posttoday

บทเรียนน้ำมันรั่ว ต้องเร่งแผนจัดการระยะยาว

10 สิงหาคม 2556

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับวิกฤตน้ำมันรั่วบนอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ซึ่งสร้างหายนะตามมาทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความน่าเชื่อถือ

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับวิกฤตน้ำมันรั่วบนอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ซึ่งสร้างหายนะตามมาทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความน่าเชื่อถือของบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล

ผลกระทบครั้งนี้ไม่จบเพียงแค่การกำจัดคราบน้ำมันสำเร็จแน่นอน เพราะวิถีชีวิตชาวบ้านในละแวกนั้นที่แขวนอยู่กับการท่องเที่ยว การประมง มาทั้งชีวิต ยังต้องเผชิญกับการฟื้นภาพลักษณ์ของเสม็ดให้เป็นพื้นที่ที่มีอาหารทะเลปลอดภัยและมีชายหาดขาว สวย พร้อมมาเที่ยวอีกเช่นเคย

มีบทเรียนหลายอย่างที่ถูกพูดถึงน้อยกว่ากระแสเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการกำหนดแผนฉุกเฉินกรณีน้ำมันรั่วกลางอ่าวอีกครั้ง @weekly มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ซึ่งมี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รมว.คมนาคม เป็นประธาน เพื่อย้อนมองการตัดสินใจของผู้บริหาร ปตท. ตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตจนพ้นวิกฤต และมองไปข้างหน้าว่าจะมีวิธีเตรียมความพร้อมอย่างไรในอนาคต

“ถ้ามองในเชิงปริมาณน้ำมัน 50-70 ลบ.ม. ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำมันรั่วไหลใหญ่ๆ ของโลก ซึ่งมากกว่า 4,000-5,000 เท่า แต่พอถึงวันอาทิตย์ ตอนแรกบอกควบคุมได้ ค่อนข้างตกใจที่น้ำมันเข้าอ่าวพร้าวจนมีปัญหาทั้งหาด” ผศ.ดร.พิสุทธิ์ เล่าย้อนให้ฟัง

เขาบอกว่า โดยปกติการกำจัดคราบน้ำมันจะมีทั้งหมด 8 ขั้นตอน ได้แก่ 1.หยุดการรั่วไหลของน้ำมันให้ได้โดยเร็วที่สุด 2.การแจ้งเตือนและให้ข้อมูลกับภาคส่วนต่างๆ 3.การเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ 4.การควบคุมและจำกัดพื้นที่ของการปนเปื้อนน้ำมัน 5.การแยกน้ำมันปนเปื้อน 6.การบำบัดและกำจัด 7.การติดตามตรวจสอบ 8.การฟื้นฟูสภาพ ซึ่งแน่นอนในวันแรก ปตท.ย่อมต้องทำตามขั้นตอนทุกอย่างโดยทันทีหลังพบว่าน้ำมันเริ่มรั่ว

“ผมไม่คิดว่ามีปัญหาในขั้นตอนหยุดการรั่วไหล เพราะท่อที่รั่วเป็นท่ออ่อนและมีวาล์วเปิดปิดหัวท้าย แต่จุดที่มีปัญหาจริงๆ คือการจำกัดพื้นที่และการแยกน้ำมันช่วงแรกออกมาให้มากที่สุด เพราะสภาพวันนั้นมีปัญหาคลื่นลมแรงจนในที่สุดก็ควบคุมไม่ได้”

“ถ้าบอกว่าคลื่นลมแรงวางบูมไม่ได้ก็พอเข้าใจได้ แต่ในอีกมิติหนึ่งเห็นชัดว่าเราไม่มีการทำสถานการณ์จำลองเลยว่าถ้าเกิดรั่วในสภาวะที่คลื่นลมแรงจริงจะทำอย่างไร จริงอยู่ ทุกๆ ปีเรามีการซ้อมกู้ภัยพิบัติน้ำมันรั่ว แต่การซ้อมถูกกำหนดขึ้นในสภาวะปกติ ไม่เคยมีการคำนึงว่าถ้าเกิดเหตุการณ์คลื่นลมแรงลักษณะนี้จะทำอย่างไร” ผศ.ดร.พิสุทธิ์ เล่าให้ฟัง

โดยปกติหากแผนการจำกัดพื้นที่น้ำมันด้วยการวางบูมและใช้สารเคมี ในกรอบแคบๆ ได้ผล เมื่อไม่สามารถจำกัดพื้นที่และนำกลับน้ำมันได้ ซึ่งหากทำตามขั้นตอนก็จะจำกัดน้ำมันได้กว่า 70% หรือนำกลับไปได้หมด ส่วนอีก 30% ที่เหลือจะถูกสลายเป็นฟิล์มน้ำมัน ซึ่งจะย่อยสลายเองตามธรรมชาติ หรือสามารถนำสารเคมีและจุลินทรีย์ไปจำกัด แต่ครั้งนี้กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถจำกัดพื้นที่ได้เลย

“เมื่อไม่สามารถจำกัดพื้นที่ได้ ปัญหาที่ตามมาก็คือแทนที่จะใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันแค่ 30% ก็กลายเป็นใช้สารเคมีกำจัดทั้งหมด ยิ่งคลื่นลมแรงการกระจายคราบน้ำมันออกไปเรื่อยๆ ก็เอาสารเคมีมาเพิ่มอีก กลายเป็นว่าน้ำมัน 57 หมื่นลิตร แต่กลับใส่สารเคมีมากกว่า 4050% ของน้ำมัน ทั้งหมดนี้คือผลพวงจากการที่ไม่เคยกำหนดสถานการณ์สมมติขึ้นมา”

แต่ ปตท.กลับเลือกใช้เรือเข้าไปโปรยสารเคมี เนื่องจากหากเลือกใช้เครื่องบินจากสิงคโปร์จะต้องรออีก 1 วัน กว่าจะผ่านเข้ามาในไทยได้ แต่พอเป็นเครื่องบินทำให้เราต้องเสียโอกาสในการโปรยสารเคมี จากที่ตอนแรกน้ำมันรั่วออกมาเป็นวงเพียง 5 กม. ไปๆ มาๆ เจอคลื่นลมตีก็กลายเป็น 20 กม. จนพัดเข้าชายฝั่งในที่สุด เป็นบทเรียนที่ดีมากว่าต้องจัดการน้ำมันเฉพาะตอนที่มันอยู่บนน้ำเท่านั้น เพราะถ้าทำที่อยู่บนน้ำไม่ถึงวันก็เสร็จแล้ว พอมันเข้ามาฝั่ง เพราะถ้าเข้าชายฝั่งแล้ว ทฤษฎีเขาบอกเลย คูณ 10 เท่าทุกอย่าง เช่น เงินสิบเท่า เผลอๆ อาจจะร้อยเท่า หากมีการฟ้องร้องตามมา ระบบนิเวศเสียสิบเท่า คนก็ต้องใช้จัดการมากขึ้นสิบเท่า

ทั้งที่ไม่ใช่ครั้งแรกของเหตุการณ์น้ำมันรั่วในท้องทะเลไทย หลายปีก่อนก็เคยเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วด้วยปริมาณที่ใกล้เคียงกัน แต่ ผศ.ดร.พิสุทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้กลับไม่เคยมีการบันทึกไว้เลยว่า แต่ละครั้ง สภาวะอากาศ คลื่นลม เป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งใช้สารเคมีอะไรในการแก้ปัญหา

ที่มีปัญหาอีกอย่างก็คือการแจ้งเตือนให้ข้อมูล ที่ครั้งนี้มีเพียงคำพูดจากผู้บริหาร ปตท. ในวันแรกเท่านั้นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

“ผมว่าการให้ข้อมูลมีปัญหามาก น้ำมันจะรั่วมาก รั่วน้อย คนที่อยู่ชายฝั่งต้องรู้ คน ปตท. เจ้าหน้าที่ก็ต้องรู้ เรือที่ไปหาปลา ก็ต้องบอกเขานะ เพราะน้ำมันรั่วเนี่ย ถ้ามีประกายไฟติดลงมา นี่ก็ไม่ปลอดภัย ข้อมูลดาวเทียมต้องส่งมาดูเลย ลม อุณหภูมิ ต้องฟีดมาเลย แต่นี่เราไม่รู้อะไร คนถึงตกใจกันมาก วันที่อ่าวพร้าวเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน”

ซึ่งถ้าประมวลข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน ย่อมทำให้ติดตามได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเข้าไปถึงอ่าวพร้าว และเตรียมการรับมือได้ถูก

“เป็นบทเรียนว่า หน่วยงานรัฐต้องร้อยเรียงทุกอย่างคือแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าเราสามารถกำหนดแผนใหม่ได้ อัพเดตได้ มันคือคำตอบของทุกอย่าง ถ้าอยากฝากก็คืออย่าหยุดแค่หาดทรายขาว ฟื้นระบบนิเวศ ต้องมีแผนที่ทันสมัย เทียบเคียงต่างประเทศได้”

เขายกตัวอย่างในต่างประเทศว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ภายใน 10-15 นาที จะรู้ทันทีว่าคน 30-40 คน จะรู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไรและรับผิดชอบอะไรในสถานการณ์ และต้องซ้อมต่อเนื่องปีละหลายครั้งด้วยซ้ำ เพราะเหตุการณ์แบบนี้อาจไม่ได้เกิดแค่ที่เสม็ดที่เดียว แต่หลายๆ ที่ในอ่าวไทยก็อยู่ใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติที่สวยงามไม่แพ้เสม็ดเช่นกัน

ทั้งนี้ ผศ.ดร.พิสุทธิ์ ทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้คนไทย สื่อมวลชน รวมถึงรัฐบาล คิดแต่เพียงว่าปัญหาได้จบไปแล้ว แต่ควรทำอย่างไรให้เกิดแผนตอบโต้ภัยน้ำมันรั่วได้เร็วที่สุดมากกว่า โดยเขาคิดว่าภายใน 1 ปี ควรจะต้องมีแผนที่ชัดเจนออกมาได้แล้ว

ปตท.โกหกคนไทยจริงหรือ?

พลันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น คำถามที่ตามมาทันทีในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กก็คือ วิธีการแก้ปัญหาของ ปตท. มาถูกทางแล้วหรือไม่ และสมควรเลือกใช้วิธีไหนในการจัดการกับคราบน้ำมันเหล่านี้ หากจำกันได้ ผศ.ดร.พิสุทธิ์ คือคนแรกๆ ที่ออกมาเตือนเรื่องการใช้เส้นผมทำเป็นแนวขจัดคราบน้ำมันว่าอาจไม่ได้ผล และยังอาจก่อให้เกิดขยะลงสู่ทะเลอีกด้วย

มีอีกหลายคำถามที่ ปตท.ยังคงให้คำตอบไม่ชัดเจน และยังเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจคนไทยหลายๆ คน

น้ำมันรั่วมากกว่า 5 หมื่นลิตร จริงหรือไม่

ผศ.ดร.พิสุทธิ์ – คราบน้ำมันขึ้นที่อ่าวพร้าวที่เดียว ไม่ได้ขึ้นที่อ่าวอื่นที่ไหน และอ่าวพร้าวเองก็มีหน้ากว้างที่แคบมาก คือกว้าง 300 เมตร และยาวประมาณ 1 กม.นิดๆ เป็นหาดที่เล็ก เพราะฉะนั้น ถ้ามันออกมาเยอะกว่านี้มันก็ต้องข้ามไปเกาะอื่นหรืออ่าวอื่น แต่นี่ไม่ได้ไปที่อื่นเลย ผมลองคูณพื้นที่ดูก็ใกล้เคียงกัน ผมก็คิดว่าสมเหตุสมผลพอสมควร

มีภาพในโซเชียลเน็ตเวิร์กเปรียบเทียบการทำงานของการกำจัดคราบน้ำมันที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งมีรถแทรกเตอร์และเครื่องมือทันสมัยพร้อมซับคราบน้ำมัน ต่างจากการจัดการที่อ่าวพร้าว ซึ่งใช้คนเดินซับคราบน้ำมัน

ผศ.ดร.พิสุทธิ์ คือที่บอกว่าเครื่องมือเราแย่กว่าก็ต้องมองอีกมุมหนึ่งว่าเสม็ดเป็นพื้นที่อุทยาน ถ้าคุณเคยไปคุณก็จะรู้ว่าถนนหนทางมันแย่มาก ดังนั้น การที่ถนนหนทางแบบนี้จะเอารถแทรกเตอร์เข้าไปสองคัน ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือบิ๊กแบ็ก 200300 ถุง จะขนมายังไงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะเดียวกันการใช้คนกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นก็เป็นวิธีที่อาจจะเหมาะสมที่สุดแล้ว เนื่องจากคนค่อยๆ ตักทรายและใช้แผ่นซับ มันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติบนอ่าวไม่มาก ในทางทฤษฎีระบุว่าน้อยกว่าการใช้เอารถแทรกเตอร์มาขุด 10 เท่า

ในทางทฤษฎีวิธีการจำกัดคราบน้ำมัน ได้แก่ Natural removal กำจัดทางธรรมชาติ บริเวณไหนเจือจางมากๆ ปล่อยให้ธรรมชาติบำบัดด้วยตัวเองได้ หรือ Physical removal กำจัดทางกายภาพ ด้วยการ 1.ตักออก 2.การใช้น้ำแรงดันสูงฉีด พอฉีดเสร็จก็ไหลลงทะเลและทำพื้นที่รับน้ำ แผ่นซับน้ำมาแยกที่ฝั่งหรือทำบูมกั้นให้ลงทะเลแล้วตักออก และ 3.ซับ ถามว่า ปตท.ทำอะไรพวกนี้หรือไม่ เขาก็ทำหมด แต่ถามว่าปริมาณมากน้อยทำอย่างไรบ้าง ก็ควรจะมีการชี้แจงให้ละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนว่าแบ่งอย่างไรบ้าง

สารเคมีอันตรายหรือไม่ ใช้เกินความจำเป็นหรือไม่ และจะตกค้างมากเพียงใด

ผศ.ดร.พิสุทธิ์ – ปตท.เลือกใช้สาร Slickgone NS Type II/III ซึ่งเท่าที่ดูในศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์ (MSDS) ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นสารทั่วๆ ไปไม่ได้อันตราย ไม่ได้มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบ บางสารเคมีใช้ในร่างกายเราได้ด้วยซ้ำ ความเป็นพิษน้อยกว่า Corexit ที่ใช้กำจัดคราบน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกแน่นอน และเท่าที่ทราบก่อนที่จะใช้ ปตท.ได้คุยกับกรมเจ้าท่า ได้ปรึกษา คพ.มีโอกาสได้คุยกับกรมเจ้าท่า ได้ปรึกษาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้ว ยอมรับว่าตอนแรกผมก็กลัว ถ้าเขาเลือกใช้ Corexit ส่วนสารเคมีจะตกค้างหรือไม่ ผมว่ามันตกค้างอยู่แล้ว ยกตัวอย่างกรณีน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก ผ่านมา 3 ปี น้ำมันก็ไม่ย่อยสลาย ประเด็นสำคัญก็คือที่มองเห็นก็ต้องกำจัดให้ได้มากที่สุด