posttoday

ก็ผมรักเบตง

17 สิงหาคม 2556

ใครจะว่าผมบ้าก็ช่าง แต่ผมมีความสุขที่ผมได้เก็บสะสมภาพเก่าๆ ของเบตง ผมกลัวภาพเหล่านี้มันสูญหายไป เพราะไม่ค่อยมีใครเก็บกัน

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม ภาพ – วีรพันธ์ ไชยคีรี

“ใครจะว่าผมบ้าก็ช่าง แต่ผมมีความสุขที่ผมได้เก็บสะสมภาพเก่าๆ ของเบตง ผมกลัวภาพเหล่านี้มันสูญหายไป เพราะไม่ค่อยมีใครเก็บกัน ยิ่งคนแก่อายุ 70 กว่าปี ถ้าเราไม่ถามเขา แล้ววันนึงเขาไม่อยู่ แล้วเราจะถามที่มาภาพจากใคร ผมทำในสิ่งที่เราชอบ เวลาคนมาดูภาพแล้วเขายิ้มแย้ม ผมก็รู้สึกดี”

หลังตลาดสดเมืองเบตง ดินแดนใต้สุดแดนสยามสุขสงบโอบล้อมด้วยเทือกเขา มีร้านกาแฟเล็กๆ พ่วงอาหารตามสั่ง ทว่าเมนูพิเศษกลับอยู่ที่ภาพเก่าเบตงจำนวนมากแปะตามผนังจนไม่มีที่ให้เบียดเสียด ตรึงสายตามากกว่ารสอาหาร

ชาญ นกแก้ว หรือ โกไข่ วัย 53 ปี เป็นเจ้าของภาพเก่าบันทึกเรื่องราวในอดีตของเบตง อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวพื้นที่ใต้สุดเมืองไทย จนได้เป็นตัวแทนไปพูดในงานเสวนาเล่าที่มาภาพเก่าให้กับคนเบตงด้วยกันหลายครั้ง กระทั่ง ผวจ.ยะลา นายอำเภอ ออกปากสนับสนุนให้เขาช่วยสืบสานเก็บภาพเก่าตำนานเบตงให้ลูกหลาน

ก่อนมาเปิดร้านกาแฟ “โกไข่” ขายของโชห่วยอยู่ในตลาดสดกลางเมืองเบตง จนมาเปลี่ยนทำร้านกาแฟที่บ้านเขาเอง โดยได้ไอเดียภาพเก่ามาตกแต่งในร้าน จากการไปเที่ยวที่ต่างๆ จนเริ่มคิดว่า ทำไมไม่ทำเองบ้างทั้งที่เบตงก็มีของดีเยอะ

“ตอนผมเรียนหนังสือที่สวนสุนันทา เอกศิลปะ ก็เที่ยวไปทั่ว ได้โอกาสไปเที่ยวอัมพวา สมัยก่อนยังเป็นแบบเดิมๆ ที่นั่นมีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่ง ติดรูปขาวดำ เรียงไปหมด ผมก็ดู แล้วก็ถามเขา จนกลับมาคิดว่า บ้านเรา เบตง มันก็มีอะไรดีๆ เยอะ พอกลับมาก็ลองทำเล่น หาภาพเก่า ตอนแรกได้ภาพนึง แล้วก็เพิ่มมา จนมาสองปีหลังที่ผมเริ่มเอาภาพไปแสดง ผมก็ได้ภาพมาเรื่อย เพราะมีคนเอามาให้ เขาเห็นว่า ผมชอบแล้วผมก็เก็บ ทำให้ผมแทบไม่ต้องออกไปหาภาพเหมือนแต่ก่อน วันนี้ผมมีภาพเก่าร่วม 200 ภาพแล้ว และทุกภาพผมรู้กระทั่งคนในภาพ เพราะผมได้ไปคุยกับลูกหลานของเขาหมด”

ภาพที่ภูมิใจที่สุด “โกไข่” บอกเป็นภาพในหลวงเสด็จฯ เมืองเบตงครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2519 จากนั้นพระองค์ไม่เสด็จฯ มาอีกเลย รวมกว่า 37 ปีแล้ว

เช่นเดียวกับภาพบุคคลรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกเบตง โกไข่ ยืนยันว่ามีเกือบหมดทั้งคนจีน คนไทย ใช้เวลาเสาะหาภาพแต่ละชิ้นด้วยความยากลำบาก เพราะต้องซอกแซกเป็นนักสืบหาที่มาภาพจากลูกหลาน นามสกุลคนในภาพเหล่านี้

“ภาพเก่าที่สุดปี 2450 คือ รูปคนไทยยุคแรกที่เป็นข้าราชการปี 2450 ผมได้มา 3 ท่าน คนหนึ่งคือ นายเลี่ยม ตลุงคะบุตร เป็นพนักงานที่ดินประจำกิ่งอำเภอโก๊ะ ที่สมัยก่อนเรายังไม่เสียดินแดนให้มาเลเซียปี 2452 อีกคน นายประพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นข้าราชการที่ส่วนกลางส่งเข้ามาเบตงในยุคแรก ยังมีแพทย์แผนโบราณคนไทยคนแรกของเบตงอีกคน ฟุก ฟ้าอรุณ เป็นคนที่จิตใจโอบอ้อมอารี คนนี้แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนพูดถึงอยู่ และก็เป็นคนแรกที่ผลิตเหรียญใช้ในเบตง ปี 2485-2488

“ภาพคนจีนคนแรกที่มาเบตง ผมยังมีเลย นายหลีซัง ปี 2443 เป็นคนจีนจากมณฑลกวางตุ้ง เข้ามาเบตง ตอนอายุ 19 ปี ผมได้ภาพนี้จากลูกสาวเขาที่อายุ 85 ปี ผมไปตื๊อเขา กว่าจะได้เรื่อง เขาเขียนโน้ตเป็นภาษาจีน แล้วผมก็เอาไปให้เขาแปล ตอนนี้ลูกหลานเขาก็ยังอยู่ เขาเป็นคนมีน้ำใจ สร้างความเจริญให้กับคนเบตงเยอะ”

นอกจากภาพบุคคลรุ่นแรกๆ ยังมีภาพสถานที่สำคัญในอดีตของเบตง เช่น ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยปี 2467 หอนาฬิกาปี 2488 ศาลจังหวัดเบตง

“ตอนแรกผมเก็บก็ไม่รู้มันคืออะไร จนผมนั่งดูทุกวันทุกคืน และผมก็เที่ยวถามคนรุ่นเก่าของเบตง ใครผ่าน ใครจอดรถ ผมก็ถามหมด ไม่ว่า อาเจ๊กคนไหน ทำให้ผมรู้เรื่อง ใครสร้างอะไร”

ประวัติเบตงตามที่เจ้าตัวย้อนอดีต เล่าให้ฟัง เดิมชนเผ่าซาไกมาอยู่ก่อน มุสลิมมาที่สอง คนจีนอพยพมาที่สาม ส่วนคนไทยเป็นกลุ่มที่สี่เข้ามา โดยประเทศไทยเพิ่งรู้ว่ามีเบตงเมื่อปี 2450 ตอนที่ไทยเสียดินแดนทำให้เราเพิ่งรู้ว่ามีเบตงในพื้นที่ของประเทศไทยด้วย

“ในใจผมอยากให้คนรู้ว่า เบตงเจริญมานานแล้ว ความจริงถ้าเบตงรักษาสภาพเมืองเก่าไว้ ก็อาจกลายเป็นเรื่องมรดกโลก คล้ายกับปีนัง มะละกาของมาเลเซีย เพราะ 75 ปีที่แล้ว หรือ 24-75 เบตงมีป้ายรถเมล์แล้ว รถยนต์เบตงวิ่งไปปีนัง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากมาเลเซียหมด ไม่ว่าน้ำมัน ถนน มาเลเซียเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ เบตงเลยได้การพัฒนามาด้วย ถนนเลยมาถึงชายแดนไทย”

เสน่ห์เบตงในมุมมองของโกไข่มีหลายอย่าง เช่น เรื่องที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าป้ายที่ว่าการ “อำเพอเบตง” สะกดด้วยตัวอักษร “พ.” ไก่สับเบตงที่สืบตำนานวิธีการทำจากคนจีนรุ่นแรกที่มาเบตงอันเป็นที่มาของข้าวมันไก่เบตง ยังมีตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อำเภอใต้สุดของประเทศ ถนนที่โหดที่สุดของประเทศไทยสมัยก่อนก็อยู่ที่เบตง จากโค้งตามหุบเขา 600 กว่าโค้งรวม 140 กม. โดยเฉพาะทะเบียนป้ายรถเบตงแห่งเดียวในประเทศซึ่งยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

“ผมมีทะเบียนรถเก่าเบตงที่สมบูรณ์ 10 ป้าย ตอนนั้นผมไปนั่งขุดที่ใต้ถุนโรงพัก เพราะตอนเด็กๆ จำได้ว่า เมื่อก่อนที่ยังไม่มีขนส่งเบตง การจะขึ้นทะเบียนรถ ต้องไปขึ้นที่โรงพัก ผมก็เลยไปขอผู้กำกับขอขุดที่ใต้ถุนเพื่อเจอป้ายทะเบียน เขาอนุญาต ผมก็เลยได้มา 10 กว่าแผ่นที่สมบูรณ์ ที่ไม่สมบูรณ์ผมได้มาเกือบ 20-30 แผ่น”

สิ่งสำคัญ เบตงยังเป็นถิ่นเดียวที่มีความสงบสุขที่สุดในสามจังหวัดภาคใต้ที่ไม่เคยมีเหตุระเบิด

“คนนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้ามาเบตง เพราะเขากลัวสถานการณ์ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ข้างในแล้วคุณจะรู้ว่าเบตงมันมีเสน่ห์ภายในตัว ที่มันต่างจากสามจังหวัดภาคใต้ เพราะเราเข้ากันได้ กินน้ำชากันได้ คนเบตงส่วนใหญ่ก็รู้จักกันหมด เห็นหน้าก็รู้ว่าอยู่ไหน เพราะสังคมมันมีแค่กลุ่มเดียว เราอยู่กันหลากหลายและสงบสุขทั้งคนพุทธ อิสลาม จีน”

“เมื่อก่อนเบตงเป็นแหล่งขุดทองเลย พอเกิดบึ้มปี 2547 คนเริ่มไม่มา นับทัวร์ได้เลย แต่นี่ขนาด 3 จังหวัดใต้มีบึ้ม ก็ยังมีทัวร์มาเลย์มา ตอนนี้มาเลย์มาเกือบ 100% ช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ รถมาเลย์มาจอดที่เบตงเต็มไปหมด ใครเห็นก็ชิน เขาชอบเมืองเบตง เพราะอากาศดี คนอัธยาศัยดี สื่อสารกับเขาได้ แต่ส่วนหนึ่งเขามาเที่ยวผู้หญิง คนกรุงเทพฯ เองก็อยากมาเที่ยว แต่วันนี้แค่บอกมา 3 จังหวัดใต้ เขาก็จบที่หาดใหญ่ แต่ผมหวังว่า ถ้ามีสนามบินมาที่เบตง ซึ่งก็ได้ข่าวว่าเขาจะเอามาลง มันเวิร์กแน่”

โกไข่ บอกว่า ปัจจุบันเบตงค่อนข้างเจริญ สิ่งที่อยากเห็นคือ ด้านจิตใจอยู่กันเหมือนเมื่อก่อน ให้คนรักกัน จักรยานจอดไม่มีหาย ประตูบ้านไม่ต้องล็อกก็อยู่กันได้ แต่ตอนนี้มีคนเข้ามาเบตงเยอะ คนเบตงจริงๆ มีไม่ถึงครึ่งเมือง เขาไปอยู่ที่อื่นกันหมด เพราะคนเบตงแทบทุกบ้าน ส่วนใหญ่จะมีบ้านที่กรุงเทพฯ หลังที่สอง และคนเบตงทุกบ้านจะได้เรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ หมด

“ผมตั้งความหวังว่า อยากให้คนเบตงรักเบตง และหวงแหนเบตง เพราะเบตงมีอะไรดี ๆ เยอะ ส่วนผมจะทำจนกว่าหมดแรง” คนเบตงทิ้งท้าย