posttoday

‘หมอตุ่ย’ของชาวอุ้มผาง อุทิศชีวิตเพื่อคนยากไร้

29 มิถุนายน 2556

ตั้งแต่ทำข่าวมาเคยได้เจอ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ หรือ “หมอตุ่ย” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก เป็นครั้งที่ 2

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ตั้งแต่ทำข่าวมาเคยได้เจอ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ หรือ “หมอตุ่ย” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก เป็นครั้งที่ 2 แต่หมอวรวิทย์ยังคงมีบุคลิกเรียบง่าย และพูดจาตรงไปตรงมาเหมือนเดิม

ครั้งที่แล้วหมอวรวิทย์เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในหมวกของแกนนำแพทย์โรงพยาบาลชายแดน เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ช่วยเหลือโรงพยาบาลตามแนวตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะชายแดนพม่า เนื่องจากหลายโรงพยาบาลต้องแบกรับหนี้มหาศาล จนในที่สุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ในขณะนั้น ได้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลให้กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ จำนวน 4.7 แสนคน และทำให้โรงพยาบาลชายแดนพอลืมตาอ้าปากได้บ้าง

จนถึงวันนี้ หมอวรวิทย์ยังคงทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่ขึ้นชื่อว่าไกลและเดินทางยากลำบากที่สุดของประเทศแห่งหนึ่ง เพราะต้องใช้เวลาเดินทางจาก อ.แม่สอด ยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง ถึง อ.อุ้มผาง และต้องผ่านโค้งหักศอกมากถึง 1,219 โค้ง เพื่อมายังโรงพยาบาลแห่งนี้

แม้จะเป็นอำเภอที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ กินเนื้อที่กว่า 4,325 ตารางกิโลเมตร แต่ว่ากันว่า ถ้าไม่มีเพชรเม็ดงามอย่าง “น้ำตกทีลอซู” อยู่ อุ้มผางก็คงไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายๆ คน เพราะการเดินทางนั้นยากลำบากมาก ขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอนี้ก็ยังคงไม่มีถนน และเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นเสียส่วนใหญ่ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ก็มีมาก เพราะมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอิสลาม ขณะที่บางชาติพันธุ์ก็ยังนับถือผี

อาจจะแปลกสำหรับใครหลายๆ คน แต่สำหรับ “คุณหมอตุ่ย” นั้นคุ้นชินแล้ว จนถึงตอนนี้เป็นปีที่ 22 ที่เขาเข้ามาเป็นหมอที่นี่ เพราะตั้งแต่เรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) รุ่น 1 ตั้งแต่ปี 2534 หมอซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา คนนี้ไม่เคยย้ายไปไหน แต่ยังคงก้มหน้าก้มตารักษาคนไข้ทุกคนตั้งแต่เช้าจรดค่ำไปจนถึงดึก และเต็มไปด้วยนวัตกรรมใหม่มากมาย จนทำให้เขาได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นมาแล้วถึง 4 รางวัล

หมอวรวิทย์ บอกว่า เขาไม่ได้มีอุดมการณ์ความเป็นแพทย์ชนบทเป็นพิเศษ แต่ที่เลือกอยู่ที่นี่เพราะมีโจทย์ใหม่ให้เขาต้องขบคิด และหาทางแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา อีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะคุณหมอวัย 46 คนนี้ยังโสด ไม่มีครอบครัว และไม่มีภาระอะไรมากมาย เพราะฉะนั้นชีวิตที่อยู่ที่อุ้มผางจึงอุทิศให้การทำบุญและช่วยเหลือคนได้เต็มที่

“ที่นี่ผมผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้กับรถยนต์ของโรงพยาบาลเอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย” หมอวรวิทย์พูด พร้อมกับพาเดินสำรวจโรงผลิตไบโอดีเซลขนาดย่อม ซึ่งตั้งอยู่หลังโรงพยาบาล ภายในมีแกลลอนจำนวนมากสำหรับแยกชนิดของน้ำมัน ว่าชนิดใดสามารถใช้กับรถยนต์กระบะ หรือชนิดใดใช้สำหรับเครื่องปั่นไฟและรถอีต๊อก ซึ่งเป็นรถสำหรับส่งต่อคนไข้ที่อยู่ในป่าลึก

ถัดไปไม่ไกล ก็จะพบกับถังหมักก๊าซชีวภาพ สำหรับหมักเศษซากอาหารและขยะภายในโรงพยาบาล เพื่อนำก๊าซที่ได้ไปใช้สำหรับประกอบอาหารในโรงครัว ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซของโรงพยาบาล ขณะเดียวกันกลีเซอรีนจากไบโอดีเซลที่โรงพยาบาลผลิตนั้น ก็สามารถนำมาทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาขัดห้องน้ำ และน้ำยาถูพื้น ภายในโรงพยาบาลได้อีกด้วย ขณะที่ฟากตรงข้ามของโรงผลิตไบโอดีเซลนั้น เป็นอู่ซ่อมรถที่มีเครื่องมือเพียบพร้อมไม่แพ้อู่ขนาดใหญ่ในเขต จ.ตาก เลยทีเดียว โดยรวมๆ แล้ว คุณหมอบอกว่า ในแต่ละปีน่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลไปได้เป็นหลักแสนบาท

หมอวรวิทย์ เฉลยว่า แท้จริงแล้วอาชีพที่เขาใฝ่ฝันจะทำอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการเป็นหมอก็คือ การเป็น “วิศวกร” เพราะฉะนั้นโจทย์ยากๆ ที่โรงพยาบาลจึงเป็นบ่อเกิด ทำให้เขาได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ เพื่อแก้ปัญหาให้คนอื่นและให้โรงพยาบาลได้ทุกวัน งานที่นี่จึงเป็นงานที่ไม่น่าเบื่อเลยแม้แต่วันเดียว

ดูแลทุกคน ทุกเชื้อชาติ ด้วยมาตรฐานเดียว

ทว่า โจทย์ใหญ่ของการผลิตสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็คือ ความต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลจะต้องแบกรับเองในแต่ละปี เพราะงบประมาณที่ลงมาจาก สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ไม่เคยเพียงพอสำหรับโรงพยาบาลอุ้มผาง ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระหนี้สะสมอยู่ราว 3040 ล้านบาท

เหตุที่ไม่เพียงพอ ก็ยังเป็นเหตุผลเดียวกับที่หมอวรวิทย์เรียกร้องกับ รมต.จุรินทร์ เมื่อ 3 ปีก่อน นั่นคือ สิทธิในการเข้ารับการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้น จำกัดเฉพาะคน “สัญชาติไทย” เท่านั้น แม้จะมีการแก้ด้วยมติ ครม.ที่ให้สิทธิกับผู้ที่มีปัญหาด้านสัญชาติเพิ่ม ทว่า คนที่ยังขาดโอกาสก็ยังมีอยู่มากและยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากอัตราการเกิดที่สูงลิบ ขณะเดียวกันชายแดนระหว่าง อ.อุ้มผาง และประเทศพม่านั้น ก็ยังคงมีการสู้รบกันประปราย ทำให้ยังมีผู้ป่วยหน้าใหม่ๆ ข้ามมารักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผางอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้คนไข้ของคุณหมอวรวิทย์ จึงมีตั้งแต่กะเหรี่ยงที่เป็นวัณโรค เป็นมาลาเรีย หรือชาวบ้านที่เหยียบทุ่นระเบิดขาขาด 2 ข้าง ซึ่งด้วยหลักมนุษยธรรมแล้ว ก็ไม่สามารถจะปฏิเสธผู้ป่วยเหล่านี้ได้

คุณหมอ บอกว่า นี่อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องชดใช้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่กระแส “การพัฒนา” หลั่งไหลเข้าไปในเขตป่าหรือในเขตชนบท ซึ่งเป็นที่พำนักของคนเหล่านี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้กลับด้วยการรักษาคนกลุ่มนี้อย่างสุดความสามารถ แม้ว่าจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากรัฐไม่ได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขของอุ้มผางก็ถือว่าไม่แพ้ใคร เพราะคุณหมอวรวิทย์สามารถผลักดันให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 7 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) 6 แห่ง สุขศาลาพระราชทาน 2 แห่ง และสุขศาลาประจำหมู่บ้าน 13 แห่ง ในฐานะแม่ข่าย สามารถดูแลชาวบ้านจำนวนมหาศาลเขตนี้ได้ นอกจากนี้เขายังข้ามไปสร้างสุขศาลาในประเทศพม่า เพื่อควบคุมป้องกันโรคไม่ให้ข้ามชายแดนมายังเขตของเขาได้อีกด้วย

“ที่นี่อาจจะปฏิบัติต่างจากคนไข้คนละแบบกับโรงพยาบาลอำเภออื่นๆ ที่เน้นส่งต่อคนไข้เข้าไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลจังหวัด เพราะด้วยความยากลำบากของการเดินทาง ทำให้ผมและทีมแพทย์ที่นี่ทุกคนผ่าตัดเล็กและผ่าตัดใหญ่ด้วยตัวเองทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ต้องผลัดเปลี่ยนกันไปดูแลสุขศาลาที่เราสร้างไว้ เพื่อป้องกันโรคให้คนในพื้นที่ห่างไกลด้วย” คุณหมอวรวิทย์ เล่าให้ฟัง

ขณะเดียวกันเมื่อปัญหาเรื่องสัญชาติเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้คนในแถบนี้เข้าไม่ถึงการรับบริการสาธารณสุข โดยตลอด 22 ปีที่ผ่านมา คุณหมอวรวิทย์ เล่าให้ฟังว่า เจอเรื่อง “ดราม่า” เกี่ยวกับสัญชาติจำนวนมาก เช่น อยู่ในไทยมาหลายชั่วอายุคน แต่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ หรือป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายแล้ว แต่เพิ่งได้สัญชาติ ทำให้รับการรักษาไม่ทัน หรือไม่กล้าข้ามไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด เพราะกลัวจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม จนอาจไม่มีเงินจ่าย ทำให้หลายรายสุดท้ายต้องเสียชีวิตอยู่ที่ อ.อุ้มผาง นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ คุณหมอวรวิทย์จึงได้มีแนวคิดก่อตั้งคลินิกฎหมายอุ้มผางเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันวิจัยและเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐกับโรงพยาบาลอุ้มผาง โดยมี รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อลดเรื่องปวดใจเหล่านี้

“เมื่อใดก็ตามที่ ‘เงิน’ และ ‘กฎหมาย’ ยังอยู่เหนือเรื่องของ ‘มนุษยธรรม’ เมื่อนั้นก็ไม่สามารถเรียกว่า ‘ระบบสาธารณสุข’ ได้แล้ว หากเราต้องการระบบที่สมบูรณ์แบบ ก็ต้องทลายกำแพงตรงนี้ลงให้ได้มากที่สุด” หมอวรวิทย์ สรุปให้ฟัง

เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ต่อชีวิตให้คนอื่น

หลายๆ คนที่อาจกำลังถกเถียงเรื่องค่าตอบแทนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โดยเฉพาะการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่สำหรับคุณหมอวรวิทย์แล้ว เรื่องค่าตอบแทนแทบจะไม่มีอุปสรรคอะไรกับเขาเลย เพราะเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่เขาได้รับ ถูกแบ่งออกไปจำนวนหนึ่งเพื่อให้เด็กในเขต อ.อุ้มผาง มีการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถึง 10 คน โดยคุณหมอตุ่ยให้ค่ากินอยู่สำหรับเด็กถึงเดือนละ 4,000 บาท

ทั้งนี้ อุ้มผางถือเป็นพื้นที่ทุรกันดารระดับที่ 2 โดยแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ปีที่ 21 ขึ้นไปอย่างคุณหมอวรวิทย์จะได้ค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท และเมื่อเปลี่ยนระบบเป็น P4P แล้ว ก็ยังมีเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นฐานอยู่ราว 6 หมื่นบาท แต่คุณหมอบอกว่า สำหรับคนโสด ไม่มีภาระอะไร เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายก็มากเกินความจำเป็น ยิ่งอยู่ในพื้นที่อย่าง อ.อุ้มผาง ซึ่งอยู่ห่างไกลขนาดนี้แล้ว ยิ่งไม่รู้จะไปใช้ทำอะไร สู้นำไปต่อโอกาสชีวิตให้คนอื่นดีกว่า

คนใกล้ชิดคุณหมอ เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้แม้ว่าที่ อ.แม่สอด จะมีสนามบิน และมีเที่ยวบินขึ้นลงวันละหลายเที่ยว แต่คุณหมอวรวิทย์ก็ยังเลือกใช้บริการ “รถทัวร์” หากมีภารกิจจำเป็นต้องลงไปที่กรุงเทพฯ เพื่อประหยัดงบประมาณของโรงพยาบาล และจะพูดเสมอว่า โรงพยาบาลอุ้มผางยังมีภาระอีกมาก หากประหยัดได้ ก็ควรจะประหยัด

“มองย้อนกลับไป 22 ปีที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าตัวเรามีประโยชน์กับคนอื่น ได้ทำให้คนอื่นมีความสุข แค่นี้ชีวิตเราก็ไม่ไร้สาระแล้ว ถ้าคิดแบบนี้ ก็จะทำให้เราทำงานอยู่ในพื้นที่ได้นานขึ้น และยิ่งมีปัญหาให้เราแก้ทุกวัน เราก็มีความสุข คนอื่นๆ ก็มีความสุข แค่นี้เราก็พอใจ” นพ.วรวิทย์ ทิ้งท้าย