posttoday

ดร.ทิศพล นครศรี กับภารกิจกู้โลกด้วยพลังงานสะอาด

18 มิถุนายน 2556

เมื่อเดือนที่แล้วคนไทยตกใจกันทั้งประเทศ เหตุเพราะไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้เป็นเวลาเกือบ 5 ชั่วโมง โชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไร ก็แค่ไฟฟ้าไม่เพียงพอ!!

โดย...อณุศรา ทองอุไร

เมื่อเดือนที่แล้วคนไทยตกใจกันทั้งประเทศ เหตุเพราะไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้เป็นเวลาเกือบ 5 ชั่วโมง โชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไร ก็แค่ไฟฟ้าไม่เพียงพอ!!

ประเทศพัฒนาแล้วพากันบ่ายหน้าหนีน้ำมันดิบ แล้วเบนเข็มมาที่พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะข้อดีสามารถทดแทนพลังงานทุกชนิด แถมยังเป็นแหล่งพลังงานสะอาดรักษ์โลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ แถมต้นขั้วแหล่งพลังงานชนิดนี้ไม่มีวันหมดไปจากโลกอย่างแน่นอน แต่ถึงอย่างนั้นผู้บริโภคชาวไทยต่างก็สงสัยกันว่าถึงแม้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ จะเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทยที่มีแสงแดดจัด แต่เหตุไฉนพลังงานแสงอาทิตย์จึงไม่เกิดในประเทศไทยเสียที รัฐกลับจะไปสนับสนุนโรงงานไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งไม่ใช่พลังงานสะอาด!!!

คนไทยใช้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 100%

ดร.ทิศพล นครศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ หรือ บีเอสพี ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer) จากพลังงานแสงอาทิตย์เจ้าแรกของไทย บอกว่า คนไทยใช้ไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้นมาก ย้อนกลับไปช่วงปี 25052550 ใช้ไฟไปทั้งหมด 2,000 ล้านเมกะวัตต์ และคาดการณ์กันว่าปี 25502560 จะใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเป็นเท่าตัว (4,000 ล้านเมกะวัตต์) เลยทีเดียว แล้วเราจะเอาพลังงานจากแหล่งใดไว้รองรับอนาคตนั้นกันล่ะ

ถ้าจะถามหาพลังงานดั้งเดิมจากน้ำมันดิบแม้จะยังพอมีอยู่ แต่ราคาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติจึงเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ แต่อนาคตจะเติบโตได้ต้องอาศัยการลงทุนสร้างโรงงานด้วยเม็ดเงินมหาศาล ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์จะมีต้นทุนราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ

พลังแสงอาทิตย์เหมาะกับประเทศไทย

เขาเปิดเผยมุมมองด้านพลังงานสะอาดให้ฟังว่า เหตุผลที่พลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว เพราะเทคโนโลยีในการสร้างแผงโซลาร์ทันสมัยมากรวมทั้งวัสดุที่นำมาเป็นส่วนประกอบหาได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้นนั่นเอง

“ศักยภาพของเมืองไทยมีพื้นที่รับแสงแดดได้ดีมาก จึงตัดสินใจสร้าง Solar Farm การติดตั้งแผงโซลาร์บนพื้นที่ราบ เช่น ที่ จ.ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ รวมกว่า 15 แห่ง ตอนนั้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว แม้รู้ว่าจะต้องลงทุนสูงประมาณ 160 ล้านบาท และมีอัตราการผลิตต่ำมากอยู่ที่ 1.2 เมกะวัตต์ แต่เพราะการลงทุนในแผงโซลาร์อยู่ที่ 20 ปีนั้น จะคุ้มทุนภายในปีที่ 68 ปี คำนวณกำไรแล้วได้พอสมควร เพราะเรารู้ราคาซื้อขายเป็นอย่างดี ก็เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถขายให้การไฟฟ้าได้”

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ค้าพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่เขาได้กล่าวถึงจุดพลิกผันแช่แข็งพลังงานทางเลือกหลายประเภท รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในชั่วโมงนี้ว่า ช่วงเวลาเริ่มต้นธุรกิจของเขาเชื่อว่าโอกาสของแสงอาทิตย์มีอยู่ เพราะโรงงานก๊าซในประเทศไม่เพียงพอ แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป สัดส่วนพลังงานทางเลือกรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 5 ในขณะที่มีการลงทุนพลังงานจากก๊าซเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 และพลังงานจากน้ำมันดิบที่ร้อยละ 35

อนาคตดีในตลาดต่างประเทศ

ดังนั้นถ้าเมื่อใดอัตราค่าใช้จ่ายที่แปรผันในการผลิตไฟฟ้า (FT) สูงขึ้นกว่านี้ คาดการณ์กันไว้ว่าอีก 5 ปี คือ ปี 2561 พลังงานแสงอาทิตย์จะกลับมายืนบนบัลลังก์ พลังงานหลักของประเทศได้อีกครั้ง แต่โอกาสเติบโตทางธุรกิจใช่จะรอเวลาให้ฟ้าเปิด ดังนั้น บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จึงขอขยับปีกบินไปทำการตลาดต่างประเทศ เพื่อหาทางรอดจากวิกฤตนี้ให้ได้ ต้องมองไปข้างหน้า ตลาดไม่ได้อยู่ที่เมืองไทยเท่านั้น เขาจึงเดินหน้าเจรจาการค้าที่เยอรมนีเป็นประเทศแรก โดยเน้นการลงทุนสร้าง Solar Roof ด้วยตนเอง

“จากมาตรการสนับสนุนทั้งด้านการบังคับและด้านการจูงใจที่จะเร่งรัดการแสวงหาพลังงานทดแทนมาใช้งาน โดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อแบ่งเบาการผลิตจากระบบปกติที่สร้างมลภาวะให้เกิดโลกร้อน ด้วยการติดตั้งไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านของตน ทำให้เราได้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้พักอาศัยนำอุปกรณ์ติดตั้ง หรือแผงโซลาร์เซลล์ไปติดบนหลังคาครัวเรือน หรืออาคารพาณิชย์ของพวกเขา แล้วทางเราก็รับซื้อกระแสไฟฟ้าคืน เพื่อขายต่อให้กับการไฟฟ้าของเยอรมนี โดยอัตรารับซื้ออยู่ที่ 6%”

ปัจจุบันโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่เยอรมนีของบีเอสพีมีอยู่กว่า 8 แห่ง เขาบอกว่า โอกาสเติบโตในเยอรมนียังมีอีกมาก เพราะทางรัฐบาลตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 50100% แต่เขาก็ไม่หยุดอยู่ที่ยุโรปเท่านั้น ยังขยายโรงงานไปที่ญี่ปุ่นถึง 2 แห่ง ซึ่งนิยมใช้แผงโซลาร์เป็นจำนวนมาก ตามด้วยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอีก 2 แห่ง และกำลังทำการศึกษาความเป็นไปได้ที่อังกฤษ โดยจะเน้นการทำงานครบวงจร ด้วยการเป็นผู้พัฒนาโครงการออกแบบรับเหมา ก่อสร้างติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งเป็นผู้ลงทุนและตั้งเป้าจะเพิ่มการผลิตให้ได้ 15 เมกะวัตต์

ลดก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อน

นอกจากการค้ากระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แล้ว ดร.ทิศพล ยังเผยอนาคตของผู้ประกอบการธุรกิจด้านพลังงานสะอาดว่า นี่คือยุคทองของการค้าคาร์บอนเครดิต คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) เพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถซื้อโควตาคาร์บอนจากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงการพัฒนาที่สะอาด พูดง่ายๆ ว่าเป็นการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับเดียวของโลก ที่มีเป้าหมายผูกพันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“เราจึงริเริ่มนำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 15 แห่งของตนเองที่เมืองไทย เข้าจดทะเบียนกับหน่วยงาน UNFCCC ของสหประชาชาติ เพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศพัฒนาแล้ว”

นอกจากธุรกิจพลังงานสะอาดของเขาจะเข้ากันได้ดีกับแนวทางลดโลกร้อนด้วยการลดปริมาณก๊าซเรือนแล้ว ยังทำให้เขามีรายรับเพิ่มขึ้นจากการขายอัตราคาร์บอนให้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ด้วย สิ่งเหล่านี้คือดัชนีชี้วัดว่า อนาคตพลังงานอาทิตย์ยังสว่างและไม่หยุดไว้ที่กระแสไฟฟ้าอย่างเดียว แต่มันยังทำหน้าที่ “กู้โลก” กระตุ้นให้คนหันมาลดปริมาณคาร์บอนในทางอ้อมอีกด้วย

“เรื่องผลกระทบจากโลกร้อนใครๆ ก็รู้ว่ารุนแรงเพียงใด เราต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง ช่วยกันคนละไม้คนละมือทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้นได้ แค่รู้แต่ไม่ลงมือทำมันจะดีขึ้นได้อย่างไร ผมอยากทำธุรกิจที่ดีต่อสังคมต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.ทิศพล กล่าวอย่างมุ่งมั่น

ดร.ทิศพล นครศรี อายุ 39 ปี

ปริญญาตรี วิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปริญญาโท บริหารธุรกิจ San Francisco สหรัฐอเมริกา

ปริญญาเอก การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ หลักสูตรความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ University of Nebraska สหรัฐ

มุ่งมั่นจะทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดีต่อโลก