posttoday

มาสเตอร์ เบลนเดอร์ อัจฉริยะในโลกใบชา

11 สิงหาคม 2556

ในโลกนี้มีใบชาอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ที่เรานำมาชงเป็นเครื่องดื่มชายามเช้า ซึ่งอาจจะมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไปบ้างตามท้องถิ่นและวิธีการปลูกชาพันธุ์นั้นๆ

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ ไม่มีเครดิต

ในโลกนี้มีใบชาอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ที่เรานำมาชงเป็นเครื่องดื่มชายามเช้า ซึ่งอาจจะมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไปบ้างตามท้องถิ่นและวิธีการปลูกชาพันธุ์นั้นๆ แต่ถ้าคิดกันดีๆ คงเป็นอะไรที่น่าเบื่อไม่น้อยที่เราจะต้องมานั่งดื่มชารสชาติเดิมๆ ไม่กี่รสชาติอยู่ทุกวันและเหมือนๆ กันทั้งโลก แต่สิ่งที่น่าเบื่อแบบนี้คงไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะมีคนที่เรียกตัวเองว่า มาสเตอร์ เบลนเดอร์ หรือนักพัฒนาชามาช่วยสร้างรสชาติใหม่ๆ ให้กับน้ำชาในโลกใบบวมๆ แห่งนี้

เพราะแค่ฟังชื่อตำแหน่งนี้ครั้งแรกก็พาให้นึกถึงปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิทยายุทธ์ เพียงแต่เขากลับเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องใบชาล้วนๆ ซึ่ง ฟิลิปปา แทรคเกอร์ (Philippa Thacker) ก็คือหนึ่งใน มาสเตอร์ เบลนเดอร์ ชาวอังกฤษ สังกัด บริษัท ทไวนิงส์ ผู้ผลิตชาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่จะพาเราไปรู้จักกับอาชีพนักพัฒนาชา ซึ่งเป็นทั้งผู้สั่งซื้อชาและผสมชารสชาติใหม่ๆ ออกมาให้เราได้ชิม

ฟิลิปปา มาในชุดลายดอกกล่าวทักทายเราด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม หรือจะบอกว่าตาเธอยิ้มได้ก็คงไม่ผิดนัก เพราะบ่อยครั้งระหว่างการสนทนาสายตาเธอมักจะเบิกกว้างก่อนฉีกริมฝีปากเสียด้วยซ้ำ ด้วยเธอกำลังมีความสุขมากเป็นพิเศษหลังจากผลงานล่าสุดของเธอในการพัฒนาชา ซิกเนเจอร์ เอิร์ลเกรย์ ซึ่งเป็นชาเอิร์ลเกรย์ สูตรใหม่ของทไวนิงส์ ออกวางจำหน่าย เป็นหนึ่งในผลงานในฐานะมาสเตอร์ เบลนเดอร์ ยาวนานถึง 18 ปีกับทไวนิงส์

มาสเตอร์ เบลนเดอร์หญิง เล่าว่า เธอเป็นคนที่รักการดื่มชาตั้งแต่เด็กๆ จึงอยากรู้ว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังใบชาที่เธอดื่มอยู่ทุกวัน จึงเริ่มศึกษาเรียนรู้ จนพบว่ามีอาชีพนี้ มาสเตอร์ เบลนเดอร์ อยู่เบื้องหลังการพัฒนาชาสูตรใหม่ๆ ออกมานี่เอง

ไม่รอช้าเธอจึงตัดสินใจเรียนต่อด้านชาจีน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เธอได้เข้ามาทำงานอยู่เบื้องหลังการเป็นเบลนเดอร์ชาตามที่เธอใฝ่ฝันไว้ได้

จนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัยจึงมาสมัครงานและเข้าอบรมการเป็นนักเบลนเดอร์ชั้นสูงอีก 5 ปี ถึงจะผ่านมาเป็นมาสเตอร์ เบลนเดอร์ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ได้

โดยคนที่จะเป็น มาสเตอร์ เบลนเดอร์ ได้นั้นต้องใช้เวลาฝึกประมาณ 5 ปี ในการฝึกกับคนที่เก่งกว่าเพื่อปรับประสาทสัมผัสในการรับรู้รสได้อย่างถูกต้อง แต่ไม่ใช่การรับรู้รสอย่างเดียวถึงจะเพียงพอ ยังต้องมีความสามารถในการแยกแยะรสชาติของชาจากสถานที่ปลูกต่างๆ ฤดูกาลที่เก็บเกี่ยว เก็บครั้งที่เท่าไหร่ และรู้ถึงความผิดพลาดในขั้นตอนการผลิตและการชงออกมาได้ผ่านสี รส และกลิ่น(สุดยอดไหมล่ะ)

“หน้าที่ของ มาสเตอร์ เบลนเดอร์ในแต่ละวันจะต้องชิมชาประมาณ 400 ครั้งต่อวัน ชาที่ต้องชิมก็คือชาตัวอย่างที่ส่งเข้ามาให้ทดสอบ เป็นชาที่อยู่ในสายการผลิตเพื่อควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งจะต้องชิมทั้งหมด 6 ครั้ง กว่าจะออกมาเป็นชา 1 ล็อต อีกส่วนจะเป็นการชิมชาจากผู้ที่ขายใบชาให้กับบริษัท รวมทั้งชาที่เธอต้องเบลนด์รสชาติใหม่ๆ ออกมา หลังจากผลิตแล้วก็ต้องสุ่มตัวอย่างกลับมาชิมอีกเพื่อความมั่นใจในรสชาติ” ฟิลิปปา เล่าถึงการทำงานในแต่ละวันที่จะต้องชิมชาเป็นหลัก

ฟังดูแล้วคงคิดว่าน่าเบื่อพิลึกที่ต้องชิมชาแทบจะแทนน้ำเปล่าทุกวัน แต่ลองนึกดูสิว่าคนที่ชอบดื่มชาเป็นทุนเดิม มาอยู่ห้องแล็บใบชาที่มีใบชาจากทั่วโลกและทุกฤดูกาล ก็เหมือนสวรรค์สำหรับพวกเขานั่นล่ะ และการชิมแต่ละครั้งก็แค่ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ ฟิลิปปา ยังแนะนำแนวทางสำหรับคนที่อยากจะเป็นมาสเตอร์ เบลนเดอร์ว่า อย่างแรกต้องมีความรู้ด้านชาทั่วโลก ความรู้เหล่านี้ล้วนมีอยู่ในตำราที่เราจะต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองแต่เราจะต้องพยายามมากกว่านั้นก็คือ การเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ทั้งจากการเรียนรู้ทดลอง และเรียนรู้รับฟังจากนักเบลนเดอร์ชาด้วยกัน

ถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก ควรเดินทางไปยังแหล่งปลูกชาทุกพื้นที่ เพื่อจะได้ดูว่าการปลูกชานั้นเขาปลูกกันอย่างไร เก็บเกี่ยวยังไง ดูและทดลองลงมือผลิตทุกขั้นตอน การเรียนรู้และลงมือปฏิบัติก็ช่วยทำให้เราเกิดประสบการณ์

นำความรู้จากตรงนั้นเข้ามาผสมความเป็นนักคิดนักสร้างสรรค์ เข้ามาปรับปรุงใบชาที่เราต้องการเบลนด์ออกมา เอาใบชาต่างๆ มาผสม และต้องใช้ความรู้เรื่องของผู้บริโภคเข้ามาช่วยในสร้างรสชาติชาใหม่ๆ ให้ถูกรสนิยมของนักชิมชาทั่วโลก เพราะผู้ดื่มชาแต่ละประเทศก็มีความชอบชาที่แตกต่างกันออกไป

หลังจากฟังเรื่องราวของเธอแล้วมุมมองต่อชาใบเล็กๆ ก็ดูใหญ่ขึ้นมาทันตา เพราะกว่าจะเป็นใบชานั้นว่าเหนื่อยแล้ว แต่กว่าจะเป็นมาสเตอร์ เบลนเดอร์ได้นั้นเหนื่อยอีกเท่าตัว ดูแล้วกว่าจะได้ชาใบน้อยๆ มาชงสักถ้วยนั้น เขาก็ผ่านอะไรมาเยอะ คิดแยะ เจ็บเยอะเหมือนกันนะ