posttoday

‘ออนไลน์ธุรกิจ’หัวคิดของเด็กยุคดิจิตอล

18 กุมภาพันธ์ 2556

เทรนด์ของเด็กยุคดิจิตอล คืออยากเป็นนายตัวเอง จึงคิดทำธุรกิจของตัวเอง นั่นคือการทำธุรกิจค้าขายบนโลกออนไลน์บนเฟซบุ๊ก

โดย...มีนา

เทรนด์ของเด็กยุคดิจิตอล คืออยากเป็นนายตัวเอง จึงคิดทำธุรกิจของตัวเอง นั่นคือการทำธุรกิจค้าขายบนโลกออนไลน์บนเฟซบุ๊ก บางรายจับตลาดได้ มีรายได้มากกว่ามนุษย์เงินเดือนบางคนซะอีก หากรู้จักบริหารให้เป็น ที่ง่ายไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องมีต้นทุนสูง ไม่ต้องมีลูกน้อง สามารถเรียนหนังสือและทำธุรกิจควบคู่กันไปได้ ยกตัวอย่างเช่น 2 เด็กรุ่นใหม่ มิ้นท์ณัฐชญ์ภรณ์ พรเวชอำนวย เจ้าของเฟซบุ๊ก “Diariez” ที่มียอดกดไลค์มากถึง 1.5 แสนราย อีกเจ้าเป็นเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าบนเฟซบุ๊ก “สแตนดิ้ง รูม” ของ ก๊อศิลี ปสิทธิปราณี ที่มีลูกค้ามากถึง 5,000 คน เสื้อผ้าขายดิบขายดีจนผลิตไม่ทัน

‘รองเท้าคัตชู’ เอาใจวัยใส

นักศึกษาสาวรั้วเอแบคหน้าใสกิ๊ก มิ้นท์ณัฐชญ์ภรณ์ พรเวชอำนวย ขณะนี้กำลังเรียนอยู่ชั้นปี 4 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ วัย 22 ปี เจ้าของเฟซบุ๊กไดอารี่ซ์ที่เริ่มทำธุรกิจบนออนไลน์ตั้งแต่เรียนชั้นปี 3 ด้วยการขายรองเท้าสุดแนว ต่อยอดจากธุรกิจทำรองเท้าของครอบครัว ย่างเข้าเพียงปีที่ 2 ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ โดยมีคนคลิกไลค์มากกว่า 1.5 แสน

วิธีคิดทำธุรกิจง่ายๆ ของณัฐชญ์ภรณ์เริ่มจากอยากหาวิธีช่วยคุณพ่อเจ้าของโรงงานผลิตรองเท้าหนังแฟชั่นสำหรับผู้ชายส่งออกไปจำหน่ายยังดูไบ แต่ลูกค้ากลับไม่มารับสินค้าที่ผลิตเสร็จ ลูกสาวในฐานะร่ำเรียนบริหารธุรกิจด้านการจัดการ เธอจึงแปลงรองเท้าล็อตนั้นที่ค้างออร์เดอร์ ที่มีทั้งต้นทุนด้านวัสดุและค่าแรงที่จมลงไป อีกทั้งไม่มีหน้าร้านของตัวเอง เธอต้องหาทางออกเพื่อระบายสินค้า เธอจึงปิ๊งไอเดีย ลองนำรองเท้าไปขายในเฟซบุ๊กและสร้างแบรนด์ Diariez ขึ้นมา ผลปรากฏก็ขายดี แม้ทำธุรกิจแฟชั่น แต่ไม่มีหน้าร้าน วิธีติดต่อกับลูกค้าคือลูกค้าสามารถเข้าไปชมอัลบั้มรูปภาพสินค้าได้ในเฟซบุ๊ก และโอนเงินผ่านทางธนาคาร เป็นการขายแบบ ECommerce ซึ่งกลุ่มลูกค้าล้วนเป็นเด็กวัยรุ่นและสาวๆ วัยทำงาน

สิ่งที่ทำให้รองเท้าขายดี เพราะแนวของรองเท้าเก๋ไก๋น่ารัก ลูกค้าสามารถเลือกประดับตกแต่งรองเท้าได้ตามใจชอบ จะประดับพู่ เปลี่ยนสี ก็สั่งได้ มิ้นท์จึงสามารถขยายกลุ่มลูกค้าภายในเวลาอันรวดเร็ว

“มิ้นท์เคยเป็นนักเขียนของแจ่มใส ก็มีเพื่อนกลุ่มหนึ่ง เริ่มแรกไม่ได้ซื้อโฆษณาอาศัยสังคมเพื่อนกดไลค์ กดแชร์ ให้สัมภาษณ์สื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นการโฆษณาตัวเองแบบหนึ่ง เมื่อปัญหาของคุณพ่อได้รับการแก้ไข ทำให้มิ้นท์เริ่มคิดสร้างแบรนดิงของตัวเองแบบเป็นเรื่องเป็นราว และเพิ่มไอเดีย ลูกค้าสามารถออกแบบเพิ่มสีสันรองเท้าในแบบของตัวเองได้ โดยรองเท้าออกมาทั้งหมด 4 รุ่น 4 Chapter สามารถเพิ่มแบบ เติมโบ พู่หอย เปลี่ยนสีของหน้ากากรองเท้า เปลี่ยนสีรองเท้าได้หมดตามแบบที่ตัวเองชอบ เพราะมิ้นท์รู้ว่าคนเรานั้นมีความชอบที่ต่างกัน เพราะรองเท้าของเราไม่ได้ผลิตเป็นสต๊อกเยอะๆ ผลิตได้เป็นรุ่นๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ถ้าลูกค้าอยากได้ต้องรอนิดหนึ่งค่ะ”

อีกทั้งเธอยังตอบสนองลูกค้าที่มีทั้งเท้าเล็กและเท้าใหญ่ที่เจอปัญหาเดียวกัน คือ หารองเท้าใส่ยาก โดยรองเท้า Diariez จึงมีไซส์ตั้งแต่ 3443 นอกจากขนาดและสีสันที่โดนใจแล้ว ราคารองเท้าหนังแท้ๆ ยังสมเหตุสมผล จึงโดนใจวัยรุ่นขาโจ๋ได้จังเบ้อเริ่ม

“การซื้อขายออนไลน์ก่อนอื่นเราต้องทำให้ลูกค้ามั่นใจ แม้ไม่ต้องเสียค่าน้ำค่าไฟตกแต่งร้าน แต่เราต้องทำให้ลูกค้าเชื่อถือร้าน

ไม่ใช่เอาเงินเขาไป แต่เขาไม่ได้ของ จากประสบการณ์มิ้นท์เคยซื้อของออนไลน์มาก่อน ก็ต้องดูประวัติร้าน ดูเจ้าของร้านว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ มีประวัติการโกงหรือเปล่า สมัยก่อนก่อนที่มิ้นท์จะซื้อของใครมิ้นท์ต้องเอาเลขที่บัญชี ชื่อเจ้าของร้าน เบอร์โทร รวมทั้งเว็บไซต์ไปเสิร์ชหาในกูเกิล ซึ่งก็ไม่เคยเจอใครโกงเลย ยุคนี้เป็นโซเชียลเทรนด์ของเด็กยุคใหม่ เพราะเด็กๆ อยู่กับเครื่องมือสื่อสาร อยู่กับอินเทอร์เน็ตเยอะกว่าคนรุ่นก่อน”

การซื้อขายผ่านออนไลน์ที่ไม่เห็นหน้ามิ้นท์มีวิธีป้องกันตัวเองคือการวางระบบลูกค้าจ่ายสตางค์ แล้วต้องได้ของ ลูกค้าจะสั่งของในร้านโดยมิ้นท์รับเป็นล็อต 34 ล็อตต่อเดือน ประมาณ 50 คู่ต่อล็อต เมื่อลูกค้าสั่งสินค้า ลูกค้าไปโอนสตางค์ แจ้งการโอนเข้ามา มิ้นท์จะเช็กและตอบกลับว่าได้รับเงินแล้ว จากนั้นลูกค้ารอการผลิต 1 เดือน ถึงจะจัดส่งของให้ ซึ่งมิ้นท์เคยเจอปัญหาลูกค้าบอกโอนเงินแล้ว แต่เช็กแล้วไม่มี แต่เจอแค่ 0.1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ก่อน 6 เดือนแรก ลองผิดลองถูกส่งสินค้าให้ลูกค้าก่อน ปรากฏลูกค้าสั่งของแล้วไม่เอา ทำให้สินค้าค้างสต๊อก จากนั้นเราให้ลูกค้าโอนสตางค์เพื่อการันตีว่าเขาเอาของแน่ เมื่อเกิดเหตุการณ์เฟอร์บี้ทำให้วงการค้าขายออนไลน์มั่วหมอง แต่มินท์ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง”

‘สแตนดิ้ง รูม’ เสื้อผ้าเพื่อสาวหวาน

ก๊อศิลี ปสิทธิปราณี วัย 28 ปี เจ้าของธุรกิจขายเสื้อผ้าบนเฟซบุ๊ก “Standing Room” มานาน 3 ปีแล้ว แรกเปิด 2 ร้านบนเฟซบุ๊ก 1 ร้าน คือ เสื้อผ้าซื้อมาขายไป โดยร่วมทำกับเพื่อน ช่วงหลังๆ มีคู่แข่งเยอะจึงปิดไป เหลือเฟซบุ๊กเดียว คือ ขายเสื้อผ้าตัดเย็บเอง และลูกค้าสามารถสั่งความยาวของชายกระโปรงสไตล์หวานๆ ได้ตามใจชอบ กลายเป็นตัดเสื้อผ้าแบบ “เทลเลอร์ เมด” ไม่ซ้ำใคร โดยไม่คิดราคาเพิ่ม ลูกค้าจึงบอกกันปากต่อปาก ลูกค้ากลุ่มใหญ่คือคุณหมอสาวๆ ที่ไม่มีเวลาไปช็อปปิ้ง ไม่มีเวลาไปสังสรรค์ สถานที่คุยกันคือบนเฟซบุ๊ก การทำธุรกิจบนออนไลน์จึงน่าสนใจ ข้อดีของการทำธุรกิจบนเฟซบุ๊กดีตรงประหยัดค่าเช่าร้าน ประกอบกับมีคุณแม่เป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้ามากว่า 40 ปี เขียนแพตเทิร์นได้ ศิลีจึงดึงคุณแม่มาช่วยทำธุรกิจด้วย ค่าใช้จ่ายยิ่งถูกเพราะเป็นอุตสาหกรรมภายในครอบครัว จ้ำจี้จ้ำไชแบบและการตัดเย็บได้ จึงสามารถคิดราคาเสื้อผ้าให้อยู่ในราคา 1,000-2,000 บาทได้

“Standing Room” เป็นร้านที่ไม่ซื้อโฆษณา อาศัยลูกค้าพูดกันปากต่อปาก จึงไม่ต้องอาศัยยอดกดไลค์ แต่ก็มีลูกค้าจริงๆ ประมาณ 5,000 คน ซึ่งถือว่าเยอะแล้วสำหรับลูกค้าพันธุ์แท้ของแบรนด์ ศิลีมีลูกค้าเป็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจน คือ 70% เป็นแพทย์ 30% เป็นสาวออฟฟิศ

เสื้อผ้าสไตล์สาวหวานของ “Standing Room” ผลิตออกมาถูกใจตลาด ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก

“ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นก๊อเริ่มต้นธุรกิจในกลุ่มเพื่อนๆ ก่อน เพราะเพื่อนๆ เราทำธุรกิจขายส่งกันเยอะมาก ก๊อจึงลองนำข้าวของแต่งตัวจากธุรกิจของเพื่อนๆ หลายๆ คนมาขายแบบซื้อมาขายไปบนเฟซบุ๊ก แล้วลูกค้าก็จะมาเอง ยอดลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มจับทางแฟชั่นได้ ก็ยิ่งขายดี จนเราผลิตให้ไม่ไหว เช่นแต่ละเดือนเราผลิตได้เพียง 100 ชุด แต่ลูกค้าสั่งเข้ามามากถึง 200 ชุดต่อเดือน วันหนึ่งๆ มีคนเปิดเฟซบุ๊กร้านของเราเยอะมาก เพราะด้วยคอนเซปต์ร้านเราขายชุดยาว ดูเรียบร้อย มีแขน ไม่โป๊ ขายก็ราคาสมเหตุสมผล ก๊อคิดว่าการทำธุรกิจบนออนไลน์น่าสนใจมาก หากเราสร้างความแตกต่างในตลาดได้ และลูกค้าชอบ ธุรกิจจะเจริญก้าวหน้า” แต่ทำธุรกิจบนออนไลน์ก็มีความเสี่ยง แต่ไม่หนักหนาสาหัส ศิลีไม่ถึงกับโดนโกง แต่มีบางครั้งที่ลูกค้าสั่งเสื้อผ้าสั้นพิเศษ แต่ไม่โอนเงินมา ชุดก็ค้างอยู่ในร้าน หลายๆ ครั้งเข้าก็เกิดความเสียหายเพราะลงทุนไปแล้ว แต่ก็ยังดีกว่าร้านที่ซื้อมาขายไป แม่ค้าต้องซื้อของสแตนบายในร้าน หากลูกค้าสั่งสินค้า แต่ไม่เอา เสื้อผ้าก็ค้างสต๊อก เกิดความเสียหาย

“บางชุดลูกค้าสั่งทำพิเศษเช่นสั้นมากๆ หรือหน้าอกใหญ่มากๆ ซึ่งเป็นไซส์ที่พิเศษ ใส่ได้ไม่กี่คน ถ้าเขาสั่งแล้วไม่เอา ก็ขายใครต่อไม่ได้ ก็ลำบากเรา ถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์แล้วก๊อจะโดนลูกค้าเบี้ยวไม่ถึง 5% เพราะเราป้องกันไว้แล้ว เช่น ถ้านาง ก. สั่งแล้วไม่เอา ครั้งหน้านาง ก. นำเบอร์เดิม เฟซบุ๊กเดิมมาสั่งของ เราจะไม่รับสั่ง โดยเราจะขึ้นแบล็กลิสต์ หรือ บีแอล ไว้เลย เพื่อป้องกัน เจ้าของธุรกิจออนไลน์อื่นๆ อาจเสียหายเยอะ แต่ก๊อไม่ ลูกค้าของก๊อกลับแย่งเสื้อผ้ากันด้วยซ้ำ เพราะเราตัดเย็บน้อย ที่เคยโดนหนักๆ คือแจ้งว่าโอนเงินแล้ว แต่ไม่ได้โอน เราก็เช็กได้” หลักการซื้อขายผ่านทางเฟซบุ๊กของศิลีคือ เธอให้ลูกค้าสั่งของก่อน ให้ลูกค้าโอนเงิน โทรแจ้ง เธอเช็กว่ามีการโอนจริงไหม หากได้เงินแล้วเธอถึงผลิตชุดให้ลูกค้า และค่อยส่งไปให้เขา “ร้านอื่นอาจมีการส่งของให้ลูกค้าก่อน แต่ของเราไม่อนุญาตเลย เพื่อป้องกันการโกง จะทั้งลูกค้าประจำ หรือขาจรก็ไม่มีการส่งสินค้าให้ก่อน เพื่อตัดปัญหา เพราะเราไม่โกงลูกค้าแน่นอน เราทำธุรกิจมา 3 ปีแล้ว แต่หากลูกค้าไม่ไว้ใจเรา อยากให้เราส่งสำเนาบัตรประชาชนไปให้เราก็ส่ง เพราะเราบริสุทธิ์ใจ และเราเข้าใจเพราะเป็นการค้าขายที่ไม่เห็นหน้า คนที่อยู่ในวงการค้าขายออนไลน์มานานมักไม่ค่อยโดนหลอก ”

สำหรับลูกค้าออนไลน์หน้าใหม่ ศิลีแนะนำว่า ผู้ซื้อมีความเสี่ยงสูงมากกับร้านใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยซื้อ เพราะไม่รู้ว่าเจ้าของร้านเป็นใครและอยู่ที่ไหน ผู้ค้าอาจทำเว็บไซต์สวยๆ เพื่อหลอกลูกค้าโดยเฉพาะก็ได้ ก่อนตัดสินใจซื้อก็ต้องเช็กดูว่ามีคนเข้ามาซื้อของในร้านเยอะไหม มีลูกค้าแจ้งโอนเงินทางเฟซบุ๊กบ้างหรือไม่ ดูวันอัพเดตว่าเขาคุยกับลูกค้าตลอดหรือเปล่า หรือหากสามารถคุยกับลูกค้าด้วยกันเองเพื่อเช็กว่าของดีจริงไหม