posttoday

หวัดนก H7N9 ไม่แสดงอาการไม่มียารักษา

27 เมษายน 2556

แม้ยังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ใช่ว่าจะไม่มีความน่าจะเป็น

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

แม้ยังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ใช่ว่าจะไม่มีความน่าจะเป็น

ความตื่นตระหนกปกคลุมทั่วทุกหัวระแหง บัดนี้เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ได้ยกระดับความรุนแรงขึ้น

เดิม H7N9 ติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คน

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งข้อสันนิษฐาน ว่า เชื้อ H7N9 ลามสู่คนโดยมีคนเป็นพาหะได้

กล่าวโดยง่าย มีความเป็นไปได้ที่เชื้อจะติดต่อจากคนสู่คน

ที่สำคัญยังไม่มียารักษา!

สมมติฐานข้างต้นเกิดขึ้น เพราะทางการจีนตรวจพบผู้ติดเชื้อ H7N9 ยกครอบครัว

เริ่มตั้งแต่พ่อวัย 87 ปี ซึ่งได้รับเชื้อและเสียชีวิตเป็นรายแรกของประเทศจีน จากนั้นพบว่าลูกชายคนที่หนึ่งติดเชื้อเช่นกัน จนกระทั่งพบลูกชายคนที่สองล้มป่วย และมีแนวโน้มว่าจะป่วยด้วยเชื้อ H7N9

สอดรับกับที่ นพ.ริชาร์ด เว็บบี้ แผนกโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเพื่อการวิจัยในเด็กเซนต์จูด สหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า H7N9 สามารถก่อให้เกิดการระบาดจากคนสู่คนได้มากที่สุดในบรรดาหวัดนกทุกสายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อจากคนสู่คนยังเป็นเพียง “ข้อสันนิษฐาน” ทางทฤษฎี และหากเกิดการติดต่อจากคนสู่คนจริงคงจะอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น เป็นไปได้ยากที่จะระบาดใหญ่

ทว่า WHO ก็ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าสอบสวนและพิสูจน์โรคในประเทศจีน

สำหรับความรุนแรงของเชื้อ H7N9 ซึ่งสังเกตจากผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิต มีอาการปอดบวมรุนแรง น้ำท่วมปอด สมองได้รับความเสียหาย มีอาการช็อกจากภาวะติดเชื้อ ไตวาย (ไม่พบอาการภายนอก)

ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อแสดงอาการ และเข้ารับการรักษาเมื่อสายเกินไปแล้ว

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น จากข้อมูลทางวิชาการที่เผยแพร่ในระดับสากล ยืนยันตรงกันว่า H7N9 จะไม่ก่ออาการรุนแรงในสัตว์ปีก นั่นหมายความว่าผู้เลี้ยงจะไม่ทราบได้ว่าสัตว์ปีกเหล่านั้นติดเชื้อแล้ว

ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่า ยังปลอดภัยและประชาชนไม่ต้องกังวล จนถึงขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องตั้งด่านตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกประเทศ ยังไม่จำกัดการเดินทางและการค้า

นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ประชุมเพื่อวางมาตรการเฝ้าระวังเชื้อ H7N9 ไปแล้ว เบื้องต้นจะเฝ้าระวังใน 4 กลุ่มเป้าหมายเดิม คือ ผู้ที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นปอดบวม

นอกจากนี้ ให้ สธ.เตรียมสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้เพียงพอ และควรสำรองยาต้านไวรัสในรูปแบบยาฉีดจำนวนหนึ่ง เช่น ยา Peramivir หรือ Zanamivir

“น่าจะใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้ เพราะเชื้อยังไม่ดื้อยา แต่ก็ต้องลองไปก่อน เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอ” นพ.ประเสริฐ ระบุ

ขณะที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. บอกว่า WHO รายงานมาว่า ภายใน 3 เดือน ประเทศจีนจะผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อได้

ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อ H7N9 รวม 17 คน