posttoday

ไม่มั่นใจว่า ‘สวย’ คิดไปเองหรือค่านิยม?

26 มิถุนายน 2556

ผู้หญิงมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่มั่นใจว่าตัวเองสวย เพราะอะไรผู้หญิงถึงรู้สึกอย่างนั้น แล้วนิยามคำว่า สวย ต้องมีรูปร่างหน้าตาออกมาเยี่ยงไร และใครเป็นคนกำหนดชี้นำว่า นี่แหละสวย...

โดย...นกขุนทอง / เครดิตภาพ จาก โดฟ ภาพ จาก M.A.C.

ผู้หญิงมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่มั่นใจว่าตัวเองสวย เพราะอะไรผู้หญิงถึงรู้สึกอย่างนั้น แล้วนิยามคำว่า สวย ต้องมีรูปร่างหน้าตาออกมาเยี่ยงไร และใครเป็นคนกำหนดชี้นำว่า นี่แหละสวย...

ไม่สวย ไร้ความมั่นใจ

“1 เปอร์เซ็นต์” เท่านั้น ที่ผู้หญิงทั่วภูมิภาค รวมทั้งผู้หญิงในประเทศไทย “กล้ายอมรับว่าตัวเองสวยและดูดี” ข้อมูลจากผลการวิจัยชุดล่าสุดของ “โดฟ” ในหัวข้อ “ทัศนคติและมุมมองเกี่ยวกับความสวยงามและความมั่นใจ” โดยมีสิ่งสำคัญที่ทำลายความเชื่อมั่นในเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงคือ “คำวิจารณ์ของตัวเอง”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คลิปวิดีโอ “Dove Real Beauty Sketch” ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางและมียอดชมถึง 50 ล้านวิวในยูทูบ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของ “กิล ซาโมรา” นักวาดภาพผู้ต้องสงสัยมืออาชีพเอฟบีไอ ที่สเกตช์ภาพจากคำบอกเล่าการบรรยายถึงหน้าตาของตัวเองของผู้หญิงหลายๆ คน เปรียบเทียบกับภาพสเกตช์ของผู้หญิงเหล่านั้นจากการบรรยายรูปลักษณ์ภายนอกโดยคนอื่น

ผลลัพธ์ออกมาน่าตกใจคือ ภาพสเกตช์จากคำบรรยายโดยบุคคลอื่นออกมาดูดีกว่าภาพสเกตช์ที่ผู้หญิงอธิบายตนเองแทบทุกภาพ ตอกย้ำผลลัพธ์ของการสำรวจของโดฟที่ว่า ผู้หญิงมักเห็นคุณค่าความงามของตัวเองน้อยกว่าที่เป็นจริง!

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มขาดความมั่นใจมากกว่าผู้ชาย เพราะค่านิยมของสังคมกำหนดคุณค่าของผู้หญิงที่ความสวย ตรงข้ามกับผู้ชายที่ถูกกำหนดคุณค่าที่ความสามารถ เมื่อบวกกับการที่ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความคาดหวังต่อตัวเองสูง ทำให้ผู้หญิงมักจะประเมินคุณค่าความงามของตัวเองต่ำกว่าเมื่อผู้อื่นประเมินให้

“สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อผู้หญิงส่องกระจกแล้วจะรู้สึกว่า สวยไม่พอ สวยแล้วต้องสวยกว่านี้อีก ในที่สุดชักนำผู้หญิงไปสู่ภาวะวิตกกังวลและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง นำไปสู่ปัญหาในการดำเนินชีวิต เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ บางรายอาจมีอาการเสพติดศัลยกรรม หรือเกิดปัญหาทางจิตใจต่างๆ เช่น โรคกลัวอ้วน”

อิทธิพลสื่อ ชี้(นำ)สวยเปลี่ยนชีวิต

สื่อโฆษณา ละคร ฯลฯ ที่นำเสนอกันออกมาสู่สายตาและการรับรู้ของประชาชนนั้น เป็นสิ่งตอกย้ำซ้ำๆ ต่อพฤติกรรมการรับรู้ว่า ผู้หญิงต้องสวย ต้องดูดีนะถึงจะประสบความสำเร็จ ทั้งการงาน ความรัก และเป็นที่ยอมรับในการเข้าสังคมต่างๆ ที่สำคัญสวยในที่นี้ ก็บล็อกไว้ที่หน้าเรียว จมูกโด่ง ปากบางนิดเผยอหน่อย หุ่นผอมบาง ผิวขาวจั๊ว

วิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย พูดถึงอิทธิพลของโฆษณาว่า มีแรงจูงใจกับคนบางคนเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

“คนที่มีสติ มีเหตุผล คนที่เขาไม่ได้ถูกจูงใจได้ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีผลกับผู้คนส่วนหนึ่ง เพราะดูโฆษณาทุกๆ วัน เหมือนถูกล้างสมอง ทำให้ทัศนคติผู้คนไปทางนั้น แต่โฆษณามีผลทั้งหมดเลยหรือเปลี่ยนสังคมได้ ผมไม่เชื่อว่าถึงขั้นนั้น ผมอยากให้มองว่า ถ้ามันง่ายขนาดกรอกหูกันอยู่ทุกวันคนจะเชื่อตาม งั้นเรื่องที่ดีก็คงกรอกได้เหมือนกันมั้ง บางเรื่องเราต้องพูดกันปากเปียกปากแฉะก็ไม่ผลกระทบกับใคร

สินค้าเกี่ยวกับความสวยความงาม ก็ต้องเลือกคนที่สวยหล่อมาเป็นพรีเซ็นเตอร์จูงใจอยู่แล้ว แต่ในวงการโฆษณาเองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พระเอกนางเอกโฆษณาที่ไม่ได้สวยหล่อก็มีมากขึ้น แต่โฆษณาที่เน้นความสวยความงามนั้น มีผลต่อคนดู ดูโฆษณาแล้วเหมือนกับมีแรงบันดาลใจให้มีวิธีทำรูปร่างหน้าตาดูดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดมาไม่สวยอย่างในโฆษณา เหมือนในยุคหนึ่งเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาที่มีโฆษณาสินค้าผิวขาว หน้าขาว ทำให้คนผิวสีที่ใช้สินค้านี้อย่างไรก็แก้ไม่ได้ เกิดความไม่พอใจ”

อย่างที่ตอนนี้กำลังร้อนถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และคณะกรรมการจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณาก็คือโฆษณาของคลินิกความงามแห่งหนึ่ง ที่ใช้คอนเซ็ปต์ว่า ความสวยเปลี่ยนชีวิตได้ จริงขนาดนั้นเลยรึ!!!

“ที่ประชาชนร้องเรียนกันเข้ามาก็คือ เป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ ให้สังคมหรือเปล่า แต่ในมุมของเจ้าของ เขามองว่าเอาเรื่องจริงมาพูด เพราะสวยถึงได้เป็นดารา มันก็เป็นความจริง เพราะหนึ่งเขาไม่ได้รับประกันว่าทุกคนสวย แต่เขาเอาตัวอย่างของคนที่ทำแล้วสวยมาบอก เป็นความจริงของพรีเซ็นเตอร์”

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาฯ ว่า หากเขาต้องมานั่งในฐานะกรรมการตัดสินว่าเรื่องนี้ถูกหรือผิดก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ยาก “มุมหนึ่งมันไปสร้างทัศนคติว่าทุกคนต้องสวยนะ ก็ต้องวัดประเด็นนี้กันต่อไปว่าสังคมได้รับผลกระทบรุนแรงขนาดไหน เป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดหรือเปล่า เพราะแม้ใน สคบ. คณะกรรมการจรรยาบรรณฯ มุมมองต่อเรื่องนี้ก็ต่างกัน

เขาไม่ได้ผิดแบบโจ่งแจ้ง ต้องมาวิเคราะห์ให้ดี มาสั่งห้ามกันได้หรือเปล่า ในเชิงกฎหมายอาจไม่ได้ แต่ในเชิงขอความร่วมมือก็ได้ ต้องฟังความเห็นของนักจิตวิทยาว่าประโยคนี้มีผลกระทบต่อสังคมเยอะขนาดไหน

อยากจะย้ำว่า ทุกเรื่องเรารับฟังและดูแล เราก็มีการเซ็นเซอร์ ควบคุมกันในระดับหนึ่งแล้ว แต่สังคมต้องช่วยกันจับตาและฟีดแบ็กมาด้วย ให้คนทำได้รับรู้ อย่าให้ทำอะไรเกินเลย”

เติมความมั่นใจ...สวยได้อย่างแตกต่าง

ลลิดา ลีละยูวะ ผู้ก่อตั้งและเอ็กซ์คลูซีฟ ดีไซน์ ไดเร็กเตอร์ บริษัท ดับเบิลยูเอ็ม อิมเมจิเนียร์ ผู้ร่วมวางแผนหลักสูตรพัฒนาบุคลิกภาพ ที่ จอห์น โรเบิร์ต พาวเวอร์ส ได้แนะวิธีสวยและดูดียามพบปะกับผู้คนไว้...

“นอกจากเสื้อผ้าหน้าผม ที่เราต้องให้เวลาในการดูให้เรียบร้อยแล้ว ดิฉันเน้นว่าให้ดูเรียบร้อยนะคะ ไม่ใช่สวยแบบวูบวาบ หาวิธีแต่งหน้า ทำผมให้ดูเข้ากับเราก็พอแล้ว ที่สำคัญความสะอาดหมดจดของใบหน้านี่สิที่ทำให้เราดูน่ามอง ที่เขาเรียกกันว่าคนหน้าเปิด โดยที่มองไปที่หน้าแล้ว ไม่รก ไม่มีผมมาปรกหน้าบังความสดใสของคุณ

มาถึงกิริยามารยาท กาลเทศะ เป็นสิ่งที่สังคมไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นสิ่งที่ทำให้ใครๆ มองว่าคุณได้รับการอบรมมาอย่างดี ไปไหนก็ไม่อายใคร ไม่มีใครสามารถดูถูกเราได้

ท่วงท่าที่สง่างาม รวมถึงรอยยิ้ม เป็นสิ่งที่ทำให้เราโดดเด่นมากกว่าคนอื่น และเป็นที่จดจำมากไปกว่าหน้าตาที่สวยหรือหล่ออย่างเดียวเสียอีกค่ะ เช่น บางคนสวยมาก หล่อมาก แต่พอพูดพอแสดงอะไรออกมาแล้วจบกัน เพราะฉะนั้นสวยที่หน้าตาอย่างเดียวไม่พอนะคะ สวยที่มาจากข้างใน นำพาซึ่งความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าโดยไม่น่าเชื่อเลยล่ะค่ะ

ถึงเวลาที่คุณจะเริ่มลองสำรวจตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้คุณไม่มั่นใจ และลองลุกขึ้นมาปรับปรุง ปรับเปลี่ยน คุณจะเห็นผลที่ตามมาอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะค่ะ”

ด้าน พญ.อัมพร ให้คำแนะนำในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาว่า การสร้างความมั่นใจในผู้หญิง ในทางจิตวิทยาสามารถพัฒนาได้ด้วยทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก

“สำหรับปัจจัยภายในนั้น แม้ว่าคนที่มีรูปลักษณ์ภายนอกสวยงาม และมีความสมบูรณ์ในทุกส่วนจะมีแนวโน้มที่จะมั่นใจมากกว่า แต่หากเรามีโครงสร้างทางความคิดเป็นบวกคือมองเห็นคุณค่าและข้อเด่นของตนเอง และมีวัยวุฒิเพิ่มขึ้น ก็สามารถสร้างเสน่ห์จากความมั่นใจได้ โดยวิธีที่นิยมคือ Positive Self Talk หรือการฝึกมองคุณค่าของตัวเอง โดยพูดถึงข้อดีของตัวเองวันละ 3 ครั้ง รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เราไว้ใจได้ และสร้างเป้าหมายให้กับตัวเองในสิ่งที่ถนัด ก็จะช่วยให้เราสามารถสร้างความมั่นใจจากภายใน

ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่เกิดจากครอบครัว เพื่อน สังคม และสื่อมวลชนนั้น สิ่งที่สามารถทำได้คือรู้จักให้กำลังใจและชื่นชมคนในครอบครัวและบุคคลรอบตัว เพื่อหล่อหลอมให้คนใกล้ชิดมีพลังคิดบวกและเห็นคุณค่าในตัวเอง”

ผู้หญิงมั่นใจ 1 เปอร์เซ็นต์มีน้อยมาก

ขนาดสาวมั่นอย่าง กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ ก็เคยไม่มั่นใจว่าตัวเองสวยดูดีเหมือนกัน แต่ในวันนี้เมื่อได้เรียนรู้และค้นพบความสวยตามเอกลักษณ์ของตัวเอง ก็มั่นใจในความสวยได้อย่างโดดเด่นไม่แพ้ใคร

“จากงานวิจัยของโดฟที่บอกว่า มีผู้หญิงไทยแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ที่กล้าบอกว่าตัวเองสวยและดูดี แมร์มาคิดดูแล้ว ผลวิจัยนี้อาจจะสะท้อนเหตุการณ์จริงบางอย่างในสังคมเรา เช่น ก่อนที่ผู้หญิงจะอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม พวกเธอจะต้องแต่งรูปด้วยสารพัดแอพ แล้วการอัพรูปบ่อยๆ ก็เป็นไปได้ว่าลึกๆ ผู้หญิงเราอยากจะให้คนมากดไลค์และคอมเมนต์ชมเรา ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกดีและมั่นใจมากขึ้น

สำหรับแมร์ยอมรับว่าแมร์ไม่ใช่คนสวยตามแบบฉบับไทยนิยม แต่ถ้าถามว่าทำไมแมร์ถึงดูเป็นผู้หญิงมั่นใจ เคล็ดลับก็คือ แมร์ดูแลตัวเองอย่างดีทั้งจากภายในและภายนอก แมร์เชื่อมาตลอดว่าเสน่ห์ของแต่ละคนมาจากการเป็นตัวของตัวเอง การนับถือตัวเองและมั่นใจที่จะพูดว่าเราสวยในแบบของเรา

แมร์มองว่าอย่าเอาความสวยของเราแขวนไว้บนความพอใจของคนอื่น และต้องบอกตัวเองให้ได้ว่าเราก็มีดีในแบบของเรา ความสวยต้องมีวันพอ เมื่อเราพอใจเราก็จะสวย อย่างแมร์อยู่เมืองไทยอาจจะไม่ได้สวยสะดุดตา แต่ขอบอกว่าไปเมืองนอกทีไรหนุ่มๆ ฝรั่งเข้ามาบอกว่า You are Beautiful กันตรึม แมร์อยากให้ผู้หญิงหันมานับถือตัวเองให้มากขึ้น”

เรื่องของความสวยเป็นรสนิยม เป็นความพึงพอใจในแต่ละบุคคล ไม่มีมาตรวัดที่แน่นอน เพียงเติมความมั่นใจให้แก่ตัวเองสักนิด เลิกกังวลว่าตัวเองไม่สวย ลดความอยากสวยมากกว่านี้ลงสักหน่อย ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้น

ภายในมีสุข ภายนอกก็จะเปล่งปลั่ง และคุณก็จะดูสวยขึ้นมาเอง