posttoday

สมชาย หาญหิรัญ ‘พื้นที่ชีวิต...อุทิศให้ความรู้’

10 สิงหาคม 2556

แม้การได้รับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2556 จะมาพร้อมภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

แม้การได้รับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2556 จะมาพร้อมภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ “สมชาย หาญหิรัญ” ละทิ้งงานสอนหนังสือและงานเขียนที่เผยแพร่ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจแก่ผู้อื่นไปแต่อย่างใด

“สมชาย” เล่าว่า งานสอนหนังสือและงานเขียนเป็นอีกงานที่รักและกลายเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใน “พื้นที่ชีวิต” ของเขามากว่า 20 ปี ส่วนงานที่ สศอ.เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศถือเป็นงานที่รัก

“หลังกลับจากเรียนปริญญาโทและเอกที่แคนาดาตั้งแต่ปี 2537 ผมก็สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยมาตลอด จริงๆ งานนี้ได้ผลตอบแทนน้อยนะเมื่อเทียบกับที่เราไปลงแรงทำวิจัยหรือทำอย่างอื่น แต่การสอนหนังสือมันเหมือนเป็นจริตของเราไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 ทุกเสาร์อาทิตย์ ผมจะต้องสอนหนังสือ มันรู้สึกดีนะกับการที่เราได้ยืนอยู่หน้าห้องและได้สอนและแชร์อะไรที่มันไม่ได้เป็นเฉพาะ%CUR%ทฤษฎี แต่มันมาจากประสบการณ์ของเราจริงๆ

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าการที่เราได้สอนคนอื่นประโยชน์มันตกถึงตัวเราด้วย แค่รับเข้ามาความรู้มันได้แค่ครึ่ง แต่ถ้ารับมาแล้วได้คิดก่อนถ่ายทอดต่อไปยังคนอื่น มันได้ผ่านกระบวนการทบทวนแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นแบบนั้นได้อย่างไร การสอนได้ทำให้ความรู้ของคนสอนเพิ่มขึ้นตลอด ผมเชื่ออย่างนั้นนะ”

ก่อนหน้านี้เขาสอนอยู่หลายมหาวิทยาลัย แต่ด้วยภาระงานที่มากขึ้น และต้องการให้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น ทำให้ปัจจุบัน “สมชาย” ให้ความรู้กับนักศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเพียงแห่งเดียว โดยจะสอนวิชาเศรษฐศาสตร์การจัดการ และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ให้แก่คณะบริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ที่คณะเศรษฐศาสตร์

การสอนของเขาจะเน้นให้ “ลูกศิษย์” เรียนรู้จากข้อมูลจริงและประสบการณ์จริง เช่น ในวิชาการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยการเจรจาทำการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่เขาได้ถ่ายทอดประสบการณ์จริงในฐานทำงานในช่วงการเจรจาการค้าไทยกับญี่ปุ่นช่วงปี 25472549 ซึ่งได้เห็นข้อเท็จจริงหลายอย่างที่แตกต่างจากที่ทฤษฎีสอนอย่างมาก

“พอเราได้เห็นของจริงแล้วมาสอนนี่มันสนุก เช่น การเจรจาเอฟทีเอตามทฤษฎีจะบอกว่าเมื่อแต่ละฝ่ายเก่งอะไรก็เอามาเสริมกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ความจริงคืออันไหนเราเก่งเขาก็ไม่ให้ หรือแม้แต่สิ่งที่เจรจากันได้ก็มีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันตามมาที่ต้องคำนึงถึงอีกมาก ทั้งความพร้อมของประเทศและผลกระทบกับสังคม”

เมื่อถามถึงการสอนครั้งไหนที่สร้างความภูมิใจที่สุด “สมชาย” เล่าว่า ที่ได้รู้สึกว่างานให้ความรู้คนอื่นมีความหมายมากมีหลายครั้ง แต่ครั้งที่จำได้แม่นที่สุดคือตอนที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่แคนาดา ซึ่งได้เป็นติวเตอร์ส่วนตัวให้กับนักศึกษาหญิงวัย 50 เกือบ 60 ปี ชาวแคนาดาคนหนึ่ง ซึ่งต้องออกแรงสอนอย่างมาก เพราะนักศึกษารายนี้เลือกลงโปรแกรมเกียรตินิยมที่ต้องเรียนแต่วิชายากๆ เท่านั้น ซึ่งในที่สุดเธอก็เรียนจบ และเธอได้แนะนำให้สมชายรู้จักกับลูกชายของเธอสองคน ซึ่งทั้งคู่ได้เข้ามาขอบคุณติวเตอร์คนนี้ที่ช่วยให้ฝันของแม่พวกเขาเป็นจริง

“ลูกชายเขาสองคน คนแรกเรียนจบแพทย์ที่ฮาร์วาร์ด คนที่สองเป็นวิศวกรด้านอวกาศ ผมเห็นแล้วประหลาดใจมาก พวกเขาเล่าว่าแม่ตั้งท้องพวกเขาตอนที่ยังเรียนหนังสือจึงเรียนไม่จบ เธอตัดสินใจว่าต้องทำงานเพื่อเลี้ยงพวกเขา แต่แม่ของพวกเขาก็พูดเสมอว่าจะต้องกลับมาเรียนให้จบให้ได้ และเธอก็ทำได้จริงๆ จบเกียรตินิยมด้วย มันเป็นความรู้สึกดีมากนะที่เห็นคนอื่นเขาทำตามความฝันได้ และรู้ว่าคุณมีส่วนในความสำเร็จนั้นด้วย”

ผู้อำนวยการ สศอ. เล่าว่า ที่ชอบการสอนหนังสือขนาดนี้ไม่ได้มีใครในครอบครัวเป็นต้นแบบเลย เพราะคุณพ่อก็เป็นพ่อค้า ส่วนคุณแม่ก็เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น แต่ก็มี “ครูต้นแบบ” ที่เรียกว่าเป็น “ไอดอล” ในชีวิตอย่าง “วรากรณ์ สามโกเศศ” ซึ่งเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์มหภาค ตั้งแต่ครั้งที่เรียนปริญญาตรี ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกท่านหนึ่งคือ “ณรงค์ชัย อัครเศรณี” ซึ่งเป็นทั้งผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์เมื่อครั้งเรียนปริญญาตรีใบแรกที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ด้านงานเขียนก็ถือเป็นอีกงานหนึ่งที่ชอบ เพราะเป็นงานที่เผยแพร่ความรู้เหมือนกับการสอน “สมชาย” บอกว่า การลดเวลาสอนลงบ้างเพื่อให้เวลาตัวเองและครอบครัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพิ่มเวลาในการคิดและเขียนงานมากขึ้นด้วย ซึ่งบทความที่เขียนออกมาส่วนใหญ่ก็เป็นงานทางด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการทำงานและการสอน โดยทั้งหมดรวบรวมเผยแพร่ในเว็บไซต์ส่วนตัว “DrSomchai.com” ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปอ่านและดาวน์โหลดเอกสารที่ให้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ได้

“งานที่มากขึ้นตอนนี้อาจจะทำให้เวลาน้อยลง และตัวเราเองก็อายุมากขึ้นก็มีเหนื่อยบ้าง แต่ผมก็ยังมีความสุขกับการสอนและเขียนหนังสือจนยังบอกไม่ได้ว่าจะเลิกทำมันเมื่อไหร่” สมชาย กล่าวทิ้งท้าย