posttoday

นอนไม่หลับหลับผิดปกติ อันตรายถึงชีวิต

08 มิถุนายน 2556

คนเรานี้ช่างเปราะบาง นอนไม่หลับมากๆ ตายเอาได้ง่ายๆ

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

คนเรานี้ช่างเปราะบาง นอนไม่หลับมากๆ ตายเอาได้ง่ายๆ

เชื่อหรือไม่? การนอนหลับต้องหลับอย่างมีคุณภาพ... ถ้าไม่มีคุณภาพ อันตรายถึงชีวิต

อาการนอนไม่หลับ เรียกตามภาษาทางวิชาการคือ Insomnia กล่าวโดยง่าย หมายถึงจำพวกนอนหลับยาก หลับๆ ตื่นๆ สะดุ้งโหยง ตื่นมาแล้วรู้สึกนอนไม่อิ่ม อ่อนเพลีย เผละผละตลอดทั้งวัน

ปัญหาการนอนไม่หลับ เกิดขึ้นประมาณ 3040% ของประชากร ในจำนวนนี้มี 10% ที่เรื้อรัง

อาการนอนไม่หลับ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ หนึ่งคือ นอนไม่หลับเป็นบางครั้ง (Transient Insomnia) อีกหนึ่งคือ นอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Insomnia)

สาเหตุของการนอนไม่หลับเป็นบางครั้ง เกี่ยวพันกับอารมณ์และความเครียด บ้างเชื่อมโยงกับการเจ็บป่วยทางกาย หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม

สำหรับการนอนไม่หลับเรื้อรัง คือการนอนไม่หลับแม้ว่าเหตุข้างต้นจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ส่งผลกระทบต่อการแสดงออกทางจิตใจ เรียกว่า Psychophysiological Insomnia

เบื้องต้นผู้ป่วยจะมีความกังวลหรือครุ่นคิดตลอดเวลาว่าคืนนี้จะนอนหลับได้หรือไม่ ยิ่งเวลานอนใกล้เข้ามาก็จะยิ่งกลัวและหวาดวิตกเกี่ยวกับการนอนมากขึ้น เมื่อเข้านอนก็มีความพยายามอย่างมากที่จะนอนหลับให้ได้ ทำให้มีภาวะ HyperArousal ซึ่งทำให้ความสามารถที่จะนอนหลับลดลง

“ทุกคนจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงความสำคัญของการนอนหลับให้สนิท และต้องเข้าใจว่าการนอนหลับมีความสำคัญเหลือเกินต่อสุขภาพของคนเรา” วิลเลี่ยม เดอเมนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกไว้เช่นนี้

ความต้องการในการนอนหลับของคนมีไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอายุ ทารกต้องนอนละวันละ 16 ชั่วโมง วัยรุ่นต้องการวันละ 9 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ต้องการวันละ 78 ชั่วโมง แต่บางคนอาจจะต้องการนอนน้อยเหลือเพียงวันละ 5 ชั่วโมง

สัญญาณเตือนที่ทำให้ทราบได้ว่านอนไม่พออาจสังเกตได้จากอาการต่างๆ ได้แก่ อาการง่วงซึมตลอดทั้งวัน อารมณ์แกว่งโกรธง่ายโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอกับครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน หลับภายใน 5 นาทีหลังจากนอน และอาจจะหลับขณะตื่นโดยที่ไม่รู้ตัว หรือเข้าทำนองหลับใน

อาการนอนไม่หลับ คือหนึ่งในอาการของ “การนอนหลับผิดปกติ” นอกจากนี้ยังรวมถึงการนอนกรน ภาวะหยุดหายใจ

หากไม่ได้รับการรักษาอาการดังกล่าวสามารถพัฒนาไปสู่โรคอื่นๆ

ข้อมูลประเทศไทย พบว่า เพศชายราว 60% มีอาการนอนกรน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน ส่วนเพศหญิงมีประมาณ 30% ส่วนมากอยู่ในวัยหมดประจำเดือน

แม้ว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับจะมีมากมาย แต่โรคที่พบเห็นได้บ่อยครั้งคือ “โรคนอนหยุดหายใจแบบอุดกั้น” ซึ่งพบประมาณ 11.4% โดยมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ระหว่างการนอนหลับ เป็นอาการผิดปกติที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจระหว่างหลับ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการหายใจและพัฒนาเป็นโรคอื่นๆ ที่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต

แนวทางแก้ไข 1.พยายามเข้านอนเวลาเดียวกันทุกคืน และตื่นในเวลาเดียวกันทุกเช้า 2.หลีกเลี่ยงกาเฟอีน นิโคติน และแอลกอฮอล์ 3.ออกกำลังกายเป็นประจำ 4.อย่ารับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนเข้านอน 5.ปรับปรุงห้องนอนให้ชวนนอน

6.ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายก่อนเข้านอน 7.หลีกเลี่ยงการใช้เตียงเพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกเหนือจากการนอนหลับและเซ็กซ์ 8.ถ้าคุณนอนไม่หลับไม่รู้สึกง่วง อย่าเสียเวลานอนพลิกไปพลิกมาอยู่บนเตียง ลุกขึ้นมาอ่านหนังสือหรือทำอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากนัก จนกว่าคุณจะเริ่มตาปรือ 9.ลดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ 10.หากมีอาการหลับผิดปกติ ให้พบแพทย์เพื่อรักษา เช่น ยา ผ่าตัด ฯลฯ