posttoday

อริญญา เถลิงศรี ‘โค้ชชิง’ อันดับต้นๆ ของเมืองไทย

04 สิงหาคม 2556

“โค้ชชิง” หรือที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

โดย...วราภรณ์ ภาพ : ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ

“โค้ชชิง” หรือที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ 4 ปีให้หลัง ผู้บริหารระดับสูงที่อยากก้าวหน้าในหน้าที่การงานต้องมีโค้ชชิงส่วนตัวเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการทำงานให้เจริญก้าวหน้าสู่นักบริหารระดับอินเตอร์มากขึ้น อริญญา เถลิงศรี คือผู้หญิงเก่งที่ทำงานด้านโค้ชชิงในเมืองไทย โดยเธอเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมานานกว่า 20 ปีแล้ว และรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ APM GROUP

โค้ชชิง ในเมืองไทยได้รับความนิยม

อาชีพโค้งชิงได้รับความนิยมมากๆ เมื่อ 4 ปีก่อน ก็เพราะผู้บริหารไทยเปิดรับมากขึ้น ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติหลายบริษัทมีอริญญาเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น อริญญาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำบริษัทที่แม้ไม่ตรงกับสาขาบริหารการตลาดทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทเท่าไหร่นัก แต่แรงบันดาลใจในการเปิดบริษัทได้มาจากเมื่อครั้งไปศึกษาต่อที่ประเทศแคนาดา การได้พบเจอกับชาวต่างชาติ เกิดคำถามว่าทำไมชาวต่างชาติไม่รู้จักคนไทย อีกทั้งเธอได้อยู่รวมกับชาวต่างชาติหลายชนชาติที่มาเรียนที่แคนาดา เธอพบว่าไม่ใช่คนไทยไม่เก่ง แต่เพราะคนไทยไม่มีโอกาสรับการฝึกฝนต่างหาก หากเธอมีศักยภาพในการฝึกคนในทิศทางที่ถูกต้อง คนไทยจะมีโอกาสทัดเทียมชาวต่างชาติได้

ทรัพยากรมนุษย์พัฒนาได้

หน้าที่ “โค้ชชิง” คือ ดูว่าองค์กรนั้นๆ ต้องพัฒนาอะไรอย่างไรบ้างโดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ ผู้บริหารแต่ละองค์กรเก่งอยู่แล้ว แต่เมื่อมีจุดเด่นก็มีบางจุดที่สามารถเพิ่มเติมให้เก่งยิ่งขึ้นไปได้ หรือผู้บริหารบางคนมีจุดบกพร่องที่จะขัดขวางไม่ให้เขาเติบโตในอาชีพ

“ทุกคนในโลกนี้ไม่ได้เด่นไปทุกเรื่อง หรือบางคนไม่รู้ว่าตัวเองเก่งอะไรในบางเรื่อง การเป็นโค้ชชิง เราจะเข้าไปเน้นว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้บริหารเหล่านั้น เขารู้ว่าตนเองมีจุดเด่นอะไรอย่างที่เขาไม่เคยรู้หรือเห็นมาก่อน ซึ่งสามารถพัฒนาได้”

ดังนั้นหน้าที่ของ “โค้ชชิง” คือ การฝึกอบรมเรื่องทักษะด้านการบริหารจัดการและการเป็นผู้นำให้แก่องค์กรต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของเธอ

“วิธีการทำงานจะไม่ได้ไปทำเรื่องของเทคนิเคิลในองค์กรนั้น แต่จะทำในเรื่องของคนในองค์กรหรือวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ ซึ่งเมื่อเข้าไปดูในองค์กร ต้องดูว่าผู้นำเป็นอย่างไรสอดคล้องกับคนในองค์กรเพื่อจะพาองค์กรไปสู่ทิศทางที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ต้องดูให้รู้ว่าผู้บริหารสามารถทำอย่างนั้นได้หรือยัง ถ้ายังทำไม่ได้ ยังขาดอะไรอีก การฝึกอบรมดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาองค์กรและบุคคลแต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น”

การทำงานเป็นที่ปรึกษามาตลอด 20 ปี เธอพบปัญหาของผู้บริหารไทยก็คือ ด้วยสไตล์การสั่งสอนและเรียนรู้ ทำให้คนไทยไม่ได้ใช้เรื่องการสื่อสาร คือการพูดแบบมีศิลปะ พูดจาน่าฟัง ผู้บริหารที่อริญญาเข้าไปสอน ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารอายุ 40 กว่า ซึ่งผ่านประสบการณ์ เรียนรู้มาก แต่ถ่ายทอดไม่เป็น ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องได้ เพราะพูดจาไม่น่าฟัง เพราะไม่มีเวทีแสดงฝีมือ อีกส่วนหนึ่งคนไทยถูกฝึกการคิดมาแบบใดแบบหนึ่ง เช่น ถูกให้คิดเป็นลำดับ 1 2 3 แต่ไม่ได้ถูกฝึกให้คิดกลับหน้ากลับหลัง ทุกคนคิดเป็นแต่ไม่รู้จักใช้ให้เหมาะสม ดังนั้นต้องปรับทางด้านความคิดและเข้าใจผู้อื่นให้มากในด้านความต่างของการเลี้ยงดู วัฒนธรรมและภาษา อีกทั้งอุปสรรคที่ทำให้ผู้บริหารไทยสู้กับต่างชาติไม่ได้ คือเรื่องการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนไทยชอบใช้ความรู้สึกอารมณ์มองเหตุการณ์มากกว่าใช้หลักการและเหตุผลในการตัดสิน หากนักบริหารไทยปรับได้ ก็จะกลายเป็นผู้บริหารที่เก่งทัดเทียมต่างชาติได้

โค้ชชิงที่ดีต้องช่างสังเกตและเรียนรู้

การเป็นโค้งชิงที่ดีไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง แต่ควรชอบศึกษาหาความรู้ อีกทั้งต้องเปิดกว้าง เปิดรับ ทำตัวเป็นฟองน้ำที่ซึบซับอยู่ตลอดเวลาเวลาฟังอะไรหรืออ่านอะไรก็ตาม

“โค้ชชิงที่ดี ต้องเป็นคนเปิดรับ ผ่านการฝึกฝนการถูกเทรนบ่อยๆ อีกทั้งควรฟังอย่างตั้งใจ การที่เราฟังนักเรียนของเราอย่างตั้งใจ แล้วเราจะเข้าใจเขา โดยไม่เอาตนเองไปอยู่ตรงนั้น หรือนำประสบการณ์ตรงไปแนะนำให้คนอื่นทำตาม เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรฟังอย่างตั้งใจและเปิดใจ การเป็นโค้ชที่ดีต้องฟังให้เป็น ถามให้ถูก เพื่อที่เราจะได้ลงไปให้ลึกถึงจิตใจเขา ถามเป็นเจาะได้หลายเรื่อง และเห็นหลายมุม เห็นถึงปัญหา และจึงสามารถหาวิธีแก้ได้ ซึ่งเราต้องช่วยกันคิดและหาวิธีแก้ เช่นผู้บริหารบางคนเก่งมาก แต่พูดจาสื่อสารด้วยคำที่หยาบคายมาก เราก็ต้องแนะนำ ตั้งคำถาม หาวิธีดูแลลูกน้องอย่างไรให้ได้ใจลูกน้อง จากนั้นเขาก็ปรับมุมมองตัวเองได้”

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ APM GROUP อริญญาเชื่อว่าการจับคนมานั่งฟังในห้องอบรมไม่สามารถเปลี่ยนความคิดทุกอย่างได้ เพราะฉะนั้นการเลือกวิธีให้เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรและบุคคลจึงเป็นวิธีที่สำคัญอย่างยิ่ง การทำงานจะเน้นการเข้าไปทำการสำรวจ หาข้อมูล แล้วใช้ระบบประเมินวิเคราะห์ก่อนว่าผู้บริหารองค์กรนั้นมีจุดเด่นอะไร หรือมีจุดอ่อนจุดใดที่ต้องเพิ่มเติม แล้วหาวิธีการที่จะทำให้เขาเอาจุดเด่นมาใช้ให้มากที่สุด

แนวความคิด : ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการบริหารจัดการของอริญญา การบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงานหรือการบ้านนับเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ วิธีการต้องใช้ได้ผลและต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับผู้นำไปใช้ จึงจะก้าวไปอีกขั้น

วิธีผ่อนคลายความเครียด : เวลากลับถึงบ้าน ก่อนลงจากรถ เธอจะนั่งนิ่งๆ ด้วยทำงานเครียดจากนอกบ้าน นั่งนิ่งๆ เพื่อปรับอารมณ์ ด้วยการหาเวลาให้กับตัวเอง และดึงตัวเองกลับมาให้อยู่กับใจที่สงบ สมองก็จะปลอดโปร่ง และวิธีเล่นกับลูกสาววัย 8 ขวบจะทำให้เธอรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข และไม่รับโทรศัพท์งานขณะอยู่บ้าน