posttoday

วีระ อารีรัตนศักดิ์ เทคโนโลยีไม่สำคัญเท่าการบริหาร

25 กรกฎาคม 2556

เราทุกคนใช้สมาร์ทโฟน แต่ใครล่ะที่ใช้สมาร์ทโฟนสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองได้สูงสุด ตอนนี้เทคโนโลยีไม่ใช่ประเด็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจมากนัก

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

“เราทุกคนใช้สมาร์ทโฟน แต่ใครล่ะที่ใช้สมาร์ทโฟนสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองได้สูงสุด ตอนนี้เทคโนโลยีไม่ใช่ประเด็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจมากนัก แต่อยู่ที่ความสามารถในการบริหารวางแผนจัดการให้เกิดผลสูงสุดมากกว่า”

วีระ อารีรัตนศักดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เน็ตแอพ (ประเทศไทย) และเป็นผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบไอทีอย่างสูงคนหนึ่งของประเทศไทย พูดถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีความแตกต่างกันน้อยมาก จนบริษัทเล็กๆ ก็สามารถมีระบบไอทีสู้บริษัทใหญ่ๆ ได้เพียงแค่รู้จักเลือกใช้และบริหารจัดการให้เป็นเท่านั้น

ยิ่งในเวลาที่เทคโนโลยี 3จี เริ่มมีการใช้อย่างจริงจังในประเทศไทย รวมทั้งระบบคลาวด์ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้จากทุกที่และมีความปลอดภัยสูง ก็ยิ่งทำให้ช่องว่างหรือข้อจำกัดการใช้เทคโนโลยีนั้นลดลง

วีระ อธิบายต่อว่า ถ้ามองเทคโนโลยีในภาพใหญ่ จะเห็นเทรนด์หลายๆ อันที่จะเป็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจ แต่มีอยู่เทรนด์หนึ่งที่เริ่มมาแรงกับกลุ่มใหม่ๆ ก็คือ เอนเตอร์ไพรส์โมบิลิตี เป็นเทคโนโลยีที่เราสามารถเอาอุปกรณ์สมาร์ทโฟนอะไรก็ได้ ไม่ได้จำกัดต้องเป็นแบล็คเบอร์รี่ จะเป็นไอโอเอส หรือแอนดรอยด์ เข้ามาทำงานร่วมกันในบริษัทได้เหมือนกัน ทำให้พนักงานทุกคนสามารถนำสมาร์ทโฟนรุ่นที่ชอบเข้ามาใช้งานได้ตามความชอบ แต่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมการใช้งานใหม่ๆ ของผู้ใช้เองมากขึ้น เพราะจากแต่ก่อนที่คนไทยเราจะเป็นผู้ตามเรื่องเทคโนโลยี เราก็จะใช้ด้วยความเคยชิน แต่เทรนด์เทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีความสามารถสูงต้นทุนถูกลง เราก็จะเริ่มเอาสิ่งที่มีอยู่มาปรับเปลี่ยนมาใช้ในเรื่องการทำงานหรือไลฟ์สไตล์ที่มีอยู่ เริ่มเอาความสามารถของแอพพลิเคชันบางอย่างไปใช้ควบคุมการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างบางคนเราก็จะเห็นการใช้เฟซบุ๊กมาเปิดร้านขายของ ใช้อินสตาแกรมช่วยถ่ายภาพขายสินค้า หรือในโปรแกรมจัดการเรื่องนัดหมายในแต่ละวันมาช่วยกำหนดเวลาในการทำงานให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้คือเทรนด์การใช้เทคโนโลยีที่เป็นการสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่ สู่การใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ ของตัวผู้ใช้เอง

นอกจากนี้ วีระยังแนะนำในส่วนของเทคนิคในการบริหารงานก็คือ เน้นในเรื่องความสำคัญไม่ใช่เรื่องด่วน ไม่อย่างนั้นทุกเรื่องก็จะกลายเป็นเรื่องด่วนหมด จนเราไม่มีเวลาที่จะไปทำเรื่องสำคัญให้เสร็จก่อน อย่างเรื่องของอีเมลบางทีเราเปิดมาแค่เช็กอีเมลเพื่อตอบกลับก็อาจจะต้องใช้เวลาทั้งวันแล้ว งานที่เราจะต้องทำในวันนี้เราก็ไม่ได้ทำ

ในชีวิตการทำงานเราจะเจออยู่ 4 อย่างก็คือ เรื่องสำคัญ เรื่องเร่งด่วน เรื่องไม่สำคัญ และเรื่องไม่เร่งด่วน และส่วนใหญ่เราจะเจอแต่เรื่องเร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ เป็นเรื่องการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องรอให้เราตอบกลับในทันที ไม่อย่างนั้นงานก็ไม่เดิน ทำให้ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่มีเวลามาคิดเรื่องสำคัญที่ต้องทำ

ดังนั้น เราจะต้องแยกให้ได้ว่าเรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนเร่งด่วน เราต้องให้งานที่มีความสำคัญและเร่งด่วนมาเป็นอันดับแรกที่ต้องจัดการในแต่ละวัน เรื่องสำคัญแต่ไม่เร่งด่วนรองลงมา ตามด้วยเรื่องเร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ ปิดท้ายเรื่องไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ เป็นงานปิดท้ายของวัน

“จากปัญหาเรื่องการจัดการ ผมเลยตั้งคอนเซปต์ในการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมาว่า ทุกเช้าก่อนไปทำงาน เราควรคิดก่อนแล้วว่าวันนี้เราจะต้องทำอะไรให้ได้อย่างน้อยๆ 3 อย่าง ในหนึ่งเดือนเราจะต้องทำอะไรให้เสร็จไปแล้วบ้าง และในแต่ละวันเราต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหลายคนมองข้ามไป เราไปติดแต่เรื่องด่วนที่ไม่ได้มีความสำคัญ มันจะทำให้เราพลาดเป้าหมายในการทำงานของเราไป แค่เสียเวลาในการคิดวางแผนสักหน่อยแล้วทุกอย่างจะคล่องตัวขึ้น

อย่างตัวผมก็ใช้โปรแกรมช่วยในการทำงาน เริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่จะทำ และแต่ละเป้าหมายจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ หลังจากนั้นเราก็จะได้เวลาในการทำงานในแต่ละวันออกมาเอง ตรงนี้ก็ช่วยได้เยอะ ผมว่าโปรแกรมด้านการจัดการที่มีอยู่นั้นมีความสามารถมากพอที่จะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น เพียงแต่เราจะรู้ว่ามีหรือนำมาใช้มากน้อยต่างกัน” วีระเผยแนวคิดเรื่องการวางแผนการทำงานของเขา โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างเป็นระบบ

ผู้บริหารหนุ่มใหญ่บอกกับเราอีกว่า ทุกวันนี้จำนวนอุปกรณ์ไอทีที่เขาใช้ทำงานนับวันจะมีน้อยชิ้นลง เพราะทุกอย่างถูกรวมเอาไว้ในสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตก็ครอบคลุมการทำงานทั้งหมดได้แล้ว แต่ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ อยู่ที่ว่าใครจะใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นให้กับตัวเองมากกว่า

เรื่องนอกงานของวีระ

1.เขาตั้งเป้าเข้าร่วมการวิ่งมินิมาราธอน 10 กม. ภายใน 1 ชั่วโมง และในปีหน้าเขาตั้งเป้าวิ่งมาราธอนในระยะ 22 กม. ให้ได้

2.วีระมีเป้าหมายการใช้เวลาว่างกับการแคมปิ้งในครอบครัว แต่เป้าหมายของเขาก็อาจจะเปลี่ยนไปตามลูกๆ ที่เติบโตขึ้นตามวัย

3.เรื่องเรียนการทำอาหารก็อยู่ในไลฟ์สไตล์ชีวิตของเขา เวลาว่างๆ วีระจะเข้าเว็บไซต์ดูสูตรทำอาหารต่างประเทศในยูทูบ แล้วลงมือทำรับประทานในครอบครัว