posttoday

ความสัมพันธ์ ปั้น ละคร

10 สิงหาคม 2556

เรื่องเกี่ยวกับ “เพศ” เป็นประเด็นอ่อนไหวที่ก่อแรงกระเพื่อมให้กับสังคมได้เสมอ และเป็นสิ่งที่คนเข้าใจผิดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง นั่นเป็นแรงบันดาลใจ

โดย..มาซิโกะ ภาพ โตมร อภิวันทนากร +ภาพจะส่งเข้าไฟล์ในวันอาทิตย์

เรื่องเกี่ยวกับ “เพศ” เป็นประเด็นอ่อนไหวที่ก่อแรงกระเพื่อมให้กับสังคมได้เสมอ และเป็นสิ่งที่คนเข้าใจผิดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ “โต้” โตมร อภิวันทนากร และ “แก้ว” รัตนสุดา ถาวรรัตน์ คู่รักสมัยมหาวิทยาลัยที่กลายมาเป็นคู่ชีวิต และร่วมกันปลุกปั้น กลุ่มมานีมานะ ทำกิจกรรมและละครด้านสุขภาวะทางเพศสำหรับเด็กและเยาวชน

ทั้งคู่เล่าว่า ความอยากเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ ความสนใจละครเวที บวกกับความสนใจเรื่องเด็กและเยาวชน คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาและเธอมาทำงานนี้ โดยหวังว่าจะช่วยไขปัญหาของเด็กๆ ทำให้เด็กและผู้ใหญ่กล้าเปิดใจพูดคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น

“พวกเราเรียนจบในยุควิกฤตต้มยำกุ้งที่ใครๆ ก็รู้ว่าหางานทำยากมาก ระหว่างที่ตระเวนหางาน โต้ก็ไปเป็นอาสาสมัครของกลุ่มกะจิดริดที่กรุงเทพฯ ทำละครชุมชนสะท้อนปัญหาสังคมต่างๆ ในสมัยนั้น ทั้งสิ่งแวดล้อมและเพศศึกษา หลังจากทำอยู่ระยะหนึ่ง ก็คิดว่าน่าจะกลับมาตั้งกลุ่มละครของตัวเองคือ มานีมานะ เมื่อปี 2542 ที่หาดใหญ่ บ้านเกิดของตัวเอง”

“โต้” บอกว่า แนวละครเวทีแบบสัญจรในสมัยแรกๆ นั้น จะเน้นเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม และสอนเรื่องสุขภาวะทางเพศ โดยละครของกลุ่มจะเน้นวิธีคิด ปล่อยให้ผู้ชมได้คิดวิเคราะห์เอง ช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้ว เด็กๆ ไม่ได้สนใจแค่เรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น

“ที่ผมเลือกทำละครเกี่ยวกับเรื่องเพศ (Gender & Sexuality) เพราะส่วนตัวเราสนใจเรื่องความสัมพันธ์ผู้หญิงผู้ชาย เมื่อก่อนอยากที่จะเข้าใจ อยู่ที่จะรู้จัก ผมเห็นแม่ดูแลปรนนิบัติทุกสิ่งทุกอย่างให้ผู้ชายคนนึงที่เขาเลือกจะใช้ชีวิตอยู่ด้วย อะไรที่ทำให้เขาทำได้ขนาดนั้น เห็นผู้หญิงบางคนถูกสามีทำร้ายร่างกาย อยากรู้ว่าทำไมมันเกิดขึ้นเหมือนๆ กันหลายๆ คู่ ทำไมเมียบางคนติดเชื้อเอชไอวี ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่คนที่แส่หาโรค”

เมื่อก้าวมาทำละครด้วยตัวเองจริงๆ โครงการแรกของกลุ่มมานะมานี คือ โครงการลดการติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ที่เป็นเรื่องที่แรงมากสำหรับคนไทยยุคสิบปีก่อน โดยเป้าหมายผู้ชมตอนนั้น คือ นักเรียน ม.ปลาย

“แก้ว” เล่าว่า “สมัยแรกๆ หรือสิบกว่าปีก่อน ละครของเราจะเน้นเด็กกลุ่ม ม.ปลาย แต่ต่อมาก็ลดอายุกลุ่มเป้าหมายลงเรื่อยๆ จนที่สุดได้มาสอนสุขภาวะทางเพศให้กับเด็กประถมปลาย”

จากประสบการณ์การทำละครเร่เกี่ยวกับเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี “โต้” กับ “แก้ว” บอกว่า ประมาณปี 2549 สังคมรวมทั้งโรงเรียนยังมองไม่เห็นปัญหานี้ ครูไม่คิดว่าเด็กประถมจะมีปัญหาเรื่องเพศ

“ตอนนั้นเราเคยไปเสนอตัวอยากเอาละครไปแสดงให้เด็กๆ ดู โรงเรียนก็จะปฏิเสธ ก็เลยต้องเริ่มจากขอเข้าไปเก็บข้อมูลก่อน แล้วค่อยๆ ทำไป ผู้ใหญ่อาจคิดว่าเด็กยังไม่น่าจะรู้เรื่องเพศ แต่ตอนนั้นเด็กบางคนถามเลยนะว่า จะมีเพศสัมพันธ์กันท่าไหนถึงจะไม่ติดเอดส์”

“แก้ว” บอกว่า เมื่อได้ฟังคำถามแบบนั้น เธอกับ “โต้” เข้าใจเลยว่า เด็กไปไกลกว่าที่ผู้ใหญ่คิดแล้ว ไม่ใช่เรื่องของการจะมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ และถ้าพูดกันจริงๆ การเริ่มให้ความรู้กับเด็ก ม.ปลาย อาจจะช้าเกินไปก็ได้

ดังนั้น กลุ่มมานีมานะ จึงเป็นผู้บุกเบิกนำเรื่องสุขภาวะทางเพศไปบอกเล่าให้เด็กประถมได้เรียนรู้ตั้งแต่ปี 2549 แม้ว่าจะถูกปฏิเสธจากโรงเรียนต่างๆ ไปหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาทำงานไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2552 โรงเรียนประถมหลายแห่งเปิดใจรับเรื่องนี้มากขึ้น เข้าใจว่าเป็นสิ่งสำคัญ บางแห่งถึงกับติดต่อให้ไปแสดงละครให้เด็กได้ดูเลยทีเดียว

“โต้” บอกว่า “เราเชื่อในงานสเกลเล็กๆ ว่าสามารถสัมผัสกับคนดูได้จริงกว่า ลดการพึ่งพาเทคนิคต่างๆ เราเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กำไรของเราคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ”

สุขภาวะทางเพศ

ไม่ใช่แค่ เพศสัมพันธ์

หลายคนอาจคิดว่า ละครของกลุ่มมานีมานะเป็นเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัยเพียงอย่างเดียว แต่ความเป็นจริงแล้ว “โต้” กับ “แก้ว” เล่าว่า เรื่องหลักที่เด็กๆ สนใจสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่พวกเขาสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศมากขึ้น

ในปี 2549 เด็กอาจมีคำถามทำนองว่า “ทำยังไงไม่ให้ท้อง” “ใส่ถุงยางสองชั้นจะป้องกันไม่ให้ท้องได้ไหม” แต่ตั้งแต่ปี 2551 จนมาถึงตอนนี้ คำถามยอดฮิตกลับเป็นว่า “ทำไมพ่อกับแม่ต้องเลิกกัน” “ทำไมพ่อกับแม่ไม่อยู่ด้วยกัน”

“โต้” บอกว่า “เรื่องเพศ ไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เราต้องใส่ความรู้อื่นๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล กฎหมายอาญา สิทธิ ที่เด็กควรจะรับรู้ไปด้วย”

มาถึงวันนี้ ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า สังคมเปิดกว้างเรื่องนี้มากขึ้น ผู้ใหญ่สนใจและกล้าจะพูดคุยเรื่องเพศกับเด็กมากขึ้น เพียงแต่บางครั้งอาจไม่รู้ว่าจะตอบคำถามที่เด็กอยากรู้ หรืออธิบายยังไงให้เข้าใจได้ ซึ่งพวกเขาเห็นว่าการใช้ละครมาเป็นสื่อ เป็นแนวทางที่เข้าถึงเด็กๆ ได้ เป็นการตอบคำถามให้กับเด็ก และในอนาคต “โต้” และ “แก้ว” มีแผนจะทำ คู่มือคุยกับพ่อแม่ ที่จะรวบรวมคำถามที่เด็กๆ อยากรู้ และแนวทางการตอบคำถามแบบง่ายๆ ที่จะช่วยให้พ่อแม่และลูกกล้าพูดกล้าคุยในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศมากขึ้น

ประทับใจ

จากประสบการณ์การทำงานกับเด็กมาสิบกว่าปี “แก้ว” พูดถึงความประทับใจของการเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในตัวเด็กๆ ได้ว่า หลังจากไปเล่นละครเรื่อง “โตไปเป็นตัวฉัน” ในโรงเรียนประถมประมาณ 20 โรง ตัวละครพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การไม่ล้อเลียนกันเมื่อเพื่อนมีพัฒนาการเข้าสู่วัยรุ่น เพศหญิงเพศชายทำอะไรได้เหมือนๆ กัน และอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคนเป็นเรื่องที่ทุกคนควรภาคภูมิใจ เช่น คนที่ผิวคล้ำก็เป็นคนสวยแบบของเขา

หลังจากเด็กๆ ได้ดูละครแล้วอีกประมาณ 1 เดือน “โต้” ได้คุยกับคุณครูหลายคนเพื่อดูฟีดแบ็กว่าเป็นอย่างไรบ้าง คุณครูบอกว่า คุณครูพูดเรื่องประจำเดือน เรื่องฝันเปียกได้ง่ายขึ้น เพราะละครโตไปเป็นตัวฉันบอกเด็กๆ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีอะไรต้องปกปิดเขินอาย ครูก็สบายใจที่จะพูดจะสอนต่อเนื่องไป เด็กๆ ก็หยุดพฤติกรรมล้อกันเรื่องประจำเดือน เรื่องเพื่อนตัวดำ เด็กๆ ผู้หญิงผู้ชายไม่เกี่ยงกันเวลาช่วยงานโรงเรียน เพราะละครบอกว่าผู้ชายก็ทำงานบ้านได้ ผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้

“เราก็รู้สึกดีที่ละครของเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ครูทำงานได้ง่ายขึ้น”

ฝากต่อ...

ในฐานะคนตัวเล็กๆ ที่ต่อยอดความฝันที่อยากทำงานเกี่ยวกับเด็ก จนกลายเป็นงานประจำในปัจจุบันได้สำเร็จ “โต้” ฝากว่า เขาอยากเห็นคนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศของเด็ก เปิดใจให้กว้างๆ ยอมรับจริงๆ ว่าชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้คนมีหลายแบบ แต่ละแบบก็มีคุณค่าในตัวเอง ไม่มีชีวิตแบบไหนที่เหนือกว่าแบบไหน ทุกคนควรได้รับการสนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

คำถามหลักคือ จะต้องช่วยกันดูตัวเองว่า สิ่งที่เราทำนั้นช่วยให้เด็ก เยาวชน และเรา “ปลอดภัยไหม เป็นสุขไหม และทำร้ายคนอื่นหรือเปล่า”

Quotation

“เยาวชนควรเรียนรู้เรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมาที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์หรือสรีระ และไม่ควรถูกเมินเฉยในเรื่องนี้ พวกเขาควรได้รับสื่อที่สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศ”