posttoday

‘เสื้อผ้า หน้า ผม’

13 เมษายน 2556

สาวออฟฟิศ สวย... เต็มวงเงิน

สาวออฟฟิศ สวย... เต็มวงเงิน

ไม่รู้ว่าสาวออฟฟิศสมัยนี้เขาจะแข่งสวยกันไปถึงไหน เพราะทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม “เป๊ะเว่อร์” กันเสียจริงๆ แต่กว่าที่พวกเธอจะสวยน่ามองได้ขนาดนี้ ก็ต้องควักกระเป๋ากันเดือนละหลายบาท

“วิสุทธิพันธุ์” สาวสวย ทันสมัย แต่งกายดีเด่น ที่น่าจะเป็นตัวแทนของสาวออฟฟิศยุคนี้ได้เป็นอย่างดี บอกว่า ประเมินไม่ได้จริงๆ ว่า แต่ละเดือนเธอซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องสำอาง รวมแล้วเป็นเงินเท่าไร เพราะ “ถูกใจก็ซื้อ”

แต่เมื่อเดือนที่แล้ว เธอช็อปไปกว่า 5,000 บาท โดยเป็นเสื้อผ้า 2,000 บาท รองเท้า 3,000 บาท และเครื่องประดับ 450 บาท

ขณะที่ “เครื่องแต่งกาย” ของเธอในวันนี้ (ไม่รวมของมีค่า อาทิ นาฬิกา แหวน กำไล และสีสันบนใบหน้า) นับมูลค่ารวมกันได้ 6,500 บาท ซึ่งเธอย้ำหนักแน่นว่า “มันคือการลงทุน”

แถมยังคุ้มค่าน่าลงทุน เพราะมีความสุขใจและความมั่นใจเป็นผลตอบแทน

“แต่จะเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ใช้ได้หลายโอกาส และสามารถนำมามิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้าที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นสไตล์ของตัวเราเองมากที่สุด ทำให้ใส่ได้นาน ไม่เหมือนเสื้อผ้าตามแฟชั่นที่อาจจะต้องเปลี่ยนบ่อยๆ นอกจากนี้ จะซื้อของคุณภาพดี ที่แม้ว่าราคาอาจจะสูงบ้าง แต่สามารถใช้งานได้นาน เช่น กางเกง รองเท้า กระเป๋า” วิสุทธิพันธุ์ กล่าว

แต่หากถาม “คนวัยทำงาน” ทั่วๆ ไป ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ที่มีสไตล์การแต่งตัวแตกต่างกัน จากงานวิจัยเรื่อง “การจัดการการเงินส่วนบุคคล : กรณีศึกษาเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน” โดย จันทร์เพ็ญ บุญฉาย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะได้ “ค่าเฉลี่ย” ของค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าและเครื่องประดับเดือนละ “พันบาท” เท่านั้น

โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ตั้งแต่ 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เฉลี่ยเดือนละ 1,260 บาท หรือ 4.97% ของรายจ่ายรวม แต่ถ้ารายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทจะไปเดือนละ 1,090 บาท หรือ 8.39%

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ผลที่น่าตกใจ (แต่ไม่แปลกใจเท่าไรนัก) คือ คนวัยทำงานเกือบ 40% จะใช้เงินแบบไม่มีข้อกำหนดและอยากได้อะไรก็ซื้อ นั่นเพราะคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสาวออฟฟิศที่มักจะเลือกใช้วิธี “ช็อปปิ้งบำบัด” เมื่อรู้สึกเหงา หงุดหงิด เซ็ง เครียด เบื่อ

และไม่ต้องห่วงว่า จะไม่มีเงินจ่าย เพราะสาวๆ ในกลุ่มนี้จะมีบัตรเครดิตเป็นเพื่อนผู้แสนดี

“เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าจิตใจไม่มั่นคงอย่าไปเดินห้างฯ เพราะถ้าเห็นป้ายลดราคาเท้ามันจะพาร่างกายตรงดิ่งเข้าไปทันที และในที่สุดจะได้ของที่ไม่มีประโยชน์ติดมือกลับบ้าน” วิสุทธิพันธุ์ ฝากไปถึงสาวๆ ในฐานะที่เธอเคยผ่านสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว

เช่นเดียวกับ ผลการวิจัยของ จันทร์เพ็ญ ที่พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 48.3% บอกว่า มีสิ่งของบางอย่างที่ซื้อมาแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็รู้ตัวว่า จริงๆ แล้วไม่ได้อยากได้

และกลุ่มตัวอย่างนี้ ยังบอกอีกว่า ในบรรดาของที่ซื้อแล้วไม่ได้ใช้ส่วนใหญ่จะเป็น “เสื้อผ้า” โดยมีสัดส่วนมากถึง 47.4% ซึ่งถือว่านำโด่ง เพราะอันดับรองๆ ลงไปก็มีสัดส่วนไม่ถึง 10% เช่น เครื่องประดับ สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง กระเป๋าถือ

ขณะที่เหตุผลในการซื้อเครื่องใช้ส่วนตัว จะให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” มากที่สุด (53.6%) แต่ก็ไม่ลืมที่จะพิจารณาเรื่อง “ราคา” (23.7%) ถัดไปจะมีเหตุผลอื่นๆ เช่น จำเป็น ถูกใจ ใช้ประจำ (13.6%) รวมทั้งการซื้อตามแฟชั่น (9.1%)

นอกจากนี้ สาวๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ “บ้าสะสมแต้ม” เพราะจะซื้อของเกินความต้องการ เพื่อให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นๆ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น ในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นสวยกระเป๋าฉีก หรือสวยเต็มวงเงิน เพราะใช้บัตรเครดิตช็อปกระจาย

สาวเกษียณ สวย... สบายกระเป๋า

พอพ้นวัยทำงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะลดลงไปประมาณ 30% จากค่าใช้จ่ายเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ (โดยที่ไม่ทำให้มาตรฐานชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก) แต่สำหรับ “เภาพงา” อดีตสาวออฟฟิศ ที่เกษียณอายุมาเมื่อ 2 ปีก่อน บอกว่า “ค่าใช้จ่าย เสื้อผ้า หน้า ผม ลดลงไปกว่าครึ่ง”

“เมื่อก่อนต้องห่วงว่า จะแต่งตัวอย่างไร ต้องดูแฟชั่นในสังคม เพราะไปทำงานต้องแต่งตัวดี ดังนั้นตอนที่ยังทำงานอยู่จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยจะซื้อเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เดือนละหลายพันบาท” เภาพงา กล่าว

พร้อมกับบอกว่า “แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวไปอวดใคร เพราะไม่เน้นออกงานสังคมมาก นอกจากนี้ เสื้อผ้าเก่าที่ซื้อไว้ตอนทำงานก็ยังใช้ได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่”

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ “สไตล์การแต่งตัว”

เภาพงา บอกว่า หลังจากเกษียณอายุแล้ว ก็จะเน้นเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดรูป และเป็น “ชุดลำลอง” มากกว่า “ชุดออกงาน”

“รองเท้า ก็เหมือนกัน คือ จะเน้นใส่สบาย ส้นไม่สูง ซึ่งคู่หนึ่งราคาประมาณ 1,000 - 2,000 บาท และไม่ต้องมีหลายสี แค่ น้ำตาล เทา ดำ ก็พอแล้ว เพราะเป็นสีที่สามารถใส่คู่กับชุดและกระเป๋าที่มีอยู่ได้ จากเมื่อก่อนต้องมีรองเท้าหลายสี เพื่อให้เข้ากับเสื้อผ้า”

ขณะที่กระเป๋าคู่ใจก็มีอยู่เพียงไม่กี่ใบ แถมยังเป็นกระเป๋าใบเก่าที่ซื้อมาตั้งแต่ตอนเป็นสาวออฟฟิศ

“อาจจะซื้อกระเป๋าใหม่บ้าง แต่ไม่ได้ซื้อบ่อยๆ แค่ปีละ 1 ใบ และที่มีอยู่แล้วก็เป็นกระเป๋าคุณภาพดีสามารถใช้งานได้นาน แต่รูปแบบกระเป๋าที่ใช้งานอาจจะเปลี่ยนไปบ้างจากที่ใช้กระเป๋าใบเล็กก็ต้องเปลี่ยนเป็นใบใหญ่ เพราะมีสัมภาระที่ต้องติดตัวหลายชิ้น ตั้งแต่ ร่มกันแดด ผ้าพันคอ เพราะหนาวง่าย แว่นก็ต้องมี 2 อัน ทั้งแว่นสายตาและแว่นกันแดด”

ยิ่งเป็นเรื่อง “หน้าผม” ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เภาพงา บอกว่า “บอกลา อายแชโดว์ บลัชออน ไปได้เลย เพราะแค่ทาแป้ง เขียนคิ้ว ทาปาก ก็ออกจากบ้านได้แล้ว และเมื่อก่อนทำผมอาทิตย์ละครั้ง ตอนนี้ก็เหลือแค่เดือนละครั้ง และถ้าไม่ได้ออกไปไหนก็แทบจะไม่ได้แต่งหน้าทำผมเลย”

เพราะฉะนั้น สาววัยเกษียณ อย่าง เภาพงา มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้า หน้า ผม เดือนละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งถือว่า เป็นความสวยแบบสบายกระเป๋า

“แต่ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ สารพัดยาบำรุง และวิตามิน เดือนละประมาณ 2,000 บาท เพราะเมื่ออายุมากขึ้นสุขภาพก็แย่ลง ทำให้ต้องดูแลมากขึ้น”