posttoday

คอมมานโดกองปราบ พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล

17 สิงหาคม 2556

ตะลึงกันไปทั้งเมือง เมื่อผู้กว้างขวางแห่งภาคตะวันออกอย่าง สมชาย คุณปลื้ม หรือ “กำนันเป๊าะ”

โดย...ธนก บังผล/วัสยศ งามขำ

ตะลึงกันไปทั้งเมือง เมื่อผู้กว้างขวางแห่งภาคตะวันออกอย่าง สมชาย คุณปลื้ม หรือ “กำนันเป๊าะ” ถูกตำรวจคอมมานโด กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) รวบคาด่านเก็บค่าผ่านทาง ในช่วงสายของวันหนึ่ง

ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจเหนือเมฆครั้งนั้น คือ พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผู้กำกับการกองปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม (ผกก.ปพ.บก.ป.) ซึ่งหลังจากวันนั้นเป็นต้นมา ทำให้ พ.ต.อ.อธิป ไม่สามารถไปออกกำลังกายปั่นจักรยานกีฬาสุดโปรดที่สวนรถไฟได้อย่างสะดวกเหมือนเคย

“มีคนมาทักทายเยอะครับ” ผู้กำกับอธิป เฉลยอย่างอารมณ์ดี

ตำรวจหนุ่มอนาคตไกล ขยัน ทำงานเก่ง ตั้งใจจริงจัง ทุ่มเท โสดสนิท สุภาพ ใจดี เป็นกันเองกับน้องๆ เป็นนิยามที่อธิบายความเป็นตัวตนของ ผู้กำกับอธิป ได้ชัดเจนที่สุด

แต่ในส่วนลึกของจิตใจที่ไม่เคยเปิดเผยกับใครมาก่อน มีหลายแง่มุมที่จะทำให้อึ้ง อึ้งและอึ้ง

พ.ต.อ.อธิป นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 46 (นรต.46) เกิดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2513 ที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี คุณพ่อคือ พ.ต.อ.สรสีห์ (อุเทน) ฉิมอร่าม คุณแม่ชื่อ วิภารัตน์ แท่นนิล รับราชการครู

“ผมเปลี่ยนนามสกุลตามคุณแม่เมื่อมาอยู่ที่นี่ (กองปราบ)”

“คุณพ่อเป็นตำรวจ เตรียมทหารรุ่นที่ 2 (ตท.2) นรต.18 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และ พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ อดีต ผบ.ตร. คุณพ่อลงไปทำงานปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2510 แล้วก็ได้เจอกับคุณแม่ แล้วก็มีผมนี่ละครับ กับน้องสาวอีก 2 คน” ผู้กำกับอธิป เล่าประวัติด้วยหน้าตายิ้มแย้ม

พ.ต.อ.อธิป ในวัยเด็ก ต้องตามคุณพ่อมาเรียนที่กรุงเทพฯ ชั้นประถมที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา ลาดพร้าว แล้วไปต่อโรงเรียนบดินทร์เดชา ชั้นมัธยม

“เห็นคุณพ่อเป็นตำรวจ ย้ายหลายที่ ผมก็ต้องติดตามไป ที่ผมประทับใจคือที่ สภ.หันคา จ.ชัยนาท ตอนที่คุณพ่อเป็นสารวัตรใหญ่ที่นั่น โรงพัก 2 ชั้น ไม้เก่าๆ ตอนนั้นผมอายุไม่เกิน 4 ขวบ คุณพ่อซื้อรถจักรยานเล็กๆ 4 ล้อ (+2 ล้อข้างหลัง) ขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของบีเอ็มเอ็กซ์ พอขี่มันคล่องแล้วก็เริ่มรู้สึกไม่สนุก ก็เลยหาเครื่องมือมาขันล้อออก เอาล้อประคองด้านซ้ายออก ปรากฏว่าล้มจนได้แผล ล้มไปๆ จนขี่คล่องแล้วก็ถอดให้เหลือ 2 ล้อหน้าหลัง แรกๆ ก็ล้มจนได้แผล” ความประทับใจในจักรยานวัยเด็กกลายเป็นการออกกำลังกายที่ชื่นชอบมากของผู้กำกับอธิปในทุกวันนี้

“พอขี่ 2 ล้อได้ภูมิใจมาก ก็เลยไปขี่จักรยานของผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่ขายังไม่ถึง ขี่ตามทุ่งนา ก็ล้มกลิ้งเหมือนเดิมครับ”

“นึกภาพออกไหมครับ ในต่างจังหวัดเมื่อก่อนนี้มีทุ่งนา ถนนลูกรัง คุณพ่อมีรถจิ๊บตำรวจ ให้ลูกน้องขับ ไปจับคนร้าย แล้วรถคว่ำในคันนา ทำให้คุณพ่อขาหักใส่เหล็กมาตลอด หลังจากนั้นคุณพ่อย้ายมาเป็นรองผู้บังคับการอำนวยการนครบาลเหนือ (รอง ผบก.อก.น.เหนือ บช.น.) สมัยนั้น ซึ่งผมก็เรียนเตรียมทหารแล้ว ด้วยความผูกพันเพราะเห็นว่าตำรวจทำงานอย่างไร สอบโรงเรียนเตรียมทหารครั้งแรกก็สอบได้เลย อาจเป็นเพราะผมเห็นแต่ด้านบวกของตำรวจ ไม่เคยเห็นด้านลบ”

ทั้งๆ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ อยากประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ กับโลกนี้

“ตอนเด็กๆ ผมเคยสร้างร่มกระตุกเอง แล้วลองกระโดดลงมาจากชั้นสอง หัวแตกครับ” ผู้กำกับอธิป เล่าพร้อมหัวเราะ

“เข้าไปโรงเรียนเตรียมทหารวันแรก เป็นอะไรที่ท้อมาก จะลาออกหลายครั้ง คือเมื่อก่อนนี้กว่าจะเข้าไปที่ตึกวายได้ เหนื่อยมาก เขาจะไม่ให้เราเดินเข้า ต้องกลิ้ง กระโดดกบเข้าไป ตอนนั้นเป็นรุ่นแรกที่จะมีอยู่ประจำกับไปกลับ ผมเลือกที่จะไปกลับ ต้องมาถึงโรงเรียนตี 5 กะไว้ว่าเรียนเตรียมทหาร 2 ปี เทียบวุฒิ ม.6 แล้วจะไปสอบเป็นวิศวะหรือวิทยาศาสตร์ เรียนไปมา ปรากฏว่าไม่มีแรงไปสอบเพราะระบบทหารต้องฝึกอย่างเดียว”

เรียนจบมาหมาดๆ ปุ๊บ ผู้กำกับอธิป รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน (รอง สวส.) สน.สุทธิสาร 8 เดือน ก่อนมาเป็น รอง สวส. ที่ สน.พหลโยธิน ขณะนั้นปี 25362537

“หลังจากที่เป็นรองสารวัตรสอบสวนครบวาระเกิน 2 ปีแล้ว ผมก็เดินเข้าไปหาพ่อ ซึ่งตำแหน่งขณะนั้นเป็นรองผู้การนครบาลเหนือ ที่ถือเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ต้องการความอยากที่จะทำงานสืบสวน เพราะยึดหลักวิทยาศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ได้จับโจรจริงๆ อย่างที่ฝัน จำได้ว่านั่งกินข้าวกับพ่ออยู่ก็บอกว่าอยากย้ายไปสืบสวน เพื่อนหลายคนที่รู้ก็จดรายชื่อมาให้ผมส่งต่อไปที่พ่อหลายคน”

“แต่...พลิกโผ เชื่อมั้ยครับ เพื่อนผมทุกคนตำแหน่งที่ส่งให้คุณพ่อพลิกโผหมด ผมถูกย้ายไปเป็นรองสารวัตรสอบสวนที่ สน.บางซื่อ เมื่อปี 2539 รุ่นพี่ที่นั่นถามผมเลยว่ามาทำไม รู้ไหมครับสถิติคดีอาญาที่ สน.บางซื่อขณะนั้น 6,000 กว่าคดีขึ้นไป เยอะที่สุดในประเทศ ที่อื่นอย่างเก่งก็แค่ 100 คดี อันดับ 2 คือ อ.หาดใหญ่ ตั้งแต่นั้นผมไม่คุยกับคุณพ่อเลย 1 ปี”

“รถเปอโยต์ที่คุณพ่อให้ใช้ ผมเอาไปคืน ไม่ใช้ ขี่มอเตอร์ไซค์หลวง พ่อก็ไม่คุย”

นี่คือสิ่งที่ติดค้างอยู่ในหัวใจของ พ.ต.อ.อธิป มาจนถึงวันนี้ เหตุที่ทำให้กลับมาคุยกับคุณพ่ออีกครั้ง คือน้องสาวคนเล็กที่จบปริญญาโทจากอเมริกาจะแต่งงาน

“หลังจากนั้นเกือบ 10 ปี ผมไม่เคยพูดเรื่องโยกย้าย ไม่ขอ ผมขึ้นตำแหน่งสารวัตรสอบสวนที่ สน.บางซื่อ ที่มาอยู่กองปราบได้ก็เพราะลูกชายของ พล.ต.ต.จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) ตอนนั้น ขณะนั้นฝึกงานอยู่กับผมที่ สน.บางซื่อ พาผมเข้าไปฝาก ท่านก็เห็นว่าก็ดีเหมือนกันจะได้มาช่วยงาน”

มากองปราบ ในตำแหน่งพนักงานสอบสวน (สบ.2) เมื่อปี 2545 สมัยที่ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เป็นผู้บังคับการปราบปราม

พอปี 2549 “เดอะกิ๊ก” พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ (พล.ต.ต. ยศขณะนั้น) ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เป็น ผบก.ป. ในขณะที่ผู้กำกับอธิปยังเป็นพนักงานสอบสวน ต้องกินนอนอยู่ประจำที่กองปราบ โดยทุกวันตอนตี 5 ผู้การจะมาตรวจ ร้อยเวร สารวัตรเวรต้องอยู่ ถ้าไม่เจอก็ให้คนไปตาม

“ท่านไม่เคยด่าเคยว่านะครับ ถ้าไม่เจอ ก็ให้คนไปตาม ท่านจะพบพนักงานสอบสวนทุกคน พูดคุย ซื้ออาหารเช้า ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ อะไรอย่างนี้มาฝากทุกวัน แล้วก็สอนทุกวันเช่นกัน เกี่ยวกับวิชาตำรวจ มีอีก 2 คน ที่เป็นรองสารวัตรเวรนั่งฟัง ผมไม่เคยเจอตำรวจระดับผู้ใหญ่มานั่งสอนเด็กทุกวันเกี่ยวกับงานตำรวจ อาชีพ วิธีการ ช่วงนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนโครงสร้างตำรวจ แบ่งกลุ่มงานสอบสวน แยกสืบสวนกับสอบสวน”

ในขณะที่ผู้กำกับอธิป ขึ้นเป็น สบ.3 และ พ.ต.อ.ปิยะ เจริญสุข ผกก.1 บก.ป. (ยศตำแหน่งปัจจุบัน) เป็นหัวหน้ากลุ่มงาน ก็ปรากฏว่ามีคดีอุ้มฆ่าบังแคระ ในปี 2550 ใช้รองสารวัตรไปดูที่เกิดเหตุ จับผู้ต้องหามาดำเนินคดีจึงต้องไปทำแผน

“เช้าวันนั้นผมก็มาทำงานตามปกติ จำได้เลยว่าเป็นวันอาทิตย์ ประมาณ 7 โมงเช้า นาย (พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์) เห็นก็ถามว่ามาทำไม สะดวกไหม ไปขับรถให้หน่อย จะไป จ.ฉะเชิงเทรา นั่นคือขับรถให้ครั้งแรก นายยังไม่รู้ว่าเป็นใคร รู้แค่ว่า สบ.3 ระหว่างที่ผมขับรถอยู่ นายก็สอนวิธีขับรถตามยุทธศาสตร์ รถขบวนเราอยู่อย่างไร ลำดับที่เท่าไร คัฟเวอร์อย่างไร ผมอึ้ง ผมไม่เคยรู้อะไรอย่างนี้มาก่อน ผมประทับใจมากมันเป็นเทคนิคใหม่ไม่เคยเจอ หลังจากนั้นก็รู้จักเรื่อยมา งานสำนวนผมก็ไม่ได้โดดเด่น แต่ท่านใช้ผมบ่อยเพราะห้องอยู่ตรงข้าม งานคดีอาญาต้องบอกว่าตอนนั้นทีมงานผมได้น้องๆ ที่เก่งและดี งานได้รับมอบหมายประสบความสำเร็จลุล่วง อัยการสั่งฟ้องได้ ถึงศาล ศาลก็ลงโทษ 8090 เปอร์เซ็นต์ ท่านสอนผมว่า ต้องขยันทำงาน ให้ทำไป ให้ตรงไปตรงมา”

ด้วยความขยัน ใช้ให้ทำงานอะไรก็ทำอย่างเต็มที่ ในที่สุด จาก สบ.3 ก็พลิกโผอย่างฮือฮาขึ้นเป็นผู้กำกับการ 5 บก.ป. ในระยะเวลา 1 ปี ก็มาเป็น ผกก.ปพ.บก.ป. รับผิดชอบทั่วประเทศ ในทุกวันนี้

“ผมเก็บความสงสัยมาตลอด จนถึงวันนี้ ผมไม่เคยถามคุณพ่อเลยว่าทำไม จนกระทั่งคุณพ่อเสียชีวิต ผมคิดว่าที่คุณพ่อไม่ย้ายผมตามที่ผมขอวันนั้นก็เพราะน่าจะฝึกให้แข็งแกร่ง เวลาอยู่ในโรงพักนั่นคือการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ท่านให้กำลังใจว่า อะไรที่ผิดหวังก็ตาม ไม่เป็นไร อย่าไปเสียใจ สิ่งใดที่เป็นธรรมชาติ อย่าไปเร่งตะวัน ชีวิตเราไม่แน่นอน องค์กรตำรวจก็ต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอยู่แล้ว อะไรก็ไม่แน่นอน”

4 ปี ที่เดอะกิ๊ก เป็นผู้การกองปราบ ทำให้ พ.ต.อ.อธิป ตระหนักรู้ทั้งใจว่า นายเป็นคนดี ศรัทธา เชื่อมั่นในตัวนาย เป็นทั้งอาจารย์สอน เป็นนักสืบ สิ่งที่นายพูดจึงทำให้เชื่อนาย

กว่าจะมาเป็น มือปราบกำนันเป๊าะ ทำให้เห็นว่าชีวิตของ พ.ต.อ.อธิป ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ฝ่าฟันอุปสรรค และต้องอดทนกับความผิดหวัง

และในวันหนึ่งความฝันจะเป็นจริง

นักประดิษฐ์

“ตอนผมอายุ 12 ขวบ ผมเก็บเงินค่าขนมทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ ซื้อโซ่ ซื้อจานล้อ ทีละอย่างๆ จนประกอบเป็นจักรยานเอง เคยขี่จากลาดพร้าว ไปตามทางเรื่อยๆ อ้อมเข้าทางรามอินทรา เกษตรฯ วนกลับมาถึงบ้านใช้เวลา 1 วันเต็ม ตั้งแต่ 7 โมงเช้า”

นอกจากปั่นจักรยานที่ชื่นชอบมากที่สุดแล้ว พ.ต.อ.อธิป ยังเป็นหลงใหลในเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง มีโทรศัพท์มือถือเกือบ 20 เครื่อง โน้ตบุ๊กในห้องทำงาน 5 เครื่อง

“ผมชอบแกะออกมาดูว่ามันทำงานได้ยังไงชอบเทคโนโลยีมาก เพราะฝังใจกับรถโฟล์คสวาเกน สีฟ้า ผมเกิดและโตในรถคันนั้น มีรูปแม่อุ้มตอนที่ผมยังตัวเล็กๆ อยู่ในรถด้วย ประทับใจในรถโฟล์คคันนั้น ทนทาน 30 ปีแทบจะไม่ซ่อมเลย”

นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายภาพที่ พ.ต.อ.อธิป บอกว่า การทำงานของกล้องถ่ายรูปทำให้ได้ใช้สมองทั้งหมด ส่วนดนตรี มีกีตาร์ที่เล่นยามว่าง

วัตถุมงคลที่พกคือหลวงพ่อปากน้ำทองคำแท้ รุ่นกรมตำรวจ ส่วนปืนประจำกาย ใช้ HK P7M8