posttoday

ชายรักชาย ตรวจคัดกรองมะเร็งรูทวาร

13 เมษายน 2556

คงไม่เกินขอบข่ายที่สังคมจะยอมรับได้ หากว่ากันตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

คงไม่เกินขอบข่ายที่สังคมจะยอมรับได้ หากว่ากันตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ใช่หรือไม่ว่าอนุภาคของความรักละเอียดอ่อนเกินกว่าจะใช้ “เพศสภาพ” มาจำแนก และ “เครื่องเพศ” หรือลักษณะทางกายภาพ ก็ใช่ว่าจะบ่งชี้หรือเป็นตัวกำหนดความต้องการ–จิตใจ–รสนิยมได้อย่างแท้จริง

ความหลากหลายทางเพศจึงไม่ใช่สิ่งผิดแผกหรือแตกต่าง มันไม่ใช่ปมด้อยหรือความลับให้ต้องอำพรางอีกต่อไป หากแต่เป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม กล่าวคือการดำรงอยู่ของกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง ฯลฯ สังคมไม่อาจปฏิเสธตัวตนได้

ที่น่าสนใจ อยู่ที่ปัญหาสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะปัญหาที่มีผลพวงมาจาก “เพศสัมพันธ์” จำเป็นต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้อง

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ต่อสถิติความเสี่ยงโรคมะเร็ง พบว่า กลุ่ม “ชายรักชาย” เสี่ยงเป็นมะเร็งปากทวารหนักจากเชื้อไวรัสเอชพีวีถึง 1.6 คน ต่อแสนประชากร หรือ 70 - 90% ของผู้ป่วยเพศชาย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประมาณการว่า ชายไทยอายุ 15 - 49 ปี เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ต่ำกว่า 3% โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ที่กว่า 2 แสนคน สำหรับแนวโน้มของโรคมะเร็งจากเชื้อเอชพีวีมีอัตราการป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในจำนวนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและติดเชื้อเอชพีวีนั้น พบว่าจะมีการติดเชื้อเอชพีวีทุกชนิดร่วมด้วยถึง 85% ในจำนวนนี้เป็นเชื้อเอชพีวีชนิดที่มีความเสี่ยงสูงถึง 58%

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ รองหัวหน้าหน่วยวิจัย SEARCH อธิบายว่า เชื้อเอชพีวีสามารถติดต่อได้ทางสัมผัส โดยเฉพาะบริเวณปากมดลูกและปากทวารหนัก เพราะเป็นโซนที่เซลล์มีการเปลี่ยนชนิดจากเยื่อบุเป็นผิวด้านนอก จึงเป็นแหล่งที่เชื้อชอบเข้าไปสะสม ดังนั้นกลุ่มชายรักชายจึงมีความเสี่ยง

สำหรับวิธีการป้องกัน ขอให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากทวารหนัก (Anal Pap Smear) ซึ่งเป็นวิธีเก็บเซลล์มาตรวจหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง และหากพบว่าผิดปกติจะต้องรับการรักษาที่บริเวณนั้นก่อนลุกลามกลายเป็นมะเร็ง เพราะมีโอกาสการเป็นมะเร็งภายใน 1 ปี และจะมีโอกาสเป็น 1 ใน 600 คน

ที่น่าห่วงอีกประการ คือ การเกิดมะเร็งในช่องปากและลำคอจากเชื้อเอชพีวี ซึ่งเกิดการจากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (ออรัลเซ็กซ์) ด้วย

สัญญาณอันตรายที่ต้องจับตา แฝงมากับความผิดปกติในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่สามารถตรวจพบด้วยการส่องกล้อง อย่างไรก็ตามเมื่อโรคมีการพัฒนามากขึ้น ผู้ป่วยอาจแสดงอาการผิดปกติ เช่น มีพฤติกรรมการขับถ่ายผิดไปจากเดิม เช่น จากที่เคยถ่ายเป็นประจำทุกวัน ก็เริ่มมีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือรู้สึกถ่ายไม่หมด ไม่สุด

มีเลือดแดงหรือดำปนออกมาขณะขับถ่าย ขนาดอุจจาระเล็กลง ปวดท้อง อืดท้อง แน่นท้อง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ คลื่นไส้และอาเจียน เนื่องจากลำไส้อุดตันเพราะเซลล์มะเร็ง รู้สึกหมดแรง อ่อนเพลียบ่อย เนื่องจากก้อนมะเร็งทำให้เกิดการเสียเลือด ในบางรายอาจคลำเจอก้อนในช่องท้อง อาการเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง