posttoday

‘อยากเป็น ซีเอฟโอ แบบพ่อแม่’

31 สิงหาคม 2556

“ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” เป็นประโยคที่ใช้ได้จริงกับสมาชิก 4 คน ของครอบครัว “มริตตนะพร” ที่ “ปิยนุช มริตตนะพร” ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง ภาพ กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

“ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” เป็นประโยคที่ใช้ได้จริงกับสมาชิก 4 คน ของครอบครัว “มริตตนะพร” ที่ “ปิยนุช มริตตนะพร” ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) วัย 28 ปี ลูกสาวคนโตของครอบครัวที่ยึดคุณพ่อและคุณแม่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่เลือกเรียนในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลือกทำงานในบทบาทหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน (ซีเอฟโอ) เหมือนบิดาและมารดา

บิดาของเธอ คือ “ประเสริฐ มริตตนะพร” กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มงานบริหาร บริษัท ช.การช่าง (CK) เป็นซีเอฟโอมือหนึ่งของ ช.การช่าง มาหลาย 10 ปี ผ่านหลายยุคทั้งขาขึ้นและขาลงของบริษัท ขณะที่มารดา คือ “พเยาว์ มริตตนะพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และทั้งสามคนพ่อแม่ลูก ล้วนแต่เป็นซีเอฟโอ ในเครือบริษัท ช.การช่าง ทั้งหมด นอกจากนั้นน้องสาวของเธอแม้จะจบปริญญาตรีด้านจิตวิทยา แต่ก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นกัน

พ่อแม่ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

“ปิยนุช” เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากเรียนด้านบัญชี ช่วงจุดเปลี่ยนต้องเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเพื่อนๆ ในห้องเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา ส่วนใหญ่ครึ่งหนึ่งจะไปเรียนหมอ อีกครั้งหนึ่งจะไปเรียนวิศวกรรม แต่รู้สึกว่าไม่อยากเลือกเรียนตามเพื่อน จึงสวนกระแสเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ เพราะเห็นตัวอย่างจากพ่อและแม่ว่า งานที่ท่านทำเหมือนรู้อะไรเยอะแยะไปหมด และน่าจะเป็นคนที่มีอิทธิพลกับองค์กรมาก ในด้านการวางแผนและแก้ปัญหาในองค์กร ซึ่งมองว่าแต่กรณีล้วนเป็นเรื่องที่ใหญ่

“พูดได้เลยว่า เราได้แรงบันดาลใจจากพ่อกับแม่มามาก ในการที่จะเรียนด้านบัญชีหรือในการทำงาน เพราะตั้งแต่เด็ก รู้สึกชอบที่เห็นพ่อกับแม่คุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างที่ทานข้าว หลายครั้งเห็นเขามีความคิดเห็นที่ต่างกัน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็จะคุยกันด้วยเหตุผล ดูแล้วน่าสนใจ และมองว่าน่าจะเป็นสิ่งที่เราสามารถเจริญรอยตามได้” เธอบอกอย่างภาคภูมิใจ

ตั้งใจสุด ไม่ให้พ่อแม่ผิดหวัง

เธอเล่าว่า ความจริงพ่ออยากให้เธอเรียนหมอ แต่พ่อไม่ได้บังคับ ท่านบอกว่า พ่อไม่เป็นไรนะและไม่เสียใจที่ลูกจะเรียนด้านบัญชี เพียงแต่รู้สึกเสียดายเท่านั้น แต่สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะเรียนอะไรขอให้เธอทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่านั้น

“ตอนนั้นก็รู้ว่าเขาเสียดาย เพราะก็มีอาการซึมๆ บ้าง แต่ก็พยายามทำให้พ่อรู้สึกชื่นใจและเห็นความตั้งใจของเราได้ เพราะทั้งหมดนี้เรามีท่านเป็นต้นแบบ”

ในที่สุด เธอก็ไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เพราะสามารถสอบได้เป็นอันดับที่ 1 ของคณะ และก็จบมาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 หลังจบก็สามารถเข้าทำงานได้ทันทีที่บริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์ และได้เป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต ซึ่งปกติจะใช้เวลาสอบนานมาก จากนั้นก็ได้ทุนจากธนาคารกสิกรไทยไปเรียนต่อคณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐ ซึ่งในรุ่นเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่เรียน

เดินตามรอยพ่อแม่

เมื่อวันที่ “ปิยนุช” ต้องเดินสู่เส้นทางเดียวกับพ่อและแม่ก็มาถึง ขณะที่เธอใช้ทุนให้ธนาคารกสิกรไทยไปสักพัก ก็ได้รับโอกาสให้มาดูโครงการสร้างเขื่อนในประเทศลาวของบริษัท เซาท์อีสต์เอเชียเอนเนอจี (SEAN) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CK เช่นกัน ต่อด้วยเขื่อนไซยะบุรีของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ที่กำลังมีโครงการเข้าระดมทุนและจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปี 2556 จึงทำให้เธอต้องกลายเป็นซีเอฟโอของ CKP ด้วยวัยเพียง 28 ปี เท่านั้น

“มองว่าเป็นจังหวะและโอกาสในคราวเดียวกัน ที่ได้มาเป็นซีเอฟโอที่นี่ ที่สำคัญท้าทายกับชีวิตมากเพราะมีความผูกพันกับบริษัทและบริษัทในเครือมานาน ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเขาเห็นเรามาตั้งแต่เด็กๆ และก็พร้อมที่ให้ความช่วยเหลือ แม้จะอายุเพียง 28 ปี แต่เราก็ไม่ได้มาจากไหน เรามีประสบการณ์การทำงานมาบ้าง และก็มีที่ปรึกษาที่ดีคือคุณพ่อ ที่ดูแลเรื่องด้านการบัญชีและการเงินของที่นี่มานานมากกว่า 10 ปี ส่วนข้อจำกัดคือ ด้านหนึ่งรู้สึกกดดันไม่น้อยที่ต้องมารับผิดชอบงานโครงการขนาดใหญ่ แต่ถือว่าเราโชคดีเพราะมีทีมที่คอยช่วยเหลือมาก ทั้งเจ้านายและลูกน้องต่างให้โอกาส ไม่มีใครตั้งแง่ หรือตั้งความหวังสูงเกินไป” เธอบอก

พ่อคือครูชั้นยอด

แม้เธอต้องเรียนรู้ทุกอย่างเพิ่ม แต่รู้สึกอุ่นใจที่พ่อเป็นที่ปรึกษาและครูชั้นเยี่ยม พ่ออธิบายหน้าที่ของซีเอฟโอไว้ว่า เป็นหน้าที่ที่หนักมาก เพราะต้องดูจำนวนโครงการ พร้อมจัดหาเงินด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อมารองรับกับจำนวนโครงการที่กำหนดไว้ และผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นให้ได้ ที่สำคัญพ่อได้ผ่านการปฏิบัติจากเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดของประเทศคือปี 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะตอนนั้น CK เป็นบริษัทเดียวที่ไม่มีหนี้เสีย และไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู และกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่พ่อและตัวเธอเองรู้สึกภูมิใจมาก

จนตอนนั้นกลายเป็นคำพูดติดปากสำหรับพ่อเลยคือ ตอนนั้นแม้เป็นเด็กก็รู้สึกว่าพ่อเครียดมาก สุดท้ายธนาคารต่างๆ ก็ชื่นชมที่พ่อสามารถทำให้บริษัทไม่มีหนี้เสีย ซึ่งพ่อบอกว่าต้องรักษาสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคาร โดยบอกกับธนาคารว่าจะไม่เบี้ยว ใช้หนี้แน่นอน แต่ขอเวลานานหน่อย ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าวยังต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ หลายธนาคารยังเสนอวงเงินให้กับบริษัทเพื่อทำโครงการต่างๆ มากมาย

“ปิยนุช” บอกว่า สิ่งสำคัญของการทำหน้าที่ซีเอฟโอ สำหรับเธอคือ การที่รักษาสมดุลให้ได้ระหว่างความสัมพันธ์พ่อกับลูก โดยไม่ข้ามขั้นตอนของหน้าที่และความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น ฉะนั้นทุกครั้งที่มีปัญหาหรือข้อสงสัย ก็จะถามนอกรอบ

“สิ่งหนึ่งรู้สึกว่าพ่อมีความสามารถพิเศษคือ พ่อสามารถรักษาความสัมพันธ์กับทุกคน ทุกสถานะได้หมด ทั้งเจ้านาย ผู้ให้กู้ หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชนเอง ก็รู้สึกว่าหลายคนจะติดใจในความปล่อยมุขของคุณพ่อซึ่งเธอรู้สึกว่า เธอไม่สามารถเลียนแบบได้ แต่อยู่ระหว่างหาในรูปแบบฉบับของตัวเอง”

ประสบการณ์ล่าสุดที่ช่วยนำ CKP เข้า ตลท. รู้สึกว่าท้าทายมากซึ่งโชคดีที่หลายคนได้ช่วยเหลือ แต่ก็อดที่จะกังวลไม่ได้ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีเวลาในการเตรียมตัวค่อนข้างจำกัด และช่วงที่จะกำหนดราคาเสนอขายหุ้นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ดัชนีหุ้นมีความผันผวนสูง ในขั้นตอนนี้ต้องมีการเจรจากับผู้ใหญ่มาก ซึ่งเธอไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ แต่ก็ได้บิดาช่วยแนะวิธีและคอยแนะนำว่าควรคุยกับผู้ใหญ่ท่านไหนบ้างที่จะช่วยให้โครงการเดินหน้าได้เร็วขึ้น ไปพร้อมกับที่เจ้านายก็เข้ามาลุยเองด้วย เพราะตอนนั้นภาวะหุ้นอยู่ในทิศทางที่ผันผวนจริง และยังหาทิศทางเรื่องมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของสหรัฐ ที่ชัดเจนไม่ได้ และในที่สุดเธอก็ผ่านมันไปได้ด้วยดี

ทั้งหมดนี้อยู่ในหลักการเลี้ยงดูและคำสอนของพ่อ หัวหน้าครอบครัว ซีเอฟโอ ตามหลักบัญชีที่ว่า “ทุกๆ เดบิตต้องมีเครดิตในจำนวนที่เท่ากัน” ซึ่งหมายถึง “ทุกๆ รายได้ที่เราทำขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ต้องมีรายจ่ายออกในจำนวนที่เท่ากันเสมอ”