posttoday

ขีดๆ เขียนๆ ... จากโลกโซเชียลฯ สู่พ็อกเกตบุ๊ก

11 พฤษภาคม 2556

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ทุกวันนี้ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยีทันสมัย มีเว็บไซต์โซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมากมายในโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นบล็อก มายสเปซ มัลติพลาย ไล่เรื่อยมาทวิตเตอร์ อินสตาแกรม จนถึงเฟซบุ๊ก ทำให้ใครหลายคนนิยมระบายความรู้สึกนึกคิด คำคม ขีดเขียนเรื่องเล่า กดแชร์ให้สาธารณชนได้รับรู้ จนมีคนติดตามอ่านกันเนืองแน่น

ขีดเขียนไปมา จากคนธรรมดากลายเป็นนักอยากเขียน อีกจำนวนไม่น้อยสามารถขึ้นชั้นเป็นนักประพันธ์เต็มตัวได้อย่างป๊อปปูลาร์เกินคาดหมาย

หนึ่งในนั้น คือ ศรีสรรค์ พรหมหา แม่ค้าขายหมี่กรอบ วัย 57 ใครจะเชื่อว่าคุณป้าคนหนึ่งจะกลายมาเป็นนักเขียนดัง มีแฟนคลับติดตามผลงานไม่ขาดสาย จะเกิดจากการเขียนนิยายเป็นตอนๆ ลงในมายสเปซ จนรวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กในชื่อ “ฝันทีละบรรทัด” สำนักพิมพ์มติชน

“สี่ห้าปีก่อน ลูกชาย (พัลลภ สามสี อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน) ไปทำงานที่จีน เขาเลยให้ป้าใช้คอมพ์เพื่อติดต่อกัน ตอนนั้นใช้เอ็มเอสเอ็นและก็มีบล็อก เขาให้ป้าเขียน พอเขียนไปเขียนมาป้าก็เลยถามว่า งั้นแบบนี้แม่เขียนนิยายได้ไหม (หัวเราะ)”

นับแต่วันนั้น มือที่เคยจับตะหลิวในช่วงกลางวัน เปลี่ยนมาเคาะคีย์บอร์ดยามค่ำคืน สองตาจดจ้องจอคอมพิวเตอร์ โดยเลือกนำชีวิตการต่อสู้อันเต็มไปด้วยเรื่องสนุกเร้าใจมาเป็นพล็อตเรื่อง เธอเขียนทีละเรื่อง สั้นๆ ลงในเว็บมายสเปซ ขณะเดียวกันก็ได้รับการคอมเมนต์จากลูกชาย รวมถึงเสียงให้กำลังใจจากผองเพื่อนในโลกไซเบอร์ ในที่สุดฝันก็กลายเป็นจริง

พัลลภ กล่าวเสริมว่า ครั้งแรกที่เห็นแม่เขียนออกมาในคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้แปลกใจมากนัก เพราะปกติแม่ชอบเขียนกลอนอยู่แล้ว บวกรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ แต่รู้สึกทึ่งในความพยายาม

“ถ้าคุณไม่เคยเห็นมือของแม่ผมจะนึกไม่ออก มือของแม่แข็งมาก เต็มไปด้วยรอยน้ำมันลวก นิ้วป้อมๆ สั้นๆ กว่าจะค่อยๆ ดัดนิ้วบรรจงกดแป้นพิมพ์ได้ อีกทั้งยังต้องเรียนรู้เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์คู่กันไปอีก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

พอจบเรื่อง ตอนนั้นแม่ก็ยังไม่รู้ว่าผมจะเอาเรื่องที่แกเขียนไปส่งสำนักพิมพ์ แม่ก็บอกว่าจะเขียนอีกเรื่องต่อละนะ ผมก็เชียร์ส่งทันที เอาเลย เขียนเลย เดี๋ยวคอมเมนต์ให้เหมือนเดิม ตอนนั้นแม่กำลังสนุกที่เขียนได้เยอะ และที่สำคัญมีคนอ่าน” ลูกชายในฐานะ บก.ส่วนตัวบอกยิ้มๆ

ทุกวันนี้ ศรีสรรค์ยังเจียดเวลาจากการยืนอยู่หน้าเตา มานั่งหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อสานต่อความฝันอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดละ แถมยังมีเล่มที่สองออกมาอีกในชื่อ คนก้นครัว สำนักพิมพ์มติชนเช่นกัน

“เขียนเพราะใจเราอยากเขียน ไม่ได้หวังว่าจะได้พิมพ์ ทุกวันนี้ก็ไม่กล้าพูดว่าเราเป็นนักเขียน คนเป็นนักเขียนดูมันยิ่งใหญ่เกินไป เราแค่คนอยากเขียน และได้เขียนตามความฝันเท่านั้นเอง”

โอเปิ้ลพิมภรากร นิยมานนท์ นักเขียนสาวสุดเปรี้ยว เจ้าของผลงานนิยายโรแมนติก “แคร์รอตบนดวงจันทร์” ซึ่งเกิดจากการเขียนเป็นตอนๆ ลงในเว็บไซต์มัลติพลาย จนกลายออกมาเป็นหนังสือเล่ม เธอมั่นใจว่าโซเชียลมีเดียสร้างนักเขียนได้

“เฟซบุ๊กสร้างนักเขียนได้ ถ้านักอยากเขียนคิดแล้วเขียนไปด้วย สิ่งหนึ่งที่ส่งเสริมการเป็นนักเขียนได้คือวินัย ถ้าเรานับว่าการโพสต์สเตตัสทุกๆ วันเป็นวินัยในการเขียนด้วย ก็หมายความว่าเราฝึกที่จะเขียนกันทุกวัน

แต่มันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำเสนอของนักเขียนแต่ละคนว่าจะคิดก่อนเขียน หรือนำสิ่งที่เขียนไปแล้วบวกกับการแสดงความคิดเห็นของคนอ่าน มาต่อยอดหรือพัฒนาการเขียนในรูปแบบของงานจริงๆ"

เธอยอมรับว่าข้อดี คือ ได้รับฟีดแบ็กกลับมารวดเร็วทันใจ จะเรียกเช็กเรตติ้งก็ได้ แต่ข้อเสียอยู่ตรงไม่ได้ผ่านกระบวนการกรองในระบบบรรณาธิการที่เคยยึดถือปฏิบัติต่อกันมา

“บางทีเคยคิดว่าที่เขียนมันน้ำเน่าคงขายไม่ได้หรอก แต่พอเห็นยอดไลค์ อ้าว เขาชอบแบบนี้กันเหรอ ถ้าเรามีแฟนคลับดีๆ มีความรู้เรื่องการเขียน บางทีเราก็ได้อาจเป็น บก.ออนไลน์แบบไม่ได้ตั้งใจนะ เวลาที่เขามาแสดงความคิดเห็น แบบว่าอันนี้เสล่อ อันนี้แรง อันนั้นพิมพ์ผิด มีคนปรู๊ฟให้ด้วย (หัวเราะ)

สิทธิชัย แก้วพวง เจ้าของนามปากกา “อชิตะ” นักเขียนรุ่นใหม่จากผลงานพ็อกเกตบุ๊กชื่อ “คิดแบบยอดมนุษย์” ผู้นิยมใช้เฟซบุ๊กในชีวิตประจำวันประหนึ่งลมหายใจ บอกว่า การโพสต์สเตตัสลงในเฟซบุ๊ก ถือเป็นสนามซ้อมที่ดีสำหรับนักอยากเขียน

“การเขียนสเตตัสของบางคนอาจไม่ใช่ที่ระบายความเครียด แต่เป็นการบันทึกระหว่างวัน พวกคำคม เกร็ดความคิด เกร็ดชีวิตที่เขาได้พบเจอมา การเขียนในลักษณะนี้ต้องผ่านการกลั่นกรองเรียบเรียงมาในระดับหนึ่งแล้ว

หากคนกลุ่มนี้อยากจะเป็นนักเขียน ผมคิดว่าเฟซบุ๊กคือสนามซ้อมเขียนที่ดีทีเดียว เพราะสามารถมีการปฏิสัมพันธ์กับคนได้ในคราวละมากๆ สามารถตอบโต้ระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนุกที่จะเขียนอีก แถมเรายังสามารถประเมินทิศทางการเขียนของตัวเองได้จากจำนวนการกดไลค์ กลุ่มอายุ เพศ อาชีพของคนที่มากดไลค์ได้”

นักเขียนคนนี้ยังบอกต่อว่า เฟซบุ๊กจะฝึกให้เฟ้นหาถ้อยคำ แนวคิด กลวิธีการนำเสนอที่สั้นกระชับแต่โดนใจคน อาจจะด้วยเพราะในโลกออนไลน์คนชอบอ่านอะไรสั้นๆ มากกว่ายืดยาว

“ผมเชื่อนะครับว่า การฝึกเขียนในเฟซบุ๊กนี้ สามารถนำไปพัฒนาเข้ากับการเขียนจริงๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้” เขาบอกอย่างเชื่อมั่น

ขณะที่ สุปรีดี จันทะดี นักเขียนดาวรุ่ง เจ้าของผลงานเรื่องยาว “ความรู้สึกช้า” มองว่าการเขียนสเตตัสในเฟซบุ๊ก สำหรับนักเขียนบางคนอาจต้องการซักซ้อมการเขียนไม่ให้ฝืด ให้เขียนได้ไหลลื่น เหมือนเป็นการวอร์มอัพก่อนที่จะเขียนงานจริง

“ทุกวันนี้มีนักเขียนหลายๆ คนใช้เวลาหมดไปกับการพิมพ์สเตตัส ส่วนตัวคิดว่าการพิมพ์สเตตัสคล้ายกับการทำหนังสั้น ไม่ได้หมายความว่าคนเขียนจะสามารถกำกับหนังยาวได้ดีตามไปด้วย

หากมองในแง่ร้ายบางทีอาจจะทำให้อ่อนแอลง สมาธิสั้นลง ด้วยการหลงเน้นไปที่ตัวตนเป็นหลัก ไม่ก็อยากได้รับการยอมรับแบบทันด่วนมากกว่าการมีสมาธิและตั้งใจรอคอยผลงานที่ต้องผ่านบรรณาธิการ ผ่านขั้นตอนการผลิตอื่นๆ กว่าจะได้เผยแพร่งานเขียนของตนออกไป”

อนุสรณ์ ติปยานนท์ คอลัมนิสต์และนักเขียนชื่อดัง เจ้าของฉายา “มูราคามิเมืองไทย” มองว่าเฟซบุ๊กเป็นแหล่งข้อมูลที่ฉับไวและทันกระแสมากๆ ทว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ตกผลึกกับเรื่องนั้นๆ ได้ ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติสำคัญของนักเขียน

“นักเขียนจึงต้องเอาตัวเองใส่ลงไปในเรื่องนั้นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

สำหรับเรื่องไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างเกี่ยวกับพฤติกรรมติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก นั่นคือ จากที่ตั้งใจไว้ว่าใช้เวลากับมันแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงกลับลากยาวเป็นวันๆ

“ทางออกคือผมจะเลิกเฟชบุ๊ก เดือนหนึ่งประมาณสี่ห้าวันเพื่อทำงานจริงๆ จังๆ จากที่ปกติเขียนไปเล่นไปด้วย”

มากันที่นักเขียนซุป’ตาร์อย่าง นิ้วกลม ขวัญใจนักอ่านแห่งยุค เจ้าตัวเพิ่งเข็นพ็อกเกตบุ๊กเล่มเล็กๆ ชื่อ “สาระภาพ” สำนักพิมพ์กูบ หนังสือรวมภาพถ่ายสวยๆ จากอินสตาแกรม (ภายใต้ยูเซอร์ @roundfinger) พร้อมถ้อยคำสั้นคมคาย นี่คือหนังสือขายดีอีกเล่ม อันเรียกได้ว่าเป็นผลผลิตจากโซเชียลมีเดีย

นิ้วกลม เล่าว่า ชอบเล่นอินสตาแกรม เพราะมันทำให้เห็นชีวิตของคนคนหนึ่งผ่านภาพถ่าย หากไล่ดูภาพของแต่ละคน ก็จะเห็นความหลากหลายของชีวิต ในโลกใบเดียวกันมีโลกใบเล็กใบน้อยอยู่เต็มไปหมด อาจจะคล้ายกันบ้าน แต่ไม่มีโลกของใครซ้ำกันเลยสักคน

“การใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนมักอยู่คนเดียวในสังคม แต่ต้องการแสดงออกเพื่อให้ผู้อื่นสนใจ พวกเขาจึงเลือกโพสต์ข้อความที่ทำให้ผู้พบเห็นสะดุดและสะเทือนใจ

แม้จะมีข้อดีหลายเรื่อง แต่โซเชียลมีเดียก็ทำให้คนเขียนข้อความยาวๆ น้อยลง ได้ฝึกระบบความคิดน้อยลง และเลือกใช้อารมณ์ในการตอบโต้มากขึ้น ผมมองว่าผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียควรใช้โลกออนไลน์เพื่อเรียนรู้คนอื่น มากกว่าการตอกย้ำความเชื่อของตัวเอง และดีใจไปกับจำนวนผู้กดไลค์และแชร์ข้อความนั้น” ประโยคข้างต้นเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ไว้

ไม่ว่านักเขียนมือสมัครเล่น หรือนักเขียนมืออาชีพจะนิยมเขียนลงในกระดาษ ลงในสมุด มากกว่าจะเขียนลงในเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างๆ แต่ในความคิดเห็นของนักเขียนอาวุโส บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555 มกุฏ อรฤดี เคยขึ้นสเตตัสเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างน่าคิดว่า

“ถ้าเราเขียนข้อความ วันละ ๑ บรรทัด ปีหนึ่งก็ได้ ๓๖๕ บรรทัด เลือกให้ดี อาจมีถ้อยคำดีๆ สัก ๖๐ บรรทัด ภายใน ๑๐ ปี อาจจะได้ต้นฉบับดีๆ ๑ เล่ม แต่ถ้าเราไม่เขียนเลยสักวัน แม้ครึ่งบรรทัด ก็ไม่ต้องคิดอะไรเรื่องนี้เลย แม้ ๒๐ ปี ๓๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี

นี่คือสิ่งที่เราเรียกสั้นๆ ว่า “ประโยชน์ของการเขียนบันทึกประจำวัน”

จะเขียนที่ไหน เขียนอย่างไร เขียนเถอะ ขอให้ตั้งใจจริง เขียนดีจริง งานออกมาโดนใจคนจริง

ผู้อ่านจะมอบตำแหน่ง “นักเขียน” ให้คุณเอง.