posttoday

กรดไหลย้อน

10 สิงหาคม 2556

คือภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด

โดย...แพทย์จีนเซ็งจุ้น ลี แพทย์จีนด้านอายุรกรรม คลินิกหัวเฉียวไทยจีน แพทย์แผนไทย

คือภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ซึ่งโดยปกติหลอดอาหารจะมีการบีบตัวไล่อาหารลงด้านล่างและหูรูด ทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อย กรด หรืออาหาร ไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร จึงไปซื้อยาเคลือบแผลในกระเพาะอาหารมารับประทานเอง ทำให้การรักษาไม่ตรงจุด สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง หากละเลยไม่ไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา หรือไม่ปรับเปลี่ยนรวิถีชีวิตอาจทำให้เรื้อรังกลายเป็นโรคปอดอักเสบและมะเร็งหลอดอาหารได้

ภาวะของโรคกรดไหลย้อน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ

ระดับแรก ผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนบ้างในบางครั้ง เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง แล้วก็หายไป ไม่มีผลต่อสุขภาพมากมาย (GastroEsophageal Reflux : GER)

ระดับสอง ผู้ป่วยจะมีอาการกรดไหลย้อนขึ้นมาเฉพาะที่บริเวณหลอดอาหาร (GastroEsophageal Reflux Disease : GERD)

ระดับสาม ผู้ป่วยมีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาก จนไหลขึ้นไปถึงกล่องเสียง หรือหลอดลม (LaryngoPharyngeal Reflux : LPR)

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

ด้านบนหลอดอาหารจะมีหูรูด (Sphincter) ซึ่งมีรูปร่างคล้าย “คอคอดขวด (Bottle Neck)” ทำหน้าที่เปิดให้อาหารและน้ำไหลลงได้ อากาศหรือลมไหลขึ้นได้ (เวลาเรอหรืออาเจียน)

ปกติหูรูดนี้จะไม่ยอมให้อาหาร น้ำ และกรดไหลย้อนขึ้นไป ทำให้หลอดอาหารอักเสบ เนื่องจากหลอดอาหารของคนเราไม่ทนกรด (จากกระเพาะอาหาร) โดยที่ร่างกายคนเรามีกลไกป้องกันโรคกรดไหลย้อนจากล่างขึ้นบนหลายกลไก

โดยหลอดอาหารจะมีการบีบไล่อาหารและน้ำในทิศทางจากบนลงล่าง ทำให้อาหาร น้ำ และน้ำย่อยไหลจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร (อยู่เหนือกระเพาะอาหารเล็กน้อย) คอยบีบตัว คล้ายๆ เชือกที่รูดปากถุงข้าวสารไว้ไม่ให้ข้าวหก จากนั้นกระเพาะอาหารจะมีการบีบไล่อาหาร น้ำ และน้ำย่อยในทิศทางจากบนลงล่าง > ทำให้อาหาร น้ำ และน้ำย่อยไหลลงสู่ลำไส้เล็ก

แต่เมื่อกลไกป้องกันเหล่านี้ทำงานได้น้อยลง หรือไม่ดีเท่าที่ควรคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนจะมีการ “ขย้อน” หรือไหลย้อนกลับของอาหาร น้ำ หรือน้ำย่อยจากด้านล่างขึ้นด้านบน

โรคกรดไหลย้อน นอกจากจะเกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร หรือความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหารในตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นเสริมอีกด้วย เช่น

กินเสร็จอิ่มๆ หรือกินอาหารเสร็จยังไม่ถึง 4 ชั่วโมงแล้วนอน

สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม

รับประทานอาหารประเภท ของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด

อาการของโรค

เสียงแหบกว่าปกติ โดยไม่ได้เป็นโรคอื่นใดที่เกี่ยวกับกล่องเสียง

ปวดแสบปวดร้อนในหน้าอก หรือที่เรียกว่า Heart Burn เนื่องจากกรดไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ

มีอาการจุกแน่นบริเวณหน้าอก เหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ หายใจไม่ออกเวลานอน

กลืนอาหารลำบาก ถ้าเป็นมากจะเจ็บคอมากจนอาจจะกลืนอาหารแทบจะไม่ได้

คลื่นไส้

มีอาการเรอเปรี้ยว หรือรู้สึกถึงรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรดในปากหรือลำคอ

อาการนอกหลอดอาหาร บริเวณกล่องเสียงและหลอดลม

ไอเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง

เสียงแหบ โดยเฉพาะในตอนเช้า เนื่องจากเวลานอน กรดจะไหลย้อนขึ้นมาได้มาก

เป็นโรคปอดอักเสบ เจ็บหน้าอก

กรดไหลย้อนในทางแพทย์แผนจีน

ในทางแพทย์จีนได้มีการบันทึกเกี่ยวกับเรื่องกรดไหลย้อนมานานแล้ว โดยในคัมภีร์โบราณ “ฮว๋างตี้เน่ยจิง” หรือคัมภีร์จักรพรรดิเหลือง ได้มีการบันทึกถึงอาการที่มีอาการคล้ายกับโรคกรดไหลย้อน โดยที่โรคกรดไหลย้อนในทางแพทย์จีนมีความเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดีและม้าม อาการที่เกิดนั้นเกิดจากการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ผิดปกติ จึงก่อให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อนขึ้นมา

การรักษากรดไหลย้อนของแพทย์แผนจีนจะมีลักษณะเด่นคือ จะมีเน้นรักษาที่ต้นเหตุและการรักษาตามการวินิจฉัยแยกแยะอาการ โดยที่โรคกรดไหลย้อนเกิดจากจากการทำงานของกระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดีและม้ามผิดปกติ เวลารักษาจึงเน้นปรับสมดุลอวัยวะเหล่านี้ให้กลับมาทำงานเป็นปกติ ส่วนในด้านการวินิจฉัยแยกแยะอาการ โดยปกติแล้วคนไข้แต่ละคนก็มีลักษณะร่างกาย ลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป เวลารักษาจึงต้องอิงตามลักษณะร่างกาย ลักษณะอาการของโรคของคนไข้นั้นๆ ตัวอย่างลักษณะอาการที่พบบ่อยมีดังนี้

1.ชนิดชี่ตับกระทบกระเพาะอาหารในทางแพทย์แผนจีนอารมณ์นั้นมีส่วนสำคัญทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน อารมณ์เครียดมีผลกระทบให้การทำงานของตับผิดปกติ ชี่ของตับไหลเวียนได้ไม่ปกติ จึงไปกระทบการทำงานของกระเพาะอาหาร จึงเกิดกรดไหลย้อน

คนที่มีอาการกรดไหลย้อนชนิดนี้ มักมีอาการจะขี้หงุดหงิด หรือถอนหายใจบ่อยร่วมด้วย

2.ชนิดความร้อนอุดกั้นที่ตับและกระเพาะอาหารมักจะเกิดกับคนที่มีอารมณ์โมโหง่าย อารมณ์โกรธ โมโหนั้นจะทำให้เกิดความร้อนในตับและกระเพาะอาหาร ชี่จึงทำให้การทำงานของกระเพาะอาหารผิดปกติ จึงเกิดกรดไหลย้อน

คนที่มีอาการกรดไหลย้อนชนิดนี้ มักมีอาการขี้โมโห แสบร้อนและแน่นหน้าอก คอแห้ง ปากขมร่วมด้วย ลิ้นจะแดง

3.ชนิดความร้อนชื้นอุดกั้นเกิดจากคนที่ระบบย่อยไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารและของเหลวต่างๆ ได้หมด จึงอุดกั้นเกิดเป็นความชื้นสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดความร้อน ความร้อนและความชื้นนี้ก็จะกระทบการทำงานของกระเพาะอาหาร จึงเกิดกรดไหลย้อน

คนที่มีอาการกรดไหลย้อนชนิดนี้ มักมีอาการแสบร้อนและแน่นหน้าอก มีกลิ่นปาก เรอเปรี้ยวร่วมด้วย ลิ้นจะมีความเหนียวมาก

4.ชนิดชี่และเลือดไหลเวียนติดขัดเกิดจากร่างกายที่อ่อนแอ พลังชี่ไม่พอที่จะผลักดันควบคุมเลือดให้ไหลได้อย่างราบรื่น ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้เต็มที่ จึงก่อให้เกิดความผิดปกติในการทำงาน

คนที่มีอาการกรดไหลย้อนชนิดนี้ มักมีร่างกายที่อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง เหนื่อยง่ายร่วมด้วย ลิ้นจะสีม่วงคล้ำ

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อน

1.ทำใจให้สบายและไม่ต้องเครียด

2.ลดความอ้วนเนื่องจากไขมันในช่องท้อง และไขมันรอบพุงต่างก็มีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

3.เลิกบุหรี่ สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม

4.ระวังอาการที่เกิดจากโรคอื่นๆ เช่น โรคไอ ท้องผูกเนื่องจากทั้งไอและท้องผูก ต่างก่อให้เกิดแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น

5.ใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารไม่กินอิ่มเกิน ไม่กินข้าวคำน้ำคำ

6.ไม่ควรกินอาหารใกล้เวลานอนจะทำให้อาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร น้ำ และน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่าย เนื่องจากหลอดอาหารจะเปลี่ยนแกนจากแนวตั้งเป็นแนวนอน

7.นอนหัวสูง

นอนหัวสูงในที่นี้ไม่ใช่หนุนหมอนหลายๆ ใบ เนื่องจากการหนุนหมอนหลายๆ ใบจะทำให้ปวดคอได้ง่าย

วิธีที่ดีกว่าคือ การหาแผ่นไม้หรือแผ่นโลหะที่แข็งแรงมั่นคงมารองขาเตียงด้านหัวให้สูงขึ้น 610 นิ้ว เพื่อให้หลอดอาหารอยู่ในแนวตั้งมากขึ้น