posttoday

เปิดชีวิต หัวขบวนEOD เสี่ยงจริง...แก๊กเดียวถึงตาย

27 กรกฎาคม 2556

นายตำรวจชั้นยศ “พ.ต.อ.” บนเครื่องแบบเก็บกู้วัตถุระเบิด สีเขียวขี้ม้าเข้ม นั่งทำงานคร่ำเครียดภายในห้องทำงานขนาดเล็ก แตกต่างจากห้องผู้กำกับการรายอื่นๆ

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

นายตำรวจชั้นยศ “พ.ต.อ.” บนเครื่องแบบเก็บกู้วัตถุระเบิด สีเขียวขี้ม้าเข้ม นั่งทำงานคร่ำเครียดภายในห้องทำงานขนาดเล็ก แตกต่างจากห้องผู้กำกับการรายอื่นๆ ที่ใหญ่โตโอ่อ่า ติดป้ายหน้าห้องบอกชื่อ “พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบัญชาการตำรวจนครบาล” คือนายตำรวจที่คลุกคลี เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับงานที่เรียกว่า “ตำรวจรายไหนก็ไม่อยากมาอยู่” ในงานกู้วัตถุระเบิด หรือที่คุ้นหูกับหน่วยอีโอดี เพราะการออกไปทำงานแต่ละครั้ง นั่นหมายถึงอาจจะไม่มีชีวิตอยู่รอวันพรุ่งนี้อีกต่อไป

พ.ต.อ.กำธร หรือฉายาที่วงการเก็บกู้วัตถุระเบิดเรียกว่า “พี่แก๊ก” เจ้าตัวยิ้มอารมณ์ดีก่อนบอกที่มาของชื่อว่า ไม่ได้หมายความถึงมุขตลกที่รู้กัน แต่หมายถึง “การยึดตรึง” ของวัตถุระเบิด เปรียบเสมือนว่าการทำงานที่เข้มข้น และกล้าตัดสินใจของตัวเอง จึงเป็นที่มาของฉายา

พ.ต.อ.กำธร แต่เดิมก็เป็นหนุ่มนักเรียนที่ จ.ราชบุรี หัวใจมุ่งแน่วแน่ว่าอยากจะเข้ามารับราชการ “ทหาร” กอปรกับในวัยเด็กเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น สนใจวัตถุเครื่องไม้เครื่องมืองานช่าง จึงตัดสินใจสมัครสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศในปี 2528 เมื่อสำเร็จหลักสูตรก็บรรจุและเลือกเหล่าสรรพาวุธ เพราะอยากรู้อยากทำงาน อยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาวุธ วัตถุระเบิดของกองทัพอากาศ และถือเป็นเหล่าที่ดีที่สุด

ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการอบรมการเรียนในหลักสูตรสรรพาวุธทั้งในประเทศและต่างประเทศจนช่ำชอง กระทั่งเมื่อปี 2539 ขณะที่ กำธร ติดยศทหารอากาศชั้นยศเรืออากาศโท ทำเรื่องขอสับเปลี่ยนมารับราชการเป็นตำรวจ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า

“หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของตำรวจต้องการคนมาทำงานครับ ดังนั้นผมจึงมา” พ.ต.อ.กำธร ย้ำถึงความหลัง

ก่อนจะย้ายหน่วยได้สำเร็จมาติดยศร้อยตำรวจโท และเติบโตในสายงานหน่วยอีโอดีของกองบัญชาการตำรวจนครบาลมาโดยตลอด และสุดท้ายก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานคือ ผกก.หน่วยเก็บกู้ฯ

ประสบการณ์ 17 ปีที่คลุกคลีกับงานระเบิด เกิดเหตุพบวัตถุต้องสงสัย หรือเป็นระเบิด แม้แต่มีเหตุการณ์ที่ระเบิดแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องปรากฏชื่อของ พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ อยู่ร่ำไป ทั้งตรวจตราที่เกิดเหตุ เข้าไปเสี่ยงเก็บกู้ หาหลักฐานเชื่อมโยงไปยังคนร้าย

งานที่ผ่านมาส่วนใหญ่ในชีวิตจะต้องมีการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย และด้วยการงานทำให้ต้องดึงตัวเองเข้าไปในวังวนประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของการเมือง ที่เล่นกันแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

พ.ต.อ.กำธร เล่าว่า มีหลายเหตุการณ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งเป็นประจักษ์พยานในชั้นศาล หรือเป็นคนเข้าไปตรวจสอบเก็บกู้ เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่ถือว่าหนักสุด เพราะมีระเบิดเกิดขึ้นเกือบทุกวันในเมืองกรุง หรือในเหตุการณ์เตรียมระเบิดลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เชิงสะพานบางพลัด เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2549

ผกก.กำธร ย้อนเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ฟังว่า ไม่คิดว่าจะมีการ “เล่น” กันแรงถึงเพียงนี้ ระเบิดที่ไปพบซุกไว้อยู่ที่กระโปรงหลังรถของอดีตทหารนายหนึ่งนั้น ถือว่าพร้อมใช้งาน ระยะทำลายล้างประมาณ 100 เมตร หากมีการจุดชนวนเกิดขึ้น ยังไงอดีตนายกรัฐมนตรีก็ไม่รอด

“เหตุการณ์ไหนมีระเบิด ผมก็เอี่ยวทุกงาน และหากให้คาดการณ์ ผมเชื่อว่าระเบิดจะยิ่งถูกนำมาใช้งานมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหาง่าย ทำเองก็ได้ ตรงนี้เราต้องรีบพัฒนาคนขึ้นมาเพื่อรองรับกับสถานการณ์” ผกก.อีโอดีเมืองกรุง เล่า

ที่เสียวที่สุดในชีวิตการเก็บกู้ระเบิดของ พ.ต.อ.กำธร ย้อนหลังไปหลายปีก่อน พ.ต.อ.กำธรเล่าว่า มีคำสั่งให้ไปกู้ระเบิดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงที่เกิดเหตุเข้าไปตรวจดูระเบิดพบว่าเป็นแบบแสวงเครื่อง แต่กลไกไม่น่าจะมีปัญหา กู้ได้แน่นอน จึงตัดสินใจเข้าไปจัดการ แต่จังหวะนั้น มีแสงแฟลชจากกล้องของนักข่าววาบเข้ามา นึกว่าระเบิดขึ้นเสียแล้ว

“ผมสะดุ้งเลย เพราะคิดว่าระเบิดแน่ๆ แต่สุดท้ายเป็นแสงแฟลชจากกล้องเท่านั้น” เล่าไปขำไป

หรืออีกเหตุการณ์ที่ห้างมาบุญครองเมื่อราว 10 ปีก่อน ครั้งนั้นคนร้ายกดสัญญาณระเบิดด้วยรีโมตไปแล้ว แต่ไม่ทำงาน ก็ใช้เครื่องยิงแรงดันน้ำอัดเข้าไปที่ระเบิดเพื่อให้ตัดวงจร อีกทั้งประชาชนที่อยู่ในห้างก็อยากจะดูเหตุการณ์ไปด้วย กันเท่าไหร่ก็ไม่ยอมหลบออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นการกดดันมาก แต่หากคนร้ายกดระเบิดอีกครั้ง พ.ต.อ.กำธร ยอมรับว่า คงไม่รอด

แต่ที่เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจริงๆ ต้องเป็นเหตุการณ์ย้อนหลังไปราวสิบกว่าปีก่อน ขณะนั้น พ.ต.อ.กำธร ไปสอนตำรวจตระเวนชายแดนเกี่ยวกับวัตถุระเบิด ให้เรียนรู้ และให้เก็บกู้ ที่สำคัญต้องรู้ด้วยว่าระเบิดนั้น อานุภาพทำลายเป็นอย่างไร ใช้กันแบบไหน

“ผมไปสอน ตชด.ให้ขว้างระเบิด เป็นลูกเกลี้ยงนี่แหละ ก็จะมีหลุมบังเกอร์ลึกประมาณ 1.20 เมตร ผมก็ลงไปในหลุมกับนักเรียน เอาระเบิดให้เขาขว้างออกไป แต่พอเขาขว้างเท่านั้นแหละ ลูกระเบิดมันตกอยู่ตรงหน้าห่างไปไม่เกิน 3 เมตร ผมร้องเลย เฮ้ย!!! แล้วกระชากตัวนักเรียนลงหมอบหลบในหลุม ตอนนั้นคิดว่าตายแน่ๆ โชคดีที่ระเบิดที่ขว้างออกไป มันไม่กลิ้งไหลย้อนกลับมาที่บังเกอร์ จากนั้นดังตูม สนั่นหวั่นไหว เกือบตายจริงๆ” พ.ต.อ.กำธร เล่าถึงประสบการณ์เฉียดตาย

“จะด้วยว่าลื่น หรือว่าอะไรก็ไม่ทราบ แต่โชคดีที่รอดมาได้”

ทุกครั้งที่เกิดการผิดพลาด พ.ต.อ.กำธร จะใช้เป็นบทเรียนเพื่อเตือนตัวเอง และออกอบรมนักเรียนเก็บกู้วัตถุระเบิดให้เห็นถึงความอันตรายของงานที่ทำ การที่คนอื่นพลาด ต้องมีการศึกษาอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด

เมื่อถามถึงการทำงานแต่ละครั้งว่ากังวลหรือกลัวหรือไม่ เพราะดูท่าเหมือนจะเล่นกับระเบิดอยู่ ความเป็นความตายตัดสินกันได้เพียงเสี้ยววินาที และคำตอบที่ได้มา ทำให้ยิ่งฉายภาพนายตำรวจผู้นี้ว่ามีบุคลิกหลายแบบในความเป็นตัวตน ทั้งสุขุม และในบางที ก็บ้าระห่ำเช่นกัน

พ.ต.อ.กำธร ให้คำตอบว่า หากเกิดเหตุแต่ละครั้ง เริ่มจากให้ไปกู้ระเบิดก่อน สิ่งที่ต้องเตรียมลำดับแรกคือ “หัวใจ” หัวใจต้องพร้อม สติต้องมี วางแผนรับข้อมูลให้ได้มากที่สุด ต้องทราบชนิดระเบิด หากเป็นแบบมาตรฐานก็ง่ายหน่อย เพราะเรียนรู้กันมาแล้ว แต่หากเป็นแสวงเครื่องที่คนมาวางประดิษฐ์ขึ้นมา ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง

เมื่อมีหัวใจแล้ว อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ก็ต้องพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ทั้งบอมบ์สูท เครื่องยิงความดันสูง และการวางแผนกั้นพื้นที่เพื่อรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้อยู่ในหัวของ พ.ต.อ.กำธร อยู่เสมอ เพราะต้องมีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง

“หากลูกน้องไม่มั่นใจ ผมไม่ให้เข้าเด็ดขาด ผมลุยเอง เพราะรู้ดีว่างานแบบนี้มันยากที่จะสั่งกันได้ บางครั้งผมหงุดหงิดนะ คือแบบว่า เป็นไงเป็นกันวะ ลุยเลยดีกว่า ตายก็ตาย อยู่ก็อยู่ แต่ที่จะเข้าไปลุยได้ต้องมีการประเมินแล้วนะ ทำทุกทางแล้ว และต้องกู้ด้วยมือเท่านั้น ยิ่งเมื่อมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งคนที่มามุงดู หรือความกดดันต่างๆ ในตัวคนเก็บกู้เอง หลายครั้งผมตัดสินใจตัดชนวนระเบิดด้วยตัวเองเลย เหมือนในหนังละครับ ลุ้นกันเลย ตัดเส้นไหนให้หยุดระเบิด แบบนั้นเลย” พ.ต.อ.กำธร เล่า หลายครั้งที่ก่อนออกไปเก็บกู้ก็ท่าดี แต่เมื่อถึงหน้างานแทบทุกครั้ง ขอลุยเลยดีกว่า

งานที่เสี่ยงเช่นนี้ คำว่าครอบครัวต้องตัดออกไปจากหัวใจของนายตำรวจผู้นี้ เพราะด้วยเวลาทำงานที่ พ.ต.อ.กำธร ยอมรับว่า ส่วนใหญ่ขลุกอยู่แต่ที่ทำงาน โทรศัพท์มือถือปิดไม่ได้เด็ดขาด ต้องทำตัวให้พร้อมเสมอตลอด 24 ชั่วโมง ครอบครัวแทบจะไม่มีเวลาให้เลย น้อยมากที่จะมีโอกาสได้ไปกินข้าวนอกบ้านกันบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และครอบครัวก็มีความเข้าใจดี

แต่ยังมีบางอย่างที่ทำให้ตัวของ พ.ต.อ.กำธร น้อยใจ เพราะเกิดความไม่เข้าใจสังคมและคนทั่วไปว่า หน่วยอีโอดีสบาย งานไม่ค่อยจะมี เกิดเหตุถึงจะออกไปทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้บั่นทอนกำลังใจในการทำงาน

แม้จะน้อยใจอยู่บ้างก็ตาม พ.ต.อ.กำธร เล่าว่า การทำงานของหน่วยอีโอดีของนครบาล เหมือนกับปิดทองหลังพระ น้อยคนไม่รู้ว่างานเป็นอย่างไร ทั้งที่จริงแล้วถือว่าเป็นงานที่เสียสละ และงานหนักไม่ต่างจากหน่วยอื่นๆ เช่น การตรวจตราสถานที่ต่างๆ ทั้งพระบรมมหาราชวัง ขบวนเสด็จ หรือที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ แม้แต่อาคันตุกะที่เป็นแขกมาจากต่างประเทศ หน่วยอีโอดีก็ต้องเคลียร์พื้นที่ให้ก่อนเพื่อป้องกันเหตุ

“หนำซ้ำทั่วประเทศ ทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือจังหวัดอื่นๆ หากเกิดเหตุระเบิด หรือเก็บกู้วัตถุระเบิด กำลังในพื้นที่ไม่มีความสามารถพอ หรือมันเสี่ยงเกินไป อุปกรณ์ไม่พร้อม ก็ต้องใช้หน่วยอีโอดีจากนครบาลลงไปจัดการให้ ซึ่งผมก็เต็มใจไปทำ เพราะเป็นหน้าที่ ดีกว่าต้องมาตายกัน”

งานที่เสี่ยงกับความตาย น้อยคนนักจะรู้ว่ากว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักเก็บกู้วัตถุระเบิดมือหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากทั้งในและนอกประเทศ ต้องแลกกับอะไรมาบ้าง

ที่บอกว่าเป็นมือหนึ่ง เพราะมีป้ายการันตีทั้งผ่านการอบรมหลักสูตรเก็บกู้วัตถุระเบิดจากต่างประเทศหลายสิบใบ แปะหราอยู่ในภายในห้องทำงาน ควบกับเครื่องยิงวัตถุระเบิดชนิดต่างๆ ที่คนทั่วไปคงไม่มีโอกาสได้เห็น ทั้งปืนยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 เครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี และระเบิดมือชนิดต่างๆ วางอยู่ในห้องทำงานของ พ.ต.อ.กำธร เจ้าตัวบอกว่า ส่วนใหญ่ยึดได้จากเหตุชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เก็บไว้เอามาสอนลูกน้อง หรือมีงานอบรมในที่ต่างๆ เท่านั้น