posttoday

พญ.วิมลมาศ พรหมสาขา ณ สกลนคร ‘หมอเด็ก’ งานสร้างสรรค์คุณภาพคน

05 มิถุนายน 2556

คุณหมอร่างเล็กๆ ดูแล้วก็เหมาะดีกับการทำงานท่ามกลางเด็กตัวน้อยๆ “คุณหมอเปิ้ล” พญ.วิมลมาศ พรหมสาขา ณ สกลนคร

โดย...ปอย / ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

คุณหมอร่างเล็กๆ ดูแล้วก็เหมาะดีกับการทำงานท่ามกลางเด็กตัวน้อยๆ “คุณหมอเปิ้ล” พญ.วิมลมาศ พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกุมารแพทย์และพฤติกรรมสมองของเด็กทารกและเด็กเล็ก จากสถาบัน Heguru Thailand by Dr.Apple @ Zen เซ็นทรัลเวิลด์ กล่าวเปิดประเด็นสนทนาถึงหน้าที่การงานในวันนี้ว่า ที่นี่ซื้อแฟรนไชส์มาจากญี่ปุ่นเป็นโรงเรียนสอนพัฒนาการ “สมองด้านขวา” ของเด็กตั้งแต่ 6 เดือน6 ขวบ เพราะเป็นงานที่มีผลลัพธ์ออกมาแล้วว่า คนที่ฉลาดคือผู้ใช้สมองด้านขวามากกว่าด้านซ้าย คนทั่วไปอาจคิดว่าไม่แตกต่าง แต่แตกต่างคนละขั้ว!!!

คนใช้สมองด้านขวาคือคนฉลาดมากๆ การคิดจะประมวลผลออกมาเป็นรูปภาพ การคิดเป็นภาพให้ความแม่นยำชัดเจนกว่า และเด็กก็จดจำได้มากกว่าอีกด้วย ขณะที่สมองด้านซ้าย คือการคิดวิเคราะห์ตัวเลขเท่านั้น

“การสอนเด็กให้สมองด้านขวาเปิด เป็นการสร้างเด็กอัจฉริยะโดยการสอนในโรงเรียนแบบนี้ที่มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นมานานกว่า 30 ปีแล้วค่ะ โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้เด็กเล็กๆ ใช้สมองด้านขวาได้เก่งๆ และในที่สุดก็ค้นพบวิธีการโดยการสอนเด็กเล็กอ่านหนังสือโดยหนังสือภาพ และผลลัพธ์คือเด็กสามารถอ่านหนังสือได้อย่างรวดเร็วภายใน 30 วินาที เพราะตัวอักษรเปลี่ยนเป็นภาพบันทึกเข้าไปในสมอง”

พญ.วิมลมาศ เริ่มต้นบทสนทนาอย่างคล่องแคล่ว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า สมองของคนเราเริ่มต้นเรียนรู้ ตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์ของมารดา ซึ่งจะเกิดการรับรู้ถึงความรักจากพ่อและแม่ มีผลต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อย และพอถึงช่วง 3 ปีแรกของชีวิต เด็กๆ วัยนี้จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบข้างและซึมซับเข้าสู่สมองได้รวดเร็วและแม่นยำมาก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบของสมองด้านขวา ในช่วงโอกาสนี้สำคัญที่สุดในการส่งเสริมการพัฒนาสมองด้านขวาให้เต็มศักยภาพ เป็นพื้นฐานของพัฒนาการด้านต่างๆ ในอนาคตของลูก และพอเข้าสู่วัย 36 ขวบ เป็นช่วงที่สมองด้านซ้ายเริ่มเชื่อมต่อกับด้านขวา เด็กวัยนี้เริ่มพูดจามีเหตุผลแล้ว ดังนั้นจึงควรส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสมองด้านขวาและด้านซ้ายเพื่อการพัฒนาการที่ดีของเด็กในวัยที่เติบโตขึ้น

“3 ขวบแรกคือช่วงชีวิตที่สำคัญมาก หมอใช้คำนี้เสมอค่ะว่าเด็กๆ เป็นลูกของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ก็จะหล่อหลอมสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นมาแบบนั้น และหมอเชื่อว่าคุณภาพคนสำคัญที่สุด ถ้าเราอยากให้สังคมในอนาคตดีขึ้น ต้องเริ่มที่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กตั้งแต่ในช่วงวัยนี้เลยค่ะ ก็มีคุณแม่พาน้องๆ เข้ามาเรียนกับหมอ ซึ่งก็มีทั้งที่บอกว่าอยากให้ลูกเป็นแค่คนดีก็พอแล้ว ไม่ต้องเป็นคนเก่ง และอีกกลุ่มลูกต้องเก่งเอาชนะทุกคนตลอดเวลา แต่หมอคิดว่าการสร้างคนที่ดี และคนที่เก่งด้วย สามารถทำได้ค่ะ

นอกจากหมอก็คือคุณแม่ คือคนสำคัญที่สุดค่ะ คนฝึกลูกคือแม่ และทัศนคติแม่สำคัญที่สุด แม่ทำงานด้านบริการที่ต้องยิ้มตลอดเวลา กลับบ้านยิ้มแบบนั้นให้ลูก เด็กรู้นะคะ เด็กๆ เรียนรู้ด้วยการดูดซับสิ่งต่างๆ ราวกับฟองน้ำ ซึ่งต่างจากวิธีการเรียนของผู้ใหญ่อย่างชัดเจน และลูกของคุณก็จะไม่สามารถรับรู้อารมณ์ยิ้มแบบนั้นได้เลยค่ะ การยิ้มโดยหน้าที่ไม่ได้ออกมาจากใจมีผลต่ออารมณ์และจิตวิญญาณของตัวเองแน่นอนนะคะ เมื่อส่งยิ้มแบบนี้เพื่ออยู่ที่บ้านอาจสร้างคนบุคลิกแปลกๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ที่นี่จึงให้คุณแม่เข้ามาเรียนรู้พร้อมกับลูก เราไม่ได้พัฒนาเด็กอย่างเดียว แต่การเปลี่ยนทัศนคติคุณแม่คือสิ่งสำคัญที่สุดด้วย ดิฉันจึงถือว่างานที่ทำคืองานหล่อเลี้ยงอนาคต เพราะสอนเด็ก 100 คน ดิฉันเชื่อว่าสามารถทำให้สังคมเปลี่ยนดีขึ้นได้ค่ะ”

พญ.วิมลมาศ ออกตัวสำหรับสไตล์แต่งกายในการทำงาน “หมอเด็ก” ว่า โดยรวมๆ แล้วจะเห็นว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งกายสวยงาม เพราะความสนใจมักอยู่ที่ความสดใสของเด็กๆ ไปถึงญี่ปุ่นก็คงไม่ไปเดินหาครีมเต้าหู้มาร์กหน้าใส แต่จะไปขลุกอยู่ที่ร้านคิโนะเพื่อหาหนังสือใหม่ๆ กลับมามากกว่า

“ดิฉันเป็นหมอเด็กมา 10 กว่าปี นอกจากที่สถาบัน Heguru หมอประจำอยู่ที่โรงพยาบาลปิยะเวทด้วยค่ะ ประจำอยู่ห้องเด็กอ่อนแน่นอนว่าต้องอุ้มน้องทั้งวัน และต้องเจอทั้งอึทั้งฉี่ตลอดเวลาอีกด้วยนะคะ (หัวเราะชอบใจ) บางวันเจอน้องอ๊อกใส่อีกต่างหาก แต่หมอก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติในทุกวันทำงาน สไตล์การแต่งตัวจึงต้องสบายที่สุดเท่าที่สบายได้ แต่ต้องเรียบร้อยตามหน้าที่หมอนะคะ เชื่อไหมคะว่าเด็กไม่ชอบสีขาว เพราะหมอมากับชุดเสื้อกาวน์สีขาว บางวันก็มาฉีดยาเจ็บๆ ป้อนยาขมๆ ซึ่งเด็กๆ ก็จะเชื่อมโยงว่าคนสวมชุดขาวมาพร้อมกับสิ่งเหล่านี้

เสื้อผ้าลวดลายตุ๊กตุ่นตุ๊กตา หมอเด็กสไตล์ดิฉันก็ไม่ใส่นะคะ รูปผึ้ง รูปสตรอเบอร์รี ก็อาจสร้างความทรงจำที่ไม่ดีให้เด็ก สีสันเรียบๆ จึงปลอดภัยที่สุดแล้วนะคะ แล้วการที่ดิฉันรูปร่างเล็กก็ดีกับงานมากๆ เพราะเด็กชอบมองสิ่งที่อยู่ระดับเดียวกับสายตาทำให้เขาคุ้นเคยเราง่ายดายที่สุด รองเท้าส้นสูงหมอก็ไม่ใส่ เพราะเด็กหลับ การเดินมาพร้อมเสียงก๊อกแก๊กก็อาจปลุกพวกเขาได้นะคะ”

พญ.วิมลมาศ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญในเวลานี้คือรักในงานที่ทำ และสิ่งท้าทายที่สุดในงานนี้คือทัศนคติของแม่ ลูกของแม่ไม่ใช่ลูกของคุณแม่คนนั้นคนเดียว แต่คือลูกของสังคมอีกด้วย

“ดิฉันประทับใจการสอนลูกของแม่ๆ ญี่ปุ่นมาก กับการที่สอนลูกแค่ 3 ขวบก็สอนลูกเรื่องการควบคุมตัวเองแล้วว่าลูกต้องระมัดระวังอย่ารบกวนคนอื่นนะ แต่แม่ๆ ไทยอาจจะมีความคิดในแบบที่ว่า ช่างเถอะที่ลูกฉัน! 4 ขวบแล้วยังกรี๊ดๆ เล่นเสียงดังทำลายของเล่น ระหว่างที่รักษาเด็ก ดิฉันจึงพยายามสอดแทรกเรื่องเหล่านี้โดยคุยกับคุณแม่ไปด้วยค่ะ” พญ.วิมลมาศ กล่าวสรุปพร้อมรอยยิ้ม

พญ.วิมลมาศ ได้ให้คำแนะนำในการเลี้ยงลูกสู่ความเป็นอัจฉริยะ ‘เก่งและดี’ โดยมีทักษะ 7 อย่าง ปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้

1.การมีสมาธิ อย่าบังคับลูกให้ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ แต่เลือกให้ลูกทำในสิ่งที่เขาสนใจ จะทำให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น

2.การสื่อสาร เวลาพูดกับลูกมีเสียงสูงต่ำตามสเต็ป หรือเน้นเสียง เสียงสูงขึ้น 2 สเต็ป พร้อมมีท่าทางประกอบทุกครั้ง และอย่าคาดหวังกับลูกในสิ่งที่เกินอายุ

3.การเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น โดยสามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ หัดให้ลูกรู้จักคิดถึงคนอื่น หรือรู้ว่าคนอื่นต้องการอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากในการสร้างเด็กให้ดีได้ในยุคนี้

4.รักการเรียนรู้ พ่อแม่ไม่ควรบังคับลูก แต่พยายามชักจูงให้เขาสนใจแล้วเขาจะชอบเรียนรู้ เมื่อเขาได้เรียนรู้จะทำให้ได้ประสบการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ของการจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

5.กล้าท้าทาย เด็กเล็กๆ จะกลัวแพ้ ฉะนั้นต้องชื่นชมในความพยายามของเขา เช่น เก่งมากลูก ดีมากค่ะ

6.การคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ ควรถามด้วยคำถามปลายเปิด เช่น เมื่อเด็กได้ดูเห็นอะไร ถามเขาว่า ภาพนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

7.การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ โดยเด็กจะนำสิ่งที่รู้ไปใช้ เช่น ถอดชิ้นส่วนประกอบของเล่น แล้วสามารถประกอบได้เหมือนเดิม หรือการฝึกเล่นเกมจับคู่ แยกสี เกมหาความเหมือน ความต่าง เป็นต้น