posttoday

‘มือลั่น’ พฤติกรรมน่าหวั่นของชาวโซเชียล

18 กรกฎาคม 2556

อย่าคิดเชียวว่าแค่มีสมาร์ทโฟนในมือแล้วจะทำให้คุณเป็นใหญ่ ทำอะไรได้ตามอำเภอใจทุกอย่าง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

อย่าคิดเชียวว่าแค่มีสมาร์ทโฟนในมือแล้วจะทำให้คุณเป็นใหญ่ ทำอะไรได้ตามอำเภอใจทุกอย่าง

เที่ยวไปแชะภาพคนอื่นตามที่สาธารณะ อัดเสียงการสนทนา คลิปวิดีโอ ปล่อยเผยแพร่ลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะด้วยความสนุกคะนอง หรือด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ระวังจะติดคุกหัวโต

เช่นเดียวกับพวกกองเชียร์ทั้งหลาย ใช่ว่าจะปลอดภัยไร้กังวล เพราะแค่คลิกไลค์ คอมเมนต์ หรือแชร์ต่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อาจพลอยซวยไปด้วย

ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ (จริงหรือ)

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ชอบยกมือถือขึ้นถ่ายรูป อัดคลิปวิดีโอ ตั้งแต่กินข้าว เที่ยวสังสรรค์ เจอเรื่องถูกใจบนท้องถนน หวังแชะแล้วแชร์ บอกต่อให้คนอื่นได้รับรู้ผ่านโลกออนไลน์ บางครั้งพัฒนาไปถึงขั้นแฉ ตีแผ่ เปิดโปงปัญหาต่างๆ เพื่อปลุกให้สังคมตาสว่าง

“เป็นเรื่องที่ดีนะ แนวคิดว่าใครๆ ก็เป็นนักข่าวพลเมืองได้ ทุกคนมีเครื่องมือทันสมัยเท่าเทียมกันหมด สามารถผลิตสื่อเองได้ ทำให้เขารู้สึกมีพาวเวอร์ เช่นเดียวกับที่นักข่าวมีปากกา มีกล้องถ่ายรูป ยิ่งโตมาในยุคที่ยูทูบมีสโลแกนว่า Broadcast Yourself ทวิตเตอร์บอกว่า What are you doing เฟซบุ๊กกรอกหูว่า What’s on your mind ยิ่งทำให้คนรู้สึกอยากแสดงความคิดเห็น อยากบันทึกเรื่องที่คิดว่ามีความสำคัญ

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกสอนมาให้เป็นผู้สื่อข่าว เขาไม่ได้เรียนกฎหมายจริยธรรมสื่อ จรรยาบรรณสื่อ ความรับผิดชอบในเชิงวิชาชีพเขาไม่รู้จัก สิ่งเดียวที่รู้คือชื่อเสียงทางสังคมในโลกโซเชียล ถ้าโพสต์เรื่องไม่จริง คนก็จะรุมประณาม ถ้าจริง ก็จะถูกยกสถานะขึ้น ด้วยการกดไลค์ กดแชร์”

ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) อธิบายถึงปรากฏการณ์ “แชะแล้วแชร์ฟีเวอร์” ให้ฟัง

เขาบอกว่ายุคเฟซบุ๊กทำให้ข่าวเร็วขึ้นกว่าหนังสือพิมพ์ถึง 7 เท่า คนเสพติดความเร็ว ทำให้ขาดการตั้งคำถาม ขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ส่งต่อกันมา หากวิพากษ์วิจารณ์ไม่ระมัดระวัง อาจสร้างปัญหาบานปลายใหญ่โตขึ้นมาได้

‘มือลั่น’ พฤติกรรมน่าหวั่นของชาวโซเชียล

 

ไฮเปอร์-เรียลิตีฟีเวอร์

ยกตัวอย่างคลิป หรือภาพถ่ายเจ้าปัญหาที่เป็นประเด็นถกเถียงของคนในสังคมได้อย่างร้อนแรง เช่น คลิปเสียงแม่ดาราสาวคนหนึ่งกำลังเคลียร์ข้อครหาเรื่องลูกสาวไปแย่งสามีชาวบ้าน คลิปการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดของผู้จัดการโรงหนังกับลูกค้า คลิปสาวทอมบอยวิวาทกับชาววัยกลางคนเรื่องจอดรถขวางหน้าบ้าน คลิปครูฝึกซ้อมทหารเกณฑ์ คลิปเจ้าหน้าที่รัฐกร่าง คลิปดาราหนุ่มใหญ่วิพากษ์การเมือง รวมถึงภาพหลุดโป๊เปลือยสยิวกิ้วโดยไม่ตั้งใจของคนดัง ภาพพระสงฆ์ปฏิบัติตนเสื่อมเสีย ตำรวจตั้งด่านเถื่อน ฯลฯ

ถามว่าทำไมคนถึงชอบเสพสื่อประเภทคลิปวิดีโอ หรือภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

“ยุคนี้เขาเรียกยุค HyperReality คนนิยมภาพเหตุการณ์จริง สดๆ ร้อนๆ ตื่นเต้นน่าหวาดเสียว เสมือนกำลังอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย สมัยก่อน ยุค 1.0 โปรดักชันของสื่อที่คนนิยมเสพมีลักษณะโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ข้อความหรือภาพ ถูกตกแต่งดีไซน์ไว้สวยงามหมดจด ต่อมายุค 2.0 เราจะเริ่มเห็นข่าวที่ยิงตรงจากภาพสนาม อย่างที่สถานีข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานสถานการณ์สงครามในอิรัก

พอมาถึงยุคปัจจุบันที่เรียกว่า ยุค 3.0 คนไม่ต้องการเสพสาระข่าวสาร หรือความบันเทิงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่คนคุ้นชินกับภาพดิบๆ เถื่อนๆ แรงๆ ไม่มีเตี๊ยม ไม่มีตัดต่อ ต่างจากสมัยก่อนที่กองบรรณาธิการมักต้องมาปวดหัวกับการตัดต่อ เซ็นเซอร์ ถมดำ เดี๋ยวนี้คนดูชอบ มันน่าเชื่อถือมากกว่า เหมือนไปอยู่ในเหตุการณ์เสียเอง”

สอดคล้องกับผลสำรวจจากกรุงเทพโพลล์เมื่อปี 2551 ระบุว่าคนไทยชอบดูรายการประเภทเตือนภัยเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

วัดได้จากความนิยมอย่างท่วมท้นของผู้ชมที่มีต่อรายการแนวเรียลิตี ไม่ว่าจะเป็น เรื่องจริงผ่านจอ นาทีฉุกเฉิน ระวังภัย หรือปากโป้ง เป็นต้น ที่มักนำเสนอภาพเหตุการณ์จริง ไม่ว่าจะจากคลิปมือถือ ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด ทั้งที่หลุดและจงใจเผยแพร่ออกมา

“คนเราไม่รู้สึกว่าโปรดักชันเป็นเรื่องสำคัญเท่าเรียลิตีสดๆ คนให้ความสำคัญต่อประสบการณ์ขณะนั่งรับชมมากกว่า คลิปพวกนี้ทำให้พวกเขารู้สึกกำลังนั่งดูสดๆ กับคนทั่วโลก” นักวิชาการชื่อดังกล่าว

‘มือลั่น’ พฤติกรรมน่าหวั่นของชาวโซเชียล

 

ของฝากนักแชร์

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคอมพิวเตอร์เตือนว่า เพียงแค่คุณเปิดคอมพิวเตอร์ ขาข้างหนึ่งก็ก้าวเข้าไปอยู่ในตะรางแล้ว

“เคยมีผลสำรวจจากสวนดุสิตโพล มีประชากรไทยเพียง 20% เท่านั้นที่รู้ว่าเมืองไทยมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดด้วยว่า การทำผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์คือการแฮกข้อมูลอย่างเดียวเท่านั้น น่ากลัวมากนะครับ ใครจะไปรู้ทุกวันนี้มีคดีกองรวมกันเป็นหมื่นคดีทั่วประเทศ”

นักกฎหมายด้านไอทีหมายเลขหนึ่งของไทยย้ำอีกครั้งด้วยน้ำเสียงชัดเจนว่า แค่ยกมือถือขึ้นมาถ่ายคนอื่นก็ถือว่าผิดกฎหมายฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ยกเว้นคนผู้นั้นกำลังกระทำความผิด แล้วถ่ายเพื่อเป็นพยานหลักฐาน ถึงอย่างนั้นกฎหมายก็ไม่อนุญาตให้ถ่ายแล้วนำมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างสนุกปากได้

“ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักข่าว คุณจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แชะแล้วแชร์ เสี่ยงคุกในหลายข้อหา ทั้งละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หมิ่นประมาท หรืออาจมีคดีลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ยกเว้นคุณเป็นนักข่าว จึงจะได้รับความคุ้มครองในเรื่องการหมิ่นประมาท การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในแง่การรายงานข่าว ฐานะสื่อมวลชน”

วันที่เฟซบุ๊กครองเมือง ทวิตเตอร์คนเล่นกันนับล้าน ไหนจะนิยมถ่ายรูปลงอินสตาแกรมกันอย่างบ้าคลั่ง ถ่ายแล้วอัพ คนแห่มากดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พฤติกรรมนี้นับว่าล่อแหลมและเสี่ยงอันตรายมาก

“กลุ่มที่น่าเป็นห่วง ผมว่าเป็นพวกที่ไม่ได้ตั้งใจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจไปถ่ายคลิป หรือภาพส่วนหนึ่งส่วนใดของเหตุการณ์ ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด แล้วใส่ความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด อย่างภาพในอินสตาแกรมของดาราดังๆ ก็ต้องดูด้วยว่าละเมิดลิขสิทธิ์รึเปล่า ต้องดูว่าเซตเป็น Public รึเปล่า ถ้าเป็น Private จริงๆ เอาภาพเขามาเผยแพร่ โดนฟ้องได้นะครับ”

อีกกรณีที่น่ากังวลไม่น้อย หนีไม่พ้นเรื่องการใช้คลิปในการใช้ทำ Viral Marketing ของนักการตลาดรุ่นใหม่ ทั้งกรณีมีคลิปตบกัน แล้วที่สุดกลายเป็นโฆษณาสินค้า คลิปดาราขู่ตะคอกแฟนคลับ หากคนที่ทำขึ้นมีจุดประสงค์ทางการตลาดจริง ก็มีความผิดกฎหมายทั้งอาญาและลหุโทษ เนื่องจากทำให้ประชาชนแตกตื่น สับสน เสียหาย และอาจจะผิดไปถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 ฐานโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุก 5 ปี แล้วแต่กรณี และเนื้อหาของคลิปนั้นๆ

“วิธีไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ดูง่ายมาก คือเรื่องที่โพสต์นั้นมั่นใจไหมว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือเปล่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ ไปทำให้เกิดความเสียหายกับเจ้าของภาพไหม ถ้าไม่ อย่ากดไลค์ กดคอมเมนต์ หรือกดแชร์ จงจำไว้ว่าทุกอย่างสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ถ้าแค่ชม คงไม่มีปัญหาทางกฎหมายหรอกครับ”

เป็นคำเตือนของนักกฎหมายคอมพิวเตอร์มือหนึ่งของประเทศที่ฝากไปยังนักแชะ นักแชร์ นักไลค์ นักคอมเมนต์ ทั้งหลาย ให้ระวังพฤติกรรม “มือลั่น”ของตัวเองไว้ให้ดี

กฎหมายคอมพิวเตอร์ที่ควรรู้สำหรับชาวโซเชียล

ก่อนแชร์ข้อมูล คลิปวิดีโอ หรือภาพใดๆ ควรพิจารณากฎหมาย 3 ส่วนหลักๆ

หนึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ว่าด้วยเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น ต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สอง กฎหมายหมิ่นประมาท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

สาม การนำข้อมูลของคนอื่นมาใช้ ไม่ว่าเป็นตัวอักษร ภาพ หรือคลิปวิดีโอโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเจออีกข้อหา นั่นคือ กฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งสิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ประกอบด้วยเนื้อหาข่าวหรือข้อเท็จจริงประจำวันทั่วไป (ไม่รวมรูปแบบการเขียน) คำพิพากษาศาล คำสั่งราชการ กฎหมาย คำสั่งกระทรวง ทบวง กรม และการรวบรวมเนื้อหาที่ทำขึ้นโดยหน่วยงานรัฐ ถ้านอกจากนี้ถือว่ามีลิขสิทธิ์ทั้งหมด