posttoday

ถอดบทเรียนศาสตร์แห่งบัฟเฟตต์ เรื่องง่ายๆ ที่นักลงทุนต้องรู้

20 พฤษภาคม 2556

ถึง วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะเป็นตาแก่อายุ 83 แต่เชื่อเถอะว่าเขาคือตาแก่สุดป๊อปที่คนทั่วโลกอยากรู้จัก

โดย...หนูมิก

ถึง วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะเป็นตาแก่อายุ 83 แต่เชื่อเถอะว่าเขาคือตาแก่สุดป๊อปที่คนทั่วโลกอยากรู้จัก ใครๆ ก็รู้ว่าเขาไม่เพียงเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นซีอีโอของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ แต่ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ด้วยจำนวนเงิน 6.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยนิตยสารฟอร์บส์ ต่อมาในปี 2555 ยังได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

อะไรคือความลับที่ทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นที่โจษจันและสนใจของคนทั่วโลก

คำตอบคือ สิ่งที่เขาค้นพบ นั่นคือ ศาสตร์แห่งบัฟเฟตต์ (Buffettology)

ไขความลับสู่ความร่ำรวยสไตล์บัฟเฟตต์

เมื่อเร็วๆ นี้ แมรี บัฟเฟตต์ อดีตลูกสะใภ้ของวอร์เรน และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรนและวิธีการลงทุน รวมถึงแนวปรัชญาของเขาไว้หลายเล่ม ได้เดินทางมาร่วมงานสัมมนา Exploring Buffettology with Mary Buffett พร้อมให้สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวคิดในการลงทุนของวอร์เรน สุดยอดนักลงทุนคนหนึ่งบนโลกว่า อยู่บนแนวคิดการลงทุนแบบเน้นมูลค่า (Value Investor) อธิบายง่ายๆ คือ ค้นหาและลงทุนในบริษัทที่รู้จักเป็นอย่างดี ในราคาที่เหมาะสม และถือไว้ในระยะยาว แทนที่เข้าๆ ออกๆ เพื่อเก็งกำไรจากการซื้อหุ้นมาในราคาถูก แต่ขายออกไปในราคาแพง

“ที่สำคัญคือ วอร์เรนมักย้ำว่า การลงทุนในหุ้นหรือกิจการใดๆ ด้วยมูลค่ามากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่ต้องลงทุนด้วยมุมมองของผู้ประกอบการร่วมหรือ พาร์ทเนอร์ แทนที่จะมองว่าเป็นนักเก็งกำไร”

นอกจากนี้ แมรี ยังระบุถึงการควบรวมกิจการฉันมิตร (Friendly Merger) ว่าเป็นโอกาสในการค้ากำไรที่วอร์เรนโปรดปรานที่สุด ขณะที่การครอบงำกิจการที่ไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) คือสิ่งที่อันตรายที่สุดในการทำเงินของบัฟเฟตต์ ทั้งนี้ในหนังสือ “ชำแหละพอร์ตโฟลิโอของวอร์เรน บัฟเฟตต์” แมรี อธิบายว่า วอร์เรนซึ่งไม่นิยมการกู้เงินมาเพื่อลงทุนนั้น ในบางโอกาสเพื่อเข้าควบรวมกิจการฉันมิตร วอร์เรนก็ยอมฝืนกฎกู้เงินมาเพื่อลงทุน โดยหวังผลกำไรกลับคืนที่คาดว่าจะมากกว่า

ปฏิกิริยานักลงทุนต่อแนวคิดบัฟเฟตต์

กฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุน ประกันภัยและธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ใครคิดจะลงทุนในหุ้น ต้องเคยได้ยิน “Buffettology” มาไม่มากก็น้อย ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวทางการลงทุนที่อาศัยระยะเวลาค่อนข้างนานในการตัดสินว่า เป็นแนวทางการลงทุนที่ดีจริง ซึ่งนักลงทุนที่จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ ต้องปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และแนวคิดการลงทุนด้วย และที่สำคัญต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง เพราะอย่างวอร์เรนเอง ก็ปรับแนวทางการลงทุนจากที่ได้ร่ำเรียนกับเบนจามิน แกรห์ม มาเป็นแนวทางของตัวเองเช่นกัน

“โดยหลักการแล้ว ถือว่าเรียบง่าย เข้าใจได้ง่าย วอร์เรนเองพยายามทำให้เรื่องยากๆ ซับซ้อน ที่เต็มไปด้วยปัจจัยมากมายในตลาดหุ้น กลายเป็นเรื่องง่ายๆ โดยเข้าไปวิเคราะห์ถึงแก่นที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะจริงๆ นั่นก็คือ มูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ผมจึงคิดว่าหลักการนี้เป็นหลักการที่ดีเยี่ยม เหมาะกับทั้งนักลงทุนที่มีประสบการณ์ในตลาดแล้ว หรือนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสนใจลงทุนให้เริ่มศึกษาเป็นแนวทางต่อไป ซึ่งในฐานะนักลงทุน ผมว่าทุกๆ การเลือกสินทรัพย์ เลือกลงทุนในบริษัท หลักการพิจารณาตามกลยุทธ์ของ Buffettology จะต้องเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการวิเคราะห์ทุกครั้ง”

ด้าน เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มหาวิทยาลัยสยาม และผู้เขียนหนังสือเปิดโลกการลงทุนของคนยุค Gen.Y กล่าวถึงแนวคิดแบบบัฟเฟตต์ ว่า ได้รับรู้มาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งเริ่มเข้าใจเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง

“ในสมัยที่ชีวิตยังขาดไร้ประสบการณ์ ผมเข้าใจแต่เพียงว่า Buffettology คือ การเลือกซื้อหุ้นที่มีแบรนด์โดดเด่น หากแท้จริงแล้วการแข่งขันทางธุรกิจ ยังต้องการมากกว่านั้น โดยเฉพาะเป็นการมุ่งเน้นไปที่จุดแข็งของตัวเอง (Circle of Competence) เพื่อทำให้สามารถรักษาความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ และสามารถรักษากำไรที่สูงไว้ได้อย่างยั่งยืน”

ยิ่งนานวัน เจริญชัย ยอมรับว่ายิ่งชื่นชอบแนวคิดนี้ เพราะความคิดของวอร์เรนสอดคล้องกับโลกความจริงทางธุรกิจ ซึ่งลูกค้าไม่ได้ต้องการนวัตกรรมและคุณภาพเลอเลิศ โดยเฉพาะเมื่อการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูง จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล จึงอาจทำให้ผลกำไรที่ได้รับต่ำต้อยกว่าธุรกิจที่ธรรมดาเรียบง่าย

แน่นอนว่า ในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการการลงทุน เจริญชัยได้นำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการลงทุนและการเลือกธุรกิจ ยกตัวอย่าง เมื่อเจอหุ้นดี แต่ราคาแพงเกินไป โดยเฉพาะในภาวะตลาดกระทิงแบบนี้ เจ้าตัวจะปล่อยผ่านไป เพราะนี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่มีความได้เปรียบ ส่วนธุรกิจที่ได้กำไรดี ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดีด้วย ซึ่งสำหรับเมืองไทย คือ โรงพยาบาล และค้าปลีก รองลงมาคือ ธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามหุ้นดีส่วนใหญ่จะมีราคาแพงเกินไป นักลงทุนจึงต้องรอจังหวะที่เหมาะสม ที่ราคาถูกลงกว่าปกติ

เล่มนี้ใช่เลย

ภาณี ลอยเกตุ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ กล่าวถึงเหตุผลที่ทางสำนักพิมพ์เลือกเอาหนังสือชุดของแมรี บัฟเฟตต์ มาแปลว่า เพราะทางสำนักพิมพ์เห็นคุณค่าในการลงทุนสู่การลงทุนของผู้อ่าน เนื่องจากแมรีได้การยอมรับว่า มีความใกล้ชิด สามารถถอดรหัสแห่งความคิดและหลายๆ มิติที่เกี่ยวเนื่องกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ชัดเจนมากที่สุด และถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและผลงานที่ออกมาทุกเล่ม ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้อ่านทั่วโลก

สำหรับลักษณะพิเศษของหนังสือที่แมรีเขียน คือ อ่านง่าย คม สั้น กระชับ เรียกว่าหากต้องการคำตอบว่าหัวใจของนักลงทุนที่ชื่อ วอร์เรน คืออะไร ผลงานของแมรีชุดนี้คือคำตอบ เพราะต่อให้ฟังแมรีปาฐกถาที่ไหน อีกกี่ครั้ง มุมไหนของโลก ก็ไม่พ้นเนื้อหาในหนังสือที่เธอเขียน เพราะเธอเป็นนักซึมซับ ปฏิบัติจริง ถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง ในสิ่งที่เป็นแก่นของวอร์เรน ซึ่งเมื่อยิ่งทำซ้ำก็ยิ่งขลังพิสูจน์ได้จากหนังสือ


ทำความรู้จัก วอร์เรน บัฟเฟตต์

เขา...เป็นลูกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา 4 สมัย ซึ่งต่อมาเป็นนักขายหุ้น

เขา...เป็นเศรษฐีเงินล้านตั้งแต่อายุ 22 ปี แม้ไม่ได้จบ MBA แต่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย เนบราสกา และจบปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

ตอนนี้เขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมมาตั้งแต่ปี 1958 โดยมีชีวิตพอเพียง ไม่หวือหวา แต่มีความสุข

เขาจะบริจาคเงิน 90% ของความมั่งคั่งของเขาให้สังคม เพราะไม่เชื่อเรื่องการมอบมรดกมูลค่ามหาศาลให้แก่ลูก เขาบอกว่า เขาจะให้ลูกของเขาอย่างเพียงพอที่จะให้รู้สึกว่าสามารถทำอะไร (ที่เป็นประโยชน์) ก็ได้ แต่ไม่มากเกินไปจนทำให้รู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร