posttoday

สืบสานงาน สืบ นาคะเสถียร

29 สิงหาคม 2556

เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ ลูกน้อยที่แบกไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา

โดย...โยธิน อยู่จงดี

“เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ ลูกน้อยที่แบกไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์บ้างหรือไม่ โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน”

บทกลอนสะท้อนความในใจที่ดีที่สุดของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง นักอนุรักษ์ นักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ต่อสู้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่แสวงหาผลประโยชน์จากป่าไม้อย่างกล้าหาญ หากการพิทักษ์พื้นที่ป่าคือสงคราม เขาก็คือวีรบุรุษอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าเสียงปืนสุดท้ายที่เขาได้ยินคือเสียงปืนจากการทำอัตวินิบาตกรรมของตัวเอง เหนี่ยวไกด้วยความท้อแท้และสิ้นหวัง หลังเสียงเรียกร้องของเขาไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ในกรม เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2533

23 ปีผ่านไป บางคนก็ว่าการตายของเขานั้นนับว่าไม่เสียเปล่า เพราะคนไทยทั้งประเทศหันมาตระหนักถึงปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ จนทำให้ตัวเลขการตัดไม้และการล่าสัตว์ลดลง แต่บางคนก็ว่าหาก สืบ ยังมีชีวิตอยู่ หรือเลือกที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษก่อนกลับมาดำรงตำแหน่งที่สูงกว่า ปัญหาป่าไม้ในประเทศไทยคงไม่เป็นเหมือนเช่นปัจจุบัน

เราทุกคนคิดถึง สืบ และอยากมีคนเช่นเขาอีกสักคน แต่ใครเล่าจะอุทิศชีวิตพิทักษ์ป่าเหมือนเช่นเขา

นักอนุรักษ์รุ่นใหม่

หากถามผมว่าเวลานี้มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นแนวหน้าคนไหนบ้างที่มีอุดมการณ์เช่น สืบ แต่มีแนวคิดในการต่อสู้เคลื่อนไหวด้วยรูปแบบใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งการพิทักษ์ป่าอย่างยั่งยืน ผมบอกได้เลยว่าเวลานี้ชื่อแรกที่นึกถึงต้องเป็น ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ด้วยบุคลิกเซอร์ๆ แต่งตัวเรียบๆ พูดจาง่ายๆ แต่เฉียบคมอุดมการณ์ บวกกับความทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญของมูลนิธิ ก้าวขึ้นมาสู่แถวหน้าของนักอนุรักษ์ และขับเคลื่อนเจตนารมณ์ของ สืบ ให้เดินหน้าสู่ความสำเร็จ และเรื่องราวของเขาก็เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

เราจึงถาม ศศิน ว่าหากถามถึงบุคคลที่มีอุดมการณ์เหมือน สืบ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ในเวลานี้ คุณมองใครไว้บ้าง จอมป่าหนุ่ม ตอบว่า หากจะถามว่าหาได้ยากมากน้อยแค่ไหน “ผมบอกได้เลยว่า ณ เวลานี้ไม่ใช่ปัญหาอย่างแน่นอน เพราะผมเห็นเด็กรุ่นใหม่หลายคนที่มีอุดมการณ์แรงกล้า และทำงานดีอยู่หลายคน

ผมขอแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก ในเรื่องของสถาบันการศึกษาที่จะผลิตบัณฑิตป้อนเข้าสู่วงการของการอนุรักษ์ดูแลป่าไม้ ก็คือคณะวนศาสตร์ ว่าจะปลูกฝังแนวคิดอุดมการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ และเด็กใหม่ที่จบมาจะเข้ามาทำงานตรงมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญมากในการผลิตบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ นี่คือหัวใจหลักที่สำคัญที่สุด

ส่วนที่ 2 ก็คือ มีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเป็นนักอนุรักษ์ ซึ่งผมก็มองเห็นอยู่หลายคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง มีอุดมการณ์ในการพิทักษ์ป่าไม้ไม่ต่างจากคุณสืบ อย่างเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเองที่อาสาเข้ามาทำงานก็ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถเข้ามาแทนที่กันได้ ซึ่งเราก็รับเด็กรุ่นใหม่เข้าทำงานอยู่ตลอด พยายามไม่ให้รุ่นใหม่กับรุ่นเก่าเมื่อไล่ระดับอายุลงไปจะต้องไม่เกิน 5 ปี

ส่วนที่ 3 ก็ถือว่าเป็นกำลังเสริมใหม่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมืองไทย ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่ได้เรียนจบมาทางด้านวนศาสตร์โดยตรง แต่เป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีแนวคิดอุดมการณ์เดียวกัน แล้วจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์หรือลงชื่อเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มมาก อย่างกลุ่มที่รู้จักก็คือ บิ๊กทรีโปรเจกต์ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มนักอนุรักษ์กลุ่มใหม่ที่มีหมวกอย่างอื่นคือ เป็นกลุ่มนักธุรกิจ เด็กรุ่นใหม่ที่มีใจรักธรรมชาติมารวมกลุ่มกันรณรงค์รักษาป่า รักษาต้นไม้

บางครั้งผมเองก็ไม่ได้รู้จักพวกเขา แต่พอมีงานเคลื่อนไหวรณรงค์ พวกเขาก็มาร่วมกัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการรวมกลุ่มทางโซเชียลมีเดีย ร่วมรณรงค์การรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม และผมเชื่อว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีเพิ่มมากขึ้นอีกในโลกออนไลน์ จนนำมาสู่การรวมกลุ่มในโลกความจริง

เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การที่เราจะมานั่งจัดงานเสวนา จัดคอนเสิร์ตเพื่อบอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ผมบอกได้เลยว่าไม่ทัน การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีความรวดเร็วมากกว่า เราสามารถบอกกับทุกคนในทันทีได้ว่า เวลานี้สถานการณ์ป่าไม้ในบ้านเรานั้นเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นและเราจะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาตรงนี้ร่วมกันได้อย่างไร”

แนวรุกใหม่ของ สืบ

ศศิน เล่าถึงแนวทางการต่อสู้รณรงค์ของการก้าวสู่ปีที่ 2 ในการจากไปของสืบ ว่า ทางมูลนิธิเองจะเน้นในการทำงานส่วนวิจัยให้มากขึ้น เพื่อนำเสนอกรมอุทยานฯ ให้นำไปปรับปรุงพัฒนาการดูแลรักษาป่า “เพราะทางเราเองก็มีข้อมูลจากการลงสำรวจพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก และพร้อมที่จะมอบให้กับกรมอุทยานฯ ได้นำไปพัฒนาปรับปรุง เราเป็นเพียงแค่องค์กรที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่เรามีเจตนารมณ์ที่ร่วมมือกับทางภาครัฐและประชาชนในการพิทักษ์ป่าไม้ เราไม่ได้ต่อต้านการสร้างเขื่อน แต่เราคัดค้านการสร้างเขื่อนที่มีส่วนในการทำลายป่าไม้และชีวิตสัตว์จำนวนมากเท่านั้น

ลำพังกำลังของภาครัฐอาจไม่เพียงพอต่อการทำงานวิจัยในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่เราเองมีบุคลากรที่อยู่ในพื้นที่ทำงานตรงนี้อยู่แล้ว ข้อมูลตรงนี้จะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติระหว่างเจ้าหน้าที่ สัตว์ป่า และชาวบ้าน และนำไปสู่การเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ป่าอื่นต่อไป

สุดท้ายของการเข้าสู่ปีที่ 24 ของการจากไปของพี่สืบ ทางมูลนิธิจะเริ่มปรับเปลี่ยนแผนรุกสื่อดิจิตอลให้มากขึ้น อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ รวมถึงการทำแอพสมาร์ทโฟนของทางมูลนิธิเอง เพราะเดี๋ยวนี้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกคน การทำแอพก็เป็นอีกช่องทางการสื่อสารหนึ่ง เพื่อให้ความรู้ข่าวสารแก่คนรุ่นใหม่ใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเราจะปรับเปลี่ยนช่องทางการขายสินค้าของที่ระลึกที่แสดงถึงความเป็นนักอนุรักษ์ผ่านช่องทางออนไลน์ของทางมูลนิธิเพื่อหาเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยแก่เจ้าหน้าที่”

สิ่งเหล่านี้คือก้าวสำคัญของการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืนตามรอยของ สืบ นาคะเสถียร ด้วยก้าวของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามารวมพลังในโลกออนไลน์และใช้ความสามารถของตัวเองช่วยคิดช่วยทำในสิ่งที่ดีกว่าเดิม

จิตวิญญาณและอุดมการณ์ของ สืบ จะถูกถ่ายทอดกันรุ่นต่อรุ่น และตลอดไปอย่างไม่มีวันจางหาย

สืบหา... เรื่องของ สืบ

1.ชื่อเดิม ของ สืบ นาคะเสถียร คือ สืบยศ นาคะเสถียร

2.ผลงานแรกที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ โครงการอพยพสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน แต่เขาและลูกทีมสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้เพียง 1,364 ตัว เป็นจำนวนไม่ถึง 10% ของสัตว์ทั้งหมดในพื้นที่ป่าบริเวณนั้น

3.สืบ เคยได้รับการเสนอทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ พร้อมๆ กับคำสั่งให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่ สืบ ก็เลือกที่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่ามากกว่าความก้าวหน้าในราชการ

4.ในช่วง 6 ปีแรกหลังการเสียชีวิตของ สืบ ตัวเลขการทำลายป่าไม้ลดลงมากกว่า 70%