posttoday

สุดยอดแสตมป์หายากของเมธินทร์ ลียากาศ

11 สิงหาคม 2556

บุกมาถึงแจ้งวัฒนะ ที่ตั้งของบริษัท ไปรษณีย์ไทย คุยกับ “เมธินทร์ ลียากาศ” ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์/ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

นี้บุกมาถึงแจ้งวัฒนะ ที่ตั้งของบริษัท ไปรษณีย์ไทย คุยกับ “เมธินทร์ ลียากาศ” ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย หนึ่งในผู้คร่ำหวอดที่วงการสะสมแสตมป์รู้จักดี นอกจากนี้ยังสนองงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำหน้าที่จัดเก็บตราไปรษณียากรเป็นการส่วนพระองค์ด้วย

“ผมเริ่มสะสมแสตมป์ตั้งแต่เรียนประถม พร้อมๆ กับเพื่อนฝูงในวัยเดียวกัน เริ่มจากแสตมป์ใช้แล้วบ้างอะไรบ้าง เด็กๆ ก็นำมาอวดกัน คุยกันหรือแลกเปลี่ยนกันบ้าง สนุกๆ” เมธินทร์ เล่า

ความสนใจค่อยๆ ทวีความเข้มข้น เมื่อกรมไปรษณีย์โทรเลข (ในสมัยนั้น) ได้จัดกิจกรรมเคลื่อนที่เพื่อเผยแพร่งานของไปรษณีย์ ครั้งหนึ่งเวียนมาที่โรงเรียนของเขา จำได้ว่ารู้สึกประทับใจกับงานไปรษณีย์ และรู้ทันทีว่านี่คือสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นสิ่งที่ตัวเองอยากทำ

จบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนไปรษณีย์ (ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2432) จบแล้วรับราชการที่กรมไปรษณีย์โทรเลขในตำแหน่งพนักงานชั้นจัตวา กองพาณิชย์ สังกัดกรมไปรษณีย์ฯ ทำหน้าที่โดยตรงในการผลิตและจัดส่งดวงตราไปรษณียากรไปยังทั่วประเทศ

“ผมทำงานที่แผนกคลังตราไปรษณียากร แสตมป์มากมายทั้งจากในประเทศและต่างประเทศต้องไหลผ่านเข้ามาอยู่ที่นี่ ก็ลองคิดดูว่า ผมจะตื่นตาตื่นใจแค่ไหน คิดอยู่นั่นแล้วว่า เราเป็นคนโชคดีมาก” เมธินทร์ เล่า

แม้ไปรษณีย์ฯ จะเปลี่ยนสถานะหน่วยงานหลายครั้ง หากเมธินทร์ไม่เคยเปลี่ยนงาน ถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ยิ่งทำให้ความรักความชอบแน่นแฟ้น โดยการสะสมคอลเลกชันแสตมป์ชุดหายากของเขา ก็ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่อายุงานราชการเริ่มนับหรือเมื่อ 40 ปี ก่อนนั่นเอง

“สมัยก่อนที่ทำการของไปรษณีย์ฯ คือกรมไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ซึ่งจะมีตลาดนัดแสตมป์ที่คึกคักและคลาคล่ำไปด้วยนักสะสมแสตมป์จากทั่วประเทศ ผมเองต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับพื้นที่ตลาดนัด ซึ่งจัดขึ้นในบริเวณของไปรษณีย์ ก็เป็นทั้งงานและความชอบ เห็นอะไรน่าสนใจ ราคาไม่แพง ก็ค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ สะสม”

ได้อยู่ในหน้าที่การงานที่ทำให้ได้เห็นพัฒนาการของแสตมป์ เมธินทร์ เล่าว่า แสตมป์สำหรับใช้งานในสมัยก่อน แม้จะมีการสะสมกันอยู่บ้างในหมู่นักสะสม แต่ก็ไม่เป็นไปและกว้างขวางเหมือนการสะสมแสตมป์ในยุคหลัง ปัจจุบันแสตมป์มีการพัฒนาให้น่าสนใจและจูงใจนักสะสมมากขึ้น ตั้งแต่วัสดุที่ใช้รูปลักษณ์และเทคนิคพิเศษในการพิมพ์ ฯลฯ

“แสตมป์ในชั้นหลังมานี้ เราได้เห็นแสตมป์ทองคำ แสตมป์นาค แสตมป์รูปวงกลม หรือแสตมป์ที่ใช้เทคนิคพิเศษ ดุนนูนให้เหมือนของจริง รวมทั้งมีการใช้วัสดุต่างๆ ที่หลากหลายออกไป เช่น ผ้าไหม ผลึกแก้วคริสตัล เมล็ดพันธุ์ข้าว นี่คือพัฒนาการของแสตมป์และพัฒนาการของการสะสมแสตมป์ที่เปลี่ยนโฉมไปด้วย” เมธินทร์ เล่า

ต่อมาต้องรับผิดชอบงานในส่วนผลิตมากขึ้น ทำให้ต้องขวนขวายเกี่ยวกับความรู้หรือข้อมูลเบื้องต้น งานสะสมในช่วงหลังจึงรวมไปถึงหนังสือและเอกสารเก่า ที่ต้องใช้เพื่อการสอบค้นข้อมูลก่อนการพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรนั่นเอง โดยส่วนตัวยังสนใจประวัติศาสตร์อียิปต์ ได้เก็บสะสมวัตถุโบราณของอียิปต์ไว้จำนวนหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม งานสะสมที่โดดเด่น คงเป็นแสตมป์เก่าหายาก ที่เขาบอกว่า มีความสุขทุกครั้งที่ได้หยิบจับ ตราไปรษณียากรจำนวนนับไม่ถ้วน ที่สะสมมาตลอดชีวิตจากการทำงานกว่า 40 ปี มิพักต้องพูดถึงคุณค่าและราคาที่สูงขึ้นกว่าหน้าตั๋วหลายสิบเท่า

“บางดวงราคาเป็นล้าน และบางดวงก็หลายล้าน การสะสมแสตมป์เหมือนการออมทรัพย์ ที่ค่อยๆ อดออมไว้ในสมุดแสตมป์สักเล่มหรือหลายๆ เล่ม พูดเป็นเล่นไป แสตมป์ที่ผมสะสมไว้ ครั้งหนึ่งเคยขายนำเงินมาซ่อมบ้าน เรียกว่าซ่อมบ้านไม่ต้องเสียเงินครับ ประโยชน์อีกอย่างของแสตมป์” เมธินทร์ เล่าติดตลก

5 แสตมป์ในดวงใจที่เมธินทร์เลือก เรียกได้ว่าคือหนึ่งในสุดยอดของดวงตราไปรษณียากร ชุดแรกเป็นแบล็กเพ็นนี ได้แก่ แสตมป์ดวงแรกของโลก (6 พ.ค. 2383) เป็นรูปพระนางเจ้าวิคตอเรียของอังกฤษ ยุคที่ถือเป็นยุคแห่งการก่อกำเนิดสิ่งใหม่ เช่น ไฟฟ้า รถจักรไอน้ำ รวมทั้งแสตมป์ (ต่อมามีชุดบลูเพ็นนี และเรดเพ็นนี)

“แสตมป์ดวงแรกจะไม่มีรอยปรุ โดยในหนึ่งแผ่นมีแสตมป์ 240 ดวง เวลาจะใช้แสตมป์ต้องใช้กรรไกรตัดเอาเอง แต่ละดวงจึงกว้างยาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตอนเอากรรไกรตัด หากเฉือนเข้าไปเยอะ เนื้อแสตมป์ก็น้อยหน่อย ความพิเศษอีกอย่างคือไม่มีชื่อประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศแรก ต่อมาสหภาพสากลไปรษณีย์ก็รับรองให้ เฉพาะอังกฤษประเทศเดียวที่ไม่ระบุชื่อประเทศไว้ในแสตมป์ได้”

ชุดหายากในดวงใจอันดับ 2 คือ แสตมป์ดวงแรกของไทย ซึ่งก็เป็นหลังแสตมป์ดวงแรก 43 ปี หรือในปี พ.ศ. 2426 โดยพิมพ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (4 ส.ค. 2426) ชื่อชุดโสฬศ พิมพ์ที่อังกฤษ โดยเมื่อแรกจำหน่ายได้จัดพิมพ์เป็นชุด 6 ดวง แต่ใช้งานจริงได้แค่ 5 ดวง ยกเว้นดวงเฟื้อง ที่พิมพ์เสร็จแล้วไม่มีโอกาสได้ใช้ เนื่องจากสกุลเงินเฟื้อง ถูกยกเลิกไปก่อนที่แสตมป์จะพิมพ์เสร็จและเดินทางกลับมาถึง

ชุดที่ 3 เป็นชุดสำคัญ ได้แก่ ชุดพระพักตร์เพี้ยน โดยเมื่อพิมพ์แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้ว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า พระบรมฉายาลักษณ์ไม่เหมือนพระองค์ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำลายเสีย ส่วนที่จำหน่ายออกไปบ้างแล้ว ให้กระทรวงโยธาธิการเรียกกลับคืนมาให้หมด

“ดวงตราไปรษณียากรชุดนี้ นักสะสมคงมีโอกาสสะสมไว้ได้เล็กน้อยตามจำนวนที่กระทรวงโยธาธิการตามกลับคืนมาไม่ได้หรือไม่ทัน รู้จักในหมู่นักสะสมว่า ชุดพระพักตร์เพี้ยน ราคาดวงละ 250,000 บาท หรือสูงกว่า” เมธินทร์ เล่า

ต่อมาคือชุด 4 รัฐ จัดพิมพ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 8 มี 6 ดวง ราคาหน้าตั๋วดวงละ 1 เซนต์ หน้าแสตมป์เป็นรูปอนุสาวรีย์ทหารอาสา (พ.ศ. 2487) ซึ่งจัดสร้างขึ้นในครั้งที่ญี่ปุ่นคืน 4 รัฐที่แหลมมลายูให้แก่ไทย เพื่อตอบแทนไทยที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในการสู้รบกับพันธมิตร ประกอบด้วย ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปลิศ โดยหน้าตั๋วแสตมป์ยังเป็นสกุลเงินเซนต์อยู่เลย เพราะแสตมป์ใช้ในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้เงินบาทนั่นเอง (ราคาชุดละ 6,500 บาท)

ชุดที่ 5 ชุดกึ่งพุทธกาล สู่ศตวรรษที่ 26 ศาสนาพุทธครบรอบ 2,600 ปี พุทธชยันตี 9 ดวง แบ่งเป็น 3 โครงการ คือ 1.ชุดกวางหมอบและรูปธรรมจักร 3 ดวง 2.ชุดปางอภัยมทา 3 ดวง และ 3.ชุดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งถือเป็นตัวแทนความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาในไทย (ราคา 1,400 บาท)

คุณค่าของแสตมป์ คือ ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ การบอกต่อความรู้ และการต่อยอดความยั่งยืน ก่อนจากกันเมธินทร์ยังชวนมิตรรักแฟนแสตมป์และผู้สนใจ ไปร่วมภาคภูมิใจกับแสตมป์ไทยในงานแสตมป์โลก “130 ปี กิจการแสตมป์ไทยและแสตมป์ดวงแรกของไทย” 914 ส.ค.นี้ ที่สยามพารากอน