posttoday

ศิลปินด้วยใจรัก

24 สิงหาคม 2556

“ทุกครั้งที่ผมวาดภาพในหลวงเสร็จ น้ำตาจะไหล เป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ”

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์ ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

“ทุกครั้งที่ผมวาดภาพในหลวงเสร็จ น้ำตาจะไหล เป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ”

กำพล พงษ์พิพัฒน์ ศิลปินวาดภาพอายุ 60 ปี ศิลปินนักวาดภาพที่อุทิศทั้งชีวิตสำหรับการวาดภาพ “ในหลวง” และเป็นความภาคภูมิใจทุกครั้งที่วาดภาพในหลวง ซึ่งทุกคนที่ได้ชื่นชมภาพวาดเสมือนจริง (Portrait) และผลงานที่ภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิตคือการได้รับรางวัลการวาดภาพในหลวง ภายใต้หัวข้อ “รู้ รัก สามัคคี ใต้ร่มพระบารมี 84 พรรษา มหาราชัน” ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ จัดประกวดวาดภาพสีน้ำมัน หรือสีอะครีลิก ประเภทประชาชนทั่วไป

กำพล เริ่มต้นเล่าเรื่องชีวิตว่า ผมวาดภาพมาตั้งแต่ 12 ขวบ วาดรูป ลินดอน เบนส์ จอห์นสัน (Lyndon Baines Johnson) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 36 (19631969) ชอบวาดรูปภาพคนเหมือน คุณพ่อเห็นว่าวาดเหมือนก็ส่งไปที่สหรัฐอเมริกา ให้ท่านประธานาธิบดี ท่านก็ส่งใบรับรองจากทำเนียบขาวมาให้ เมื่อก่อนกล้องถ่ายภาพไม่มี จึงไม่ได้ถ่ายภาพเก็บไว้

“ผมชอบวาดการ์ตูน เขียนรูป แต่งหนังสือการ์ตูนเป็นเล่ม แต่ที่ชอบมากที่สุดคือการวาดภาพหน้าคน พอจบ ม.ศ.3 ก็เข้าโรงเรียนช่างศิลป์ ปัจจุบันก็คือวิทยาลัยช่างศิลป์ เรียนอยู่ 3 ปี จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีก 5 ปี ซึ่งได้เรียนในสิ่งที่ตนเองรักและชอบมาตลอด”

หลังจากเรียนจบที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ทำงานด้านโฆษณามา 30 กว่าปี เกือบทั้งชีวิตทำงานเกี่ยวกับอาร์ตไดเรกเตอร์ ก๊อบปี้ไรเตอร์ ครีเอทีฟ บริษัทเอกชน พออายุ 53 ปี ก็ลาออกจากงานประจำมาวาดภาพอย่างจริงจังเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่ลาออกจากงาน เพราะอยากจะใช้เวลาที่เหลือกับการวาดรูปให้มากนัก เพราะในช่วงทำงานประจำ ก็จะใช้ช่วงเวลากลางคืนและเสาร์อาทิตย์เท่านั้นที่วาดภาพ

แรงจูงใจที่ทำให้ “กำพล” ใจจดใจจ่อกับการวาดภาพในหลวง คือ ความประทับใจที่ท่านทรงมีพระเมตตา ท่านทรงงานหนักเพื่อประชาชน คือผมปลาบปลื้มพระองค์ท่าน อีกทั้งท่านทรงเป็นกษัตริย์ ถ้าพูดตามหลักศิลปะ ท่านมีพระพักตร์ที่งดงามมาก และทุกอิริยาบถก็งดงาม

“ทุกครั้งที่ผมเขียนภาพในหลวง ผมจะรู้สึกตื้นตันใจ วาดภาพท่านเสร็จ ผมจะรู้สึกปีติและน้ำตาซึม ร้องไห้ทุกครั้ง เป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปีติทุกครั้ง เวลาวาดภาพในหลวงเสร็จ เห็นผลงานมีความสวยงาม ผมจะรู้สึกว่าเราเขียนภาพได้สวยสมกับที่พระองค์ท่านมีพระเมตตา มีความสง่างาม เราสามารถที่จะถ่ายทอดมาได้ เราเขียนแบบสุดฝีมือ สุดจิตสุดใจและสามารถที่จะถ่ายทอดภาพท่านออกมาได้สวยงามก็เกิดปีติ น้ำตาไหล” กำพล กล่าว

กำพล เล่าว่า ตัวเองมีความถนัดในการวาดภาพทั้งสีชอล์กและสีน้ำมัน แต่ที่ชอบวาดภาพด้วยสีชอล์กเพราะว่าเขียนได้เร็ว 23 วัน ก็วาดภาพเสร็จแล้ว แม้ว่าการวาดภาพด้วยสีน้ำมัน อะครีลิกภาพจะออกมาสวยเสมือนจริงมากกว่า แต่การวาดภาพด้วยสีชอล์กจะทำให้มีอารมณ์ของภาพในแง่ของศิลปะมากกว่าสีน้ำมัน เพราะเราสามารถที่จะเขียนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแสดงออกได้รวดเร็วได้มากกว่า การลงน้ำหนัก ความหนักเบาของเส้นสี ถ้าเป็นสีน้ำมันเราจะต้องมานั่งเกลี่ย

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ “กำพล” คือ ได้มอบภาพในหลวงให้กองทัพเรือเพื่อนำไปติดใน “หอศิลป์พ่อหลวง” ที่สัตหีบ ซึ่งภายในจะประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 84 ภาพ ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานภาพวาดที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงดำเนินมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ รวมทั้งได้คัดเลือกเป็น 1 ใน 20 ศิลปินที่จะไปวาดภาพในหลวงบนกำแพงในหอศิลป์พ่อหลวงด้วย

แม้ว่ามีศิลปินหลายคนที่วาดภาพ “ในหลวง” แต่จุดเด่นการวาดภาพในหลวงของอาจารย์กำพลคือลายเส้น ซึ่งจะเขียนเส้นผสมผสานได้สวยงาม ลีลาของเส้นที่เขียนลงไปมีความงดงามในการให้แสงเงา การประสานเส้นสี

“ปกติผมจะเริ่มวาดภาพตั้งแต่ 9 โมงเช้า ก็จะวาดไปเรื่อยๆ 5 โมงเย็นก็เลิก ทำงานวาดภาพจนแสงอาทิตย์หมด แต่บางครั้งเราสนุกกับงานก็เปิดไฟเขียนถึงตีหนึ่งอยากให้เสร็จ ผมวาดภาพเขียนภาพทุกวัน ถ้าไม่ออกไปธุระข้างนอก และผมไม่เคยเลยที่จะเบื่อกับการวาดภาพ

การวาดภาพของผมเหมือนกับการทำสมาธิ เวลาที่เราจดจ่อกับงาน ใจเราจะนิ่ง จิตก็จดจ่อกับงาน ไม่วอกแวกไปไหน จิตก็เกิดสมาธิ เห็นแต่ความสวยงาม สร้างงานที่มีความงาม สมาธิเกิดขึ้นเองอัตโนมัติ สมาธิก็คือการจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน ถ้าทางพระ สมาธิก็จะจดจ่อกับลมหายใจ แต่การเขียนรูปจิตใจก็จดจ่อเส้นและสี” กำพล กล่าว

ทุกวันนี้อาจารย์กำพล บอกว่า อาชีพของเขาคือการวาดภาพ มีคนสนใจมาซื้อ ภาพสีชอล์กราคาประมาณ 2 หมื่นบาท รายได้ก็พออยู่ได้ ผมไม่มีหน้าร้าน ก็เอาภาพลงเฟซบุ๊ก ใครสนใจก็ติดต่อมา

“เมื่อก่อนศิลปินจะไส้แห้ง เพราะขายภาพได้ยากมาก คนไม่ค่อยซื้อแต่ทุกวันนี้ศิลปินจะไส้บวม ถ้าดังมากไส้ก็บวม แม้แต่ศิลปินธรรมดาก็อยู่ได้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนศิลปะ พ่อแม่ไม่อยากให้เรียนจบแล้วจะไปทำมาหากินอะไร แต่ผมโชคดีที่คุณพ่อก็สนับสนุนให้เรียนเต็มที่ ซึ่งคนไม่มีพรสวรรค์หรือคนที่ไม่มีพื้นฐานวาดภาพ ก็สามารถเรียนวาดภาพได้ ตอนนี้จะเห็นผู้ใหญ่อายุ 5060 ปี ก็สนใจมาเรียนวาดภาพ และก็ทำได้ เพราะในช่วงเด็กๆ พ่อแม่ไม่ให้เรียน พอตอนโตก็มาตามฝันตัวเอง การวาดภาพสามารถที่จะฝึกฝนได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการสอนและอยู่ที่ความตั้งใจจริง” กำพล กล่าว

สำหรับเป้าหมายชีวิตต่อไปในอนาคต กำพล กล่าวว่า ทุกวันนี้เขียนรูปก็มีความสุขที่สุดอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องการเป็นศิลปินชื่อดัง แต่อยากให้คนชื่นชมผลงานงาน เอาภาพวาดไปติดไว้ในสถานที่ต่างๆ ต้องการถ่ายทอดมีความงามอย่างไง คนเห็นภาพเราแล้วมีความสุขไปด้วย เราก็มีความสุขเท่านั้น คนทำงานก็จะมีความสุขขั้นที่ 1 ก็คือที่เราได้ทำงานเขียนภาพ ความสุขขั้นที่สอง คือเราพอใจในผลงานที่เราเขียนไปแล้ว ความสุขขั้นที่สาม คนอื่นมาเห็นงานแล้วชมชอบ ถ้า 3 ขั้นตอนนี้ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เราวาดภาพแล้วมีคนชอบ เราก็หายเหนื่อย มีความสุข

ถ้ามีใครมาติดต่อซื้อภาพในหลวงไปติดหน่วยงานราชการก็จะให้ราคาพิเศษ ติดหน่วยงานราชการเราก็มีความสุข คนเห็นงานเราเยอะดีว่าซื้อไปชื่นชมภาพสวยๆ ไว้คนเดียวที่บ้าน อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข เป็นอาจารย์ผมที่ช่างศิลป์ ท่านเป็นผู้อำนวยการที่โรงเรียนช่างศิลป์ ท่านสอนผมว่า การทำงานศิลปะต้องให้ผู้อื่นได้ชื่นชมด้วยไม่ได้ว่าเราชื่นชมคนเดียว ทำแล้วก็เผยแพร่ บางคนก็ซื้อภาพในหลวงว่าท่านทรงงานอย่างไง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักเรียน

“ผมตั้งใจที่จะวาดภาพจนหมดแรง ผมคิดว่าตอนนี้ผมอายุ 60 ปี ถ้าอยู่ได้ถึง 90 ปี ก็อีก 30 ปี 90 ปีก็คงยังมีแรงที่จะเขียนภาพ เพราะเขียนภาพไม่ต้องใช้แรงอะไรมาก ก็คงมีผลงานภาพวาดออกมาอีกมากเพราะปกติหนึ่งสัปดาห์ก็เขียนภาพได้ 1 ชิ้น ถ้ามีเงินทุนก็จะสร้างแกลเลอรีของตัวเอง แต่ตอนนี้ก็เป็นแผนงานอยู่”