posttoday

‘รังสรรค์ จันทร์วรวิทย์’ ราชาซิปโป้เมืองไทย

18 สิงหาคม 2556

หากวันนี้ จอร์จ จี.เบลสเดลล์ ผู้คิดค้นไฟแช็กยี่ห้อซิปโป้ยังมีชีวิตอยู่ คงอยากจะบินลัดฟ้ามาขอพบหน้า รังสรรค์ จันทร์วรวิทย์ สักครั้ง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ กิจจา อภิชนรจเลข

หากวันนี้ จอร์จ จี.เบลสเดลล์ ผู้คิดค้นไฟแช็กยี่ห้อซิปโป้ยังมีชีวิตอยู่ คงอยากจะบินลัดฟ้ามาขอพบหน้า รังสรรค์ จันทร์วรวิทย์ สักครั้ง

เพราะนอกจากบทบาทการเป็นเจ้าของร้าน Zippadeedoo ร้านจำหน่ายไฟแช็กยี่ห้อซิปโป้ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยแล้ว ชายวัย 42 เจ้าของตำแหน่งประธานชมรมคนรักซิปโป้คนนี้ ยังเป็นคนเดียวกับผู้สะสมไฟแช็กสัญชาติอเมริกันไว้เยอะที่สุดของประเทศด้วย

“23 ปีที่ผ่านมา ผมมั่นใจว่าในเมืองไทยไม่มีใครสะสมไฟแช็กซิปโป้เยอะเท่าผม และร้าน Zippadeedoo ของเราก็น่าจะติดอันดับท็อปไฟว์ของโลกด้วย”

ไม่ใช่คนอหังการ ไม่ได้มีนิสัยคุยโม้โอ้อวด รังสรรค์แค่พูดด้วยน้ำเสียงมั่นใจ

จุดเริ่มต้นของการสะสม มาจากความประทับใจในวัยเด็ก เมื่อเห็นลุงพกไฟแช็กสีเงินไว้จุดยาเส้น ลมแรงแค่ไหน ไฟก็ไม่มีดับ ภาพนั้นยังติดตา

“เสน่ห์ของซิปโป้ที่คนใช้รู้กันดีคือ ไม่ว่าลมแรงขนาดไหนก็ยังสามารถจุดไฟติด หลายประเทศเมืองหนาวมักใช้ซิปโป้สร้างความอบอุ่น โดยจุดไฟทิ้งไว้สักพักแล้วมาเก็บใส่กระเป๋า ล้วงออกมากุมไว้ในมือ แม้แต่ใช้ส่องแสงสว่างนำทางในความมืด

ลวดลายสีสันที่งดงาม มีเรื่องราวมีประวัติศาสตร์อยู่ในนั้นยังทำให้ซิปโป้ต่างจากไฟแช็กธรรมดา ซิปโป้ของสหรัฐ จะเน้นผลิตลายคลาสสิก เช่น ชุดเจมส์ บอนด์ เอลวิส เพรสลีย์ มาริลีน มอนโร การ์ตูนอย่างมิกกีเมาส์ เบ็ตตี้ บู๊บ รูปสัตว์ โลโก้บริษัทดัง ชุดสงครามต่างๆ รวมถึงรุ่นที่ผลิตออกมาเป็นวาระพิเศษตามโอกาสต่างๆ ชุดที่ผลิตจำนวนจำกัด (Limited Edition) รุ่นพิเศษสำหรับสะสมในแต่ละปี (Collectible of the Year)ด้วย

ซิปโป้จากญี่ปุ่นจะเน้นลวดลายแปลกๆ สีสันฉูดฉาด มีลูกเล่นตื่นตาตื่นใจ แล้วยังพวกซิปโป้แบบตั้งโต๊ะก็มีคนเก็บสะสมกันเยอะ ส่วนพวกผิวเรียบไม่มีลวดลาย จะเน้นความเก่า โดยดูตรงปีที่ผลิต ยิ่งเก่ายิ่งราคาแพง”

ปากเล่าไปเรื่อย มือขวาถือซิปโป้เล่นท่าตวัดไปมาคล่องแคล่ว ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าสามารถเล่นได้มากกว่าห้าร้อยท่า

รังสรรค์แนะนำวิธีดูซิปโป้ของจริงของปลอมไว้อย่างน่าคิดว่า

“ของปลอมสปริงจะแข็ง เล่นท่าจะเจ็บมือ จุดไฟติดยากแถมไฟออกแรงกว่า ความทนทานก็ต่างกัน แต่ถ้าพิจารณาดูกันให้ละเอียด ควรตรวจสอบปีที่ผลิต ซิปโป้ผลิตครั้งแรกออกมาในปี 1933 แต่ช่วง 19331957 ยังไม่มีระบุปีที่ผลิตไว้ชัดเจน แต่สามารถดูจากแบบที่ผลิต หมายเลขที่ก้น พอปี 1958 เริ่มนำสัญลักษณ์มากำหนดปีที่ผลิต ทำเป็นจุดกลมด้านซ้ายด้านขวาของโลโก้ ต่อมาทำเป็นขัดตรง ขีดเฉียงซ้ายขวา ปี 1986 เปลี่ยนมาเป็นใช้ตัวเลขโรมันมาแทนปีผลิต และตัวอักษร AL 12 ตัว แทนเดือนที่ผลิต เช่น A=ม.ค. B=ก.พ. เป็นต้น”

นอกจากนี้ยังมีการผลิตขึ้นใหม่โดยใช้แบบของรุ่นเก่า แต่ทำให้แตกต่างด้วยการระบุคำว่า REPLICA และปีที่ผลิตลงไปด้วยเพื่อไม่ให้สับสน

กูรูซิบโป้คนนี้ ยังเผยเคล็ดลับการดูแลซิปโป้ให้คงทนว่าหากซื้อมาเก็บสะสมไว้แต่ไม่ใช้งาน ให้เอาถ่านออก เช็ดให้สะอาดปราศจากคราบนิ้วมือ ห่อหุ้มด้วยพลาสติก ครบ 6 เดือนค่อยนำออกมาทำความสะอาดสักหน

“อันไหนใช้งานบ่อยก็ทะนุถนอมหน่อย อย่าเล่นท่าแผลงๆ มากเกิน ทำความสะอาดคราบเขม่าด้านในตลับโดยเฉพาะฝา ด้านในตัวถังบริเวณปากปล่องด้วยใช้เศษผ้านุ่มๆ หรือก้านสำลีชุบน้ำมันไฟแช็กค่อยๆถูกตามซอกต่างๆ...ถ้าดูแลดีๆ ไฟแช็กอันหนึ่งอาจมีอายุการใช้งานนานหลายสิบปีเลยนะ”

นับตั้งแต่ปี 1932 ที่แบรนด์อเมริกันคลาสสิกอย่างซิปโป้ถือกำเนิดขึ้นบนโลก จวบจนวันนี้ผลิตออกมาแล้วมากมายหลายรุ่นนับแสนแบบ แน่นอนว่าเคยผ่านมือของราชาซิปโป้ไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น

“ไฟแช็กซิปโป้ไม่ใช่ของสะสมของคนรวย มีเงินน้อยก็ไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่ สมมติว่าเงินเดือนคุณ 1 หมื่นบาท แต่อยากได้ซิปโป้อันละ 23,000 บาท อย่างนี้กระเป๋าแฟ่บแน่ๆ ซื้อของเก่ามือสองอันละ 500 บาทก็ได้

ผมเองก็ไม่ได้ซื้อแต่ของเมืองนอกอย่างเดียว เวลาว่างก็ไปเดินเจอของดีตามตลาดนัดคลองถมประจำ สำคัญอยู่ที่คุณต้องดูเป็นว่าอันไหนของจริงของปลอม คิดจะสะสมต้องศึกษาครับ หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เข้าไปคุยไปถามผู้รู้ในเว็บไซต์ซิปโป้คลับไทยแลนด์ก็ได้”

ชั่วโมงบินยาวนานกว่า 23 ปีของการเป็นตัวจริงเรื่องไฟแช็กซิปโป้ รังสรรค์ยังคงมีเรื่องให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ

“อย่างไปญี่ปุ่นทีเจอแบบไหนชอบก็ซื้อมาเก็บ อันไหนขายได้ก็เอามาขาย บางอันมีแล้วก็ยังอยากมีอีกเพราะอนาคตมันมีราคาสูงขึ้น ซิปโป้ราคาแพงที่สุดในโลกคือซิปโป้รุ่นแรก ผลิตปี 1932 ราคาน่าจะอยู่ราวๆ 2 ล้านกว่าบาท อีกชุดที่เขานิยมเล่นกันและหายากมากก็คือ Town and Country หรือชุด Constantine จากหนังเรื่องคอนสแตนตินที่คีอานู รีฟส์เล่น ผลิตมาแค่ 800 อันเท่านั้น ตอนนี้หาไม่ได้แล้ว

ส่วนที่ผมมีในครอบครอง แพงที่สุดคงเป็นรูปมิกกีเมาส์ปี 1971 ราคา 6.2 หมื่นบาท สาเหตุที่แพงก็เพราะว่าช่วงต้น 1980 ดิสนีย์เขารณรงค์ไม่ให้คนสูบบุหรี่ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับบุหรี่ทั้งหมดก็เลิกจำหน่าย กลายเป็นของหายากไปเลย”

ปัจจุบัน บนเว็บไซต์ Zippoclubthailand.com มีสมาชิกมากกว่า 5,000 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่และมีกำลังเงิน วัยรุ่นที่สะสมเพื่อความเท่ ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่เน้นสะสมเป็นงานอดิเรก

“เดี๋ยวนี้ไอ้การมีเยอะหรือไม่เยอะไม่ใช่เรื่องใหญ่แล้ว การได้เจอคนที่ชอบของแบบเดียวกัน คุยถูกคอ มันสนุกกว่า บางคนไม่มีซิปโป้สักอัน แต่สนใจ เราก็แนะนำให้ บางคนมาขอปรึกษาเรื่องแบบเรื่องรุ่น มาขอความรู้ เราก็ต้องหาคำตอบมาไขข้อข้องใจ วันๆ ก็นั่งคอยตอบคำถามคนนั้นคนนี้จนไม่ต้องทำอะไรแล้ว บางวันคนโทรมาดึกๆ ดื่นๆ ไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่มันมีความสุข ...มีความสุขจริงๆ”

ไฟแช็กซิปโป้ในมือถูกจุดสว่างโชติช่วงอีกครั้ง พร้อมรอยยิ้มกว้างบนใบหน้าของ รังสรรค์ จันทร์วรวิทย์ เจ้าของฉายาราชาซิปโป้เมืองไทย