posttoday

สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ย้อนรอยพยาบาลเอดส์ยุคแรก พุทธิพร ลิมปนดุษฎี

11 พฤษภาคม 2556

สมัครมาเป็นพยาบาลผู้ป่วยโรคเอดส์ ก็คิดว่าจะเป็นพยาบาลที่ดี คำว่า ผู้ป่วย ไม่มีแบ่งแยก แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่พยาบาลโรคเอดส์ต้องเจอก็ทุกข์ทนไม่น้อยไปกว่าตัวผู้ป่วยเอดส์เอง

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

“สมัครมาเป็นพยาบาลผู้ป่วยโรคเอดส์ ก็คิดว่าจะเป็นพยาบาลที่ดี คำว่า ผู้ป่วย ไม่มีแบ่งแยก แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่พยาบาลโรคเอดส์ต้องเจอก็ทุกข์ทนไม่น้อยไปกว่าตัวผู้ป่วยเอดส์เอง” พี่อ้อง หรือ พุทธิพร ลิมปนดุษฎี หัวหน้าตึกอายุรกรรม หรือตึกผู้ป่วยเอดส์ สถาบันบำราศนราดูร ผู้ดูแลผู้ป่วยเอดส์มานานกว่า 20 ปีเล่า

เอดส์เริ่มเป็นที่รู้จักในไทยเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ในฐานะของโรคร้ายสังคมรังเกียจ คนเป็นเอดส์ต้องตายทุกคน การที่บอกว่าเอดส์เป็นแล้วตายโดยไม่อธิบาย ทำให้เอดส์ยุคแรกระบาด กลายเป็นโรคร้ายที่สังคมในเวลานั้นตั้งข้อรังเกียจอย่างรุนแรง ไม่เฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ แต่พยาบาลที่ดูแลก็ถูกรังเกียจไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ตลอดชีวิตของการทำงานต้องปาดน้ำตามาแล้วหลายครั้ง

ปลายปี 2529 สถาบันบำราศนราดูร ปรับปรุงอาคารร้างที่ห่างไกล (มาก) ให้เป็นตึกผู้ป่วยเอดส์ หรือเป็นที่รู้จักกันว่า “ตึก 9” มีพรศิริ เรือนสว่าง เป็นพยาบาลหัวหน้าตึก พุทธิพรซึ่งเพิ่งย้ายมาปฏิบัติงานที่สถาบันได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมงาน เธอถูกถามว่า “มีวอร์ดเอชไอวีต้องการพยาบาล จะอยู่มั้ย” ก็ตอบทันทีว่า “อยู่ค่ะ” คนถามเองที่ย้อนถามว่า “อยากคิดก่อนมั้ย?”

ภาพอดีตผุดขึ้นในความทรงจำ พุทธิพร เล่าว่า ณ ขณะนั้นไม่คิดและไม่กลัว เพราะคนไข้คือคนไข้ พยาบาลจะไม่แบ่งแยกคำว่า “คน” และคำว่า “ไข้” ออกจากกัน ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะมีอุปสรรครอบด้านจากการทำงานกับผู้ป่วยเอดส์ แต่จะฝ่าฟันและสู้ให้ได้ หากในเวลานั้นเธอไม่รู้เลยว่าแรงเสียดทานจะมาจากรอบทิศ ไม่เว้นแม้แต่จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วยกันเอง

“พยาบาลเอดส์ยุคแรกๆ เขาให้ใส่ชุดสีแดงด้วยนะคะ เพื่อที่จะได้ให้รู้ว่าเราเป็นพยาบาลโรคเอดส์ ต่อมาจึงต่อรองเป็นชุดสีม่วง แต่ก็ไม่ใช่ชุดขาวอยู่ดี เห็นสีเสื้อพวกเราเดินไปทางไหน ทางจะโล่งหมด ไปนั่งกินข้าวที่โรงอาหารก็ลำบาก เพราะทุกคนจะตั้งท่า ร้านมาขอร้องให้อย่ากินอาหารจากจานได้มั้ย ในที่สุดจึงแก้ปัญหาด้วยการหุงหาทำกินกันเองที่ตึก เสื้อผ้าผู้ป่วยทุกชิ้นเป็นสีแดงแปร๊ด พยาบาลต้องซักตากและพับเก็บเอง หรือถึงชุดของพยาบาลเองไปจ้างเขาซักรีด ก็ไม่มีใครรับ ร้านซักรีดเอามาคืน บอกว่า พรุ่งนี้ไม่ต้องมาส่งแล้วนะ แล้วเขาก็วางผ้ากองไว้”

จนชุดเครื่องแบบสีขาวของพยาบาลที่น่าภาคภูมิใจ ก็ไม่ได้สวมใส่ ไปไหนก็มีแต่คนรังเกียจ รอเรียกรถมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน ไม่มีใครแวะรับ ฝนตกยืนอุ้มท้องอยู่ทั้งเปียกๆ แต่มอเตอร์ไซค์ทุกคันรีบขับผ่านไป มีป้าคนหนึ่งหยุดรับ บอกว่าขึ้นมาแต่อย่ากอดป้านะ ไปนั่งห่างๆ แล้วก็เอาผ้ายางมาปูเบาะ ป้าเล่าให้ฟังว่า คนอื่นเขารังเกียจเพราะรู้ว่าเป็นพยาบาลโรคเอดส์ กลัวเสื้อผ้าจะติดเชื้อ คุยกันว่าอย่าจอดรับผู้หญิงคนนี้ ไม่เฉพาะแต่ตัวเอง หากต่อมาลูกของเธอก็โดนด้วย ในวินาทีที่เนิร์สเซอรี่รู้ว่าเธอเป็นใคร ลูกน้อยแสนบริสุทธิ์ของแม่ก็กระเด็นออกมาทันที

ความรู้สึกในขณะนั้น คือ ทำไมต้องรังเกียจกันขนาดนี้ น้ำตาใกล้หยดแต่จะให้หยดออกมาไม่ได้ เนื่องจากลูกทีมและคนไข้จะเสียกำลังใจ บอกกับตัวเองว่า โดดเดี่ยวแต่ต้องเข้มแข็ง ทีมงานคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยในเวลานั้นต่างช่วยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน หลอมรวมความรู้สึกเลวร้ายให้กลายเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว มี นพ.บุญชัย โควาดิสัยบูรณะ รองผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ ผู้เรียกได้ว่าเป็นหลัก รวมทั้งเป็นพ่อพระของวอร์ดตึก 7 (ต่อมาย้ายหอผู้ป่วยจากตึก 9 มาตึก 7)

วิกฤตที่ถาโถม ขอเปลี่ยนเป็นโอกาส ปัญญาและพลัง ทีมงานหอผู้ป่วยเอดส์ในขณะนั้น ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพอีก 45 คน นอกจากนี้ยังมี นพ.สมสิทธิ์ ตันสุภสวัสดิกุล นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้บุกเบิกการรักษาตั้งแต่ช่วงต้น สำหรับเธอแล้วทีมงานคือสิ่งสำคัญที่สุด เหนื่อย ทุกข์ สุข เศร้า ขอให้ผ่านไปด้วยกัน เวลาทำงานจะถอดหมวกวางไว้ ทุกคนเสี่ยงเท่ากันที่จะถูกเข็มจากการเจาะเลือดหรือแทงน้ำเกลือ

กำลังใจจากครอบครัวก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย สามีสมเกียรติ มีนิล เป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และลูกชายคนเดียว น้องอู๋สิรธีร์ ลิมปนดุษฎี ปัจจุบันกำลังศึกษาใกล้จบปริญญาตรี ทั้งคู่รู้ว่า “เธอทำอะไรอยู่” ต่างช่วยเป็นกำลังใจ หรือแม้กระทั่งเตือนกันว่า อย่าทำอะไรที่อาจส่งผลกระทบถึงการทำงานของเธอ

“บางทีจะเครียดหรือเหนื่อยมาก พ่อลูกเขาก็จะเตือนกันเองว่า อย่าทำให้แม่เครียดนะ หรืออย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้นะ เพราะจะมีผลกับงานหรือการพักผ่อน ทำให้แม่เป็นอันตรายได้”

ปัจจุบันทั้งพ่อและลูกชายต่างร่วมภาคภูมิใจไปกับแม่และภรรยา ซึ่งได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินับรวมถึงปัจจุบัน 15 รางวัล ล้วนเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ หนึ่งในร้อยของการคัดเฟ้น ไม่ว่าจะเป็นรางวัลพยาบาลดีเด่นของกระทรวงสาธารณสุข หรือรางวัลเพชรกาสะลอง ในปี 2552 และรางวัลพยาบาลดีเด่น สภาการพยาบาล ปี 2553 จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ล่าสุดคือรางวัลจากมูลนิธิโกมลคีมทอง รางวัลทุกรางวัลมอบให้แก่ทีมงานทุกคน

ไม่เพียงได้รับพลังจากทีมงานและครอบครัวญาติมิตร หากแรงใจส่วนหนึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามาจากผู้ป่วยเอดส์เอง พุทธิพรเฉียดตายมาแล้ว 3 ครั้ง ทั้งสามครั้งมาจากการถูกคนไข้ทำร้าย ครั้งหนึ่งคนไข้ติดยาเสพติด เกิดความเครียดวิ่งไปหยิบกรรไกรที่ใช้ตัดสายน้ำเกลือมาวิ่งไล่แทง ทุกคนหนีกระเจิดกระเจิงเข้าห้องพยาบาลแล้วล็อกห้องแน่น ญาติคนไข้รีบลงไปตาม รปภ. ช่วงวิกฤตนั้นไม่มีใครเหลืออยู่เลย

เหลือแต่เธอกับคนไข้วิ่งไล่ล่ากันอยู่ 2 คน ช่างน่าระทึกอะไรเช่นนั้น คนไข้ตัวสูงใหญ่วิ่งไล่จวนเจียนก็หลายรอบ พุทธิพรวิ่งหนีลัดเลาะล่อเอาเถิดไปตามเตียง ส่วนคนไข้ที่นอนอยู่ก็ได้แต่มองตามตาปริบๆ ลุ้นให้เธอหนีทัน จนมาถึงเตียงหนึ่งกำลังจะถูกแทงอยู่แล้ว คนไข้อาการหนักนอนแบ็บให้ออกซิเจนอยู่รีบตะโกนว่า “คุณอ้อง เดี๋ยวผมจะช่วยเอง” คนไข้ที่นอนหอบอยู่นี่แหละ รีบถอดหน้ากากออกซิเจนออก แล้วเอาตัวกระโจนลงไปชนตรงท้องคนไข้ที่กำลังอาละวาด ทำให้เซเพราะจุกที่ท้อง จากนั้นก็ล้มคลุกต่อสู้กัน ตำรวจมาถึงช่วงนั้น เธอรีบไปดูคนไข้ที่มาช่วย ซึ่งหอบแฮ่กๆ และตัวเขียวแล้ว

“ยกมือไหว้เขาเลยค่ะ น้ำตาไหล จับมือเขาบอกว่า พี่อ้องขอบคุณมากเลยนะที่ช่วยชีวิตพี่อ้องไว้ เขาตอบด้วยน้ำตา พยายามพูดทั้งที่หอบว่า พี่อ้องครับ ผมตายชีวิตเดียว ชีวิตผมมันไม่มีค่า แต่พี่อ้องมีคุณค่าสำหรับคนไข้อื่นอีกเยอะ”

รวมทั้งอีกสองครั้งสองคราที่รอดชีวิตมาได้ก็เพราะคนไข้ ทำให้เธอตระหนักแก่ใจว่าชีวิตนี้จะต้องทดแทนบุญคุณคนไข้ เพราะคนไข้ทำให้รอดชีวิตมาได้ ถึงวันนี้ไม่ได้โทษใคร เพราะรู้ว่าในสมัยนั้นพูดถึงเอดส์ใครๆ ก็กลัว ถ้าพวกเขารู้ก็จะไม่กลัวหรือรังเกียจขนาดนี้ ปัจจุบันสถานการณ์โรคเอดส์ดีขึ้น ความเข้าใจดีขึ้น การปฏิบัติต่อผู้ป่วยเอดส์และพยาบาลโรคเอดส์ก็ดีขึ้น ชุดสีขาวเครื่องแบบของพยาบาลก็สู้จนกลับมาใส่ได้อีกครั้งในวันนี้

หลายคนถามเธอว่า มาช่วยผู้ป่วยเอดส์ให้ตัวเองเหนื่อยทำไม อยากหาโรคมาเอง ทำไมจะต้องเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยง ช่วยไปทำไมผู้ป่วยเอดส์...ให้ไปเกิดใหม่เถอะ นอกจากนี้คือสภาพน่าเหนื่อยหน่ายชวนสังเวช เพราะการดูแลผู้ป่วยซึ่งมีสภาพไม่น่าดู จากหนอนที่เน่าเฟะ หรือหิด เหา น้ำเลือดน้ำเหลือง เวลาในการทำงานก็หนักกว่า นานกว่า ทำไมไม่ไปทำงานที่อื่นที่เงินเดือนเยอะกว่า ปลอดภัยกว่า และมีอนาคตที่ดีกว่า

“ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะถ้าพี่เป็นคนไข้หรือผู้ป่วย ก็อยากให้มีพยาบาลมาดูแลเหมือนผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อ กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องต่อสู้กับแรงกดดันทั้งในและนอกโรงพยาบาล เคยท้อ เคยล้า แต่เมื่อคิดว่ามีผู้ป่วยเอดส์อีกมากที่รอให้ช่วยเหลือก็ท้อไม่ได้ ต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ผู้ป่วยคือครูที่สอนให้รู้คุณค่าความเป็นคน สอนให้รู้จักการให้ความรักและการเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทน สอนให้ภูมิใจในคุณค่าของความเป็นพยาบาล และสอนให้เรียนรู้ว่า ไม่มีใครต้องการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนอื่นในสังคม”