posttoday

หยุดหายใจขณะนอนหลับ ภัยคุกคามที่คาดไม่ถึง

30 มีนาคม 2556

หลายคนอาจไม่รู้ว่าขณะนอนหลับอาจมีภัยร้ายที่คาดไม่ถึงมาเยือน จนทำให้หยุดหายใจและเกิดอันตรายต่อระบบร่างกายได้

หลายคนอาจไม่รู้ว่าขณะนอนหลับอาจมีภัยร้ายที่คาดไม่ถึงมาเยือน จนทำให้หยุดหายใจและเกิดอันตรายต่อระบบร่างกายได้

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

หลายคนอาจไม่รู้ว่าขณะนอนหลับอาจมีภัยร้ายที่คาดไม่ถึงมาเยือน จนทำให้หยุดหายใจและเกิดอันตรายต่อระบบร่างกายได้ ฉบับนี้แนะนำให้รู้จักกับ พญ.วิสาข์สิริ ตันตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบหายใจ ศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าให้ฟังว่า มีการพบโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับมากกว่า 5-10% ของระดับประชากรในแต่ละประเทศ โดยที่ผ่านมาเคยสำรวจแบบสอบถามกรนและง่วงนอนในองค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง พบผู้ป่วยมีอาการและมีความเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับถึง 11%

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงและนอนกรน รวมถึงจะพบโรคร่วมอื่นเยอะ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ลักษณะทางพันธุกรรม โรคภูมิแพ้ การทำงานและการออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป

ส่วนสาเหตุการกรนในเด็กนอกจากจะมีปัจจัยคล้ายๆ ผู้ใหญ่แล้ว โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โดยจากการวิจัยพบว่า ในผู้ที่นอนกรนติดต่อกันเกิน 5 ปี ไม่ว่าจะอ้วนหรือผอม มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานสูงเป็น 2 เท่าเทียบกับคนที่ไม่นอนกรน และอาการเหล่านี้นำมาสู่โรคหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ ซึ่งในระยะยาวจะทำให้อายุสั้นลง

“การนอนกรนขณะที่นอนหลับมาจากทางเดินหายใจส่วนต้นตีบลง เสียงกรนที่เกิดขึ้นเกิดจากเวลาที่ท่านหายใจ อากาศเดินทางผ่านที่แคบทำให้เกิดเสียงดังขึ้น และนำอากาศผ่านไปสู่ปอดไม่ได้ จนเกิดผลเสียตามมาตั้งแต่ออกซิเจนในเลือดต่ำ และการที่ทางเดินหายใจส่วนต้นปิดนั้นร่างกายจะพยายามหายใจแรงขึ้น”

โดยคุณหมอวิสาข์สิริ บอกว่า ยังมีคนรักษาโรคนี้ด้วยตัวเองน้อยมาก เพราะไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็น โดยส่วนใหญ่จะเป็นภรรยา หรือคนที่นอนข้างๆ นำให้มา ทั้งนี้โรคหยุดหายใจขณะนอนไม่หลับ สามารถรักษาให้หายขาดได้หากเกิดขึ้นในเด็ก แต่หากเกิดในผู้ใหญ่จำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก หรือ ซีแพ็พ เพื่อขยายทางเดินหายใจไม่ให้ตีบ โดยจะเป่าลมผ่านท่อสายยางไปสู่จมูกผู้ป่วยผ่านหน้ากากจนกว่าจะหยุดกรน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง ได้แก่ การใส่ฟันยางเพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เปิดศูนย์โรคการนอนหลับ ไว้คอยตรวจวินิจฉัยโรค โดยจะมีเครื่องประมวลผลขณะนอนหลับว่าผู้ป่วยมีการหายใจเป็นอย่างไร และควรได้รับการรักษาลักษณะใด ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับความนิยมจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าฟิลิปส์ และ University Malaya Specialist Centre (UMSC) จัดตั้ง ASEAN Sleep Research & Competence Centre ที่ประเทศมาเลเซีย ในการตรวจรักษาและวิจัยโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เพื่อค้นคว้าวิจัยยารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับเพื่อให้ได้วิธีการรักษาโรคที่แม่นยำ

เพราะโรคนี้หากรู้ก่อนก็มีโอกาสปรับตัวได้เร็วขึ้น

&<2288;