไว้ให้ลูกหลานในรุ่นต่อไป

“แบบเดียวกับที่คุณอาให้เรามา ก็ในหลายวาระโอกาส ตอนวันเกิดบ้าง ตอนเรียนจบบ้าง ตอนแต่งงานบ้าง เราก็เก็บรักษาไว้อย่างดีที่สุด” เธอกล่าวอย่างตั้งใจ

การใช้งานและดูแลรักษาเครื่องเบญจรงค์...

1.เบญจรงค์ประเภทของใช้บนโต๊ะอาหาร ไม่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้

2.เมื่อต้องการทำความสะอาดเครื่องเบญจรงค์สำหรับโชว์ เมื่อมีฝุ่นจับหรือคราบสกปรกต่างๆ ให้ใช้ บรัสโซ (Brasso) ใช้ผ้าชุบด้วยบรัสโซแล้วชโลมเบาๆ บนผิวของเบญจรงค์ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นขอบทอง แล้วเช็ดออกด้วยผ้าแห้งเบาๆ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นขอบทอง ซึ่งอาจทำให้ขอบทองลอกออกได้ หากเช็ดแรงเกินไป!

3.สำหรับอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร เช่น แก้วกาแฟ แก้วมัค จาน ชุดกาน้ำชา ชุดกาแฟ อุปกรณ์สำหรับใส่เครื่องปรุง ควรทำความสะอาดชิ้นงานก่อนเริ่มใช้งานเป็นครั้งแรก

การดูแลรักษาเครื่องเงิน...

เครื่องเงิน เป็นได้ทั้งเครื่องใช้และเครื่องประดับมานาน เงินเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย โดยเฉพาะในวงการเครื่องประดับ เพราะมีความสวยงาม คงทน และปลอดภัยในการสวมใส่ เครื่องประดับเงินนั้นผู้ออกแบบในสมัยนี้มีความสามารถออกแบบได้หลากสไตล์ มีการนำอัญมณีต่างๆ มาใช้ในการตกแต่ง ซึ่งบางชิ้นราคาแพงกว่าทองอีกนะคะ

วิธีการรักษาและดูแลเครื่องเงิน สิ่งแรกก็อยากให้เข้าใจธรรมชาติของเครื่องเงินว่าเงินแท้หากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานๆ และวางเอาไว้สัมผัสกับอากาศอยู่เสมอๆ จะทำให้เงินนั้นมีคราบดำ เนื่องจากการออกซิไดซ์กับอากาศ (ออกซิเจน) ดังนั้นเราจึงมีข้อแนะนำสำหรับการเก็บเครื่องเงินที่ไม่ได้ใช้ ไม่ได้สวมใส่เป็นเวลานาน โดยการห่อด้วยกระดาษทึบแสงและนำใส่ถุงหรือห่อเอาไว้ไม่ให้สัมผัสกับอากาศ หรืออาจจะใส่ถุงซิปพลาสติก (ถุงใส่ยาเม็ด) ส่วนการเก็บก็ควรทำการแยกเครื่องประดับออกจากกัน เพื่อป้องกันการกระทบกัน อาจจะเกิดเป็นรอยได้ นอกจากนี้เหงื่อของผู้ใส่ก็สามารถทำให้เงินสดใสหรือเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำได้เช่นกัน เนื่องจากสภาพเหงื่อของแต่ละคนมีสภาพที่แตกต่างกัน บางคนเหงื่อเค็ม บางคนเหงื่อเปรี้ยว สีของเงินที่ใส่ก็จะออกมาสดใสและมันวาวต่างกัน แม้จะเป็นเงินชนิดเดียวกัน หากใครต้องการใส่เครื่องเงินแบบเก่าๆ สีคล้ำดำ เราก็ไม่ต้องไปทำอะไรมันค่ะ มันจะดูคลาสสิก แล้วแต่ความชอบของคนค่ะ แต่หากใครไม่ชอบความดำ มีวิธีหลากหลายที่จะขจัดความดำให้หายไปได้ค่ะ

แช่ในน้ำยาสีฟัน น้ำสบู่ หรือน้ำผสมยาล้างจานค่ะ ประมาณ 10 นาที แล้วนำมาล้างน้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง

บีบยาสีฟันใส่แปรงขนนุ่ม ขัดโดยไม่ต้องผสมน้ำ แล้วล้างน้ำสะอาด ผึ่งให้แห้ง เช็ดด้วยผ้านุ่มสะอาดค่ะ

ต้มน้ำผสมมะขามเปียก หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชู พอน้ำเดือด นำเครื่องเงินลงแช่สักพัก แล้วนำมาล้างน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งค่ะ

นำโซเดียมไบคาร์บอเนต (โซดาปิ้งขนม) กับเกลือป่นปริมาณเท่ากัน ละลายในน้ำต้มเครื่องเงินค่ะ

ใช้น้ำยาขัดเครื่องเงิน มีขายโดยทั่วไปค่ะ ขั้นตอนวิธีการมีรายละเอียดในกล่องค่ะ

ใช้ผ้าขัดเงิน มีขายโดยทั่วไปค่ะ วิธีนี้ก็สะดวกมากๆ ค่ะ เพราะขัดโดยไม่ต้องใช้อะไรมาเช็ด และไม่ต้องล้างน้ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เร่งรีบ


ข้อจำกัดของการใช้น้ำยาขัดเครื่องเงินก็คือ ถ้าเป็นเครื่องเงินผสมอัญมณี เช่น พลอย มุก หินสีที่มีความแข็งไม่มาก น้ำยาอาจไปทำอันตรายอัญมณีเหล่านั้น ซึ่งก่อนใช้งานต้องดูให้ดีค่ะ