posttoday

เฟซบุ๊ก 1 ในเครื่องมือประเมิน Competency

01 กรกฎาคม 2556

ถ้ามองในแง่ของสื่อของคนในสังคมออนไลน์แล้ว เฟซบุ๊ก (Facebook) ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งในการติดต่อสื่อสาร การสร้างเครือข่าย

โดย...ณรงค์วิทย์ แสนทอง / www.peoplevalue.co.th

ถ้ามองในแง่ของสื่อของคนในสังคมออนไลน์แล้ว เฟซบุ๊ก (Facebook) ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งในการติดต่อสื่อสาร การสร้างเครือข่าย การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การระบายอารมณ์ การเปิดเผยตัวตนให้คนอื่นรู้จัก การเชื่อมโยงเครือข่ายมิตรภาพตั้งแต่ระดับเพื่อนร่วมสังคมออนไลน์ที่สนใจเรื่องบางเรื่องเหมือนกัน จบจากสถาบันเดียวกัน เคยทำงานองค์กรเดียวกัน ฯลฯ จนพัฒนาไปสู่มิตรภาพของเพื่อนสนิทหรือกลายเป็นเพื่อนคู่ชีวิตกันไปแล้วก็มี

ในฐานะที่ผมเคยทำงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์มาก่อน จึงคิดว่าคนทำงานด้าน HR น่าจะใช้เฟซบุ๊กให้เป็นประโยชน์ในการทำงานได้มากกว่าแค่การประกาศรับสมัครงานหรือโพสต์ลิงก์ไปยังเว็บไซต์สมัครงานของบริษัท

และเท่าที่ได้อ่านสิ่งที่คนในเฟซบุ๊กเขียน พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกบุคลากรได้ โดยเฉพาะการประเมินสิ่งที่ไม่ใช่ความรู้และทักษะในงาน แต่เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงนิสัยใจคอ บุคลิกลักษณะ ความเชื่อ วิธีคิด ทัศนคติ สังคม ผมคิดว่าเราน่าจะนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อคัดเลือกคนเข้าทำงานได้บ้าง เช่น

ดูจากรูปประจำตัว

รูปประจำตัวของคนน่าจะบอกอะไรบางอย่างได้เหมือนกันว่าเขาเป็นคนแบบไหน เช่น คนที่เลือกรูปการ์ตูนหรือรูปกราฟฟิก น่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเปิดเผยตัวเองกับสังคม อาจจะเกรงว่ามีคนบางคนที่รู้จักมาเห็น หรือไม่ก็เป็นพวกที่ต้องทำทุกอย่างต้องดูดีไว้ก่อน ถ้าคิดว่ายังไม่ดีจะยังไม่ทำ

สำหรับคนที่เอารูปตัวเองที่ทำท่าทางแปลกๆ มาเป็นรูปประจำตัวจะตีความว่าเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ เปิดเผย กล้าแสดงออก ตรงไปตรงมา เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบอะไรที่เป็นระบบก็ได้ คนที่ชอบเปลี่ยนรูปประจำตัวของตัวเองบ่อย อาจจะตีความได้ว่าเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ เหมือนเดิม ชอบเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา หรือหากจะตีความว่าเป็นคนไม่อดทนเบื่อง่ายก็ได้

ดูจากสิ่งที่เขียน

น่าจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อ วิธีคิด ภาวะความเป็นผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน เพราะหากคนที่มีความคิดไตร่ตรองดีๆ ก็ไม่ควรเอาความคิดความรู้สึกทั้งหมดลงมาเขียน อาจจะต้องจัดประเภทว่าเรื่องนี้ควรจะเขียนเก็บไว้เป็นการส่วนตัว เรื่องนี้เปิดเผยได้เฉพาะคนที่สนิท เรื่องนี้เผยแพร่ต่อสาธารณะได้ คนบางคนไม่เขียนอะไรที่ทำให้ตัวเองดูไม่ดี แต่บางทีพอคนอื่นเขียนมากระตุ้นจุดบางจุดอาจจะทำให้ลืมตัวเขียนอะไรที่เป็นตัวตนที่แท้จริงออกมาก็ได้ ถ้าต้องการดูว่าคนๆ นั้นมีตัวตนเป็นของตัวเองหรือไม่ก็อาจจะดูว่าลักษณะการเขียนในหน้าเฟซบุ๊กของตัวเองเทียบกับการเขียนในเฟซบุ๊กของเพื่อนแต่ละกลุ่มก็พอจะมองเห็นว่าคนคนนั้นมีกี่บุคลิก

ดูจากสิ่งที่คนอื่นเขียนถึง

น่าจะช่วยให้มองภาพคนคนนั้นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าเขาเป็นคนแบบไหน จากสิ่งที่คนที่รู้จักเขาเขียนถึง เพราะคนที่เขียนถึงเขามักจะเขียนสิ่งที่เป็นเรื่องจริงไม่ค่อยมีใครสร้างเรื่องขึ้นมา อาจจะดูว่าเพื่อนๆ ที่รู้จักเขาเขียนถึงเขาเป็นไปในโทนเดียวกันหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร เขาวางตัวกับคนแต่ละกลุ่มอย่างไรบ้าง เพื่อนๆ เขียนถึงเขาเรื่องตัวตนมากกว่าหรือเรื่องความสามารถมากกว่า

ดูจากอัลบั้มรูปภาพ

สามารถนำมาพิจารณาประกอบได้ว่าการดำเนินชีวิตของคนๆ นั้นเป็นอย่างไร ชอบท่องเที่ยว ชอบเดินทาง ชอบกิจกรรมอะไร เพื่อนำมาตีความว่าคนที่ชอบทำสิ่งนั้นสิ่งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีนิสัยใจคอแบบไหน รูปที่เอาลงแสดงให้เห็นว่าคนๆ นั้นชอบรูปประเภทไหนมากกว่ากัน หากชอบลงแต่รูปอดีตแสดงว่าปัจจุบันไม่ค่อยมีความสำเร็จที่สำคัญไปกว่าภาพในอดีต บางคนลงแต่รูปสวยๆ ในขณะที่บางคนลงรูปตัวเอง บางคนลงรูปครอบครัว บางคนเน้นลงรูปเพื่อน

ดูจากเพื่อนที่คบ

ถ้าอยากจะรู้คนๆ นั้นเป็นคนแบบไหน ชอบการเมืองพรรคไหน ชอบทำกิจกรรมอะไร มีสังคมแบบไหน ก็สามารถเข้าไปดูลักษณะของเพื่อนที่เขารับเป็นเพื่อนก็ได้ เพราะเขาปิดบังตัวเองได้ แต่เขาไม่สามารถปิดบังลักษณะของเพื่อนของเขาได้ การดูโปรไฟล์เพื่อนส่วนใหญ่ของเขาพอจะบอกอะไรได้หลายอย่างเหมือนกัน และหากจะดูลึกกว่านั้นให้ดูว่าเขาติดต่อหรือพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนที่มีลักษณะแบบไหน เช่น ชอบติดต่อพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนที่มีแนวคิดดีๆ มีไฟในตัวเอง ก็แสดงให้เห็นว่าตัวเขาเองก็มีแนวโน้มเป็นคนแบบนั้นเหมือนกัน

การอัพเดทเครื่องมือการใช้งาน

ถ้าต้องการรู้ว่าคนๆ นั้นเป็นคนที่ชอบการเปลี่ยนแปลงหรือชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือไม่ ก็พอดูได้จากการอัพเดทการใช้ฟังก์ชั่นใหม่ๆ ในเฟซบุ๊กได้ คนบางคนเข้ามาแค่อ่านอย่างเดียว เวลาผ่านไปกี่วันกี่เดือนหน้าตาหน้าแรกเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในขณะที่คนบางคนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเฟซบุ๊กมีฟังก์ชั่นหรือเครื่องมืออะไรใหม่ๆ ออกมาเขาจะเป็นคนแรกๆ ที่ใช้ก่อนและเผยแพร่หรือแนะนำคนอื่นให้ใช้อีกต่างหาก

เนื่องจากการตั้งชื่อในเฟซบุ๊กบางคนไม่ได้ใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง แต่เรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีหลายเรื่องที่เขาเปิดเผยโดยไม่รู้ตัว เช่น จบจากสถาบันไหน เป็นคนจังหวัดไหน เคยทำงานที่ไหน อยู่กลุ่มหรือชมรมไหน ชอบอะไร ฯลฯ เราสามารถค้นหาได้จากหลายทางร่วมกันก็ได้ เช่น ค้นหาจาก google แล้วลิงก์มาที่เฟซบุ๊กหรือค้นหาจากอีเมลแอดเดรสเพื่อเชื่อมต่อมายังเฟซบุ๊กก็ได้

พูดง่ายๆ ว่าการค้นหาข้อมูลผู้สมัครในเฟซบุ๊กไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเรามีข้อมูลที่เขาให้ไว้ในประวัติย่อหรือใบสมัครมากพอที่จะค้นหาได้ ยกเว้นผู้สมัครคนนั้นไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ก

สรุป ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแนวคิดและตัวอย่างในการนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้มาประยุกต์ใช้กับการบริหารบุคลากรในองค์กรเท่านั้น ส่วนองค์กรไหนจะได้ประโยชน์มากน้อยหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการทดลองนำไปใช้ดูก่อน ถ้าใช้แล้วไม่ได้ผลก็ไม่ต้องใช้ต่อไม่ได้เสียหายอะไร หากใช้แล้วคิดว่ามีประโยชน์ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แค่เรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าเฟซบุ๊กน่าจะช่วยเสริมให้การสัมภาษณ์และการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้สมัครจากบุคคลที่เขาอ้างอิงได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนะครับ