posttoday

ใบหน้าบอกโรคกับศาสตร์แพทย์จีน

13 กรกฎาคม 2556

การสังเกตโรคจากใบหน้าถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการรักษาโรคตามแนวทางของแพทย์จีน ที่สามารถบ่งบอกอาการความผิดปกติของร่างกาย

โดย...แพทย์จีนศิรินทรา โคตรพรม แพทย์จีนอายุรกรรมด้านโรคผิวหนังและความงาม คลินิกหัวเฉียว

การสังเกตโรคจากใบหน้าถือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการรักษาโรคตามแนวทางของแพทย์จีน ที่สามารถบ่งบอกอาการความผิดปกติของร่างกายจากการสังเกตลักษณะบนใบหน้าตามศาสตร์แพทย์จีน การรักษาโรคด้วยวิธีสังเกตใบหน้านั้น มีความเชื่อว่าลักษณะของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่บนใบหน้า สามารถใช้เป็นแผนที่บ่งบอกถึงความผิดปกติหรือไม่ปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้เกือบทั้งหมด เพื่อทำการวินิจฉัยโรคตามแบบแพทย์จีนไปพร้อมๆ กับขั้นตอนวินิจฉัยอื่นๆ ได้แก่ การฟัง การดมกลิ่น การซักถามอาการคนไข้ การตรวจดูว่ามีอาการผิดปกติของร่างกายที่บริเวณใดบ้าง และการจับชีพจร การตรวจเบื้องต้นตามแผนจีนนี้จะวินิจฉัยอย่างละเอียดด้วยขั้นตอนข้างต้นเสียก่อน จากนั้นจึงดำเนินขั้นตอนการรักษาดังนี้ คือ ปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน ใช้การนวดทุยหนาแบบจีน ใช้วิธีการฝังเข็ม ใช้สมุนไพรในการรักษา เป็นต้น

หลักการสังเกตโรคจากการดูลักษณะใบหน้า

บริเวณหน้าผาก หมายถึง หัวใจ

บริเวณปลายจมูก หมายถึง ม้าม

บริเวณแก้มด้านซ้าย หมายถึง ตับ

บริเวณแก้มด้านขวา หมายถึง ปอด

บริเวณคาง หมายถึง ไต

ผิวหน้าเป็นภาพสะท้อนของสภาพร่างกายโดยรวม ซึ่งสามารถแสดงความอ่อนแอของอวัยวะภายในทั้ง 5 ที่มีผลต่อความงาม หากอวัยวะภายในป่วย ร่างกายและผิวหน้าจะสะท้อนออกมาดังนี้

1.บริเวณหน้าผาก หมายถึง หัวใจ

อาการ : ใบหน้ามีลักษณะเป็นสีแดง ใจหวิว นอนไม่ค่อยหลับ ไม่มีสมาธิ ขี้หลงขี้ลืม มักจะเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น คอแห้ง มักจะมีอาการปากขม คอแห้ง มีแผลในปาก ปัสสาวะเหลืองเข้ม เวลาปัสสาวะมีความรู้สึกร้อน ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นเหลือง แสดงให้เห็นว่ามีภาวะไฟหัวใจแกร่ง

2.บริเวณแก้มด้านขวา หมายถึง ปอด

อาการ : สีหน้ามีลักษณะเป็นสีขาวซีด ผิวหนังแห้ง มีริ้วรอย และเป็นสิวง่าย ตัวเย็น เหงื่อออกง่าย เป็นหวัดบ่อยใบหน้ามักจะขาวซีด เหนื่อยหอบง่าย อ่อนเพลียง่าย ทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็เหนื่อย ประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด ระบบการดูดซึมอาหารไม่ค่อยดี มักจะท้องอืดบ่อยๆ และสามารถรับประทานถั่วขาว ช่วยในการบำรุงการทำงานของปอดได้

3.บริเวณปลายจมูก หมายถึง ม้าม หรือระบบย่อยอาหาร

อาการ : สีสันบนใบหน้าเป็นสีเหลือง ผิวหนังจะหยาบกร้าน เป็นสิวอักเสบ เป็นฝ้า หน้าจะบวม มีถุงใต้ตา จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียง่าย มีกลิ่นปาก หรือรู้สึกเหนื่อยล้า เมื่อยง่าย ปวดฟันโดยไม่ทราบสาเหตุ มักจะมีอาการแน่นในท้อง เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน ระบบการย่อยดูดซึมไม่ดี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตับ ถุงน้ำดี

การรักษา บำรุงพลังเสริมม้าม ระบายตับสลายการอุดกั้นของเลือด

ยกตัวอย่าง อาหารที่มีสรรพคุณในการบำรุงม้าม คือ กระเพาะหมู ซึ่งมีรสชาติและสรรพคุณ รสหวาน มีธาตุอุ่น ช่วยเสริมส่วนพร่อง บำรุงม้าม และกระเพาะอาหาร เหมาะกับผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ อุจจาระเหลว กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย และเด็กที่ตัวผอม สุขภาพอ่อนแอ และม้ามชอบสีเหลืองสามารถรับประทานถั่วเหลือง ช่วยในการบำรุงการทำงานของม้ามได้

4.บริเวณแก้มด้านซ้าย หมายถึง ตับ

อาการ : สีสันบนใบหน้าออกไปทางสีเขียวเหลือง เป็นฝ้าได้ง่าย และมักจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นลงตามอารมณ์ ดวงตาไม่สดใส เสียงเบา ไม่แข็งแรง ปวดประจำเดือน มักจะมีอาการหงุดหงิด ปวดแน่นสีข้าง ปวดเต้านม แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร มีน้ำย่อยออกมามาก ในสตรีระวังจะมีประจำเดือนมาไม่ปกติ

ยกตัวอย่าง เช่น เก๋ากี้ ชงดื่มกับน้ำร้อน หรือใส่รวมกับแกงจืดที่ชอบ ร่างกายก็ได้รับสรรพคุณในการบำรุงตับ เสริมภูมิต้านทานโรค และตับชอบสีเขียว สามารถรับประทานถั่วเขียว ช่วยในการบำรุงการทำงานของตับได้

5.บริเวณคาง หมายถึง ไต

อาการ : สีสันบนใบหน้าสีดำคล้ำ มักจะมีอาการปวดเมื่อยเอวและเข่า เวียนศีรษะบ่อย ไม่มีกำลัง กลัวหนาว แขนขาเย็น สมรรถภาพทางเพศลดลง สตรีจะมีบุตรยาก อุจจาระเป็นน้ำ ระบบย่อยไม่ดี อาเจียนบ่อย ท้องเสียตอนเช้า เท้าบวม หายใจหอบ เหนื่อย ผิวจะดำหมองคล้ำ ขอบตาคล้ำ อาจมีฝ้าและดูมีอายุมากกว่าวัย ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะตอนกลางคืน นอนไม่ค่อยหลับ มีเสียงดังในหู หรือผมร่วง เป็นต้น สาเหตุมักเกิดจากความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดจากฮอร์โมนไม่สมดุลโดยเฉพาะในผู้หญิง เกิดจากโดนสารเคมีทำให้เกิดการระคายเคือง โดนแดดจัดๆ ทำให้ผิวแห้งขาดน้ำง่าย เป็นฝ้า เป็นสิวอุดตัน เป็นต้น และไตชอบสีดำ ให้กินถั่วดำ หรือเก๋ากี้ พุทราจีนช่วยในการบำรุงการทำงานของไตได้

การรักษาโรคตามแนวทางของแพทย์จีน ร่างกายของเรามีสภาวะหยินและหยาง

ใบหน้าแบบ ‘หยาง’ ซึ่งมีลักษณะข้างบนเล็กแหลม คางกว้าง จะสันทัด ซึ่งในภาคปฏิบัติจะมีความอดทนมากกว่าการใช้สมอง และมีอารมณ์ฉุนเฉียว

จึงเหมาะมากที่จะใช้ศิลปะเข้ามาช่วยสร้างความสมดุล เช่น การใช้ดนตรีเข้าช่วยขัดเกลาอารมณ์

ใบหน้าแบบ ‘หยิน’ คือ มีหน้าผากกว้าง ปลายคางเล็กแหลม บอกได้ว่าเป็นคนที่มีความฉลาด ถนัดเรื่องการคิด แต่ขาดความอดทน คนลักษณะแบบนี้จึงต้องเสริมเรื่องการออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างสมดุลในการใช้ชีวิต และเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายแข็งแรงจากการออกกำลังกายได้มากขึ้นด้วย

เมื่อสังเกตได้ถึงความผิดปกติ แนวทางการดูแลสุขภาพ คือ ควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้ง/อาทิตย์ การกำจัดความเครียด มีสุขภาพจิตที่ดีอยู่เสมอ ควรงดหรือลดรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป ไม่กินจุบกินจิบในตอนดึก