posttoday

เดชประกาศิตฤทธิ์ความดัน (สูง)

04 กรกฎาคม 2556

อ๋อ! มิได้และมิใช่ เห็นหัวเรื่องข้างบนแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นสำนวนแปลของ น.นพรัตน์ เนื่องจากบทความนี้มิใช่นิยายจีนกำลังภายในแต่อย่างใด

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์/ ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช

อ๋อ! มิได้และมิใช่ เห็นหัวเรื่องข้างบนแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นสำนวนแปลของ น.นพรัตน์ เนื่องจากบทความนี้มิใช่นิยายจีนกำลังภายในแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นถ้อยวจนะส่วนตัวที่เจรจากับใจตัวเองเพียงแผ่วๆ เมื่อคุณหมอประจำตัวได้กล่าววาจาประกาศิตให้ลดความดันแบบด่วนๆ

เดินคอตกออกจากห้องตรวจ พยายามไม่สบตากับบรรดาคนไข้ในโรงพยาบาล ต่างคนต่างหอบหิ้วสังขารมารไว้ด้วยประการต่างๆ นั่งบ้างยืนบ้าง ล้วนแต่มีใบหน้าหมองคล้ำ ชวนจิตใจของเราที่ห่อเหี่ยวอยู่แล้วให้ห่อเหี่ยวหนักขึ้นไปอีก คำสั้นๆ แต่มีความหมาย “ความดันสูง” หรือคำๆ นี้ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเราให้เป็นไป

คนทุกคนมีคำเปลี่ยนชีวิต ซาโตริส่วนตัวที่เจ้าตัวจะรู้เองแบบปัจจัตตัง เคยสงสัยว่า คำๆ ไหนหนอ ที่จะทำให้ชีวิตเปลี่ยน ในที่สุดก็เจอแล้วที่โรงพยาบาล คือคำนี้เองสินะ...ความดันโลหิต... (เป็นคำอื่นไม่ได้เหรอ? โฮๆๆๆ) ...โอ้ว่าอนิจจังวัฏสังขารา สังขารบานแล้วหุบ เหตุไม่ควรดันก็มาดัน มิลลิเมตรปรอทตัวบนพุ่งปรี๊ดไปถึง 200 ตัวล่าง 120 จะไม่ให้หมอดุยังไงไหว

“นี่เป็นเรื่องจริงจังนะ กรุณาตั้งใจฟังหน่อย” หมอดุ

โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ผู้คนจำนวนมากมีภาวะความดันโลหิตสูงโดยที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ปรากฏอาการชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย

สรุปแล้ว ความดันโลหิตสูงจะระเบิดฤทธิ์เดชด้วยอาการของ 5 โรคสำคัญ คือ 1.โรคหลอดเลือดสมอง 2.อัมพฤกษ์อัมพาต 3.หัวใจโต 4.ไตพัง และ 5.เซ็กซ์เสื่อม

ใครไม่อยากเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด่วน เพราะไลฟ์สไตล์ผู้คนคือสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารรสเค็ม (โซเดียม) รับประทานผักและผลไม้ (รสหวานน้อยๆ) ไม่เพียงพอ ความอ้วน วิถีชีวิตนั่งๆ นอนๆ การขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่ และมีภาวะเครียด อ้อ! อายุที่เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้ความดันโลหิตพุ่ง

“ความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งขึ้น ลดความเร็วการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปสู่หัวใจ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ เป็นสาเหตุให้หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ (Stroke) โรคเบาหวาน แถมด้วยแนวโน้มการเป็นไตวายที่จะตามมา”

ไปหาหมอหนนี้ นอกจากได้พบเจอกับสัญญาณเตือนที่มาในรูปของมิลลิเมตรปรอทความดันโลหิตแล้ว ยังได้รับการบ้านสำคัญ คือ การลดความดันโลหิตลงให้ได้ คนทุกคนควรรู้ค่าความดันโลหิตของตัวเอง ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ มีเครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้าน และควบคุมให้ได้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จึงจะถือว่าไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เล่าถึงวิธีควบคุมความดันว่า คือ 1.การใช้ชีวิตให้กระฉับกระเฉงอย่างสม่ำเสมอ (Stay ActiveAll Ways) การมีกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอและกระฉับกระเฉง เริ่มต้นได้ตั้งแต่กิจกรรมเบาๆ ไปจนถึงกิจกรรมปานกลาง เช่น การทำสวน การเดินทำงานบ้าน การวิ่ง การว่ายน้ำ การออกกำลังกาย (วันเว้นวันวันละ 30 นาที วัดผลด้วยเหงื่อที่ (ต้อง) ซึมถึงไหลซ่กๆ!!)

2.เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ (รสหวานน้อย) (Eat more Fruits and Veggies) โดยกินผลไม้ที่หวานน้อยหรือธัญพืชแทนของว่าง ขนมกรุบกรอบ ควรกินผักผลไม้หลากสีในทุกๆ วัน และควรกินอาหารมังสวิรัติอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 มื้อ

นอกจากนี้คือการลดการกินอาหารผ่านกระบวนการ อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง (Decrease Fast Processed Foods)

3.ลดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล เกลือสูง ซึ่งมักพบได้ในอาหารจานด่วน อาหารขยะ อาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารตามร้านค้าต่างๆ สำหรับการปรุงอาหารเองที่บ้านควรลด/จำกัดการใช้เครื่องปรุง (หวาน มัน เค็ม) ลง บนโต๊ะอาหารไม่ควรวางเครื่องปรุงรสไว้ การตัดวงจรไม่ให้เด็กติดเค็ม ควรเริ่มตั้งแต่เด็ก ส่วนคนโตๆ ก็ฝึกได้

“คนตายเพราะลิ้น คนตายเพราะความเค็ม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของความดันสูง รู้หรือไม่ว่า ความเค็มหรือเกลือโซเดียม เป็นสาเหตุการตายของคนกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกต่อปี”

4.จำกัดการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Limit Alcohol) ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม (ชายดื่มวันละไม่เกิน 2 แก้ว ส่วนหญิงดื่มวันละไม่เกิน 1 แก้ว) เป็นไปได้งดดื่ม งดสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ (Stop Smoking)

5.ความเครียด คนต้องปรับตัว ถ้าปรับตัวได้คลายเครียดได้ ความดันก็ลด เคล็ด(ไม่)ลับมีให้เลือกตั้งแต่การนวดแผนไทย การทำสมาธิ ดูหนังฟังเพลง สัตว์เลี้ยง ฯลฯ การใช้ยาลดความดันต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ระดับ 9 ชช. ผู้จัดการสำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข เล่าให้ฟังถึงเคล็ดลับสำคัญในการลดความดันโลหิตว่า ต้องเริ่มที่จิตใจ ต้องหาแรงบันดาลใจในการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ก่อน เช่น อยากมีร่างกายแข็งแรง อยากสวย อยากมีชีวิตอยู่ให้ถึงลูกรับปริญญา ไม่อยากป่วยเป็นโรค และอยากใช้ชีวิตกับคนที่รักให้นานที่สุด

จากนั้นทุกอย่างก็จะเป็นไปตามครรลอง ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ เป็นไป สูตร 3 อ. นำมาใช้ได้ เพราะอยู่ในวงจรของชีวิตประจำวันอยู่แล้ว นั่นคือ อ.อาหาร อ.ออกกำลังกาย และ อ.อารมณ์ ความจริงแล้วศูนย์รวมของสูตรนี้อยู่ที่ อ.ตัวสุดท้าย คือ อารมณ์ จากประสบการณ์แล้ว เมื่อมีแรงจูงใจแล้ว ความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นจะตามมา

ความดันเปลี่ยนชีวิตคุณ! เริ่มจากความคิดว่า เราเปลี่ยนได้

อาหารสยบความดัน

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า การรับมือความดันด้วยสไตล์อายุรวัฒน์ หรือการคุมความดันโลหิตสูงในทางเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นั้น สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (AHA) เน้นการรักษาด้วยอาหาร โดยมีอาหารที่เรียกว่า แดช ไดเอต (Dash Diet) มุ่งลดความดันเป็นหลัก (Dietary Approaches to Stop Hypertension)

แดช ไดเอต หรืออาหารสยบความดันนี้ ในทางอายุรวัฒน์มีการปรับให้เป็นโปรแกรมง่ายๆ เหมาะกับคนไทย

1.ปลา ช่วยสยบความดันที่พุ่งดันเส้นเลือดได้ เพราะปลามีไขมันดีโอเมก้า 3 ซึ่งมี DHA สูง ป้องกันผนังหลอดเลือดให้ไม่พ่ายแพ้ต่อความดันที่มากระแทกกระทั้น ทำให้ยืดหยุ่น หลอดเลือดไม่แข็งจนปริแตก

2.โพแทสเซียม เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยต้านพลังความเค็ม ที่เติมเต็มความดันให้พุ่งจู๊ด สูตรของตะวันตกให้กินโยเกิร์ตและช็อกโกแลตดำ แต่ของไทยมีทีเด็ดคือ กล้วยน้ำว้า ขึ้นฉ่าย กุยช่าย กระเทียม หัวหอม และถั่วต่างๆ

3.วิตามินดี มีการศึกษาใหญ่ (DCarDia collaboration) ลงลึกถึงระดับยีนของคนกว่า 1 แสน ราย พบว่าความดันสูงเกี่ยวข้องกับการขาดวิตามินดี และเมื่อมีวิตามินดีในเลือดมากขึ้น จะช่วยลดความดันสูงลงได้ถึงเกือบ 10% ซึ่งวิตามินดีมีมากในอาหารไทยอย่าง ไข่แดง ปลา เห็ด สาหร่าย นมวัว และแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้า

4.ล้างพิษหัวใจ ข้อสุดท้ายแต่สำคัญสุดๆ ความดันที่สูงฉุดไม่ลงแม้กระทั่งกินยาก็แล้ว ส่วนหนึ่งมาจาก “ใจ” ที่สะสมพิษเครียด กังวล จนตกตะกอนเป็นนิ่วในใจ

การศึกษาล่าสุดในปี 2013 จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า คนที่ใช้เวลาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสังคมเพียงน้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง ช่วยลดความดันสูงได้ถึง 40%

ลองทำดูแล้วจะรู้