posttoday

แมลง สาหร่าย เนื้อสเต็มเซลล์ เมนูอนาคต ทางรอดมนุษย์โลก?

22 สิงหาคม 2556

แมลง สาหร่าย เนื้อสเต็มเซลล์ เมนูอนาคต ทางรอดมนุษย์โลก?ใครจะรู้ว่ารายการอาหารที่คนยุคนี้เห็นไปต้องอุทานว่า เมนูเปิบ (ค่อนข้าง)

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา

แมลง สาหร่าย เนื้อสเต็มเซลล์ เมนูอนาคต ทางรอดมนุษย์โลก?ใครจะรู้ว่ารายการอาหารที่คนยุคนี้เห็นไปต้องอุทานว่า เมนูเปิบ (ค่อนข้าง) พิสดารข้างต้น อาจเป็นรายชื่อในเมนูยอดฮิตของมนุษย์โลกในอนาคตอันใกล้เพียง 30-50 ปีข้างหน้าก็ได้

นี่ไม่ใช่สมมติฐานที่มโนขึ้นเพราะติดซีรีส์แนวไซไฟ หรือเป็นเพียงความคิดฟุ้งซ่านยามนอนกลางวัน เพราะจากรายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 จำนวนประชากรโลกจะไต่อันดับเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านคน เป็นเกือบๆ 9,000 ล้านคน

ขณะเดียวกันจะมีประชากรอีกจำนวนมหาศาลที่ด้อยโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และถูกผลักเข้าสู่ภาวะยากจน โดยมีตัวเลขประมาณการว่าภายในปี ค.ศ. 2030 โลกจะต้องการอาหารเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 50% และจะต้องการพลังงานเชื้อเพลิงและน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นในอัตรา 45% และ 30% ตามลำดับ

หากเปรียบเป็นหนังก็ต้องบอกว่า บทที่ยูเอ็นเขียนจากเรื่องจริงของโลกใบนี้ช่างน่ากลัว เพราะหากสุดท้ายโลกไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทันท่วงที ก็จะทำให้ประชากรจำนวนมากต้องตกอยู่ในภาวะยากจน และขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

กุญแจสู่ทางออก

(วิกฤตอาหาร) ของโลกใบนี้

จอห์น ไวดาล บรรณาธิการข่าวสิ่งแวดล้อมของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ตั้งคำถามไว้พร้อมหาคำตอบเกี่ยวกับประเด็นวิกฤตอาหารโลกไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าในปี ค.ศ. 2050 โลกใบนี้จะต้องต้อนรับประชากรอีกกว่า 2,500 ล้านคน โลกใบนี้จะเลี้ยง (ปากท้อง) คนเหล่านี้อย่างไร?

ถ้าตอบโดยอิงวิทยาศาสตร์ คำตอบคือ สาหร่าย แมลง และเนื้อที่เพาะในห้องแล็บ

1.สาหร่ายเพื่อนยาก

ข้อดีของสาหร่าย คือ เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในทะเล ในน้ำที่มีมลภาวะหรือในสถานที่ที่ปกติแล้วพืชอาหารไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้นปัญหาเรื่องข้อจำกัดของพื้นที่ในการปลูกพืชสำหรับใช้เป็นอาหารจึงหมดไป ยิ่งกว่านั้นมีรายงานด้วยว่าสายการบินรายใหญ่ และบริษัทด้านการขนส่งกำลังศึกษาว่าจะหันมาใช้น้ำมันที่สกัดจากสาหร่ายแทน เนื่องจากการศึกษาของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์พบว่า การปลูกสาหร่ายเชิงพาณิชย์สามารถสกัดเป็นน้ำมันได้ถึง 5,0001 หมื่นแกลลอนต่อพื้นที่ 1 เอเคอร์ เปรียบเทียบกับการปลูกพืชพลังงานเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอดีเซล) ในพื้นที่เท่ากัน จะผลิตน้ำมันได้เพียง 350 แกลลอน ยิ่งกว่านั้นสาหร่ายยังสามารถใช้เป็นอาหารของสัตว์อีกจำนวนมหาศาล และยังเอามาทำเป็นปุ๋ยได้

อย่างไรก็ตาม มาร์ก เอ็ดเวิร์ด จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา อธิบายว่า ถึงสาหร่ายจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ข้างล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่ในจีนและญี่ปุ่นก็บริโภคสาหร่ายและใช้เป็นปุ๋ยอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้น สาหร่ายยังมีคุณสมบัติในการดักจับสารคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และยังสามารถเป็นอาหารให้สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด ตั้งแต่กุ้งตัวเล็กจนถึงปลาวาฬ

เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสาหร่ายเป็นรากฐานให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และยังเป็นตัวเลือกของอนาคตอีกด้วย

2.แมลงตัวนั้นตัวนี้ มีเยอะมากมาย

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ออกรายงานฉบับใหม่ชี้ชัดว่า “อาวุธ” อย่างใหม่ที่สามารถช่วยให้ประชากรโลกหลุดพ้นจากวิกฤตอาหาร คือ “การกินแมลง” เพราะเป็นแหล่งอาหารที่มีไขมันต่ำ โปรตีนและไฟเบอร์สูง

แนวคิดนี้สอดคล้องกับบทความของจอห์น ที่ระบุว่านอกจากแมลงส่วนใหญ่จะอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันต่ำ มีแคลเซียมและเหล็กสูงแล้ว การเพาะพันธุ์แมลงยังใช้พื้นที่น้อย มีการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศน้อยกว่าการทำปศุสัตว์ชนิดอื่น

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฟากยุโรปกำลังตื่นตัวกับทางรอดใหม่นี้ ยกตัวอย่างรัฐบาลเนเธอร์แลนด์กำลังตั้งหน้าตั้งตาศึกษาวิธีการทำฟาร์มเพาะแมลง รวมไปถึงการหาวิธีสกัดโปรตีนจากตัวแมลง เป็นต้น ขณะที่ฟากสหภาพยุโรป (อียู) ก็เดินหน้าเฉือนงบ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ประเทศสมาชิกที่หันมารณรงค์การนำแมลงมาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร เป็นต้น

3.เนื้อเทียม

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โลกเพิ่งตื่นเต้นกับความสำเร็จขั้นแรกของนักวิจัยที่สามารถทำเมนูแฮมเบอร์เกอร์สุดพิเศษ โดยใช้เนื้อ (วัว) ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อในห้องทดลองสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งทีมวิจัยคาดว่าการทดลองนี้จะตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนอาหารที่โลกกำลังเผชิญอยู่ได้สำเร็จ

สำหรับ “เนื้อเทียม” นี้ จอห์น มองว่าเป็นอีกทางออกหนึ่ง แต่ยังต้องอาศัยการทดลองอีกมาก โดยเฉพาะการพัฒนารสชาติให้ได้เหมือนเนื้อจริงๆ เพราะอย่าลืมว่าในเนื้อจริงๆ นั้นมีทั้งไขมันและเลือด เพื่อช่วยแต่งสีและรสชาติ ขณะที่เนื้อเทียมจากห้องทดลองต้องเติมสิ่งเหล่านี้ลงไป ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนไม่ใช่น้อย อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ก็มีประโยชน์อย่างมากในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เพราะหากการทดลองได้ผลจริง จะช่วยลดการใช้น้ำ พลังงาน และพื้นที่ในการทำปศุสัตว์ รวมทั้งการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ได้อีกมหาศาล

ถอดบทเรียน

สู่โลกแห่งความจริง

จากทางเลือกทางรอดที่กล่าวมา ดูเหมือนโลกที่เหมือนกำลังนอนอยู่ในห้องไอซียูจะมีความหวังรออยู่ เพราะในมุมของ รศ.ดร.สายวรุฬ ชัยวานิชศิริ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าโลกกำลังเข้าสู่วิกฤตอาหารจริง เนื่องจากอุปสงค์ (ผู้บริโภค) มีมากขึ้น สวนทางกับอุปทาน (ทรัพยากร) ที่มีน้อยลง สำหรับทางออกที่ยกมา ทั้งแมลง สาหร่าย และเนื้อเทียมนั้น มีความเป็นไปสูงที่จะเป็นอาหารของโลกอนาคต เพราะแม้วันนี้ถ้าพูดถึงเมนูแมลง คนทั่วไปอาจรับไม่ได้ เพราะที่กินส่วนใหญ่ก็กินแบบเป็นขนมขบเคี้ยว แปรรูปเป็นอบแห้งมาแล้ว แต่ถ้าถามว่าวันหนึ่งต้องมากินเป็นอาหารหลักจะทำได้หรือไม่

“แต่เชื่อเถอะว่า อีก 30 ปี มนุษย์จะรู้จักปรับตัว อะไรที่กินไม่ได้วันนี้ เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน ค่านิยม ความเคยชินในการกิน เปลี่ยนอะไรก็ทำได้ แต่คำถามคือ ที่รณรงค์กันว่าแมลงมีโปรตีนสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ในปริมาณเท่ากัน แต่เรามีความสามารถที่จะกินแมลงได้มากขนาดไหน สมมติบอกจะได้โปรตีนที่เพียงพอ ต้องกินแมลงวันละ 1 กิโลกรัม เราทำได้มั้ย หรือแม้แต่สาหร่ายก็ตาม ถ้าจะให้กินวันละเป็นกิโลๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย”

สำหรับการแปรรูปอาหารด้วยการทำเป็นเนื้อเทียม อาจารย์สายวรุฬ มองว่ายังอีกไกล ต้องมีการศึกษาอีกมาก เพราะนอกจากจะมีราคาแพงแล้ว ต้องไม่ลืมธรรมชาติการกินอาหารของมนุษย์เราว่าไม่ใช่กินแค่อิ่ม แต่ต้องการรสสัมผัสทั้งรสชาติหน้าตาอาหาร อาจารย์ถ่ายทอดประสบการณ์เมื่อครั้งไปดูงานที่สหรัฐ เกี่ยวกับอาหารแคปซูลของนักบินอวกาศว่า วิวัฒนาการการนำอาหารขึ้นไปของนักบินอวกาศเปลี่ยนไป ไม่ได้เอาไปเป็นแคปซูล แต่เน้นแปรรูปอาหารหรือผลไม้สดๆ ให้แห้ง เพื่อให้มีน้ำหนักเบา ลดขยะในอวกาศให้น้อยที่สุด

สอดคล้องกับ แองเจิล ชาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ วี ฟิตเนส โซไซตี้ ซึ่งจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอาหารและชีวกลศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิท ประเทศออสเตรเลีย ตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า แทนที่มนุษย์โลกจะกังวลกับวิกฤตอาหารและทางออกด้วยการมองหาอาหารอนาคต จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าหันมาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั่นคือมนุษย์ ซึ่งบริโภคเกินความจำเป็น คงจะดีกว่า ถ้ารัฐบาลของแต่ละประเทศหันมารณรงค์ให้มีการบริโภคแต่พอควร เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มจำนวนเกษตรกรให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้พอ เนื่องจากคนยุคนี้ไม่สนใจปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์อีกแล้ว