posttoday

อารมณ์สวิงรุนแรง ดีสุดขั้วเศร้าสุดขีด

25 พฤษภาคม 2556

อารมณ์แปรปรวน “ขึ้นสุดลงลึก” คือสัญญาณของโรค

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

อารมณ์แปรปรวน “ขึ้นสุดลงลึก” คือสัญญาณของโรค

ระยะเวลาหนึ่ง หดหู่ หมองเศร้า ทุรนทุราย อยากตาย

อีกระยะเวลากลับผันกลาย ตื่นเต้น เร้าใจ โลดแล่น โลกสวยงาม

การสวิงของอารมณ์นั่นคืออาการที่ต้องรู้เท่าทัน

โรคดังกล่าว เรียกว่า ไบโพลาร์ (Bipolar) เข้าใจโดยง่ายคือโรคอารมณ์สองขั้ว

ปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ป่วยมากขึ้น ทั่วประเทศมีไม่ต่ำกว่า 6 แสนราย

ความผิดปกติที่เกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ทางสับเปลี่ยนไปมา หนึ่ง คือ อารมณ์ซึมเศร้า (Major Depressive Episode) อีกหนึ่ง คือ อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (Mania หรือ Hypomania) โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือน

ความชุกชั่วชีวิตโรคนี้ พบได้สูงถึง 1.5-5% ของประชาชนทั่วไป ซึ่งอัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี

โรคนี้ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูงประมาณ 70-90%

ปัจจัยเสี่ยงมี 4 ข้อ หลักๆ คือ 1.มีญาติพี่น้องป่วยหรือเคยเป็นโรคไบโพลาร์ 2.คนที่มีความเครียดสูง 3.คนที่ติดยาหรือใช้สารเสพติด และ 4.บุคคลที่เกิดวิกฤตขึ้นในชีวิต

สำหรับห้วงอารมณ์เศร้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้ ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก มีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก นอนไม่หลับ อาจมีอาการนอนหลับยาก หรือนอนแล้วตื่นเร็วกว่าปกติ อาจนอนหลับๆ ตื่นๆ ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนอนหลับมากไป ต้องการนอนทั้งวัน กลางวันหลับมากขึ้น

กระวนกระวาย อยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรงไม่อยากทำอะไร รู้สึกตนเองไร้ค่า บางรายอาจรู้สึกสิ้นหวัง มองสิ่งรอบๆ ตัวในแง่มุมที่เป็นลบไปหมด รวมถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วย สมาธิ และความจำแย่ลง คิดเรื่องการตาย

ขณะที่ยามมีอารมณ์ดีกว่าปกติ ผู้ป่วยจะร่าเริงมีความสุข เบิกบานใจมั่นใจในตนเองมากขึ้น เชื่อว่าตัวเองสำคัญและยิ่งใหญ่ นอนผิดปกติอาจมีความต้องการในการนอนลดลง ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่านอนแค่ 3 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว

นอกจากนี้ ความคิดแล่นเร็ว (Flight of Idea) บางครั้งคิดหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน คิดเรื่องหนึ่งไม่ทันจบก็จะคิดเรื่องอื่นทันที บางครั้งอาจแสดงออกมาในรูปของการมีโครงการต่างๆ มากมาย

โรคนี้ทำให้ทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตบนโลกแห่งความเป็นจริง ทว่ายังมีหนทางรักษา

การรักษาควรเปิดใจแล้วเข้ารับคำปรึกษาแพทย์เพื่อรับยารับประทาน เบื้องต้นรับประทานยา 6 เดือน จะเห็นผลทางอารมณ์ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ยาแล้วต้องมีความเคร่งครัดในการรับประทาน และต้องสังเกตอาการต่างๆ ของตัวเอง

การรักษาสามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ เพราะต้นตอของโรครู้ได้ชัดว่าเกิดจากปัจจัยทางชีววิทยาทางด้านสารเคมีในสมอง เมื่อทราบว่าสารเคมีตัวไหนขาดหรือมีมากเกินไป แพทย์จะแก้ไขตรงจุดโดยให้ยาไปควบคุมสารเคมีตัวนั้นกับผู้ป่วย

นอกจากนั้น ยังอาศัยวิธีการรักษาด้วยการบำบัด เช่น จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กลุ่มบำบัด และครอบครัวบำบัด โดยแพทย์จะให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่า ถ้าหากมีวินัยในการรักษาและกินยาสม่ำเสมอจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ