posttoday

อย่าปั่นเลยบางกอก (จะบอกให้)

28 กุมภาพันธ์ 2556

โครมเดียวแท้ๆ ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นข่าวเกรียวกราวอีกครั้ง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

โครมเดียวแท้ๆ ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นข่าวเกรียวกราวอีกครั้ง

คราวนี้ตกเป็นจำเลยในข้อหาเมืองที่มีถนนอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

หลังกรณีที่สำนักข่าวเดอะ เทเลกราฟ ประเทศอังกฤษ รายงานว่า ปีเตอร์ รูท และ แมร์รี ทอมป์สัน คู่รักนักปั่นจักรยานรอบโลก ประสบอุบัติเหตุถูกรถพุ่งชนเสียชีวิตคาที่ทั้งคู่ ขณะขี่จักรยานเสือภูเขาบนถนนสาย 304 พนมสารคามกบินทร์บุรี กม.4142 ท้องที่ ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา

แม้อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แต่โศกนาฏกรรมหนนี้ปลุกให้สังคมหันมาตื่นตัวเรื่องจักรยานและอุบัติเหตุบนท้องถนน จนยกระดับเป็นปัญหาระดับชาติทันที

จากรายงานผลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2533 ระบุว่า ประเทศไทยมีการตายจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 6 ของโลก จากประเทศสมาชิกทั่วโลก 182 ประเทศ ตัวเลขน่าตกใจคือ มีผู้เสียชีวิตถึง 29,778 คนต่อปี เป็นรองเพียงประเทศมาลาวี สวาซิแลนด์ นามิเบีย อิรัก และอิหร่าน

“เฉพาะกรุงเทพฯ ในปี 2555 ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับจักรยานเกิดขึ้นเพียง 7 รายเท่านั้น แม้จักรยานจะไม่ใช่สาเหตุหลักของการเสียชีวิต แต่คิดว่าปัญหาคือข้อจำกัดเรื่องเส้นทางจักรยานในเมืองไทย ระเบียบวินัยการจราจรของคนขี่จักรยานและรถอื่นๆ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจนำจักรยานออกมาปั่นบนถนน ควรคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้ คิดถึงผลได้ผลเสีย ความปลอดภัยว่าสมควรไหมที่จะขับขี่ในเมือง” เป็นคำกล่าวของ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บังคับการตำรวจจราจร แม้พูดไม่เต็มปากว่าถนนในเมืองกรุงไม่ควรปั่น แต่ความหมายที่แฝงไว้ก็น่าใคร่ครวญ

พล.ต.ต.ปิยะ บอกด้วยว่า ส่วนใหญ่ที่เห็นบนท้องถนนเป็นนักปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ และปั่นเพื่อการกีฬา ออกกำลังกาย ขณะที่ผู้ขับขี่เป็นพาหนะหลักเพื่อให้เดินทางในชีวิตประจำวันยังคงมีน้อยกว่า

กฤช เหลือละมัย คอลัมนิสต์ชื่อดังและผู้ที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน มองว่า พาหนะทุกประเภทล้วนมีตำแหน่งแห่งหนบนถนนเหมือนกันทุกคัน

“รถประจำทาง รถเก๋ง รถมอเตอร์ไซค์ ทุกคันมีตำแหน่งของตัวเองบนถนน แต่จักรยานเป็นพาหนะที่จู่ๆ ก็โผล่มา เรียกง่ายๆ ว่าเป็นน้องใหม่ในระบบการจราจร คนอื่นเลยประเมินไม่ถูกว่าความเร็วจักรยานมันแค่ไหน การเปลี่ยนตำแหน่ง ระยะการชะลอ รูปแบบการแซงซ้ายแซงขวา

ตำแหน่งของจักรยานอยู่ที่เลนซ้ายสุด แต่ปัญหาคือ ตรงซ้ายสุดของถนนดันเป็นท่อระบายน้ำ มันเลยทำให้วิ่งต่อไปไม่ได้ต้องหลบหลีกออกขวา ในที่สุดมันก็ไปสร้างความรำคาญให้รถคันหลัง เพราะเขาไม่รู้จักคุณ ไม่รู้จะประเมินคุณยังไง เดาทางไม่ถูก”

นักปั่นหนุ่มรายนี้ยังบอกอีกว่า ไม่มีรถคันไหนอยากชนจักรยาน เพราะจะตามมาด้วยความยุ่งยาก กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที

“ถึงเราเป็นรถเล็ก ที่ผ่านมามักเป็นฝ่ายถูกกระทำจากรถคันอื่นมากกว่า เพราะฉะนั้นเราจึงต้องระวัง ต้องมีอุปกรณ์ให้คนอื่นรู้ว่าเรามีตัวตนบนท้องถนน ไฟหน้าไฟหลัง กระจกมองหลังนี่สำคัญ ผมว่าจำเป็นมาก

เมืองกรุงคงต้องปรับตัวอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้รถคันอื่นรู้จักจักรยานกันให้มากกว่านี้ ตราบใดที่ยังไม่มีเลนจักรยานเป็นจริงเป็นจัง พวกเราก็ต้องระมัดระวังตัวเองกันต่อไป”

ปัญหาคาราคาซังเรื้อรังมาตลอด นั่นคือ ไม่มีเส้นทางจักรยานรองรับเสียที ในขณะที่ประชากรชาวจักรยานเพิ่มปริมาณขึ้นทุกวัน ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเลนจักรยานแล้ว 31 พื้นที่ แต่ละแห่งมีระยะทางเฉลี่ยไม่เกิน 15 กิโลเมตร หนำซ้ำเลนจักรยานเหล่านั้นยังกลายเป็นที่จอดรถขวางทาง รถประจำทางจอดทับ ผิวถนนขรุขระ หาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์จับจอง

รวมถึงปัญหาฝาท่อระบายน้ำแบบตะเเกรงที่วางเป็นแนวเดียวกับล้อจักรยานอีกกว่า 1,546 จุด เสี่ยงอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างยิ่ง

“ต้นตอของอุบัติเหตุของจักรยานที่พบบ่อยสุด อันดับหนึ่งคือ พื้นผิวถนน ฝาท่อ รองลงมาเป็น รถเฉี่ยวชน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นถนนโล่งๆ รถวิ่งเร็ว ในเขตเมืองเกิดขึ้นน้อย เพราะการจราจรติดขัด

ทุกวันนี้ ทัศนคติของรถใหญ่ที่มองเราดีขึ้น ยิ้มให้ มีน้ำใจแก่กัน แต่รถเมล์ แท็กซี่ รถตู้ และรถมอเตอร์ไซค์ที่อาจมีอาชีพเกี่ยวกับการขับรถรับจ้าง ต้องทำเวลา ยังไม่ค่อยระมัดระวัง ยังมีปาด เบียด แซงอยู่บ่อยๆ” แนนนนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล นักปั่นสาว เล่าให้ฟัง

เธอบอกว่า ในกรุงเทพฯ การจราจรแน่นเอี้ยด ความเร็วของรถยนต์กับจักรยานแทบจะเท่ากัน ปัญหาน่าจะมาจากวินัยในการขับขี่ของรถใหญ่ที่ไม่ค่อยใส่ใจรถเล็กมากกว่า

“เราก็ไม่ได้เข้าข้างรถจักรยานเสมอไปนะ นักปั่นเองบางทีก็เป็นฝ่ายผิด ขี่เป็นกลุ่ม ขี่หวาดเสียว ขี่เร็ว ฝ่าไฟแดง แถมหลายคนยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยอย่างหมวกกันน็อก ไฟหน้าไฟหลัง กระจกมองหลัง กระดิ่ง ยังไงก็ต้องเซฟตีเฟิร์สก่อน ไม่ใช่เพื่อรักษาอิมเมจของคนปั่นจักรยาน แต่เพื่อตัวเขาเองด้วย”

ยกตัวอย่างข่าวที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ เมื่อ ศาสตราจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จักรยานฟิกซ์เกียร์ที่กำลังแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นยุคนี้ อันตราย ผิดกฎหมาย ไม่เหมาะกับการขับขี่ในเมืองที่มีรถแล่นกันขวักไขว่เช่นนี้

“ฟิกซ์เกียร์เป็นจักรยานสำหรับแข่งขัน ต้องใช้ความเร็วสูงสุด จึงมีการออกแบบมาไม่ให้มีเบรก ไม่มีเกียร์ ต่อมามีคนเอาออกมาปั่นบนถนน โดยปั่นแบบชำนาญ คนอื่นเห็นก็อยากเอาบ้าง จนกลายเป็นแฟชั่นไปทั้งเมือง

แต่สำหรับผู้ไม่มีความเชี่ยวชาญ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ชอบซ่า ชอบท้าทาย แข่งขันกัน เสี่ยงมาก เพราะกรุงเทพฯ รถเยอะ การหยุดรถต้องใช้ความสามารถพิเศษและความสามารถของผู้ปั่นโดยเฉพาะ และยังผิดกฎหมาย เพราะไม่มีเบรก ไม่มีเกียร์ ไฟหน้าไฟท้าย แต่ตำรวจก็ไม่จับ” ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าว

แม้จะมีเสียงจากนักปั่นฟิกซ์เกียร์ออกมาโต้ว่าคนใช้ส่วนใหญ่เป็นนักปั่นที่เก่ง คล่อง รู้จังหวะในการหยุดเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถฟิกซ์เกียร์ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้ขับขี่จักรยานในเมืองทั้งหมด

แจนอุมาลักษม์ พันธุมสุต นักปั่นอีกราย ย้ำชัดว่า เสียใจกับข่าวเศร้าของคู่รักนักปั่นรอบโลกที่เกิดขึ้นในเมืองไทย แต่นั่นไม่ทำให้เธอเสียขวัญเลิกปั่นอย่างแน่นอน

“สงสัยอย่างหนึ่งคือ เกิดเหตุในบ้านเรา แต่สื่อไทยไม่สนใจเลย จนสื่อต่างประเทศตีข่าวไปทั่วโลก สังคมถึงได้รับรู้ มันสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างนะ” เธอพูดไว้อย่างน่าคิด.

ณ วันที่ยังไม่มีเลนจักรยานเอื้ออำนวยความสะดวกแก่เหล่านักปั่นชาวไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำได้ในเวลานี้คือ ปั่นด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นภาระต่อตัวเอง ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น

และช่วยกันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาแก้ไขเรื่องนี้ทันทีที่มีโอกาส

ประวัติของคู่รักนักปั่นรอบโลก ปีเตอร์ รูท และ แมรี ทอมป์สัน ทั้งคู่คบหากันมานาน 14 ปี ก่อนตัดสินใจท่องเที่ยวรอบโลก ด้วยการปั่นจักรยาน ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2554 ที่ผ่านมา โดยเริ่มปั่นไปทั่วทวีปยุโรปแล้วเข้าสู่ตะวันออกกลางและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมแล้ว 22 ประเทศ โดยตลอดเส้นทางทั้งสองเปิดเว็บไซต์ชื่อสองคนสี่ล้อ http://www.twoonfourwheels.com/ เพื่อบันทึกข้อมูลและประสบการณ์การปั่นจักรยานผ่านสถานที่ต่างๆ รวมทั้งโพสต์รูปภาพสถานที่ แผนที่ และธงชาติของแต่ละประเทศที่ปั่นจักรยานผ่านไปถึง กระทั่งจุดสุดท้ายที่ทั้งสองโพสต์คือ ประเทศไทย ก่อนมาเสียชีวิตลงอย่างเศร้า

กฎหมายจราจรกำหนดตามมาตรา 80 กำหนดให้รถจักรยานต้องมีอุปกรณ์หลัก 4 อย่าง 1.กระดิ่งที่ให้เสียงสัญญาณได้ยินได้ในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร 2.เครื่องห้ามล้อที่ใช้การได้ดี เมื่อใช้สามารถทำให้รถจักรยานหยุดได้ทันที 3.โคมไฟติดหน้ารถจักรยานแสงขาวไม่น้อยกว่าหนึ่งดวง ที่ให้แสงไฟส่องตรงไปข้างหน้า เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร และอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาของผู้ขับขี่ซึ่งขับรถสวนมา และ 4.โคมไฟติดท้ายรถจักรยานแสงแดง ไม่น้อยกว่าหนึ่งดวง ที่ให้แสงสว่างตรงไปข้างหลัง หรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดงแทน ซึ่งเมื่อถูกไฟส่องให้มีแสงสะท้อน

“ไม่ติดไฟ ไม่ใส่หมวก ขี่หวาดเสียว ใช้กฎหมู่ฝ่าไฟแดง” เป็นนิสัยไม่น่ารักของผู้ใช้จักรยานบางกลุ่มที่ชาวนักปั่นด้วยกันเองยี้สุดๆ เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของคนขับขี่จักรยานดูไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่นัก